ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์
         พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ

         พหุวัฒนธรรมนิยม(multiculturalism)เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม (nationalism)     นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม(assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม

นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒนธรรมของชนส่วนน้อยสูญสลายจนกระทั่งกลมกลืนไปกับวัฒนธรรมของชนส่วนใหญ่   ขณะที่นโยบายพหุวัฒนธรรมเน้นการยอมรับ การอยู่ร่วมกัน และการบูรณาของความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติภายในประเทศเดียวกัน

คำว่า พหุวัฒนธรรมนิยม ได้เข้าไปสู่ประเทศสหรัฐอเมริกาในทศวรรษที่ 1980  ก่อให้เกิดการถกเถียงทางวิชาการอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะนโยบายด้านการศึกษา  ประเด็นหลักคือการศึกษาของอเมริกาควรตอบสนองต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างไร   ต่อมาพหุวัฒนธรรมนิยมใช้ในการอธิบายความหลากหลายของเชื้อชาติ  และแสดงจุดยืนปฏิเสธการผสมกลมกลืนและการหลอมรวมของวัฒนธรรมหลัก  ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมรับความห่างเหินและความเป็นลักษณะพิเศษของแต่ละวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตามในโลกของความเป็นจริง จุดยืนของพหุวัฒนธรรมนิยมเองหาได้มีเพียงจุดยืนเดียว นักวิชาการบางกลุ่มเห็นว่า สิ่งที่จำเป็นต่อการเป็นพหุวัฒนธรรมนิยมคือการเปลี่ยนแปลงสถาบันทางการเมืองและสังคมในระดับไม่มากนัก เพื่อช่วยรักษาวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยให้ดำรงอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษาหรือประเพณีต่างๆ       ขณะที่บางคนเห็นต่างว่า การเป็นพหุวัฒนธรรมนิยมนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรอบด้านและลึกซึ้ง เพื่อให้สังคมสมัยใหม่กลายเป็นสังคมที่ขจัดลัทธิเชื้อชาตินิยมหรือลัทธิคลั่งชาติให้หมดไป  โดยเน้นการส่งเสริม กล่อมเกลา และปลูกฝังผู้คนในสังคมให้ยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม
แต่ถ้าหากพหุวัฒนธรรมนิยมคือวิถีในการผสานความแตกต่าง  คำถามหนึ่งก็ยังคงดำรงอยู่ นั่นคือจะประสานความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมอย่างไร   ถ้าหากสังคมพหุวัฒนธรรมคือสังคมที่มีความแตกต่างทางศาสนา วัฒนธรรมและภาษา  และผู้คนสามารถดำรงอยู่โดยปราศจากการตกอยู่ภายใต้การครอบงำของกลุ่มอื่น  หรือต่อกลุ่มชนส่วนใหญ่  การดำรงอยู่เช่นนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร และอะไรคือหลักการพื้นฐานที่ใช้ในการอธิบายสังคมเช่นนี้

ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเพราะสังคมมีสองด้านที่อยู่ร่วมกัน  ด้านหนึ่งสังคมมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องมีเอกภาพด้วย จึงจะสามารถดำรงอยู่ได้   โดยเฉพาะหากโลกยังไม่เป็นโลกที่ปราศจากพรมแดนซึ่งประชาชนทุกประเทศสามารถเดินทางไปที่ใดก็ได้อย่างมีเสรีภาพและปราศจากการตกอยู่ภายใต้การบังคับของประเทศใดประเทศหนึ่ง

ดังนั้นสังคมพหุนิยมก็ยังคงต้องเป็นสังคมที่มีการสถาปนาสถาบันพื้นฐานที่ตัดสินใจว่า สังคมควรจะใช้ภาษาอะไรเป็นภาษาราชการ  อะไรคือลักษณะของความเป็นชาติ   และอะไรเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยว่าใครเป็นพลเมือง   โดยนัยนี้จึงทำให้เกิดคำถามว่า พหุวัฒนธรรมนิยม สามารถนำไปไช้ในเชิงนโยบายและการปฏิบัติการทางสังคมได้จริงหรือไม่

