ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต - การเมืองไทย: การต่อสู้ระหว่างภาวะวิวัฒน์เวียนวนกับการเปลี่ยนกระบวนทัศน์


พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
การเมืองไทย: การต่อสู้ระหว่างภาวะวิวัฒน์เวียนวนกับเปลี่ยนกระบวนทัศน์

การเมืองไทยในปัจจุบันกำลังตกอยู่ในภาวะที่คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ นักมนุษยวิทยาผู้เรืองนาม เรียกว่า  วิวัฒน์เวียนวน (Involution)” อันเป็นสภาวะที่เมื่อระบบใดระบบหนึ่งวิวัฒนาการจนได้รูปแบบที่ชัดเจนรูปแบบหนึ่งแล้ว   รูปแบบนั้นก็จะคงทนและไม่สามารถพัฒนาต่อไป หรือเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบใหม่ได้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาภายใต้วิวัฒน์เวียนวนคือ การก่อตัวซ้ำของรูปแบบเดิมซึ่งมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นเท่านั้น   ขณะที่ปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้รูปแบบทางสังคมที่เฉพาะรูปแบบหนึ่งไม่สามารถแก้ไขได้  เพราะสังคมไม่มีพลังขับเคลื่อนที่สร้างสรรค์เพียงพอที่จะทะลุกำแพงแห่งรูปแบบนั้นออกไป

อันที่จริงแนวคิดวิวัฒน์เวียนวนนี้  บางส่วนมีความคล้ายคลึง และบางส่วนมีความแตกต่างจากแนวคิดกระบวนทัศน์(Paradigm) ของ โทมัส คูห์น นักปรัชญาวิทยาศาสตร์นามอุโฆษ    ผู้มองว่าในช่วงเวลาหนึ่งของวิทยาศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่ง  จะมีชุดของความคิด  สมมติฐาน  ทฤษฎี ที่นักวิทยาศาสตร์ในสาขานั้นยอมรับและใช้เป็นแนวทางในการศึกษาวิจัย  ซึ่งคูห์นเรียกว่า กระบวนทัศน์    

                กระบวนทัศน์เป็นสิ่งกำหนดว่า   อะไรคือแผนการในอนาคตที่ชุมชนวิทยาศาสตร์พึงประสงค์  อะไรคือประเด็นปัญหาที่ควรศึกษาเพื่อหาคำตอบ   วิธีการที่เหมาะสมและได้รับการยอมรับในการแก้ปัญหานั้นมีลักษณะอย่างไร     งานของนักวิทยาศาสตร์ปกติคือ การพยายามแก้ข้อปัญหาเล็กๆน้อยๆ    หากผลการวิจัยออกมาขัดแย้งกับกระบวนทัศน์ นักวิทยาศาสตร์ก็มักทึกทักเอาว่า เป็นเพราะมีการทดลองที่ผิดพลาด ไม่ใช่กระบวนทัศน์ผิดเพราะกระบวนทัศน์เป็นสิ่งที่ต่อรองไม่ได้

           เมื่อเวลาผ่านไป มีการค้นพบปรากฏการณ์ที่แตกต่างจากความคิดกระแสหลัก ในช่วงแรกๆ ปรากฏการณ์นี้จะถูกละเลย  แต่เมื่อมีปรากฏการณ์ที่ผิดแผกจากกระแสหลักมากขึ้นเรื่อยๆ   ความรู้สึกถึงวิกฤติก็คืบคลานเข้ามา   ซึ่งมีนัยว่ากระบวนทัศน์นั้นกำลังเผชิญกับปัญหาจำนวนมากซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้   ยิ่งแก้ก็ยิ่งดูจะไปเพิ่มความซับซ้อนของปัญหายิ่งขึ้น   จนมีการเสนอทางเลือกหลากหลายเพื่อแข่งขันกับกระบวนทัศน์เก่า และในที่สุดกระบวนทัศน์ใหม่ก็เกิดขึ้น  ซึ่งคูห์นระบุว่าใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วคน

                ความคล้ายคลึงระหว่างแนวคิดวิวัฒน์เวียนวนและแนวคิดกระบวนทัศน์ คือ ในสภาวะหนึ่ง สังคมหรือวัฒนธรรมจะมีแบบแผนทางความคิดและความเชื่อชุดหนึ่งที่สังคมใช้เป็นแนวทางหลักในการทำความเข้าใจกับโลกและความเป็นจริง  ตลอดจนใช้กรอบคิดนั้นเป็นพื้นฐานในการแสวงหาแนวทางในการจัดการกับวิถีชีวิตทางสังคมหรือแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญหน้า    ซึ่งดูเหมือนว่าจะใช้ได้ดีในระดับหนึ่ง     แต่เมื่อสภาวะทางสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ชุดของความเชื่อและกรอบคิดดังกล่าวไม่มีความสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้   วิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ รังแต่ไปเพิ่มความซับซ้อนให้กับปัญหายิ่งขึ้น จนท้ายที่สุดก็ตกอยู่ในสภาพที่เป็นลิงพันแห หาทางออกไม่ได้

