ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

อันตรายของพรรคการเมืองแฝงฝังของทุนนิยมสามานย์


อันตรายของพรรคการเมืองแฝงฝังของทุนนิยมสามานย์

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต


ปรากฏการณ์ทางการเมืองหลายประการของประเทศไทยมีความแปลกประหลาดที่ไม่สามารถใช้เหตุผลและตรรกะทั่วไปอธิบายได้   เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมีลักษณะของความขัดแย้งแฝงฝังอยู่ภายในตัวเอง    เช่น การที่ผู้คนในสังคมไทยจำนวนมากบอกว่าประเทศไทยต้องเป็นประชาธิปไตย   ประกาศว่าตนเองรักและเชิดชูประชาธิปไตย  และเดินตามแนวทางและหลักการของประชาธิปไตย   แต่สิ่งที่พวกเขาทำกลับตรงข้ามกับสิ่งที่พวกเขาบอกและประกาศออกมา 

 เราจำต้องทราบลักษณะความขัดแย้งแฝงฝังภายในตนเองของการเมืองไทยเพื่อจะได้พิจารณาและวินิจฉัยว่าลักษณะการเมืองเช่นนี้เป็นความหวังที่จะนำพาประเทศชาติให้พ้นจากความหายนะและนำไปสู่ความรุ่งเรือง   หรือจะนำพาสังคมไทยจมดิ่งสู่ห้วงเหวลึกแห่งความเสื่อมโทรม ความพินาศและความยากเข็ญ

เริ่มจากพรรคการเมืองซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในนามประชาชน    และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยให้เกิดความเข้มแข็งหรืออ่อนแอ     ประวัติศาสตร์ของหลายหลายประเทศได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดว่าหากพรรคการเมืองมีความขัดแย้งแฝงฝังภายในตัวเองกับระบอบประชาธิปไตย  แทนที่พรรคการเมืองนั้นจะสร้างประเทศให้เป็นประชาธิปไตย กลับทำให้ประเทศเหล่านั้นกลายเป็นเผด็จการที่เผาผลาญชีวิตผู้คนและทำลายสังคมอย่างย่อยยับ  เช่น พรรคนาซีของเยอรมัน   พรรคฟาสซิส์ของอิตาลี พรรคคอมมิวนิสต์ของหลายๆประเทศ  เป็นต้น

พรรคการเมืองที่มีความขัดแย้งแฝงฝังเหล่านั้นอาศัยระบอบประชาธิปไตยเป็นเนื้อนาดิน ชูธงประชาธิปไตย ชูธงการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และชูธงนโยบายประชานิยม เพื่อใช้เป็นประเด็นในการหาเสียง หลอกประชาชนให้หลงเชื่อและศรัทธา  นำไปสู่การนิยมชมชอบแบบคลั่งไคล้   ขณะเดียวกันก็มีการจัดตั้งองค์กรมวลชนในทุกระดับตั้งแต่ในชุมชนชนบท ชุมชนเมือง จนไปถึงหน่วยการปกครองที่ใหญ่กว่าเช่น อำเภอ จังหวัด  เป็นต้น

พรรคการเมืองเหล่านี้ยังมีการจัดตั้งโรงเรียนการเมืองเพื่อปลูกฝัง กล่อมเกลา ความคิดและความเชื่อทางการเมือง แนวทางหลักที่พวกเขาใช้เพื่อให้กระบวนการการปลูกฝังความเชื่อให้มีพลังคือ “การสร้างศัตรูเทียม”  และวาดภาพศัตรูให้มีความโหดร้าย น่ากลัว กดขี่ ขูดรีด และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมขึ้นมา  เช่น พรรคนาซี สร้างชาวยิวเป็นศัตรูเทียมของพวกเขา  พรรคคอมมิวนิตส์สร้าง “อำมาตย์ศักดินาและนายทุน” เป็นปรปักษ์  

 พวกเขาจะตอกย้ำและผลิตซ้ำความคิดความเชื่อเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกต่างๆทุกวิธีการ จนมวลชนของพวกเขาหลงเชื่ออย่างไม่ลืมหูลืมตา และมีความพร้อมในการใช้ความรุนแรงในการทำลายปรปักษ์เทียมและผู้ที่มีความคิดความเชื่อต่างจากตนเองอย่างโหดร้ายและทารุณ

ลักษณะร่วมอีกประการของพรรคการเมืองแฝงฝังคือ การสร้างภาพลักษณ์ผู้นำ ให้เป็นเสมือนศาสดาที่เกิดมาเพื่อปลดปล่อยผู้คนให้พ้นจากความทุกข์ยาก    ผู้นำของพรรคการเมืองแฝงฝังมักเป็นผู้ที่ใช้วาทศิลป์ได้อย่างเก่งกาจ สามารถพูดโน้มน้าวจูงใจให้ผู้คนหลงเชื่อและพร้อมยอมตายถวายชีวิตให้  บรรดาสมุนของเขายกย่องเขาและงมงายในบุคลิกและคำพูดของเขา เชื่อในสิ่งที่เขาบอก ทำในสิ่งที่เขาสั่ง  ราวกับแมลงเม่าต้องมนต์แสงไฟ บินพรั่งพรูเข้าไปหาโดยไม่สำนึกว่าความตายรออยู่เบื้องหน้า

 พรรคการเมืองแฝงฝังใช้บุคคลที่ผ่านการอบรมจัดตั้งไปปฏิบัติงานแบบแฝงฝังให้กับพรรค แทรกซึมเข้าไปในวงการต่างๆ เพื่อขยายความคิด การจัดตั้ง รวมทั้งการปล่อยข่าวลือเพื่อทำลายผู้ที่เขาตีตราว่าเป็นศัตรู    วิธีการเผยแพร่ความคิดของพวกเขามีหลากหลายรูปแบบ ทั้งในการปราศรัย การประชุม เสวนากลุ่มย่อย การจัดทำนิตยสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ สำหรับพรรคการเมืองแฝงฝังในปัจจุบันก็จะใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตด้วย  

            พรรคการเมืองแฝงฝังเร่งเร้าให้สถานการณ์การเมืองสุกงอมเพื่อใช้ประโยชน์ในการแพร่กระจายความคิดของตนเอง โดยการจัดชุมนุมทางการเมืองเป็นระยะ  ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างสถานการณ์ให้เอื้อประโยชน์ต่อการผนึกรวมตัวของพลพรรคสมาชิก โดยปลุกระดมให้มวลชนของตนเองใช้ความรุนแรงเพื่อให้รัฐล้อมปราบ  และเมื่อมีผู้คนล้มตาย พวกเขาก็ใช้ความตายของพลพรรคเป็นสิ่งกระตุ้นความคั่งแค้น และใช้อารมณ์แห่งความโกรธแค้นเป็นพลังในการดึงดูดผู้คนให้เข้าร่วมกับพวกเขามากยิ่งขึ้น

เมื่อพรรคการเมืองแฝงฝังเหล่านี้ได้อำนาจรัฐ พวกเขาก็วางแผนและดำเนินการตามแผนอย่างเป็นขึ้นตอนในการทำลายระบอบประชาธิปไตย   พวกเขาใช้อำนาจรัฐในการกดดันและปิดกั้นสื่อมวลชนที่มีการนำเสนอข้อมูลและความคิดเห็นที่ต่างจากพวกเขา   พวกเขาผลิตนโยบายที่ทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรม โดยใช้กลไกรัฐในการสังหารผู้คนที่พวกเขาเห็นว่าเป็นปรปักษ์ หรือเป็นผู้คนที่พวกเขาตราหรือกล่าวหาว่าเป็นผู้ชั่วร้ายอย่างสมบูรณ์เช่น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด  หรือเป็นผู้คนที่สร้างผลกระทบต่ออำนาจของพวกเขา  

ขณะเดียวกันพวกเขาก็ผลิตนโยบายประชานิยมสร้างความเคลิบเคลิ้มและหลงใหลแก่ประชาชน  โดยจัดสรรเงินงบประมาณของรัฐเพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชนในหลายรูปแบบ   ไม่สนใจใยดีว่าจะมีผลประทบต่องบประมาณและการคลังของประเทศอย่างไร  และไม่แยแสว่าสิ่งที่พวกเขาทำจะเป็นการบั่นทอนคุณภาพในการใช้ปัญญาและการทำงานของประชาชนอย่างไร    เพราะเป้าหมายของพวกเขาคือการสะกดจิตประชาชนให้เชื่อพวกเขาอย่างงมงายเพื่อให้พวกเขาชี้นำได้ตามแต่ใจปรารถนา    แน่นอนว่าสิ่งนี้คือ การใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือและเครื่องเล่นในเกมรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของพวกเขา

พรรคการเมืองแฝงฝังปรากฏตัวขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติหลายครั้งหลายหน ในหลายประเทศ  บางประเทศก็สามารถหลุดพ้นจากมนตราปีศาจของพรรคการเมืองเหล่านี้ไปได้  ด้วยเหตุที่ประชาชนมีความตื่นตัว ใช้ปัญญาในการรับข้อมูลข่าวสาร วิเคราะห์จนเห็นธาตุแท้ที่แฝงฝังอยู่  จากนั้นร่วมกันปฏิเสธ ร่วมต่อต้านอย่างต่อเนื่อง ไม่ยอมจำนนในอำนาจที่พรรคการเมืองเหล่านี้ใช้บังคับ  ไม่ยอมหลงเชื่อกับการโฆษณาชวนเชื่ออันสวยหรูที่เต็มไปด้วยความหลอกลวงและจอมปลอม    ต้องทำจนกระทั่งพรรคการเมืองเหล่านี้ไม่มีที่ยืนในสังคมหรือกลายเป็นพรรคที่ไร้อิทธิพลไปในที่สุด

ในสังคมไทยเฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ  เราก็มีพรรคการเมืองแฝงฝังซึ่งกำลังสร้างอิทธิพลในการครอบงำประชาชนและสังคมไทยที่เด่นชัดอยู่พรรคหนึ่ง     พรรคนี้สร้างวาทกรรมการเชิดชูประชาธิปไตย   ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม  ขจัดความยากจน และการทุจริต เช่นเดียวกับพรรคการเมืองแฝงฝังในประเทศอื่นๆ

ความเหมือนของพรรคการเมืองแฝงฝังพรรคนี้ในประเทศไทยกับพรรคการเมืองแฝงฝังในประเทศอื่นๆมีอีกหลายประการ  ประการแรก เป็นแหล่งซ่องสุมของนักโทษหนีคดีและผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย  เรียกได้ว่าผู้นำและบุคคลสำคัญของพรรคหลายคนล้วนมีส่วนในการสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย ทำร้ายประเทศชาติและประชาชนอย่างต่อเนื่อง   มีส่วนร่วมในการทำให้ชีวิตคนบริสุทธิ์ต้องล้มตายหลายคนและมีส่วนร่วมในการเผาบ้านทำลายเมือง

ประการที่  ถูกชี้นำและบงการจากนักโทษคดีอาญา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือมีอาชญากรที่ทรงอิทธิพลสั่งการการบริหารของพรรค ทั้งในเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรค การเลือกผู้สมัครของพรรค และรวมทั้งการกำหนดนโยบายหาเสียงของพรรค  ผู้คนในพรรคนี้เชื่อฟังผู้นำพรรคที่เป็นอาชญากรของชาติอย่างปราศจากข้อสงสัยหรือคำถามใดๆทั้งสิ้น คำสั่งของผู้นำคือสิ่งที่ต้องปฏิบัติการ ใครจะโต้แย้งไม่ได้    พรรคการเมืองเช่นนี้จะสร้างประชาธิปไตยได้อย่างไร

ประการที่สาม พรรคการเมืองแฝงฝังยังมีมวลชนและองค์กรจัดตั้งทำหน้าที่ในการปลูกฝังความเชื่ออันเป็นพิษต่อสังคมไทยและระบอบประชาธิปไตย  มีการสร้างศัตรูเทียมขึ้นมาเพื่อเป็นเป้าหมายในการทำลายและกระตุ้นความคั่งแค้นของสมาชิก   พรรคนี้ได้ส่งสมาชิกคนสำคัญไปทำงานมวลชนทั้งด้านเปิดและด้านปิด  โดยในด้านเปิดมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างภาพให้ดูดีมีประชาธิปไตย รักสันติ เพื่ออำพรางตัวตนที่แท้จริงของตนเอง  แต่ในด้านปิดนั้นพวกเขาใช้ข่าวลืออันเป็นเท็จในการใส่ร้ายป้ายสี เพื่อสร้างความเกลียดชัง และบั่นทอนความน่าเชื่อถือของบุคคลและสถาบันที่พวกเขาเห็นว่าเป็นอุปสรรคในการขวางกั้นเส้นทางสู่อำนาจของพวกเขา

ประการที่สี่ พวกเขามีการปฏิบัติการทางการเมือง โดยจัดชุมนุมเป็นระยะเพื่อตอกย้ำความเป็นเอกภาพและข่มขวัญผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับพวกเขา  เมื่อได้จังหวะและโอกาสพวกเขาพร้อมที่จะกระตุ้นมวลชนผู้บ้าคลั่งให้เผาทำลายล้างทรัพย์สินและชีวิตของผู้คนได้ทุกเวลาและไม่เลือกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลวงหรือหัวเมืองอื่นใดก็ตาม

ประการที่ห้า  พรรคการเมืองแฝงฝังมักมีแนวโน้มที่จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธเพื่อใช้เป็นกลไกในการสร้างและเร่งเร้าสถานการณ์การเมืองให้เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้น   และจะใช้กองกำลังติดอาวุธเหล่านี้ในการทำร้ายผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างจากพวกเขาโดยปราศจากมนุษยธรรมใดๆทั้งสิ้น

หากพรรคการเมืองแฝงฝังพรรคนี้ได้อำนาจและเป็นรัฐบาล  เราสามารถทำนายแนวทางที่พวกเขาจะใช้อำนาจได้โดยอาศัยข้อมูลจากประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อพรรคลักษณะนี้ได้อำนาจในประเทศอื่นๆ   ประกอบกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้อำนาจของหัวหน้าพรรคที่แท้จริงซึ่งขณะนี้เป็นนักโทษหนีคดีเคยใช้เมื่อคราวที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรี

ภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือ   วันใดที่พรรคนี้ได้อำนาจวันนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข    จะเป็นวันที่สังคมไทยก้าวไปสู่ยุคมืดบอดทางปัญญา  ถูกครอบงำด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ   จะเป็นวันที่สังคมถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ และผู้คนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างทั่วหน้าทั้งจากอำนาจรัฐและจากมวลชนที่บ้าคลั่งของพรรค   จะเป็นวันแห่งการเริ่มต้นของความหายนะทางเศรษฐกิจ ความทุกข์ยากจะแผ่ขยายไปทั่ว เงินจะเฟ้อขึ้นอย่างมหาศาล ด้วยเหตุที่พวกเขาจะใช้นโยบายประชานิยมอย่างบ้าคลั่งนั่นเอง

ท้ายที่สุดจะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความขัดแย้ง แตกแยก และรุนแรงที่แท้จริงของสังคมไทย  จนสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตของสังคมไทยกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย   พรรคการเมืองที่แฝงฝังพรรคนี้จึงมิใช่พรรคที่เป็นประชาธิปไตย แต่เป็นพรรคที่แฝงฝังของเผด็จการทุนสามานย์ อำนาจนิยมอย่างสุดขั้ว และเป็นอันตรายยิ่งต่อสังคมไทย ประเทศชาติไทย และประชาชนชาวไทยทุกคน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