การพัฒนาแนวคิดพหุวัฒนธรรมนิยมในรูปแบบการเป็นทฤษฎีอย่างเป็นระบบ เกิดขึ้นครั้งแรกโดย วิล คิมลิคคา (Will Kymlicka) ใน ค.ศ. 1989 จากนั้นก็ได้มีการพัฒนาทฤษฎีนี้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน  แรงดลใจที่ทำให้ คิมลิคคา พัฒนาทฤษฎีพหุวัฒนธรรมนิยมคือ ความไม่พึงพอใจในการอธิบายเรื่องสิทธิของชนกลุ่มน้อยของทฤษฎีการเมืองแบบเสรีนิยมในยุคหลังสงครามเย็น  

คิมลิคคาเห็นว่าฐานคติของเสรีนิยมเกี่ยวกับการแก้ปัญหาชนชาติส่วนน้อยโดยการสนับสนุนสิทธิของปัจเจกชนในระดับพื้นฐานเป็นสิ่งที่ผิดพลาด  เช่นเดียวกันกับกลุ่มศาสนาส่วนน้อยซึ่งได้รับการปกป้องโดยการแยกกิจกรรมทางศาสนาออกจากรัฐ และส่งเสริมหลักคิดเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา   แนวคิดเสรีนิยมเชื่อว่าอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ควรจะได้รับการปกป้องโดยการให้เสรีภาพในการแสดงออกในวิถีชีวิตของปัจเจกชน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่รัฐจะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวแต่ประการใด   และยังระบุว่ารัฐไม่ควรทำทั้งในเรื่องการต่อต้านคัดค้าน หรือการสนับสนุนส่งเสริมเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมใด  แต่ควรตอบสนองแบบ ละเลยอย่างกรุณา  คือปล่อยให้แต่ละกลุ่มใช้ภาษาตนเอง นุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าตามประเพณี  จัดกิจกรรมและพิธีกรรมตามวัฒนธรรมได้อย่างอิสระโดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวใดทั้งสิ้น แต่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย    แต่ในทัศนะของคิมลิคคาการละเลยอย่างกรุณาเป็นทางเลือกที่เป็นไปไม่ได้  คำถามคือทำไม  
            คิมลิคคา อธิบายว่าสิทธิของชนส่วนน้อยไม่ควรอยู่ภายใต้สิทธิมนุษยชน  เพราะว่ามาตรฐานของสิทธิมนุษยชนไม่สามารถแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดและคำถามที่ถกเถียงกันมากที่สุดเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย อันประกอบด้วยคำถามที่ว่าภาษาใดที่ควรได้รับการยอมรับในสภาผู้แทนราษฎร ในหน่วยงานราชการ และในศาลยุติธรรม     ควรหรือไม่ที่ชนชาติหรือชาติพันธุ์ใดจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาโดยที่เขาสามารถใช้ภาษาถิ่นในระบบการศึกษาได้    เช่น ควรสนับสนุนงบประมาณโรงเรียนในจังหวัดเชียงรายที่ใช้ภาษาม้งเป็นภาษาที่ใช้ในการสอนหรือไม่    หรือควรสนับสนุนงบประมาณแก่โรงเรียนที่ใช้ภาษายาวีเป็นภาษาที่ใช้ในการสอนนักเรียนในสามจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยหรือไม่    ควรมีการกำหนดเขตแดนภายในให้แก่ชนส่วนน้อยหรือไม่   ควรรักษาพื้นที่ซึ่งชนกลุ่มน้อยอยู่กันมาอย่างยาวนานเพื่อประโยชน์ของชนกลุ่มน้อยหรือไม่ หรือ การบูรณาการทางวัฒนธรรมระดับใดที่เป็นเงื่อนไขสำหรับผู้อพยพในการขอแปลงสัญชาติ

            แนวคิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้ให้แนวทางเชิงนโนยบายใดๆที่จะชี้นำการแก้ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นได้  และถ้าหากว่าสังคมใช้แนวคิดสิทธิมนุษยชนเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้รับการเสริมด้วยแนวคิดสิทธิของชนกลุ่มน้อย     ทฤษฎีสิทธิมนุษยชนจะไม่ทำให้เราสามารถหยิบยกสิ่งที่เป็นประเด็นซึ่งกดดันและกำลังเป็นปัญหาของหลายประเทศในโลกซึ่งขัดแย้งกันเกี่ยวกับความเป็นอิสระของท้องถิ่น การใช้ภาษา และการใช้ทรัพยากร ประเด็นปัญหาเหล่านี้กำลังคุกคามความสมานฉันท์ของสังคมและหากมีการกำหนดนโยบายที่ไม่ถูกต้องอาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างกลุ่มชนส่วนน้อยกับกลุ่มชนส่วนใหญ่ในสังคมได้