                อย่างไรก็ตามในความเหมือนนั้นมีความแตกต่าง  กล่าวคือแนวคิดเชิงกระบวนทัศน์  เห็นว่าเมื่อกระบวนทัศน์เดิมไม่สามารถแก้ปัญหาได้    ผู้คนในสังคมก็เสนอชุดของความคิดและความเชื่อใหม่ซึ่งอาจจะมีหลากหลายชุดในการทำความเข้าใจและให้ความหมายกับความเป็นจริง    รวมทั้งมีการนำเสนอวิธีการใหม่ๆในการแก้ปัญหา   หากชุดทางความคิดและความเชื่อใดมีพลังในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและสามารถสร้างความยอมรับให้เกิดกับผู้คนจำนวนมากในสังคม  การเปลี่ยนแปลงก็ค่อยๆเกิดขึ้นและเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะมีการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติ  ซึ่งกระบวนทัศน์ใหม่เข้ามาแทนที่กระบวนทัศน์เดิมอย่างรอบด้าน     
            
                ส่วนแนวคิดวิวัฒน์เวียนวนนั้น ดูเหมือนว่าจะไม่มีทางออกสำหรับวังวนหรือเขาวงกตของปัญหา    วิธีการแก้ปัญหานั้นยังคงเป็นวิธีการที่มีชุดความคิดแบบเดิมเพียงแต่ขยายขอบเขตในการแก้ปัญหาในอาณาบริเวณที่กว้างขึ้น   หรือบางครั้งอาจเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างจากวิธีการแบบเดิมบ้างแต่ก็เป็นเพียงความแตกต่างในเชิงรูปแบบหาได้มีความแตกต่างในเชิงหลักคิดไม่     เช่น การแก้ปัญหาความยากจน  ในยุคหนึ่งใช้แนวทางการส่งเสริมอาชีพชาวบ้าน   ในยุคต่อมาแก้โดยให้ชาวบ้านกู้เงินไปประกอบอาชีพ และในยุคต่อมาแก้โดยการให้บริการด้านสาธารณูปโภคฟรี   วิธีการเช่นนี้เป็นการแก้ปัญหาในเชิงวิวัฒน์เวียนวน ซึ่งไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาความยากจนได้

          เช่นเดียวกันกับการแก้ปัญหาการซื้อขายเสียง ยุคหนึ่งแก้ปัญหาโดย การปรับเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจาก หนึ่งเขตเลือก ส.ส. ได้สามคน  เป็น เลือกแบบเขตเดียวเบอร์เดียว  ต่อมาก็เปลี่ยนกลับไป เลือกแบบ หนึ่งเขตเลือก ส.ส.ได้สามคน อีก  เวียนวนไปเรื่อยๆ และไม่สามารถแก้ปัญหาซื้อขายเสียงได้                

                สังคมไทยในปัจจุบัน มีนักวิชาการและชนชั้นนำทางสังคมจำนวนมากที่ยังคงมีชุดความคิดแบบวิวัฒน์เวียนวน  โดยเชื่อว่า ระบบการเมืองแบบตัวแทนสามารถแก้ปัญหาสังคมการเมืองไทยได้ และพยายามเสนอทางออกในรูปแบบเดิมๆ เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งบ้าง ระบบการนับคะแนนบ้าง เป็นวิธีการแก้ปัญหาการเมืองไทย    แต่หากวิธีการแก้ปัญหายังอยู่ในกรอบความคิดระบบการเมืองแบบตัวแทนก็ยากที่จะทำให้การเมืองไทยหลุดพ้นจากวังวนของปัญหาได้

        การเมืองไทยจำต้องมีกระบวนทัศน์ใหม่ เพื่อใช้ทำความเข้าใจความเป็นจริงทางสังคมในมิติใหม่    จำเป็นต้องทลายกรอบความคิดแบบเดิมที่อยู่บนฐานของประชาธิปไตยแบบตัวแทน  และเสนอทางเลือกใหม่ที่ท้าทายซึ่งอยู่บนฐานของ “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและแบบปรึกษาหารือ”   เพื่อผลักดันสังคมการเมืองไทยให้หลุดพ้นจากกรอบของวิวัฒน์เวียนวนนี้ออกไปให้ได้  ก่อนจะเกิดวิกฤติใหญ่  

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั