ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การค้นพบใหม่เกี่ยวกับเหตุผล


การค้นพบใหม่เกี่ยวกับเหตุผล

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

                ปัจจุบันในแวดวงวิชาการมีสาขาวิชาหนึ่งซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายเท่าไรนักในสังคมไทย แต่สำหรับในต่างประเทศสาขาวิชานี้กำลังเป็นสาขาที่มาแรงในการทำความเข้าใจกับจิตและปัญญาของมนุษย์ สาขาวิชาดังกล่าวคือ วิทยาศาสตร์เชิงปัญญา (cognitive science)

                วิทยาศาสตร์เชิงปัญญาได้ค้นพบเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1) จิตผนึกรวมกับกายอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้  2) ความคิดเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องของจิตไร้สำนึก และ 3) แนวคิดเชิงนามธรรมส่วนใหญ่เป็นการอุปมาอุปไมย  การค้นพบเหล่านี้ทำให้ความคิดเกี่ยวกับเหตุผลแบบเดิมของปรัชญาตะวันตกต้องเผชิญกับการท้าทายอย่างถึงรากถึงโคน

            แต่เดิมนั้นนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกให้ความเชื่อมั่นว่าเหตุผลเป็นสิ่งที่สะท้อนภาวะความเป็นมนุษย์และเป็นสิ่งสูงส่งที่มนุษย์จักต้องทำความเข้าใจ  นักปรัชญาบางคนถึงกับเชื่อว่า “เหตุผลคือพระเจ้า” และ “เหตุผลนำแสงสว่างมาสู่มนุษยชาติ”   ความเป็นมนุษย์กับเหตุผลจึงเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก  คนที่ไร้เหตุผลมักถูกประณามว่ามีการกระทำเยี่ยงสัตว์

                เหตุผลหาได้เป็นเพียงการอนุมานเชิงตรรกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสามารถของมนุษย์ในการศึกษา การสืบสวน  การวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การประเมินผล การวิพากษ์วิจารณ์ และการพิเคราะห์วินิจฉัยตัดสินใจว่า เราควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร  ควรทำอย่างไร และเราจะเข้าใจตนเอง ผู้อื่น และสรรพสิ่งในโลกได้อย่างไร

                ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคนเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องเหตุผล จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่หลวงเกี่ยวกับความเข้าใจของเราเกี่ยวกับตัวเราเอง

                การเปลี่ยนแปลงความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุผลที่สำคัญมี 6 ประการคือ

            ประการแรก  เหตุผลมิได้แยกออกจากร่างกายของมนุษย์ดังที่นักปรัชญาดั้งเดิมส่วนใหญ่ยึดถือ  เหตุผลเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ของสามส่วนคือ ธรรมชาติของสมอง ร่างกาย และประสบการณ์เชิงกายภาพ ดังนั้นการสร้างเหตุผลหรือให้เหตุผลของมนุษย์จึงบังเกิดจากองค์รวมของทุกอณูในร่างกายของเราเองที่ปะทะประสานกับสิ่งแวดล้อมซึ่งซึมซับผ่านกระบวนการรับรู้และเคลื่อนไหวของปัญญาและระบบประสาทภายในกายเรา  จากนั้นจึงกำเนิดเป็นระบบความคิดและวิถีของเหตุผล      และเพื่อให้เข้าใจเหตุผลเราต้องเข้าใจรายละเอียดของระบบการมองเห็น ระบบประสาท และกลไกทั่วไปของการเชื่อมโยงของประสาท ซึ่งเป็นระบบที่เชื่อมโยงมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก และกระบวนการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่รับเข้ามา ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหตุผล

                กล่าวโดยสรุปเหตุผลมิใช่รูปลักษณ์ที่อยู่เหนือธรรมชาติของจักรวาล หรือ เป็นสิ่งที่แยกออกจากร่างกายของมนุษย์    แต่เป็นสิ่งที่ผนึกรวมในร่างกายของมนุษย์  เป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนของระบบประสาท และเป็นการปฏิสัมพันธ์ที่เฉพาะของเรากับสิ่งแวดล้อมและสังคมในวิถีชีวิตประจำวัน

                ประการที่สอง  เหตุผลเป็นเรื่องของการวิวัฒนาการ   เพราะว่าเหตุผลเชิงนามธรรมก่อตัวและใช้รูปแบบของการรับรู้และระบบประสาทเป็นรากฐาน  ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในสัตว์ทั่วไปด้วย   โดยผ่านกระบวนการวิวัฒนาการทำให้มนุษย์มีระบบประสาทที่ซับซ้อนซึ่งสามารถสร้างเหตุผลที่เป็นนามธรรมระดับสูงได้มากกว่าสัตว์อื่นโดยทั่วไป    การค้นพบว่าเหตุผลเป็นเรื่องของการวิวัฒนาการทำให้เราเปลี่ยนความคิดว่าสิ่งพิเศษที่แยกมนุษย์ออกจากสัตว์อื่นคือเหตุผลนั้น กลายเป็นเรื่องที่ไม่จริง  กล่าวอีกนัยหนึ่ง เหตุผลมิได้เป็นแก่นแท้ในการแยกมนุษย์ออกจากสัตว์  แต่ทว่ามนุษย์เป็นเผ่าพันธุ์ที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงจากสรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้

                ประการที่สาม เหตุผลมิใช่เรื่องที่เป็น “สัจธรรมทั่วไป” ในความหมายที่อยู่เหนือธรรมชาติ  กล่าวคือมันมิใช่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลหรือพระผู้เป็นเจ้า  เพราะฉะนั้นคำกล่าวที่ว่าจักรวาลมีเหตุผลของมันเองจึงเป็นคำกล่าวที่เกิดจากจินตนาการ โดยปราศจากข้อเท็จจริงรองรับ    อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นสามัญกาลหรือมีความเป็นสากล คือ สมรรถภาพหรือความสามารถในการแบ่งปันความเข้าใจร่วมอย่างเป็นสากลโดยมนุษยชาติ  สิ่งที่ทำให้มนุษย์แบ่งปันความหมายหรือเหตุผลแก่กันและกันคือ  “ความเหมือน” ซึ่งดำรงอยู่ในวิถีของจิตที่ถูกผนึกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับกายของมนุษย์นั่นเอง

            ประการที่สี่  มนุษย์ให้เหตุผล โดยการรู้ตัวหรือการคิดอย่างมีจิตสำนึกเพียงบางส่วนเท่านั้น   แต่เกือบทั้งหมดของการให้เหตุผลหรือการแสดงเหตุผลเป็นเรื่องของ “จิตไร้สำนึก”  ดังที่เรามักประหลาดใจกับการตัดสินใจกระทำของเราหลายอย่าง ซึ่งในหลายครั้งจิตสำนึกเรามิอาจหาเหตุผลที่เป็นฐานในการรองรับการกระทำดังกล่าวได้เพราะการกระทำเหล่านั้นถูกผลักดันจากจิตไร้สำนึกซึ่งผนึกแน่นอยู่ในตัวเรา 

                ประการที่ห้า  เหตุผลมิใช่สิ่งที่เป็นภาษาหนังสือหรือภาษาทางการที่แสดงถึงวัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย เช่น  เหตุผลที่ทำโครงการใดโครงการหนึ่งคือเพื่อสร้างหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน    แต่เหตุผลยังเป็นเรื่องอุปมาอุปไมยและจินตนาการอีกด้วย   เช่น ปลาเน่าหนึ่งตัวเหม็นไปทั้งข้อง ซึ่งมีนัยว่า เหตุผลที่ทำให้คนทั้งกลุ่มเสียชื่อเสียงเกิดจากคนไม่ดีเพียงคนเดียว

           ประการที่หก เหตุผลมิใช่เป็นเรื่องที่มีความเป็นกลางและปราศจากอคติดังที่เคยเข้าใจกัน  แต่เหตุผลเป็นเรื่องที่มีอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด  ดังที่การกระทำใดการกระทำหนึ่ง ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน  แต่การให้เหตุผลที่อธิบายการกระทำนั้นกลับแตกต่างกัน ตามอารมณ์และจุดยืนของผู้อธิบาย

                  จากความจริงที่ว่า เหตุผลเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงโดยองค์รวมของร่างกาย ระบบประสาท และประสบการณ์      อย่างไรก็ตามปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบทั้งสามนี้ทำให้มนุษย์มีระบบคิดและรูปแบบการให้เหตุผลที่จำกัด     จึงทำให้มนุษย์ไม่มีอิสระในการคิดและไม่มีอิสรภาพสัมบูรณ์ดังที่นักปรัชญาบางคนเข้าใจ   แท้จริงแล้ว มนุษย์คิดและให้เหตุผลตามสภาพเงื่อนไขที่พวกเขาเผชิญอยู่ 

เงื่อนไขที่มนุษย์เผชิญหน้าในชีวิตประจำวัน หาใช่เงื่อนไขเชิงเศรษฐกิจเพียงประการเดียว แต่มนุษย์เผชิญกับเงื่อนไขที่หลากหลาย  ดังนั้นการคิดว่ามนุษย์กระทำภายใต้เหตุผลเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวจึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

   เหตุผลที่มนุษย์ใช้เป็นฐานในการตัดสินเพื่อกระทำหรือไม่กระทำเรื่องใด จึงอยู่บนรากฐานของกรอบคิด ความคาดหวัง ความเชื่อ อารมณ์ การจินตนาการ และการอุปมาอุปไมยที่หลากหลาย บ้างก็เป็นเหตุผลมีสติรู้ตัว แต่ส่วนมากเป็นเหตุผลที่ผุดมาจากจิตไร้สำนึก  

การฝึกฝนเพื่อยกระดับจิตไร้สำนึกมาสู่จิตสำนึกเป็นวิถีที่ทำให้มนุษย์เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่นและเข้าใจโลกได้มากขึ้น     นั่นอาจเป็นหนทางเดียวที่จะหยุดยั้งความหายนะของมนุษยชาติอันเนื่องมาจากการใช้เหตุผลที่ผุดขึ้นมาจากจิตไร้สำนึกเป็นรากฐานผลักดันให้เกิดการกระทำเพื่อทำลายล้างอย่างรุนแรง


ความคิดเห็น

  1. จิตมนุษย์เมื่อหลุดพ้นจากกิเลสตัณหา จึงมีอิสรภาพในการใช้เหตุผล ที่ปราศจากอิทธิพลของกามคุณและอัตตา เข้าใจชัดในสมมุติสัจจะเป็นเบื้องต้น และเข้าใจแจ้งในปรมัตถสัจจะเป็นเบื้องปลาย

    ทางนี้ทางเดียวเท่านั้น ที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะมวลมนุษยชาติ ที่ปรารถนาอิสรภาพจากทุกข์ทั้งปวงในโลกนี้

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