ประชาธิปไตยมิใช่เพียงการเลือกตั้ง
พิชาย
รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ประชาธิปไตยเป็นคำที่ถูกตีความและถูกใช้อย่างหลากหลาย ผู้ใช้แต่ละคนต่างก็อ้างว่าสิ่งที่ตนอธิบายหรือสิ่งที่ตนเองเชื่อเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง
ขณะเดียวกันก็วิพากษ์ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับตนเองว่าไม่เป็นประชาธิปไตยหรือตีตราว่าเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมบ้าง
แต่สิ่งที่น่าเศร้าในสังคมไทยคือ
ประชาธิปไตยของไทยถูกนักวิชาการและนักการเมืองจำนวนหนึ่ง “ลดรูป” ให้เหลือเป็นเพียง
“การเลือกตั้ง” เท่านั้น และมีการสร้างเป็นกระแสว่า
ผู้ที่ผ่านการเลือกตั้ง ไม่ว่าพวกเขาหรือพวกเธอเหล่านั้นจะมีพฤติกรรมเลวร้ายอย่างไร
ทุจริตฉ้อฉล ละเมิดสิทธิมนุษยชนทำร้ายประเทศหนักหนาสาหัสเพียงใด สังคมก็ยังควรให้การสนับสนุน
พวกนัก
“คลั่งไคล้การเลือกตั้ง” ในสังคมไทย
เห็นว่าการเลือกตั้งคือวิถีที่ถูกต้องและใช้เป็นเกณฑ์หลักหรือเป็นศูนย์กลางในการวินิจฉัยว่าสังคมเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ขณะที่ละเลยหรือปิดตาข้างหนึ่งกับหลักธรรมาภิบาล หลักสิทธิมนุษยชน หลักการมีส่วนร่วม หลักการเคารพกฎหมาย
และหลักการตรวจสอบการบริหารของรัฐ
หลักการเหล่านี้จึงถูกจัดวางไว้ที่ชายขอบ
สังคมไทยมีพวกนักคลั่งไคล้การเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก
ยิ่งกว่านั้นคนเหล่านี้หาได้สนใจเนื้อหาการเลือกตั้งที่แท้จริงไม่
สิ่งที่พวกเขารับรู้ได้คือเปลือกของการเลือกตั้ง และเข้าใจว่าเปลือกเหล่านั้นเป็นเนื้อแท้
ดังนั้นพวกเขาจึงมีแนวโน้มยอมรับการซื้อขายเสียง
ยอมรับนักเลือกตั้งที่มาจากการซื้อขายเสียงว่าเป็นนักประชาธิปไตย แต่คำถามคือประชาธิปไตยที่มาจากการซื้อขายเสียง
เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร
เพราะคะแนนเสียงเหล่านั้นหาใช่ได้มาจากเจตจำนงที่เป็นอิสระและมาจากการตัดสินใจที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอของผู้เลือกตั้งแต่อย่างใด
การสนับสนุนนักเลือกตั้งซึ่งได้อำนาจมาจากการซื้อขายเสียงหรือจากการขายนโยบายจอมปลอม
จึงเป็นการตัดสินใจที่ใช้เหตุผลแบบสายตาสั้น มุ่งประโยชน์เฉพาะหน้า หรือตอบสนองอารมณ์เกลียดชังหรือความชอบส่วนตัว
มากกว่าการยึดหลักการประชาธิปไตยแบบองค์รวม
การเลือกตั้งที่อิสระ
เที่ยงธรรม และผู้เลือกตั้งมีข้อมูลข่าวสารเพียงพอนับได้ว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ขณะที่การเลือกตั้งซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเหล่านี้ย่อมมิอาจนับได้ว่าเป็นประชาธิปไตย
ยิ่งกว่านั้นองค์ประกอบของประชาธิปไตยยังมีมากกว่าการเลือกตั้ง
ประชาธิปไตยมีองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญอย่างน้อย
6 ประการ
ได้แก่ การมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิผล ความเท่าเทียมในการลงคะแนนเสียง
การได้รับข้อมูลข่าวสารด้านนโยบายอย่างเข้าใจและรู้จริง การควบคุมและการตรวจสอบ สิทธิขั้นพื้นฐาน
และการเคารพกฎหมาย
การมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิผล
หมายถึงก่อนที่จะมีการกำหนดนโยบายและนำนโยบายไปปฏิบัติ
ประชาชนทุกคนจักต้องมีโอกาสที่เท่าเทียมในการนำเสนอความเห็นของตนเองให้สมาชิกอื่นในสังคมทราบว่าตนเองต้องการอะไรและต้องการเห็นว่านโยบายควรเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามการมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเสนอความเห็นจะเกิดขึ้นได้รัฐต้องมีกลไกในการเอื้ออำนวยความสะดวกที่มีประสิทธิผลเพื่อให้ความเห็นเหล่านั้นปรากฏและกระจายสู่สาธารณะ
รวมทั้งต้องขจัดอุปสรรคของการมีส่วนร่วมออกไปให้เหลือน้อยที่สุด
การพูดหรือเขียนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม
แต่ขาดกลไกเชิงสถาบันหรือขาดการสร้างเงื่อนไขเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มีประสิทธิผล
หรือใช้การมีส่วนร่วมเป็นกลไกสร้างความชอบธรรมและคะแนนนิยมโดยไม่จริงใจต่อประชาชนการมีส่วนร่วมก็จะกลายเป็น
“พิธีกรรมอำพราง” และไม่มีผลในเชิงปฏิบัติแต่อย่างใด
ความเท่าเทียมในการลงคะแนนเสียง เป็นภาวะที่สมาชิกของสังคมทุกคนต้องมีโอกาสที่เท่าเทียมและมีประสิทธิผลในการลงคะแนนเสียง และแน่นอนว่าคะแนนเสียงทุกคะแนนจะต้องมีความหมายและถูกนับอย่างเท่าเทียมกัน
ในสังคมไทยนั้นเรามีความเท่าเทียมในการลงคะแนนเสียง
แต่เรื่องประสิทธิผลของคะแนนเสียงยังเป็นประเด็นปัญหาอยู่ เพราะโดยระบบเลือกตั้งแบบ
“ผู้ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจะได้รับการเลือกตั้ง” จะทำให้คะแนนเสียงส่วนที่เลือกผู้สมัครคนอื่นซึ่งได้คะแนนน้อยกว่า หรือผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแต่ไม่ลงคะแนนให้ผู้ใด ต้องไร้ประสิทธิผลหรือไม่มีนัยใดๆทางการเมือง
การได้รับข้อมูลข่าวสารด้านนโยบายอย่างเข้าใจและรู้จริง
เป็นสถานการณ์ที่สมาชิกในสังคมจะต้องมีโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบาย
โดยมีระยะเวลาในการนำเสนอข่าวสารเหล่านั้นอย่างสมเหตุสมผล
การนำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงนโยบายต้องอธิบายถึงความสำคัญและเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการก่อเกิดนโยบาย
ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบาย เช่น
ผู้นำพรรคการเมืองหนึ่งเสนอนโยบายการปลดอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษและการนิรโทษกรรมนักโทษชายคนหนึ่ง
เป็นประเด็นในการรณรงค์เลือกตั้งครั้งต่อไป
ก็จะต้องอธิบายว่าสิ่งเหล่านั้นสำคัญต่อประเทศอย่างไร มีเหตุผลอะไรที่ต้องกำหนดนโยบายเช่นนั้น
และนโยบายดังกล่าวมีผลกระทบอะไรบ้างหากมีการนำไปปฏิบัติ
การควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจ
เป็นสิ่งที่ขาดหายไม่ได้จากระบอบประชาธิปไตย
ระบบการตรวจสอบมี 3 สถาบันหลัก คือ 1) การตรวจสอบโดยรัฐสภา
ได้แก่ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ
การตั้งกระทู้ถาม
การตรวจสอบโดยคณะกรรมาธิการ
การตรวจสอบโดยการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงคะแนนของวุฒิสภา
2) การตรวจสอบโดยองค์การอิสระ
ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการรัฐสภา
และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ 3) การตรวจสอบโดยสถาบันสาธารณะ
เช่นสื่อมวลชน และองค์การภาคประชาชนต่างๆ
รัฐบาลใดก็ตามแม้อ้างว่าได้อำนาจมาจากการเลือกตั้ง
แต่หากแทรกแซงบั่นทอนให้สถาบันเหล่านั้นไร้สมรรถภาพในการทำงานหรือทำงานเบี่ยงเบนจากจรรยาบรรณ
รัฐบาลนั้นหาได้เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยแต่อย่างใด
สิทธิพื้นฐานเป็นเนื้อหาสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
ทั้งสิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจทางการเมือง และสิทธิในการแสวงหาความรู้และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อความเข้าใจในประเด็นปัญหาและนโยบายต่างๆทางเศรษฐกิจ
สังคม และการเมือง สังคมใดที่ปิดกั้นไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายหรือไม่ยอมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวก
สังคมนั้นยังห่างไกลจากการเป็นประชาธิปไตยอีกมาก
การเคารพกฎหมายก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ไม่สามารถละเลยได้
เพราะการมีสิทธิและเสรีภาพโดยปราศจากการเคารพกฎหมายนั้นก็คือ อนาธิปไตย
ซึ่งเป็นภาวะที่แต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มอ้างสิทธิของตนเองและใช้อำนาจของกลุ่มสร้างกฏขึ้นมาเพื่อละเมิดสิทธิของคนอื่น การอ้างว่ามาเรียกร้องประชาธิปไตย
แต่มีพฤติกรรมละเมิดกฎหมายใช้อำนาจกลุ่มตั้งเป็นอำนาจรัฐซ้อนขึ้นมาของกลุ่มเสื้อแดงที่ปฏิบัติในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม
2553 ที่ผ่านมา
เช่น การตั้งด่านตรวจตามถนน กักขังหน่วงเหนี่ยวให้ผู้อื่นสิ้นเสรีภาพ
การบุกรุกโรงพยาบาล และการเผาอาคารของเอกชนและรัฐ จึงไม่ใช่พฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นประชาธิปไตยดังที่พวกเขาอ้างแต่อย่างใด
พฤติกรรมเหล่านี้โดยเนื้อหาแล้วเป็น
“ปรปักษ์ต่อประชาธิปไตย”
ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่การเลือกตั้ง
การจะบ่งบอกได้ว่าสังคมใดเป็นประชาธิปไตยหรือพฤติกรรมใดเป็นประชาธิปไตย
ก็จะต้องพิจารณาว่าสังคมนั้นส่งเสริมและเอื้ออำนวยความสะดวกให้พลเมืองมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลหรือไม่
มีความเท่าเทียมในการลงคะแนนเสียงและคะแนนเสียงมีประสิทธิผลหรือไม่
มีการให้ข้อมูลข่าวสารเชิงนโยบายแก่ประชาชนอย่างเพียงพอแก่การตัดสินใจหรือไม่
การควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมีประสิทธิภาพหรือไม่
มีสิทธิพื้นฐานที่จำเป็นต่อการมีส่วนร่วมและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหรือไม่
และกฎหมายได้ถูกละเมิดมากน้อยเพียงใด
หากใช้เกณฑ์เหล่านี้เป็นกรอบในการประเมินว่าสังคมไทยเข้าใกล้ความเป็นประชาธิปไตยหรือยัง
คำตอบคงกระจ่างในใจทุกท่านแล้ว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น