            เป้าประสงค์ของคิมลิคคาคือการพัฒนาทฤษฎีสิทธิชนกลุ่มน้อยแบบเสรีนิยมซึ่งอธิบายแนวทางการดำรงอยู่ร่วมกันของหลักสิทธิชนส่วนน้อยกับหลักสิทธิมนุษยชน  และข้อจำกัดของแนวคิดสิทธิชนส่วนน้อยที่อยู่ภายใต้หลักการของเสรีภาพส่วนบุคคล ประชาธิปไตย และความยุติธรรมทางสังคม

            คิมลิคคาได้จำแนกสิทธิของชนกลุ่มน้อยออกเป็นสามประการ  1)  สิทธิในการปกครองตนเอง    2) สิทธิแห่งความหลากหลายของชาติพันธุ์ และ 3) สิทธิในการมีผู้แทนพิเศษในรัฐสภา       
สิทธิในการปกครองตนเองมีเงื่อนไขสำคัญคือการแบ่งอำนาจให้กับชนกลุ่มน้อยที่เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิม  แต่สิทธินี้จะไม่ให้กับชนกลุ่มน้อยอื่นๆที่อพยพมาอยู่ในประเทศนั้นๆในภายหลัง  เช่น ประเทศไทยอาจให้สิทธิในการปกครองตนเองของชนพื้นเมืองเชื้อชาติมลายู  แต่ไม่ให้สิทธินี้แก่ชาวมอญที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย   เป็นต้น

อย่างไรก็ตามชนกลุ่มน้อยอื่นๆที่ไม่ใช่ชนพื้นเมืองจะได้รับสิทธิแห่งความหลากหลายของชาติพันธุ์ซึ่งมีหลักประกันว่าจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐและได้รับการปกป้องจากกฎหมายสำหรับการดำรงชีวิตตามประเพณีหรือวัฒนธรรมของตน  และจะได้รับสิทธิในการมีผู้แทนไปทำหน้าที่ในรัฐสภาซึ่งเป็นหลักประกันสำหรับการมีตัวแทนในสถาบันนิติบัญญัติ

คิมลิคคาจำแนกชนกลุ่มน้อยออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือชนกลุ่มน้อยแห่งชาติ(national minorities) และชนกลุ่มน้อยเชิงชาติพันธุ์(ethnic minorities)   
ชนกลุ่มน้อยแห่งชาติ คือประชาชนซึ่งในอดีตมีการปกครองตนเอง มีวัฒนธรรมผนึกรวมในส่วนหนึ่งของรัฐชาติในระดับกว้าง เช่น ชาวอินเดียแดง และชาวฮาวายในประเทศสหรัฐอเมริกา  ชาวเมารีในประเทศนิวซีแลนด์  และ ชาวอบอริจินี่ในประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น    ขณะที่ “ชนกลุ่มน้อยเชิงชาติพันธุ์”คือกลุ่มประชาชนที่อพยพเข้ามาอยู่ในสังคมใหม่และไม่ปรารถนาที่จะปกครองตนเอง  แต่กระนั้นก็ตามพวกเขามีความปรารถนาในการยึดถือประเพณีและอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติของตนเอง

รัฐสมัยใหม่อาจมีพหุวัฒนธรรมนิยมในหนึ่งหรือสองนัย  กล่าวคือเป็นทั้งพหุชาติเนื่องจากมีสมาชิกของรัฐเป็นประชาชนของหลากหลายประเทศ เช่นประเทศแคนาดา มีกลุ่มคนหลายประเทศอพยพมาอยู่ร่วมกัน ทั้งจากประเทศจีน เวียตนาม และฝรั่งเศส  เป็นต้น    และเป็นพหุชาติพันธุ์ด้วยเนื่องจากสมาชิกที่อพยพอยู่ในรัฐเดียวกันมาจากหลายประเทศที่มีเชื้อชาติแตกต่างกัน

ในทฤษฎีของคิมลิคกา ชนกลุ่มน้อยทั้งสองกลุ่มมีความชอบธรรมที่ใช้เป็นรากฐานของการอ้างสิทธิแตกต่างกัน    ดังนั้น “ชนกลุ่มน้อยแห่งชาติ” จึงไม่ต้องหวาดหวั่นว่านโยบายพหุวัฒนธรรมนิยมจะไปลดทอนสถานภาพของพวกเขาให้กลายเป็นเสมือนกลุ่มผู้อพยพ        เช่นเดียวกันกับพลเมืองอื่นของรัฐก็ไม่ต้องหวั่นเกรงว่า นโยบายพหุวัฒนธรรมนิยมจะมีนัยที่ทำให้กลุ่มผู้อพยพสามารถอ้างสิทธิความชอบธรรมในการปกครองตนเอง

