ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ผลลัพธ์ของการพัฒนาที่ผิดพลาด และการเริ่มต้นใหม่ของการปฏิรูปสังคม (พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต)

ผลลัพธ์ของการพัฒนาที่ผิดพลาด และการเริ่มต้นใหม่ของการปฏิรูปสังคม
พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต


เป้าหมายการปฏิรูปสังคมของแต่ละประเทศอาจมีหลากหลาย แต่เป้าหมายร่วมกันลำดับต้นๆคือ การขจัดความยากจนและการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยรวมของประชาชน    

ภาพของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปคือ การมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ     พลเมืองมีการศึกษาและมีความสามารถในการใช้ความคิดเชิงเหตุผลมากขึ้นเพื่อวินิจฉัยว่าสิ่งใดจริงหรือไม่จริง    มีสวัสดิการอย่างทั่วถึงและเพียงพอ    การตัดสินใจทางการเมืองมีแนวโน้มยึดถือผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก   ความรุนแรงและอาชญากรรมลดลง และคุณภาพชีวิตโดยรวมของประชาชนดีขึ้น

เป็นความจริงเช่นเดียวกันว่าบางประเทศประสบความสำเร็จในการพัฒนาเงื่อนไขสภาพชีวิตด้านวัตถุของผู้คนให้ดีขึ้น  มีรายได้เพิ่มขึ้น และดูเป็นสังคมที่ทันสมัย   

แต่เมื่อมองภาพอีกด้านหนึ่งกลับพบว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างมนุษย์ด้วยกันมีแนวโน้มเสื่อมสลาย  ผู้คนมีความห่างเหินและดำเนินวิถีชีวิตที่มีตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล  ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างผิวเผินและหยาบคาย  ความไว้วางใจซึ่งกันและกันลดลง ขณะที่หวาดระแวงสูงขึ้น  การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันกลายเป็นสิ่งที่พบได้ยาก    

ภาพเช่นนี้บางคนอาจเคยประสบมากับตนเองเมื่อไปท่องเที่ยวประเทศในแถบเอเชียบางประเทศที่กำลังประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน

บทเรียนนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าการปฏิรูปประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจเพียงมิติเดียวคงไม่เพียงพอที่จะทำให้สังคมของเราเป็นสังคมที่พึงปรารถนาและน่าอยู่

            สำหรับสังคมไทยความพยายามในการปฏิรูปประเทศโดยเน้นการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมาดูเหมือนยังห่างไกลกับสิ่งที่เรียกว่าความสำเร็จ  และการต่อสู้กับความยากจนที่ดำเนินการสมัยรัฐบาลทักษิณ ก็เป็นเพียงมายาภาพเชิงนโยบายเหมือนยาพิษเคลือบน้ำตาล  รวมทั้งคุณภาพของสังคมก็ย่ำแย่เลวร้ายลง

ระบบการเมืองที่คาดหวังว่า จะทำให้ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ   ผู้นำทางการเมืองมีอุดมการณ์ที่สร้างความเป็นธรรม มีความโปร่งใสในการบริหารประเทศ  มีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และเคารพการมีส่วนร่วมของประชาชน

 แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมากลับเป็นไปในทิศทางที่ตรงกันข้าม บางยุครัฐบาลมีเสถียรภาพสูง  แต่ผู้นำทางการเมืองกลับละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเลยความเป็นธรรม  นักการเมืองส่วนใหญ่แทนที่จะรับผิดชอบต่อประชาชน กลับไปรับผิดชอบต่อหัวหน้าพรรคของตนเอง 

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนถูกทำให้กลายเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและเป็นเพียงพิธีกรรมที่นำมาเสริมสร้างความชอบธรรมในการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น  อีกทั้งรัฐสภากลายเป็นแหล่งของการสร้างแบบอย่างและผลิตซ้ำพฤติกรรมทางกายและวาจาที่หยาบคายแบบอนาอารยชนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

ระบบการศึกษาที่คาดว่าจะมีคุณภาพ เป็นแหล่งสร้างสรรค์ปัญญาและคุณธรรมแก่เยาวชนของชาติ  กลับกลายเป็นว่า การปฏิรูปการศึกษาทำให้ระบบการศึกษาในทุกระดับดำดิ่งไปสู่ความมืดมนและสร้างความมืดบอดทางปัญญา       ระบบนี้ทำให้ครูและอาจารย์กลายเป็นนักฉวยโอกาส ผลิตงานกระดาษเพื่อความอยู่รอดและไต่เต้าสร้างสถานภาพที่จอมปลอมให้แก่ตนเอง  อีกทั้งยังสร้างผู้ประเมินจำนวนมากที่ไร้ปัญญา ทว่ามีอำนาจในการชี้ชะตากรรมของสถานศึกษา   โรงเรียนและมหาวิทยาลัยจึงแปรสภาพเป็นโรงงานผลิตสินค้าที่ด้อยคุณภาพเพื่อเอาใจตลาด และทำงานที่เน้นตัวเลขเชิงปริมาณตามตัวชี้วัดที่ถูกกำหนด มากกว่าจะใส่ใจกับการสร้างสรรค์ปัญญาและคุณธรรมแก่ยุวชนและเยาวชน

ความยากจนซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ  แต่ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใดหาได้มีความพยายามในการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อกระจายความเป็นธรรมแต่อย่างใด     สิ่งที่ผู้นำรัฐบาลส่วนใหญ่ดำเนินการคือ การเปลี่ยนกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพื่อเอาใจประเทศมหาอำนาจและบางรัฐบาลใช้เงื่อนไขนี้สร้างประโยชน์แก่บริษัทในเครือข่ายของตนเองโดยนำความหายนะของเกษตรกรเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน    

            สำหรับนโยบายแก้ปัญหาความยากจน  มีการสร้างอุปลักษณ์ของความเป็นศัตรูจนถึงขั้นประกาศสงครามกับความยากจน  แสดงบทบาทเสมือนเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหา แต่เบื้องหลังคือ การหว่านยาพิษใส่สิ่งเสพติดลงในจิตใจของประชาชนผู้ยากไร้    

ถ้าหากพ.ร.ก. ฉุกเฉินคือยาเสพติดเชิงอำนาจของฝ่ายความมั่นคง  ประชานิยมก็คือยาเสพติดเชิงการเมืองของรัฐบาลนั่นเอง    รัฐบาลทักษิณเริ่มต้นใส่ยาพิษประชานิยมลงไป  แทนที่รัฐบาลอภิสิทธิ์จะรักษาถอนพิษยาเหล่านั้นออกจากจิตของประชาชน  กลับกลายเป็นว่ามีการปรุงเสริมเพิ่มพิษหนักไปยิ่งกว่าเก่าเสียอีก  และยิ่งรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ชินวัตร

ประชานิยมไม่ใช่หนทางที่ทำให้ประชาชนหลุดพ้นความยากจน  แต่เป็นหนทางที่จะสร้างความยากจนที่เลวร้ายยิ่งขึ้นในระยะยาวทั้ง จนเงิน และ จนใจ   จนเงินจะมาจากการที่ประเทศเกิดวิกฤติการคลังจนล้มละลาย  ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อจนกระทั่งเงินกลายเป็นกระดาษธรรมดาดังที่เคยเกิดขึ้นในประเทศแถบละตินอเมริกาและยุโรป   ส่วนจนใจ เป็นภาวะที่ประชาชนไร้ความคิดไร้ปัญญาในการประกอบอาชีพเพราะถูกทำให้กลายเป็น ผู้รอ และ ผู้ขอ อย่างต่อเนื่องยาวนานนั่นเอง

คุณภาพสังคมอันเป็นผลมาจากความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง การศึกษา และเศรษฐกิจ  คือ ความร้าวฉาน แตกแยกเป็นฝักฝ่าย อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน    ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้คนที่อยู่บนพื้นฐานสายใยแห่งญาติมิตรและความมีน้ำใจอันเป็นรากฐานค่านิยมที่ดีงามแต่ดั้งเดิมถูกกัดกร่อนทำลาย  ขณะที่ความเกลียดชังและความหวาดระแวงปรากฎตัวขึ้นกลายมาเป็นกระแสหลัก ของทัศนคติระหว่างผู้คนที่มีการรับรู้แตกต่างกัน

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย  และสิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นหลักฐานเพียงพอว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้คนในสังคมไทยทั้งมวล ต้องหันกลับมาทบทวนภาพรวมของประเทศทั้งหมดอย่างจริงจัง   รอบด้านและรอบคอบ  

เราคงต้องมาร่วมกันออกแบบ วาดภาพหรือสร้างวิสัยทัศน์ร่วม (shared vision) ของสังคมไทยในทุกระดับ  ทั้งภาพของประเทศโดยรวม   และภาพของระบบที่พึงปรารถนาของระบบย่อยต่างๆ ทั้งระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ  ระบบครอบครัว ระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข ระบบพลังงาน ระบบการเกษตร ระบบการท่องเที่ยว ระบบการคมนาคมขนส่ง ระบบสวัสดิการสังคม  และระบบยุติธรรม  เป็นต้น   
ภาพของสถาบัน องค์การ และกลุ่มที่พึงปรารถนาซึ่งจะเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบต่างๆให้ตอบสนองความคาดหวังของสังคม   ภาพของความสัมพันธ์ทางสังคมที่พึงปรารถนา   และภาพของพลเมืองที่พึงปรารถนาว่าควรมีคุณลักษณะทางปัญญาค่านิยม และพฤติกรรมเช่นใด

การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้ประสบความสำเร็จ ต้องการวิสัยทัศน์และอุดมการณ์ที่ชัดเจนอันเป็นเป้าหมายที่จะไปให้ถึง  และต้องเป็นวิสัยทัศน์ที่ทรงพลังในการทำให้ผู้คนเกิดความตระหนักและทุ่มเทอุทิศตน    

ต้องมีกลไกเชิงสถาบันและองค์การที่มีสมรรถภาพและเข้มแข็งในทุกระดับตั้งแต่หมู่บ้านจนถึงระดับชาติเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง    ต้องมีกลุ่มผู้นำทางการเมืองที่ทุ่มเทเสียสละและมีความสามัคคีในการสนับสนุน ผลักดันและบริหารนโยบายอย่างเป็นเอกภาพ  และต้องมีประชาชนในทุกภาคส่วนที่มีเจตจำนงและพร้อมเข้าร่วมกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างกระตือรือร้น   

ในระยะ 5 -10 ปี ถัดจากนี้ ประเทศไทย มีทางเลือกแห่งความเป็นไปได้สองทาง  ทางแรกคือทางแห่งความสิ้นหวังที่สังคมเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความแตกแยก  ความรุนแรง และการแตกสลาย   ส่วนทางที่สองคือ ทางแห่งความหวัง เป็นทางของความรุ่งเรือง ความสันติสุข และความเป็นปึกแผ่น    เส้นทางใดที่เราจะเลือกเดิน และจะต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย อยู่ที่การตัดสินใจของชาวไทยทุกคน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