ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ตรรกวิปริตของการทุจริต


ตรรกวิปริตของการทุจริต

พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

สังคมไทยในยุคปัจจุบันมีความวิปริตเกี่ยวกับการใช้ตรรกเรื่องการทุจริต  โดยคนจำนวนมากเชื่อว่าการทุจริตทำให้เกิดการเจริญทางเศรษฐกิจ  และมีค่านิยมยอมรับการทุจริตหากตนเองได้รับประโยชน์ด้วย  ความเชื่อและค่านิยมเหล่านี้แสดงอาการป่วยทางจิตวิญญาณของสังคมอย่างลึกซึ้ง

 หลักฐานสำคัญของปรากฎการณ์นี้คือการสำรวจทัศนคติทางการเมืองของเอแบคโพลล์ในระยะสามสี่ปีที่ผ่านมาพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแต่ขอให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดี”   การสำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2553 มีผู้ตอบแบบสำรวจถึงร้อยละ 76.1 ยอมรับกับข้อความนี้ ต่อมาในปี 2554 เอแบคโพลล์สำรวจอีก  แต่เปลี่ยนคำที่ใช้ โดยถามเกี่ยวกับ “การยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแต่ทำให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย”  ในเดือนมกราคม ร้อยละ 64.0  ของผู้ตอบแบบสำรวจยอมรับการทุจริตของรัฐบาล  และสำรวจอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันพบว่า ร้อยละ 64.6 ยอมรับ สำหรับใน ปี 2555  เดือนมกราคม  ร้อยละ 64.7  ยอมรับ และ เดือนมิถุนายน 2555  63.4 ยอมรับ


เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เคยไปพูดที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตในงานการประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ครั้งที่ 14    ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)และองค์การเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ  นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า  “ทุกวันนี้คนไทยและเยาวชนยอมรับการโกง หากทำให้เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้า  ซึ่งขัดกับความเชื่อเดิมที่ว่า การโกงจะทำให้เศรษฐกิจเสื่อมถอย”

ประโยคที่นายอภิสิทธิ์พูดในที่ประชุมคงมาจากการอ่านรายงานผลการสำรวจของเอแบคโพลล์และเชื่อตามนั้นจึงได้นำไปพูดต่อ  และนายอภิสิทธิ์คงเชื่อไปแล้วว่าผลสำรวจนั้นเป็นความจริง  และคงเชื่ออีกว่า ความเชื่อเดิมของคนไทยคือ “การโกงจะทำให้เศรษฐกิจเสื่อมถอย”   พูดง่ายๆคือ นายอภิสิทธิ์คงเชื่อว่า  ความเชื่อเกี่ยวกับการทุจริตของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม โดยพิจารณาจากผลโพลล์ดังกล่าว  และก็คงอนุมานได้ว่าคงจะมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เชื่อเช่นเดียวกับนายอภิสิทธิ์

ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าประโยค  “ยอมรับรัฐบาลที่ทุจริต แต่ทำให้ประเทศรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดี” มาจากไหน ใครเป็นคนสร้าง  แต่ประโยคนี้ได้รับความสนใจจากนักทำโพลล์และถูกนำไปสอบถามประชาชนหลายครั้งหลายหน อีกทั้งสื่อมวลชนเองก็สนใจ จึงทำให้ประโยคนี้แพร่กระจายในสังคมอย่างกว้างขวาง

แต่หากจะลองวิเคราะห์สภาพการเมืองไทยย้อนหลัง ก็พอเห็นร่องรอยของการก่อตัวของความคิดนี้อยู่บ้างในเหตุการณ์หลักประมาณ 3 เรื่อง   เรื่องแรก น่าจะเป็นเรื่องราวของนักการเมืองในแถบจังหวัดภาคกลางจังหวัดหนึ่งที่อยู่ทางตะวันตกของกรุงเทพมหานคร   นักการเมืองผู้นี้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตมาอย่างยาวนาน และจิตใต้สำนึกของเขาก็คงเปี่ยมล้นไปด้วยความหิวกระหายในเงินตรา จนในช่วงหนึ่งที่พรรคของเขาเป็นฝ่ายค้าน ถึงกับหลุดประโยคที่ไม่สมควรพูดต่อสาธารณะว่า “การเป็นฝ่ายค้านทำให้อดอยากปากแห้ง” 

อย่างไรก็ตามนักการเมืองผู้นี้ได้รับการยอมรับจากผู้เลือกตั้งในจังหวัดตนเองอย่างล้นหลาม บางครั้งถึงกับได้คะแนนเสียงมากที่สุดของประเทศ  เพราะเขาได้จัดสรรงบประมาณแผ่นดินไปสร้างถนนและสิ่งก่อสร้างอื่นๆอีกมากมายในจังหวัดของตนเอง   คนในจังหวัดนี้จึงไม่สนใจว่าชื่อเสียงของนักการเมืองคนนี้ในระดับประเทศเป็นอย่างไรหรือไม่สนใจว่าเขาจะโกงกินอย่างไร ตราบเท่าที่ยังนำงบประมาณมาลงในจังหวัดได้และตนเองได้รับประโยชน์ ก็ยังคงให้การสนับสนุนนักการเมืองผู้นี้และพรรคของเขาต่อไป

