ประชาธิปไตยที่มีคุณค่า ต้องไม่ใช่แบบที่ถูกซื้อ
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
โดยทั่วไปประชาธิปไตยถูกเข้าใจว่าเป็นการปกครองของเสียงส่วนใหญ่ การเลือกตั้งจึงถูกใช้เป็นกลไกหลักในการเลือกคนเข้ามาปกครอง
เพราะการเลือกตั้งเป็นการนับจำนวน
พรรคการเมืองใดที่ประชาชนสนับสนุนในจำนวนที่มากกว่า ผู้นำพรรคก็จะกลายเป็นผู้บริหารปกครองประเทศ
การใช้หลักเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตัวแทนมีหลากหลายรูปแบบ
ในบางประเทศใช้หลักเสียงส่วนใหญ่แบบสัมบูรณ์ (absolute majority) คือ ผู้ที่ได้รับเลือกเข้าไปเป็นตัวแทนในฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติจะต้องได้รับคะแนนร้อยละ
50 ของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งขึ้นไป บางประเทศใช้ระบบแบบ
“คนที่ได้รับคะแนนมากที่สุดแม้ไม่ถึงครึ่งก็จะได้รับการคัดเลือก” (first-past-the-post) บางประเทศใช้ระบบสัดส่วน (proportional
representation) และบางประเทศอาจใช้หลายระบบผสมผสานกัน
ปัญหาคือเสียงส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่มีคุณค่าหรือเป็นสิ่งที่ดีในตัวของมันเองจริงหรือ เป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่าทำไมนโยบายที่คนส่วนใหญ่ชอบจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องและดีกว่านโยบายอื่นๆ ทำไมพรรคการเมืองที่คนส่วนใหญ่ชอบจึงเป็นสิ่งที่ควรยอมรับและปฏิบัติตาม
ทั้งที่พรรคการเมืองนั้นอาจนำพาประเทศไปสู่หายนะดังที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศเยอรมันยุคพรรคนาซีเรืองอำนาจ และเคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทยยุคที่พรรคไทยรักไทยมีอำนาจ
ประวัติศาสตร์กำลังจะซ้ำรอยเดิมอีกครั้งก็เป็นได้ สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังมาถึง
ทำไมเราต้องยอมรับตัวบุคคลที่ถูกเสียงส่วนใหญ่เลือก
ทั้งที่เรารู้ว่าบุคคลผู้นั้นเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ฉ้อฉล ทุจริต
เป็นนักเลงอันธพาล เป็นผู้มีอิทธิพล เป็นผู้ไร้วัฒนธรรมและอารยธรรมที่ดีงาม เสียงส่วนใหญ่ฟอกคนเลวให้เป็นคนดีได้หรือไม่
หรือเสียงส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่หนุนหลังให้ท้ายคนเลวให้ประพฤติตัวเลวยิ่งขึ้น
ภายใต้ระบบประชาธิปไตยแบบเสียงส่วนใหญ่ เมื่อคนเข้าไปสู่สถานการณ์ที่ขัดแย้งหรือถกเถียงกันว่าควรทำในเรื่องอะไรบ้าง
ทางออกทางเดียวที่มักถูกมองว่าเป็นสิ่งถูกต้องคือการนับจำนวนหัวของผู้สนับสนุน
ทางเลือกใดที่มีผู้สนับสนุนมากกว่าก็มักจะได้รับเลือกและถูกถือว่าเป็นทางเลือกที่ดี
แต่มันจะดีจริงหรือไม่เป็นคำถามใหญ่
และยิ่งในสังคมไทยที่เสียงส่วนใหญ่มักจะได้มาจากการระดมจัดตั้งหรือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ทางเลือกเชิงนโยบายที่เกิดจากเสียงส่วนใหญ่อาจมิใช่ทางเลือกที่สร้างประโยชน์แก่สังคมและตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการเชิงจริยธรรม ตรงกันข้าม
เสียงส่วนใหญ่ในการตัดสินใจอาจสร้างประโยชน์แก่คนส่วนน้อย สร้างความเสียหายให้กับคนส่วนใหญ่
และทำลายจริยธรรมของสังคมก็ได้
ในหลายสถานการณ์การใช้เสียงส่วนใหญ่ตัดสินมิใช่เป็นสิ่งที่ดีหรือถูกต้องเสมอไป
โดยเฉพาะกรณีการตัดสินใจว่าใครควรเป็นผู้เสียสละในภาวะวิกฤติ เช่น
กรณีเรือที่บรรทุกคนมีน้ำหนักเกินและกำลังจะล่มจมลงไปในทะเล สิ่งที่ต้องตัดสินใจคือต้องให้ใครคนใดคนหนึ่งออกจากเรือเพื่อให้คนที่เหลืออยู่รอด การใช้เสียงส่วนใหญ่เพื่อลงคะแนนว่าใครควรเป็นผู้เสียสละกระโดดลงทะเล
ดูเป็นวิธีการที่เลวร้ายที่สุดและไม่เป็นธรรม เพราะความผูกพันส่วนตัวและความเกลียดชังจะกลายเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจ
กรณีแบบนี้การจับสลากจึงกลายเป็นทางออกที่มีความเป็นธรรมมากกว่าการใช้เสียงส่วนใหญ่
หรือกรณีการตัดสินใจว่าควรให้ขายยาเสพติดอย่างเสรีหรือไม่ แล้วใช้คนสิบคนตัดสินใจ หากในสิบคนนั้นมีคนติดยาเสพติด
8 คน
และมีคนไม่ติดยา แค่ 2 คน
เสียงส่วนใหญ่ก็ย่อมสนับสนุนให้มีการขายยาเสพติดอย่างเสรีนั่นเอง กรณีนี้จึงเป็นสิ่งเดียวกับที่ท่านพุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า
เป็นประชาธิปไตยของโจรนั่นเอง
แต่มีเรื่องที่ตลกร้ายยิ่งกว่านั้นสำหรับสังคมไทย คือ
บรรดานักการเมืองที่เป็นผู้บริหารพรรคการเมืองต่างๆ
พวกนี้เกือบทั้งหมดไม่เคยใช้เสียงส่วนใหญ่ในการตัดสินใจภายในพรรค บางพรรคหัวหน้าพรรคตัดสินใจคนเดียว
บางพรรคผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังพรรคเป็นผู้ตัดสินใจ บางพรรคพอใช้เสียงส่วนใหญ่ตัดสินใจก็กลับไม่ยอมรับเสียงส่วนใหญ่ที่เป็นสมาชิกพรรคของตนเอง
กลับแสดงลักษณะธาตุแท้ดั้งเดิมที่เป็นเผด็จการออกมา และบางพรรคก็ไปใช้ตำแหน่งหน้าที่ล่อให้คนในพรรคอื่นแยกตัวออกมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคตัวเอง
พฤติกรรมที่นักการเมืองเหล่านี้กระทำแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า
พวกเขาไม่ได้สนใจหลักเสียงส่วนใหญ่ แต่อย่างใด เมื่อไรที่การใช้หลักเสียงส่วนใหญ่ทำให้เขาเสียประโยชน์เขาก็ไม่ใช้
แต่หากเมื่อไรที่ใช้หลักเสียงส่วนใหญ่แล้วพวกเขาได้ประโยชน์ก็จะใช้ทันที
และเรียกร้องให้ผู้อื่นยอมรับเสียงส่วนใหญ่เหล่านั้นด้วย
การใช้หลักเสียงส่วนใหญ่จึงเป็นการใช้ตามความชอบหรือความชังของผู้ใช้เป็นหลัก และตัวเสียงส่วนใหญ่เองเมื่อมีการตัดสินใจก็มีแนวโน้มถูกผลักดันตามความรู้สึกชอบหรือชัง
มากกว่าเหตุผลเชิงเศรษฐกิจและเชิงจริยธรรม ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่าเสียงส่วนใหญ่มีความถูกต้องเป็นธรรมจริงหรือ
ถ้าประชาธิปไตยหมายถึงการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่