หัวใจของทฤษฎีพหุวัฒนธรรมนิยมของคิมลิคกา คือ รูปแบบของชาตินิยม หรือ ชาตินิยมแบบเสรีนิยมจะต้องมีความชัดเจน  คิมลิคกาเชื่อว่า ประเพณีของเสรีนิยมมีประวัติศาสตร์ของการให้ความสำคัญสิทธิของกลุ่มที่หลากหลาย  มีหลักฐานอย่างชัดเจนว่า นักทฤษฎีเสรีนิยมเกือบทั้งหมดยอมรับว่าโลกประกอบด้วยรัฐที่แยกกันเป็นอิสระ   และมีความเชื่อพื้นฐานที่เป็นปกติธรรมดาทั่วไปว่ารัฐเหล่านี้มีสิทธิในการตัดสินว่าจะให้ใครเข้ามาอยู่ในอาณาเขตเพื่อเยี่ยมเยียนชั่วคราว  พักอาศัย หรือเป็นพลเมือง

ภายใต้หลักคิดนี้ ประเทศไทยในฐานะที่เป็นรัฐก็สามารถกำหนดได้ว่า จะอนุญาตบุคคลใดเข้าประเทศเพื่อเยี่ยมเยียนในฐานะนักท่องเที่ยว   หรืออาศัยอยู่ชั่วคราวเพื่อการศึกษาหรือปฏิบัติหน้าที่ หรือเข้ามาทำงาน     หรือแม้กระทั่งการให้สัญชาติแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งตามข้อบัญญัติที่รัฐกำหนดขึ้นมา    ประเทศอื่นๆก็มีสิทธินี้เช่นเดียวกัน
คิมลิคกามีทัศนะเพิ่มเติมว่า  แนวคิดเสรีนิยมแบบดั้งเดิมมีทัศนะว่า สิทธิของรัฐในการกำหนดว่าใครเป็นพลเมืองของตนเองตั้งอยู่บนหลักการเดียวกันซึ่งให้เหตุผลของความเป็นพลเมืองของกลุ่มที่หลากหลายภายในรัฐ    ดังนั้นการยอมรับว่าใครเป็นพลเมือง ก็แสดงว่ารัฐยอมรับความหลากหลายของกลุ่มด้วย   เช่น  หากรัฐไทยยอมรับ นายกิม แซ่ลิ้ม เป็นพลเมือง รัฐก็ย่อมยอมรับกลุ่มเชื้อชาติจีน  ในฐานะที่เป็นกลุ่มเชื้อชาติหนึ่งในสังคมไทย   เช่นเดียวกัน หากรัฐยอมรับ นายมะแว  ดือแม เป็นพลเมืองไทย  รัฐก็ต้องยอมรับกลุ่มเชื้อชาติมาลายู ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายในสังคมไทย

    นั่นหมายความว่าความเป็นพลเมืองของรัฐในตัวของมันเองคือแนวความคิดความหลากหลายของกลุ่ม  และเสรีนิยมคือทัศนะที่ยอมรับสิทธิของปัจเจกชนในฐานะที่เป็นสมาชิกของรัฐ   ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลสำหรับเสรีนิยมที่มีเจตนารมย์ยอมรับกลุ่มภายในรัฐ   บทบาทหน้าที่หนึ่งของความเป็นกลุ่ม เช่นเดียวกับความเป็นรัฐ คือการดำรงอยู่เพื่อปกป้องสมาชิกเชิงวัฒนธรรมของมัน   

ภายใต้วิธีคิดแบบเสรีนิยม รัฐไทยย่อมปกป้องบุคคลสัญชาติไทย   เช่นเดียวกันกลุ่มเชื้อชาติจีนหรือสมาคมคนจีนในประเทศไทย ก็ย่อมปกป้องสิทธิของบุคคลที่เป็นสมาชิกเชิงวัฒนธรรมของกลุ่ม    และเครือข่ายชาติพันธุ์ก็ย่อมปกป้องสมาชิกเชิงวัฒนธรรมของตนเอง 