เรื่องที่สอง น่าจะมาจากในสมัยหนึ่งที่ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีที่มีภาพลักษณ์ของความซื่อสัตย์ แต่ตัดสินใจดำเนินงานและขับเคลื่อนการบริหารประเทศโดยอาศัยกฎระเบียบและขั้นตอนของระบบราชการอย่างเคร่งครัด  ซึ่งทำให้ดูมีความเชื่องช้าในการบริหารประเทศ  และมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจว่าเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ  ไม่มีการดำเนินนโยบายประชานิยม รวมทั้งไม่เก่งในการประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์  สิ่งที่เป็นคุณลักษณะหลักของนายกรัฐมนตรีผู้นี้คือ การพูดที่มีหลักการ มีวาจาแหลมคมและเชือดเฉือน    สภาพดังกล่าวจึงทำให้ผู้คนเกิดความเบื่อหน่ายและคนจำนวนมากมีความรู้สึกว่า นายกรัฐมนตรีผู้นี้ดีแต่เรื่องภาพลักษณ์ความซื่อสัตย์แต่ทำงานไม่เป็น อีกทั้งรัฐมนตรีในรัฐบาลของเขาก็ยังคงโกงกินเป็นจำนวนมาก  พูดง่ายๆคือ “นายกรัฐมนตรีซื่อสัตย์ แต่รัฐมนตรีโกงกิน และรัฐบาลถูกมองว่าไร้ผลงาน”
                
                เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีกครั้งภายหลังการรัฐประหารปี 2549  ซึ่งมีรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีมีภาพลักษณ์ของความซื่อสัตย์ แต่ดูเหมือนไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน  ซึ่งผู้คนเกิดความรู้สึกว่าประเทศเกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ  ทั้งที่ความรู้สึกกับความเป็นจริงอาจเป็นคนละเรื่องกันก็ได้

เรื่องที่สาม เป็นเรื่องราวของนายกรัฐมนตรีที่มีภูมิหลังจากการเป็นนายทุนนักธุรกิจ ยามดำรงตำแหน่งได้ประกาศวิสัยทัศน์และนโยบายมากมาย และมีการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ   เรื่องที่ทำสำเร็จเพียงเล็กน้อยก็ถูกขยายเป็นสำเร็จมาก   เรื่องใดไม่สำเร็จก็จะถูกปกปิดเก็บเงียบ   ขณะเดียวกันก็นำเงินงบประมาณแผ่นดินออกไปแจกจ่ายแก่ประชาชนบางกลุ่มที่เป็นหัวคะแนนและเครือข่ายหัวคะแนนของตนเอง แล้วก็ขยายความว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นประชาชนทั่วไป   พร้อมๆกับการดำเนินการทุจริตอย่างบูรณาการเป็นระบบทั้งการทุจริตเชิงนโยบาย  การกระทำอันเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน  การให้สินบนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดีซุกหุ้น และการคิดค่าหัวคิวในโครงการต่างๆมากมาย จนทำให้เขา เครือญาติ และพวกพ้องร่ำรวยขึ้นมาอย่างมหาศาล

 ด้วยความเป็นนักธุรกิจและการสร้างภาพที่เน้นประสิทธิภาพการทำงาน รัฐบาลของเขาจึงสามารถหลอกลวงผู้คนจำนวนมากในสังคมไทยให้เชื่อว่าประเทศมีความเจริญรุ่งเรือง  ทั้งๆที่รัฐบาลของเขาทำให้หนี้สินครัวเรือนของประชาชนเพิ่มจากหลักหมื่น เป็นหลักแสน และแทบไม่มีโครงการใดที่รัฐบาลนี้ทำโดยที่ปลอดจากการทุจริต   กระนั้นก็ตามประชาชนจำนวนหนึ่งเชื่อว่ารัฐบาลเขามีผลงาน

 จากเรื่องราวทั้งสามเรื่องที่ได้เล่ามาอย่างสังเขป  คนในสังคมไทยจำนวนหนึ่งจึงเกิดความคิด และมีการเปรียบเทียบเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล และสร้างทางเลือกแบบจอมปลอมหรือทางเลือกเทียม ขึ้นมาสองทางเลือกคือ  “รัฐบาลที่ทุจริต แต่ทำให้ประเทศรุ่งเรือง”  กับ รัฐบาลที่ซื่อสัตย์ แต่ทำให้ประเทศตกต่ำ” 