แต่เสียงส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวของมันเอง คำถามที่ตามมาคือทำไมเราถึงได้ให้ความสำคัญในการปกป้องประชาธิปไตย
เสียงส่วนใหญ่อาจยอมรับได้หากเป็นเสียงที่แสดงออกมาภายใต้แรงขับเคลื่อนของค่านิยมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและค่านิยมเชิงจริยธรรม
แต่ถ้าหากเสียงส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนโดยผลประโยชน์ส่วนบุคคลและพวกพ้อง รวมทั้งค่านิยม “อจริยธรรม” เช่น
การยอมรับว่าการทุจริตเป็นเรื่องปกติ
หรือ
การเผาเมืองและละเมิดสิทธิผู้อื่นเป็นเรื่องปกติที่ทำได้หากผู้เป็นรัฐบาลไม่ใช่พวกของเรา
เสียงส่วนใหญ่เช่นนี้เป็นเสียงส่วนใหญ่ที่นำความหายนะมาสู่สังคม พลเมืองที่มีสามัญสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี
ย่อมกระอักกระอ่วนใจที่ต้องไปปกป้องระบบเสียงส่วนใหญ่เช่นนี้
โดยเฉพาะเสียงส่วนใหญ่อันได้มาจากการจัดซื้อจัดจ้างหามาด้วยเงินตราของนักการเมือง ย่อมเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ยิ่งไร้ความถูกต้อง
และไร้ความชอบธรรมยิ่งกว่าเสียงส่วนใหญ่แบบธรรมดาซึ่งก็เป็นระบบที่มีปัญหาในตัวของมันเองอยู่แล้ว “เสียงส่วนใหญ่แบบจัดซื้อ” หรือ
“ประชาธิปไตยแบบจัดซื้อ”
จึงย่อมไม่ใช่สิ่งที่มีคุณค่าใดๆที่เราจะต้องไปปกป้องมันอีกต่อไป เพราะประชาธิปไตยแบบนี้ส่งเสริมให้ผู้คนฉ้อฉล
ส่งเสริมให้ผู้คนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงสังคม
ส่งเสริมให้ผู้คนแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อให้ได้ชัยชนะ ทั้งที่เป็นชัยชนะที่ว่างเปล่า และส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรงทำลายล้างโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติรัฐและมนุษยธรรม
หากมนุษย์จะปกป้องสิ่งใดก็ควรปกป้องสิ่งที่มีคุณค่าต่อสังคม ส่วนการปกป้องสิ่งที่ไร้ค่าและเป็นสิ่งที่นำพาความหายนะมาสู่สังคมย่อมเป็นการกระทำที่ทำลายล้างตนเองและสังคม
หากประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่มีคุณค่า
ก็ต้องไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบเสียงส่วนใหญ่ที่มีการจัดซื้อ
ต้องเป็นประชาธิปไตยที่มีประสิทธิผลในการสร้างความยุติธรรม และการบูรณาการทางสังคม
ต้องเสริมสร้างอำนาจและปัญญาให้กับพลเมือง
ต้องสร้างการมีส่วนร่วมแบบปรึกษาหารือโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสทางสังคม
ต้องสร้างทางเลือกที่หลากหลายภายใต้การพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ถี่ถ้วนและรอบด้านถึงความสำคัญและความจำเป็นของทางเลือกเหล่านั้น
ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
จากนั้นจึงตัดสินใจร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างเป็นธรรม
ประชาธิปไตยแบบนี้ต่างหากจึงเป็นประชาธิปไตยที่มีคุณค่าที่จะต้องสร้างขึ้นมา พัฒนาและขยายออกไปให้มั่นคงต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น