สิ่งสำคัญที่เสรีนิยมปกป้องคือเสรีภาพของปัจเจกชน   แต่นี่ไม่ใช่เป็นเพียงเสรีภาพในเรื่องของภาษาและประวัติศาสตร์เท่านั้น   แต่ยังรวมไปถึงเสรีภาพที่เคลื่อนตัวรอบๆวัฒนธรรมของสังคม  เพื่อแยกตนเองจากวัฒนธรรมกระแสหลัก   และเลือกรูปแบบของวัฒนธรรมที่มีคุณค่าสูงสุดสำหรับตนเองเพื่อพัฒนาและรูปแบบวัฒนธรรมใดที่ปราศจากคุณค่าก็จะมิ้งไป 

 คิมลิคกาชี้ว่า วัฒนธรรมแห่งชาติคือวัฒนธรรมของสังคม   และโลกนวสมัยคือการที่สังคมถูกแบ่งให้ไปสู่การจัดกลุ่มเชิงวัฒนธรรมของผู้คน        สิ่งที่ “กลุ่มเชิงวัฒนธรรม” ให้กับสมาชิกคือ แบบแผนวัฒนธรรมอันเกี่ยวข้องกับวิถีคิดและการปฏิบัติที่มีความหมายต่อชีวิตมนุษย์ในทั่วทุกกิจกรรม  ทั้งทางเศรษฐกิจ การศึกษาและศาสนา    วัฒนธรรมนี้มีแนวโน้มถูกผนึกรวมภายใต้เขตแดนและตั้งอยู่บนการใช้ภาษาร่วมกัน        กลุ่มเชิงวัฒนธรรมจึงสร้าง  วัฒนธรรมของสังคม  เพราะว่าองค์ประกอบของมันไม่ใช่เพียงแต่ความทรงจำหรือคุณค่าร่วมของสมาชิกกลุ่มเท่านั้น   ทว่ายังมีสถาบันที่ผลิตซ้ำแบบแผนความคิดและการปฏิบัติร่วมอยู่ด้วย     วัฒนธรรมของสังคมแสดงออกอย่างชัดเจนในโรงเรียน สื่อมวลชน ระบบเศรษฐกิจ และระบบปกครองประเทศ

นกลุ่มน้อยแห่งชาติคือกลุ่มวัฒนธรรมของสังคม ซึ่งวัฒนธรรมของพวกเขาต่อสู้กับวัฒนธรรมของกลุ่มผู้พิชิต  กลุ่มจักรวรรดินิยม และการบังคับให้ผสมกลมกลืน  เช่น วัฒนธรรมของชาวอินเดียนแดงต่อสู้กับวัฒนธรรมชาวตะวันตก  หรือวัฒนธรรมของชาวอินเดียต่อสู้กับวัฒนธรรมของชาวอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม        ส่วนกลุ่มผู้อพยพไม่มีวัฒนธรรมของสังคมของตนเองในความหมายที่กล่าวมาข้างตน   วัฒนธรรมของสังคมมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นวัฒนธรรมแห่งชาติ    ในโลกสมัยใหม่วัฒนธรรมใดไม่ใช่วัฒนธรรมแห่งชาติมีแนวโน้มที่จะไม่รุ่งเรือง    แม้ว่าบางประเทศจะมีการบังคับสร้างวัฒนธรรมของชาติขึ้นมาก็ตาม แต่ก็ขาดจิตวิญญาณเพราะมิได้มาจากรากฐานความเป็นจริงของสังคม

สิทธิแห่งความหลากหลายของกลุ่มเน้นในเรื่องการทำให้ชนส่วนน้อยแห่งชาติมีความยั่งยืนในวัฒนธรรมของสังคมของพวกเขา  ขณะที่ปกป้องผู้อพยพให้มีสิทธิในชาติพันธุ์ ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาสามารถแสดงลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของตนเองออกมา  และมีความภาคภูมิใจโดยปราศจากอุปสรรคในการประสบความสำเร็จภายในสถาบันเศรษฐกิจและสังคมการเมือง
            