ทางเลือกทั้งสองเป็นทางเลือกที่เกิดจาก การใช้ตรรกที่วิปริตหรือไร้ความเป็นจริงรองรับอย่างสิ้นเชิง เป็นตรรกที่ถูกสร้างมาเพื่อสนองประโยชน์ของนักการเมือง และให้พวกเขามีความชอบธรรมในการทุจริตต่อไปโดยอ้างว่าประชาชนให้การยอมรับ  ตรรกนี้จึงเป็นตรรกที่นำพาความหายนะมาสู่ระบอบประชาธิปไตยและสังคมไทยโดยรวม    พวกนักทำโพลล์ที่นำไปเป็นประเด็นในการสอบถามประชาชน จึงเป็นการกระทำที่ตอกย้ำความเชื่อวิปริตนี้ และย่อมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมให้กับการทุจริตของนักการเมือง เพราะฉะนั้น บรรดานักทำโพลล์ทั้งหลาย ขอให้หยุดการนำประโยคที่มีความวิปริตเชิงตรรกเช่นนี้ไปถามประชาชนได้แล้ว 

 อันที่จริงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ทราบอยู่แล้วว่าการทุจริตมีผลร้ายต่อสังคมอย่างไร แต่ในเมื่อยังมีตรรกวิปริตเช่นนี้ดำรงอยู่ ผมจำเป็นต้องขยายความเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยเกี่ยวกับผลร้ายและความหายนะของประเทศหากเรามีรัฐบาลที่ทุจริต

   รัฐบาลทุจริตชักหัวคิวร้อยละ 30 ของเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งหากคิดเป็นตัวเงินคงประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท   เงินเหล่านี้แทนที่จะกระจายไปสู่พี่น้องประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย กลับกระจุกในกลุ่มนักการเมืองที่ทุจริต  ลองนึกภาพหากนำเงินนี้ไปสร้างระบบชลประทานและการป้องกันภัยพิบัติจะทำให้ความเสียหายจากน้ำท่วมลดลงได้อย่างมหาศาลและเท่ากับลดความเดือดร้อนของประชาชนด้วย  หากนำเงินนี้ไปสร้างถนนดีๆถูกต้องตามหลักวิศวกรรมและมีความคงทน ก็จะทำให้ถนนมีสภาพดีไม่ชำรุดง่าย ทำให้ช่วยลดการสึกหรอของรถยนต์ ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมรถมากจนเกินไป  อีกทั้งยังช่วยลดอุบัติเหตุ ลดการบาดเจ็บ พิการล้มตายที่เกิดจากถนนที่ไม่ดีอีกมาก

 พูดง่ายๆก็คือ หากมีการคอรัปชั่นเกี่ยวกับการคมนาคมเช่น ถนน  สิ่งที่จะเกิดเพิ่มขึ้นคือ อุบัติเหตุ การบาดเจ็บพิการ และล้มตายของประชาชน การสึกหรอของรถยนต์  และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

       หากมีการคอรัปชั่นเกี่ยวกับการเลื่อนตำแหน่งในหน่วยงานราชการ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราจะได้ข้าราชการที่ทำงานไม่เป็น ขี้โกง และไม่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน

          หากมีการคอรัปชั่นในหน่วยงานที่ดูแลความสงบและความปลอดภัยของสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ จะมีการแพร่ระบาดของยาเสพติด  การเพิ่มขึ้นของอบายมุขทั้งการพนัน แหล่งบันเทิง  และอาชญากรรม

 หากมีการคอรัปชั่นในแวดวงการศึกษา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความด้อยพัฒนาทางปัญญาของเด็กในสังคม สังคมก็จะเต็มไปด้วยเด็กและเยาวชนที่ไม่มีคุณภาพ อ่านเขียนไม่ได้ ไม่มีงานทำ และนำไปสู่การมั่วสุม เกิดการทะเลาะวิวาท มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย มีปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงปรารถนาและการทำแท้ง

 ยังมีเรื่องราวความหายนะที่เกิดขึ้นจากการคอรัปชั่นอีกมาก สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้น  เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าถึงเวลาที่บรรดานักทำโพลล์ต้องตระหนักและจะทำสิ่งใดก็ตามต้องมีความระมัดระวัง คิดให้ไกล คิดให้เป็นระบบ และต้องไม่หวังเป็นข่าวโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบกับสิ่งที่ทำลงไป และระวังอย่าเป็นเครื่องมือในการตอกย้ำ “ตรรกวิปริต” ที่เป็นฐานในการสร้างความชอบธรรมแก่นักการเมืองที่ฉ้อฉล

 พึงระลึกว่า   รัฐบาลที่ทุจริตย่อมสร้าง “ความหายนะ” แก่บ้านเมือง  หาใช่สร้าง “ความรุ่งเรือง” แก่บ้านเมืองดังที่มีการพยายามสร้างขึ้นมา  และจะต้องช่วยกันเผยแพร่อันตรายของการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม ต่อเนื่องและจริงจัง ในหลากหลายมิติ และหลากหลายช่องทาง เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความตระหนักในภัยร้ายของการทุจริต และจะได้มาช่วยกันป้องกันและตรวจสอบการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


 

ความคิดเห็น

  1. ชอบมาก "อาการป่วยทางจิตวิญญาณของสังคมอย่างลึกซึ้ง" วลีสำคัญควรเผยแผ่ให้มากทั้วทุกสังคม ขอรับ บ้านเมืองเต็มไปด้วยคนป่วยทางจิตประสาท

    ตอบลบ
  2. ขออนุญาตเผยแพร่ค่ะ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั