อย่าหวังกับเผ่าพันธุ์นักการเมือง
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
สังคมไทยเผชิญกับวิกฤติการณ์หลายครั้ง
แต่ละครั้งทำให้เราเห็นลักษณะที่แท้จริงของผู้บริหารบ้านเมืองทั้งในด้านวิธีคิดและพฤติกรรมอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น การเรียนรู้ที่เราได้รับเพิ่มขึ้นนำมาสู่ข้อสรุปที่สำคัญว่าเผ่าพันธุ์ของนักการเมืองไทยในปัจจุบันไม่เหมาะสมสำหรับการบริหารประเทศชาติ
การสร้างสรรค์ประเทศใหม่จะเป็นไปได้จักต้องมีผู้บริหารประเทศที่มีคุณภาพใหม่
และกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นและโบกสะบัดแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นักการเมืองส่วนใหญ่และข้าราชการประจำระดับสูงมีวิธีคิดในการรับรู้ปัญหาโดยใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง
อันเกิดจากบาปที่ชั่วร้ายแห่งความหยิ่งยะโส (sin of
pride) บาปประเภทนี้ โทมัส
มอร์ นักปรัชญาชาวอังกฤษผู้เขียนหนังสือชื่อ “ยูโทเปีย” หรือ “สังคมอุดมคติ”
ชี้ว่า เป็นบาปที่นำพามาซึ่งความหายนะของสังคม
เพราะผู้ที่หยิ่งยะโสจะปิดกั้นความเป็นจริงที่หลากหลาย ปิดกั้นการฟังความคิดของผู้อื่น
และปิดกั้นการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น
เมื่อปิดกั้นสิ่งเหล่านี้ผู้บริหารที่หยิ่งยะโสก็ตัดสินใจภายใต้ฐานคิดและความเชื่อที่คับแคบของตนเอง ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่ด้อยคุณภาพ
และจะสร้างผลกระทบทางลบและความเสียหายแก่สังคมอย่างเหลือคณานับ
ความหยิ่งยะโสมีที่มาที่สำคัญสามประการ ประการแรก มาจากการประเมินว่าตนเองมีสติปัญญาสูงกว่าผู้อื่น
การคิดเช่นนี้ถูกตอกย้ำให้ลงไปสู่จิตใต้สำนึกของผู้นั้นมากขึ้น
หากผู้นั้นมีโอกาสไปศึกษาในสถาบันการศึกษาที่สังคมยกให้เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก หรือหากผู้นั้นได้มีโอกาสรับตำแหน่งสำคัญ เช่น
ได้เป็น ปลัดกระทรวง ส.ส. รัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี บุคคลเหล่านี้จึงมีบุคลิกภาพที่เรียกว่า “นัยน์ตาอยู่เหนือศีรษะ” เมื่อมีนัยน์ตาอยู่เหนือศีรษะความเป็นจริงทางสังคมที่พวกเขาเห็นจึงมีอยู่ทิศทางเดียว
คือทิศทางที่สอดคล้องกับความคิดของตนเอง
ส่วนความเป็นจริงอื่นๆพวกเขาจะมองไม่เห็น
รวมทั้งไม่เห็นด้วยว่าเบื้องหน้าที่พวกเขาเดินเป็นเหวลึก โอกาสที่พวกเขาจะเดินตกเหวพาตัวเองไปสู่ความพินาศจึงมีสู
ง ยิ่ง
ความพินาศส่วนบุคคลของพวกเขาอาจสร้างผลกระทบต่อสังคมไม่มากนักหากพวกเขาเป็นเพียงคนธรรมดาสามัญ
แต่ถ้าหากพวกเขาเป็นบุคคลสาธารณะและรับผิดชอบการบริหารบ้านเมือง
ความพินาศของเขาย่อมสร้างผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ดังเช่น
ด้วยความหยิ่งยะโส รัฐบาลอภิสิทธิ์ จึงตัดสินใจกอดยึด MOU 2543 ไว้แน่น อันจะทำให้เกิดการเสียดินแดนของประเทศไทย
และส่งผลกระทบต่อสังคมไทยและประชาชนไทยอย่างเหลือคณานับ
ประการที่สอง ความหยิ่งยะโสที่มาจากความมั่งคั่ง ผู้ที่ร่ำรวยมีทรัพย์สินมาก
ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะมาจากการประกอบอาชีพโดยสุจริตหรือเกิดจากการทุจริต ฉ้อฉล
โกงกินประเทศชาติและประชาชน เมื่อร่ำรวยขึ้นมาก็มักจะมีความรู้สึกว่าตนเองสูงส่งกว่าผู้อื่น เห็นผู้อื่นต่ำต้อยกว่า
และยิ่งผู้ใดที่ร่ำรวยมาด้วยการค้าหรือการทุจริต เมื่อถูกผู้อื่นเปิดเผยที่มาของทรัพย์สินอันสกปรกของตนเอง
ก็มักจะกลบเกลื่อนด้วยการบอกว่าผู้อื่นอิจฉาริษยาตนเอง
ผู้ที่มั่งคั่งมักคิดว่าเงินของตนเองสามารถซื้อจิตวิญญาณของผู้คนได้ทั้งหมด
แต่ที่จริงแล้ว
เงินสามารถซื้อได้เฉพาะบุคคลที่ขาดสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์หรือบุคคลที่ตีค่าความเป็นมนุษย์ของตนเองให้เท่ากับสิ่งของหรือเท่ากับเผ่าพันธุ์ของสัตว์เท่านั้น
