มายาคติของการเลือกตั้งและพรรคการเมืองในสังคมไทย
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
มายาคติคติหรือความหลงผิดทางวิชาการเป็นความเข้าใจปรากฏการณ์คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงทั้งด้านลักษณะธรรมชาติ
องค์ประกอบ กระบวนการ
สาเหตุอันเป็นเงื่อนไขของการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ และผลสืบเนื่องของปรากฎการณ์นั้นที่มีต่อปรากฎการณ์อื่น
ความหลงผิดทางวิชาการนำไปสู่การกำหนดแนวทางและมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
จึงทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้และอาจส่งผลให้ปัญหานั้นปานปลายหรืออาจนำไปสู่การสร้างปัญหาใหม่ที่ใหญ่และรุนแรงกว่าเดิม
การพัฒนาหรือสร้างสรรค์สิ่งใดก็ตามหากถูกชี้นำด้วยความหลงผิดทางวิชาการ
ก็มีแนวโน้มประสบกับความล้มเหลว
และอาจนำไปสู่การสร้างความขัดแย้งทางสังคม
เงื่อนไขที่ทำให้เกิดความหลงผิดทางวิชาการมาจาก
การรับรู้แบบเสี่ยงเสี้ยวหรือแบบตาบอดคลำช้าง
การมีฐานคิดและความเชื่อที่ผิดพลาด
และการมีค่านิยมหรือความชอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไปจนเกิดอคติขึ้นมา
เมื่อจิตของบุคคลหรือกลุ่มใดกอปรไปด้วยเงื่อนไขทั้งสาม
จิตนั้นก็จะสร้างภาพมายาคติขึ้นมา และยึดถือเอามายาคตินั้นเป็นความจริงเพื่อชี้นำความคิดและการปฏิบัติของตนเอง ยิ่งยึดมายาคติว่าเป็นความจริงอย่างเหนียวแน่นมากเท่าไร ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการนำมายาคตินั้นไปใช้ก็จะมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
และหากบุคคลนั้นมีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้อื่นในสังคมด้วยแล้ว ความเสียหายก็จะแผ่ขยายออกไปในวงกว้างยิ่งขึ้น
ความหลงผิดทางวิชาการหรือมายาคติเกี่ยวกับการเมืองไทยมีหลายประการ แต่ผู้เขียนจะหยิบยกเรื่องสำคัญซึ่งเป็นประเด็นปัญหาในปัจจุบันมาอภิปราย
2 เรื่องก่อน ได้แก่ ความหลงผิดว่า “การเลือกตั้งเท่ากับการเป็นประชาธิปไตย”
และความหลงผิดว่า “ความเข้มแข็งของพรรคการเมืองเป็นผลดีต่อประชาธิปไตย”
การเลือกตั้งเท่ากับประชาธิปไตยหรือไม่ คำตอบคือ
การเลือกตั้งเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการคัดเลือกบุคคลที่มีคุณภาพ มีความสามารถ มีคุณธรรม ขึ้นไปเพื่อทำหน้าที่และใช้อำนาจด้านนิติบัญญัติและด้านการบริหารแทนประชาชน หากกล่าวอย่างตื้นๆแบบรวมๆ การเลือกตั้งก็เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งมีหลายประเภท
หลายรูปแบบ และหลายเนื้อหา เราจึงมิอาจกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งทุกประเภทเป็นองค์ประกอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่เป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตยต้องมีคุณสมบัติสำคัญอันขาดเสียมิได้คือ การเลือกตั้งนั้นต้องเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์
เที่ยงธรรม ปลอดจากการทุจริต
และผู้เลือกตั้งต้องมีเหตุผลและข้อมูลข่าวสารเพียงพอในการตัดสินใจว่าควรเลือกพรรคการเมืองใด
หรือผู้สมัครคนใด เป็นผู้แทนของตนเอง
