ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

อำนาจของสถานการณ์



อำนาจของสถานการณ์
                                                                                                       พิชาย  รัตนดิลก ภูเก็ต   

            แม้ด้านหนึ่งมนุษย์จะมีเจตจำนงเสรี  สามารถตัดสินใจกระทำการทางสังคม ตามเจตนารมณ์ของตนเอง   แต่อีกด้านหนึ่งมนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับพลังอำนาจของสถานการณ์ที่ทำให้ทางเลือกของพวกเขาต้องถูกจำกัด

          การกระทำทางสังคมของมนุษย์ที่อยู่บนพื้นฐานของเจตจำนงเสรีมีอย่างน้อยสี่แนวทาง คือ 

          แนวทางแรก   มนุษย์กระทำทางสังคมโดยยึดหลักการพื้นฐานที่ตนเองเชื่อว่าเป็นความจริงและเป็นความดีในตัวของมันเอง   เช่น  นายเสรี ไทยแท้ เชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นหลักการที่ดีโดยตัวของมันเอง เมื่อผู้ใดมาทำลายประชาธิปไตย นายเสรีจะคัดค้านอย่างแข็งขัน          

         แนวทางที่สอง มนุษย์เลือกไม่กระทำอย่างหนึ่งอย่างใด โดยเชื่อว่าหลักการพื้นฐานของสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีในตัวมันเอง  เช่น  นายอุดร  ชัชนิน  เชื่อว่าการเลี่ยงกฎหมายโดยหลักการแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ดี    นายอุดร ก็จะไม่เลี่ยงกฎหมาย    หรือ  ผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคน ไม่ซื้อเสียงชาวบ้าน เพราะเชื่อว่าการซื้อเสียงเป็นสิ่งที่ไม่ดี

         การกระทำหรือไม่กระทำทางสังคมใดๆของมนุษย์ตามแนวทางทั้งสองนี้จึงเป็นไปตามจิตใต้สำนึกที่ชี้นำการปฏิบัติ  บางครั้งเราเรียกว่าเป็นการกระทำด้วย ใจ

            แนวทางที่สาม  มนุษย์กระทำทางสังคมโดยประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต  
หากมนุษย์ประเมินว่าการกระทำของเขาเป็นผลบวกต่อผลประโยชน์ของตนเอง  ต่อสิ่งที่ตนเองยึดถือหรือให้คุณค่า   และต่อบุคคลหรือสถาบันที่ตนเองให้ความเคารพนับถือ พวกเขาย่อมกระทำสิ่งนั้น  

           นายมารร้าย ทำลายไทย  ยอมสังกัดพรรคการเมืองหนึ่ง เพราะประเมินแล้วว่าพรรคการเมืองนั้นจะจ่ายเงินสนับสนุนตนเองในการเลือกตั้ง และทำให้ตนเองมีโอกาสได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง   เป็นตัวอย่างของการประเมินการกระทำที่เขาคาดว่าเป็นผลบวกต่อผลประโยชน์ตนเอง    หรือการที่นายประชา   รักธิปไตย  รณรงค์ให้ประชาชนและพลังเงียบไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะประเมินว่า การกระทำของตนเป็นผลบวกต่อหลักการประชาธิปไตยที่ตนเองยึดถือ
            แนวทางที่สี่   การกระทำใดๆที่ปัจเจกชนประเมินว่ามีผลกระทบทางลบต่อผลประโยชน์ ของตนเอง  ต่อบุคคลและสถาบันที่ตนเองยึดถือ บุคคลย่อมที่จะหลีกเลี่ยงการกระทำดังกล่าว    เช่น หัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งประเมินว่า การดีเบตเป็นผลลบต่อคะแนนเสียงของตนเองและพรรคที่สังกัด  จึงไม่ยอมเข้าร่วมการดีเบต    

          การประเมินผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งทางบวกและทางลบ ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ  เป็นการกระทำที่อยู่ภายใต้ส่วนที่เป็นจิตสำนึก  หรือ เรียกง่ายๆว่า เป็นการกระทำของ สมอง 

          อย่างไรก็ตามมีการกระทำทางสังคมจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นไปตามเจตจำนงเสรีของ ใจ และ เหตุผลของ สมอง ของผู้กระทำการ    แต่กลับถูกผลักดันด้วยพลังอำนาจของสถานการณ์

           สถานการณ์บางเรื่องกดดันให้มนุษย์ต้องละทิ้งหลักการที่ตนเองยึดมั่น   เช่น ผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคน ตลอดระยะเวลาที่หาเสียงยึดมั่นว่าจะไม่ซื้อเสียงอย่างเด็ดขาด  ปรากฎว่าเมื่อถึงปลายฤดูหาเสียงมีคะแนนเป็นรองฝ่ายคู่แข่งเพียงเล็กน้อย  และทีมงานที่ช่วยหาเสียงประเมินแล้วว่า หากซื้อเสียงเพียงไม่กี่คะแนนก็จะชนะการเลือกตั้งอย่างแน่นอน   ภายใต้แรงกดดันเช่นนี้  ผู้สมัครส.ส. คนนี้จะทำอย่างไร   

มนุษย์โดยทั่วไปจะต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากสถานการณ์อยู่เสมอ  และบ่อยครั้งที่มนุษย์ต้อง ใจสลายจากอำนาจของสถานการณ์

           พลังของสถานการณ์ไม่เพียงแต่จะคุกคาม ใจ เท่านั้น  ยังส่งอิทธิพลต่อ สมอง อีกด้วย    ในหลายโอกาสเมื่อมนุษย์ถูกสถานการณ์กดดัน ทำให้ไม่อาจประเมินได้ว่าผลสืบเนื่องที่เกิดขึ้นจากการเลือก หรือไม่เลือกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง   จะเป็นผลเชิงบวกหรือเชิงลบต่อผลประโยชน์ของตนเอง หรือต่อสิ่งที่ตนเองให้คุณค่า  

กล่าวง่ายๆคือ มนุษย์ไม่รู้ว่าการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของตนเอง จะส่งผลอย่างไรในอนาคต   ทำให้บางครั้งมนุษย์จึงกระทำในสิ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบทางลบ  แต่ไม่กระทำในสิ่งที่ส่งผลทางบวก     

ยิ่งไปกว่านั้นในสถานการณ์บางอย่าง มนุษย์ถูกกดดันให้เลือกทางเลือกที่ปราศจากผลทางบวก   ไม่ว่าจะเลือกทางใด ต่างก็ส่งผลกระทบทางลบทั้งสิ้น   ตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก    สถานการณ์เช่นนี้ทำให้มนุษย์ สมองสับสน เหตุผลสั่นคลอน
สถานการณ์ของสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคตถัดจากนี้ไปอีก 2-3 ปี จะเป็นพลังกดดันที่อาจทำให้คนไทยจำนวนมากตกอยู่ในภาวะ ทั้ง  ใจสลายและสมองสับสน ควบคู่กันไป การกระทำและพฤติกรรมที่แปลกประหลาดหลายอย่างของบุคคลและกลุ่มคนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทยก็อาจเกิดขึ้นได้นับจากนี้ไป    

  จะมีก็เพียง พลังของสติ  ปัญญา และความอดกลั้น เท่านั้น ที่จะต่อสู้กับอำนาจของสถานการณ์เช่นนี้ได้
          
          

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