ส่วนผู้ที่รักษาความเป็นมนุษย์ที่แท้ของตนเองไว้ได้นั้น
เงินของผู้มั่งคั่งมิอาจซื้อพวกเขาได้
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในบรรดานักการเมืองส่วนใหญ่ ข้าราชการระดับสูง
สื่อมวลชน และนักวิชาการบางส่วนนั้น
สำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ของพวกเขาขาดหายไป
ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงขายตัวเองให้กับบรรดาปีศาจร้ายที่ทำลายประเทศไทยโดยไร้ความละอายใจใดๆหลงเหลืออยู่ เราจะเห็นว่าบุคคลเหล่านี้ บ้างก็ถูกซื้อได้ด้วยเงินของนักโทษหนีคดี
บ้างก็ถูกซื้อด้วยหัวหน้าก๊วนแก๊งทางการเมือง บ้างก็ถูกซื้อด้วยนักธุรกิจที่ทำลายสังคมและสิ่งแวดล้อม และบ้างก็ถูกซื้อจากอริราชศัตรู เช่น ฮุนเซน เป็นต้น
ผู้ดำรงตำแหน่งทางการบริหารของไทยเมื่อขายตัวไปแล้ว
พวกเขาจึงตัดสินใจเชิงนโยบายและการปฏิบัติที่ตอบสนองผลประโยชน์ของเจ้านายของพวกเขา
โดยไม่สนใจหลักจริยธรรม คุณธรรมกฎหมาย และประเพณีใดๆ นึกจะยกแผ่นดินไทยให้กัมพูชา
ก็ยกให้ทันทีโดยมิได้สนใจ ใส่ใจและใช้ความเพียรในการตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง
อย่างรอบคอบและรอบด้านเสียก่อน
ดังที่เกิดขึ้นที่บ้านหนองจาน จังหวัดสระแก้ว และพื้นที่บริเวณ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่เขาพระวิหาร เป็นต้น
ส่วนนักวิชาการบางกลุ่มเมื่อเสพผลประโยชน์จากฮุนเซนและกระทรวงต่างประเทศจนอิ่มแล้ว
ก็ลืมความเป็นอิสระและสำนึกแห่งความเป็นวิชาการของตนเองไปจนสิ้น
พวกเขาบางคนยกย่องทรราชฮุนเซนเป็นวีรบุรุษ
โดยกล่าวว่าฮุนเซนได้ใช้ลัทธิชาตินิยมที่ก้าวหน้า
โดยดึงนานาชาติเข้ามาร่วมวงความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา ขณะที่ไทยใช้ชาตินิยมในศตวรรษที่ 19
นักวิชาการกลุ่มนี้คงลืมไปแล้วว่า
ฮุนเซนโกงการเลือกตั้งในกัมพูชาอย่างไร
ฮุนเซนล่าสังหารชาวกัมพูชาผู้ที่ไม่เห็นด้วยหรือขัดขวางผลประโยชน์และอำนาจของเขาอย่างไร
เช่น กรณีเจ้ารณฤทธิ์ และ นายสม รังสี
คงลืมไปว่าฮุนเซนปลุกกระแสคลั่งชาติให้ชาวกัมพูชามาเผาสถานฑูตไทย คงลืมไปว่าฮุนเซนสั่งให้ทหารกัมพูชาใช้ปราสาทพระวิหารเป็นฐานในการโจมตีไทย
และยิงใส่ชาวบ้านพลเรือนไทย นี่นะหรือชาตินิยมที่ก้าวหน้าของฮุนเซน
นี่นะหรือวีรบุรุษของนักวิชาการชาวไทยผู้คลั่งไคล้
ความเป็นจริงเหล่านี้ยังคงอยู่ในพื้นที่ทางความคิดของพวกเขาหรือไม่
ประการที่สาม ความหยิ่งยะโสที่มาจากอำนาจ เมื่อมีอำนาจผู้คนมักจะตัวพอง
มองโลกราวกับว่าสรรพสิ่งอยู่แทบเท้าตน
ยิ่งผู้คนที่ใกล้ชิดประจบประแจงสอพลออยู่เป็นเนืองนิตย์ผนวกกับการได้รับความชื่นชมจากผู้หลงใหลในรูปเสียงหรือคุณสมบัติอื่นๆ ก็ยิ่งทำให้บุคคลผู้นั้นเท้าลอยจากพื้นมากขึ้น อำนาจทำให้คนเปลี่ยนจิตสำนึกและพฤติกรรมได้ง่าย
ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดคือ นายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ
นายอภิสิทธิ์ เมื่อเป็นผู้นำฝ่ายค้านซึ่งไร้อำนาจก็มีความนอบน้อมถ่อมตน
และดูเหมือนจะเป็นผู้ที่มีจริยธรรมและคุณธรรมเต็มเปี่ยมในตัวเขา
เขาเคยอภิปรายในสภาทำนองว่า
นักการเมืองต้องมีสำนึกมากกว่าคนธรรมดา
เสียงประชาชนไม่ว่าหนึ่งเสียงหรือแสนเสียงก็ต้องฟัง หากนักการเมืองมีความผิดพลาดแม้แต่เพียงเป็นความคิดเชิงนโยบาย
และยังไม่มีการกระทำก็ต้องรับผิดชอบพร้อมกับยกนักการเมืองประเทศเกาหลีมาเป็นตัวอย่าง
เมื่อประชาชนไม่เห็นด้วยกับนโยบาย นักการเมืองผู้นั้นก็ลาออก แต่เมื่อเขาเป็นนายกรัฐมนตรี
สำนึกทางการเมืองที่เขาเคยเทศนาให้ผู้อื่นฟังและโฆษณาให้ประชาชนหลงเชื่อก็หายไปจนหมดสิ้น
ความผิดพลาดเชิงนโยบายและการปฏิบัติของรัฐบาลอภิสิทธิ์
มีมากมายจนนับไม่ถ้วน ตัวอย่างเช่น
1.
ความผิดพลาดในการกำหนดนโยบายเพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการก่อการร้ายของพวกเสื้อแดง ทำให้การประชุมสุดยอดอาเชียนในปี 2552 ล้ม ผู้นำประเทศต่างๆจำนวนมากต้องหนีมวลชนเสื้อแดงที่บ้าคลั่งอย่างหัวซุกหัวซุน ในปี 2553 ก็เกิดความผิดพลาดซ้ำซาก
ปล่อยปละละเลยจนเสื้อแดงเผาบ้านทำลายเมืองจนวอดวาย
2.
ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ
โดยยึด MOU 2543 เป็นคัมภีร์ในการเจรจากับกัมพูชา
จนทำให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบเขาพระวิหาร ทำให้เกิดสงครามระหว่างไทยกับกัมพูชา ทำให้คนไทยต้องติดคุกกัมพูชาอย่างไม่เป็นธรรม
และอาจทำให้ไทยต้องเสียอำนาจอธิปไตยและผลประโยชน์อื่นๆทางทะเลอีกมาก
3.
ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายน้ำมันปาล์ม
จนทำให้ราคาน้ำมันปาล์มขึ้นสูงและขาดแคลนสร้างความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตให้กับประชาชนไทยอย่างมหาศาล
4.
ความผิดพลาดในการบริหารราชการแผ่นดิน
ปล่อยให้มีการทุจริตโกงกินกันทุกกระทรวง
มีการซื้อขายตำแหน่งในวงการราชการอย่างเอิกเกริก ทำลายระบบคุณธรรม จริยธรรม
และธรรมาภิบาลจนหมดสิ้น
ตัวอย่างแค่ความผิดพลาดสี่ประการนี้
มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้นักการเมืองผู้มีสำนึกแห่งมโนธรรมต้องลาออกหรือยัง
หากเป็นนักการเมืองเกาหลีหรือประเทศตะวันตกที่นายอภิสิทธิ์
หยิบยกมาอภิปรายในสภา เมื่อมีความผิดพลาดเหล่านี้เกิดขึ้น พวกเขาคงลาออกไปนานแล้ว
แต่ผมอยากจะเตือนพี่น้องชาวไทยว่า
นายอภิสิทธิ์นั้น
เป็นเพียงสมาชิกคนหนึ่งในเผ่าพันธุ์นักการเมืองไทยเท่านั้นเอง
เผ่าพันธุ์นักการเมืองไทยนั้นย่อมแตกต่างจากเผ่าพันธุ์นักการเมืองเกาหลีหรือประเทศตะวันตก เผ่าพันธุ์นักการเมืองไทยนั้นเต็มไปด้วยบาปแห่งความหยิ่งยะโส มีสำนึกแห่งจริยธรรมที่เบาบาง บูชาความมั่งคั่งและผลประโยชน์ของพวกพ้องมากกว่าคุณธรรมและผลประโยชน์ของประเทศชาติ หลงยึดติดกับอำนาจดุจหนอนหลงอาจม มีความสามารถในการปรับตัวดุจกิ้งก่า
มีความกะล่อนลื่นไหลยิ่งกว่าสัตว์ทุกประเภทในโลกที่เรารู้จัก
อย่าไปคาดหวังอะไรกับคนในเผ่าพันธุ์นี้เลยสำหรับการสร้างสรรค์และพัฒนาประเทศให้มีความอยู่ดีกินดี มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และมีความผาสุข
มีแต่เราประชาชนผู้เป็นพลเมืองจะต้องร่วมกันสร้างนักการเมืองและผู้บริหารประเทศให้มีคุณสมบัติแตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
โดยให้เป็นผู้มีความนอบน้อมถ่อมตน
รับฟังเสียงประชาชน มีความกล้าหาญในการแก้ไขปัญหาของประเทศ เป็นผู้มีคุณธรรมและสำนึกต่อส่วนรวมต่อประเทศชาติ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น