การเลือกตั้งที่มีการทุจริตซื้อเสียง โดยการนำเงิน สิ่งของวัตถุ ให้ผู้เลือกตั้ง ในช่วงเวลาก่อน ระหว่าง หรือหลังการเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนนั้น ย่อมมิอาจถือได้ว่าการเลือกตั้งแบบนั้นเป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตย
การเลือกตั้งที่มีการซื้อเสียงด้วยการใช้นโยบายประชานิยม ที่บรรดาพรรคการเมืองเสนอเงินตราหรือผลประโยชน์ในเชิงรูปธรรมแก่ผู้เลือกตั้งเฉพาะกลุ่มเพื่อให้เลือกตนเอง เป็นการโน้มน้าวจูงใจให้ประชาชนใช้เหตุผลและตรรกะที่ผิดพลาด เพราะเป็นการให้ข้อมูลเพียงส่วนเดียว และละเลยไม่ให้ข้อมูลที่แสดงถึงความเป็นไปได้
ผลกระทบ หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นจากนโยบายประชานิยมให้รอบด้าน
การใช้นโยบายประชานิยมในการหาเสียงจึงเปรียบเสมือนเป็นการหลอกลวงประชาชนให้เข้าใจผิดจากสภาพความเป็นจริง
การเลือกตั้งในลักษณะนี้จึงไม่เข้าข่ายการเลือกตั้งที่เป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตย
การเลือกตั้งที่มีการใช้อำนาจรัฐในการควบคุม
คุกคาม ข่มขู่ คู่แข่งทางการเมือง การเลือกตั้งที่ผู้จัดการเลือกตั้งเอื้อประโยชน์แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดเป็นพิเศษ การเลือกตั้งที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวในสนามการเลือกตั้ง หรือ การเลือกตั้งที่มีการใช้อำนาจอิทธิพลเพื่อเปลี่ยนแปลงคะแนนเสียง
การเลือกตั้งเหล่านี้ก็มิใช่การเลือกตั้งที่เป็นองค์ประกอบของระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน
ลักษณะการเลือกตั้งข้างต้นเป็นการเลือกตั้งที่สะท้อนให้เห็นว่า
อำนาจอธิปไตยของประชาชนมิได้ถูกใช้ไปตามเจตจำนงที่เป็นอิสระและมีเหตุผลที่เชื่อมโยงกับหลักคุณธรรมและผลประโยชน์ต่อส่วนรวมประเทศชาติ
การเลือกตั้งเหล่านั้นจึงเป็นการเลือกตั้งที่มีคุณสมบัติไม่สอดคล้องกับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
และด้วยข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์จากงานวิจัยจำนวนมากของนักรัฐศาสตร์และประสบการณ์จริงของสามัญชน บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าการเลือกตั้งในสังคมไทยเป็นการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยการฉ้อฉล
มากล้นไปด้วยการซื้อเสียง มีการใช้อำนาจรัฐในทางที่มิชอบ
และมีการใช้วิธีการทุจริตทุกรูปแบบ
ดังนั้นการเข้าใจว่าการเลือกตั้งในประเทศไทยเป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตยหรือเท่ากับประชาธิปไตย จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและหลงผิดไปจากความเป็นจริงเชิงประจักษ์ เพราะโดยเนื้อหาแล้ว
การเลือกตั้งของประเทศไทยไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะกล่าวได้ว่าเป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตยด้วยซ้ำ หากจะเป็นได้คุณสมบัติของการเลือกตั้งไทยเป็นได้เพียงองค์ประกอบของระบอบการซื้อเสียงหรือระบอบสัมปทานธิปไตยโดยเผด็จการพรรคการเมืองนายทุนผูกขาดเท่านั้น
สำหรับความเข้าใจผิดทางวิชาการในสังคมไทยอีกประการหนึ่งคือ
ความเข้าใจว่าความเข้มแข็งของพรรคการเมืองส่งผลดีต่อประชาธิปไตย ความเข้าใจนี้อาจมีส่วนถูกในประเทศตะวันตก
แต่กลับผิดอย่างสิ้นเชิงในบริบทของสังคมไทยทั้งในอดีต ปัจจุบัน
และอนาคตข้างหน้าอีกหลายปี คงต้องใช้เวลาอีกยาวนานพอสมควรที่ความเชื่อนี้จะกลายเป็นจริงขึ้นมาในสังคมไทย
ความเชื่อว่าความเข้มแข็งของพรรคการเมืองส่งผลดีต่อระบอบประชาธิปไตยมีรากฐานมาจากหลักคิดพหุนิยมทางการเมืองของประเทศตะวันตก อันมีฐานคิดว่าพรรคการเมืองคือ การรวมตัวกันของกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายในสังคมซึ่งมีอุดมการณ์และผลประโยชน์ร่วมกัน
และเป็นเวทีสำหรับพลเมืองในการฝึกฝนทักษะและประสบการณ์ทางการเมือง อันเป็นฐานสำหรับใช้ทำงานการเมืองในระดับชาติต่อไปพรรคการเมืองในลักษณะนี้ทางวิชาการเรียกว่า
พรรคการเมืองแบบมวลชน(mass party)
พรรคการเมืองแบบมวลชนมีองค์การของพรรคที่ทำหน้าที่ในการศึกษาวิจัย
สำรวจปัญหาความต้องการของประชาชนและสังคม เพื่อนำมาใช้กำหนดเป็นนโยบาย
ซึ่งเรียกว่าเป็นนโยบายที่มีฐานจากข้อมูลหลักฐานที่เป็นจริง (evidence-based policy)
มีการศึกษาความเป็นไปได้เชิงปฏิบัติและผลกระทบทั้งทางสังคม
การเมือง และเศรษฐกิจ อย่างเป็นระบบ ก่อนที่จะนำเสนอต่อสาธารณะ
ดังนั้นความเข้มแข็งของพรรคการเมืองแบบมวลชนจึงมีผลดีต่อระบอบประชาธิปไตยเพราะเป็นพรรคการเมืองที่มีส่วนในการสร้างองค์ความรู้และทางเลือกแก่สังคมอย่างมีเหตุมีผล โดยใช้ข้อมูลข่าวสารเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการตัดสินใจ
อันจะทำให้ประชาชนผู้เลือกตั้งมีความเข้าใจปัญหาและทางเลือกในการแก้ปัญหาประเทศของตนเองได้อย่างชัดเจน และทำให้การตัดสินใจทางการเมืองเป็นการตัดสินใจที่อยู่บนพื้นฐานของเหตุผลซึ่งส่งผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย
ส่วนพรรคการเมืองในสังคมไทย
เป็นพรรคการเมืองที่มีกลุ่มนายทุนผูกขาดเป็นเจ้าของพรรค
หรือหากไม่เป็นเจ้าของก็มีอิทธิพลในการครอบงำทิศทางนโยบายของพรรค เช่น พรรคเพื่อไทย มีทักษิณ ชินวัตร มหาเศรษฐีระดับโลกที่เคยเป็นเจ้าของธุรกิจสื่อสาร
และปัจจุบันเป็นนายทุนที่ลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น พลังงาน เหมืองแร่ บริการ อสังหาริมทรัพย์
และการเงิน เป็นต้น หรือ
พรรคชาติไทยพัฒนามีบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งเป็นนายทุนในธุรกิจก่อสร้าง ท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นๆอีกจำนวนมาก เป็นผู้ควบคุมทิศทางของพรรค
หรือ พรรคประชาธิปัตย์ มีสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเป็นนายทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับ
การเกษตรอุตสาหกรรม และท่องเที่ยว เป็นผู้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพรรคสูงยิ่ง
พรรคการเมืองในประเทศไทยจึงเป็นพรรคการเมืองที่เป็นแหล่งรวมตัวของกลุ่มทุนข้ามชาติ
ทุนระดับชาติ และทุนระดับท้องถิ่น เกือบทั้งหมด
ไม่ได้เป็นการรวมตัวของกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายจากกลุ่มอาชีพต่างหรือกลุ่มประชาสังคมดังในประเทศตะวันตก
เป้าหมายในการตั้งพรรคการเมืองของนายทุนผูกขาดเหล่านี้
คือ การแสวงหาตำแหน่งและอำนาจทางการเมือง เพื่อใช้เป็นช่องทางในการแสวงหาโอกาสใช้งบประมาณแผ่นดินและหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจมาครอบครองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
การกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองไทยจึงอาศัยข้อมูลในเชิงการตลาดและกระแสอารมณ์ความรู้สึกของผู้เลือกตั้ง มิได้ตั้งอยู่บนเหตุผลความเป็นจริง
ความเป็นไปได้ในทางการปฏิบัติ และผลกระทบที่ตามมาต่อสังคม เช่น ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 มีการเสนอนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากประมาณ
215 บาทในเขตปริมณฑล เป็น 300 บาท
ทั่วประเทศ หรือ
ขึ้นเงินเดือนนักศึกษาปริญญาตรีจาก 8 พันกว่าบาท เป็น 15,000
บาท เป็นต้น พรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายเหล่านี้ในช่วงหาเสียง
เมื่อได้เป็นรัฐบาลก็มิอาจทำได้ตามที่สัญญากับประชาชนเอาไว้ หรือ
หากทำก็ทำในลักษณะที่แตกต่างไปจากช่วงที่ประกาศตอนหาเสียง
นโยบายของพรรคการเมืองไทยจึงเป็นนโยบายที่มุ่งหลอกลวงผู้เลือกตั้งให้หลงเชื่อ
เพื่อหวังให้ได้คะแนน เป็นนโยบายที่ไม่สร้างความรู้ ไม่ปัญญา และไม่สร้างเหตุผล
ตรงกันข้ามกับสร้างความงมงายและความมืดบอดแก่คนในสังคมเป็นหลัก
พรรคการเมืองในแบบของสังคมไทยจึงมีลักษณะเป็น
“พรรคการเมืองชนชั้นนำของทุนสามานย์”
(elite party of vulgar capitalist
) ดังนั้นการส่งเสริมให้พรรคการเมืองแบบนี้เข้มแข็ง
ดังที่นักวิชาการไทยกระทำลงไปในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ด้วยความเข้าใจและความเชื่อที่ผิดๆคิดว่าพรรคการเมืองไทยจะเป็นแบบพรรคการเมืองมวลชนดังในประเทศตะวันตก
จึงเป็นการทำให้นายทุนผูกขาดที่เป็นเจ้าของพรรคการเมืองมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และเมื่อเป็นเช่นนั้นนายทุนพรรคการเมืองจึงกระชับความเข้มข้นของอำนาจในการควบคุมรัฐสภา
และสร้างปรากฏการเผด็จการรัฐสภาขึ้นมา
รวมทั้งยังทำลายหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจต่างๆที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ
พ.ศ. 2540 จนหมดสิ้น
สำหรับประเทศไทยซึ่งพรรคการเมืองยังเป็นพรรคการเมืองชนชั้นนำของนายทุนสามานย์
ความเข้มแข็งของพรรคการเมืองจึงทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอ
และทำให้สังคมเดินไปสู่เส้นทางของระบอบเผด็จการภายใต้เสื้อคลุมของวาทกรรมประชาธิปไตยที่พวกเขาอ้างขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมในการรักษาสถานภาพและอำนาจ
กล่าวโดยสรุป
ตราบใดที่การเลือกตั้งในสังคมไทยยังเต็มไปด้วยการทุจริต ฉ้อฉล ซื้อขายเสียง การทำให้การเลือกตั้งขยายตัวออกไป
ก็จะยิ่งสร้างปัญหาให้กับระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น และตราบใดที่พรรคการเมืองไทยยังเป็นพรรคการเมืองชนชั้นนำของนายทุนสามานย์ การทำให้พรรคการเมืองแบบนี้เข้มแข็งก็เท่ากับว่าเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย
และส่งเสริมให้สังคมไทยกลายสภาพเป็นระบอบเผด็จการเร็วขึ้น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น