สิทธิแห่งความหลากหลายของกลุ่มคือ การพยายามปกป้องวัฒนธรรมของกลุ่มจากผลกระทบของการตัดสินจากภายนอก ที่ไม่ให้สิทธิแก่กลุ่มเพื่อสร้างกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมภายในกลุ่ม   ข้อถกเถียงของคิมลิคกาคือ เสรีนิยมสามารถและควรสนับสนุนการปกป้องการรุกรานจากเงื่อนไขภายนอก  และส่งเสริมความเป็นธรรมระหว่างกลุ่ม  กล่าวคือเสรีนิยมควรปกป้องวัฒนธรรมของกลุ่มเชื้อชาติ ไม่ให้ถูกทำลายโดยการตัดสินใจจากกลุ่มอำนาจหลักในสังคม  เช่น การห้ามใช้ภาษาของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  หรือ การห้ามปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา    และ เสรีนิยมควรเปิดโอกาสให้แต่ละกลุ่มสามารถแสดงออกทางวัฒนธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน     อย่างไรก็ตามในอีกด้านหนึ่ง  เสรีนิยมก็ควรปฏิเสธข้อกำหนดภายในกลุ่มวัฒนธรรมซึ่งจำกัดสิทธิสมาชิกของกลุ่มในการตั้งคำถาม และปรับปรุงอำนาจและการปฏิบัติเชิงประเพณีดั้งเดิมของกลุ่ม  สิทธิที่สมาชิกชนกลุ่มน้อยได้รับจึงประกอบด้วย  สิทธิของพลเมืองทั่วไปของชาติ   สิทธิแห่งความหลากหลาย  และการเป็นตัวแทนนัฐสภาเพื่อปกป้องการคุกคามจากภายนอกและ ป้องกันมิให้มีข้อบังคับที่ละเมิดสิทธิกันเองภายในกลุ่ม

กล่าวโดยสรุปแนวคิดพหุวัฒนธรรมของคิมลิกคาเน้นการขยายสิทธิแก่ชนกลุ่มน้อย  เขาจำแนกชนกลุ่มน้อยเป็นสองกลุ่มคือ “ชนกลุ่มน้อยแห่งชาติ”  และ “ชนกลุ่มน้อยเชิงชาติพันธุ์”   และเสนอให้ชนกลุ่มน้อยแห่งชาติได้รับสิทธิในการปกครองตนเอง  สิทธิในการรักษาความหลากหลายทางชาติพันธุ์  และสิทธิการมีผู้แทนในรัฐสภา   ส่วนชนกลุ่มน้อยเชิงชาติพันธุ์ได้รับสิทธิความหลากหลายทางชาติพันธุ์และสิทธิการมีผู้แทนในสภา

หากประยุกต์แนวคิดพหุวัฒนธรรมนิยมกับสังคมไทย ก่อนอื่นเราต้องมากำหนดก่อนว่า มีชนกลุ่มน้อยใดเป็น ชนกลุ่มน้อยแห่งชาติ  และกลุ่มใดเป็นชนกลุ่มน้อยเชิงชาติพันธุ์   จากนั้นจึงกำหนดสิทธิต่างๆลงไปตามลักษณะของชนกลุ่มน้อยเหล่านั้น     มีความเป็นไปได้ว่าสังคมไทยอาจไม่มีชนกลุ่มน้อยแห่งชาติ  และมีแต่เพียงชนกลุ่มน้อยเชิงชาติพันธุ์   แต่นั่นก็ต้องเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันทางวิชาการและการเมืองต่อไป โดยเฉพาะประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีความคลุมเครืออยู่พอสมควร  ระหว่างการเป็นชนกลุ่มน้อยแห่งชาติ กับ การป็นชนกลุ่มน้อยเชิงชาติพันธุ์       หรือแม้แต่ชนกลุ่มน้อยชาวเขาในภาคเหนือของประเทศไทยก็ตกอยู่ในสภาพไม่แตกต่างกันมากนัก    หากเรากำหนดให้กลุ่มต่างๆเป็นชนกลุ่มน้อยเชิงชาติพันธุ์ เขาก็ควรจะได้สิทธิในการรักษาความหลากหลายเชิงชาติพันธุ์และสิทธิในการมีผู้แทนในสภา    
ผมคิดว่าการประยุกต์ใช้แนวคิดพหุนิยมทางวัฒนธรรมน่าจะเป็นแนวทางเชิงนโยบายสำหรับการปฏิรูปการเมืองของประเทศไทย  เพราะแนวคิดเสรีนิยมแบบเดิมที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะลดความขัดแย้งและทำให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคมได้    บางทีการนำแนวคิดใหม่มาใช้ก็อาจทำให้ทางตันที่เราเผชิญหน้าอยู่มีทางออกอย่างคาดไม่ถึงก็ได้  อันเป็นการเปิดเส้นทางใหม่สู่เป้าหมายของความสมานฉันท์ในสังคม




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