ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

มนุษย์ยากที่จะควบคุมผลลัพธ์ที่ตั้งใจได้


มนุษย์ยากที่จะควบคุมผลลัพธ์ที่ตั้งใจได้

พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

เมื่อมนุษย์ตัดสินใจกระทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สิ่งที่เป็นแรงผลักดันอยู่เบื้องหลังคือความปรารถนาในผลลัพธ์ที่พึงประสงค์   กระนั้นความปรารถนาประการเดียวในบางบริบทก็ไม่เพียงพอที่ส่งผลให้เกิดการกระทำ  เงื่อนไขสำคัญอีกประการที่เอื้อต่อการกระทำคือโอกาสซึ่งมีความหมายกว้างขวางทั้งเป็นโอกาสที่อยู่ภายในตัวบุคคล  เช่น การมีความรู้ ปัญญา ทักษะ ความมั่งคั่ง และโอกาสที่อยู่ภายนอกบุคคล เช่น บรรทัดฐาน ค่านิยมของสังคม และสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เป็นต้น  

ทันทีที่มนุษย์ลงมือกระทำ ผลลัพธ์ที่ตามมามีสองประการหลัก คือผลลัพธ์ที่ตั้งใจให้เกิดตามความปรารถนาในตอนเริ่มแรก  กับผลลัพธ์ที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมส่วนบุคคลของมนุษย์ผู้นั้นเอง และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับมนุษย์ผู้อื่น  

ผลลัพธ์อันไม่ตั้งใจที่มาจากพฤติกรรมส่วนบุคคลมีกลไกคือ  เมื่อมนุษย์ลงมือกระทำตามความปรารถนาของตนในเริ่มแรก    ต่อมาการกระทำนั้นกลับเป็นปัจจัยที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงความปรารถนาในตอนเริ่มแรกให้แตกต่างออกไป  เช่น เมื่อเราไปงานเลี้ยง ตั้งใจว่าจะดื่มเหล้าเพียงสองแก้ว  แต่เมื่อดื่มครบสองแล้ว ความตั้งใจในตอนแรกก็ละลายไปกับบรรยากาศของงานเลี้ยง ในที่สุดเราก็ดื่มเหล้าแก้วที่สามและดื่มต่อไปเรื่อยๆจนเมา   เมื่องานเลิกขับรถกลับบ้านไปชนเสาไฟฟ้า    ถ้าเรารู้ว่าจะเกิดผลสืบเนื่องเช่นนี้ เราก็คงจะดื่มเหล้าเพียงแก้วเดียวเท่านั้น

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับการเมือง  สมมติว่ามี นักการเมืองคนหนึ่งตั้งใจจะเสนอนโยบายประชานิยมไปสู่ชาวบ้านโดยตรงในการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียว  แต่เมื่อเสนอไปแล้วก็รู้สึกเสพติดนโยบายแบบนั้นเพราะทำให้เขาชนะการเลือกตั้งสมความปรารถนา    จึงเสนอนโยบายประชานิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนในท้ายที่สุดไม่สามารถทำได้ และทำให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดวิกฤติ   หากนักการเมืองผู้นั้นมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมก็อาจคิดว่า  ถ้ารู้ว่าจะเกิดผลสืบเนื่องอย่างนี้ เราคงไม่เสนอนโยบายประชานิยมเสียตั้งแต่แรก    

ความปรารถนาของมนุษย์ยังได้รับอิทธิพลจากจิตไร้สำนึกแห่งความพึงใจ ดังนิทานเกี่ยวกับชาวนาเรื่องหนึ่ง  ชาวนาจูงม้าไปขายที่ตลาด  พบชายผู้หนึ่งจูงวัวมา  เขาเกิดความพึงใจในวัวตัวนั้น จึงเอาม้าแลกกับวัว   ต่อมาพบแกะก็ชอบมาก จึงเอาวัวแลกแกะ   จูงแกะไปไม่นานพบห่าน ดูคอมันยาวสวยดีแถมร้องเสียงดังไว้เฝ้าบ้านได้อย่างดี  ก็รู้สึกชอบ จึงเอาแกะแลกห่าน    จูงห่านเดินไปพบแม่ไก่ ก็เกิดชอบขึ้นอีก จึงเอาห่านแลกแม่ไก่   และท้ายที่สุดจูงแม่ไก่เดินไป พบคนขายแอปเปิ๊ล เกิดอยากกิน จึงเอาไก่ไปแลกกับแอปเปิ๊ล    

เส้นทางสู่ความหายนะของชาวนาเกิดคู่ขนานกับความรู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น  แต่ละครั้งของการเปลี่ยนแปลงชาวนาเชื่อว่าตนเองได้สิ่งที่ดีขึ้น  แต่ผลสุดท้ายเขาต้องประสบกับความหายนะ

เช่นเดียวกันกับการพัฒนาของสังคมไทย  เราให้ชาวบ้านเปลี่ยนจากการทำนาเป็นปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อขายในตลาด  เมื่อพืชชนิดใดปลูกแล้วขายขาดทุน หน่วยงานราชการก็แนะนำให้ปลูกพืชชนิดใหม่  ทุกครั้งที่เปลี่ยนแปลงการปลูกพืชชนิดใหม่  หนี้สินชาวนาก็พอกพูนขึ้นทุกเวลา  ในท้ายที่สุดก็ต้องขายที่ดิน สูญเสียทรัพยากรอันทรงคุณค่า ต้องอพยพไปขายแรงงานในเมือง    จากชีวิตที่เคยมีทรัพย์สิน มีความเป็นอิสระ ก็กลายเป็นคนไร้ทรัพย์สิน และต้องพึ่งพาผู้อื่น  ซึ่งเป็นความหายนะโดยแท้    

นอกจากจะเกิดจากพฤติกรรมหรือการกระทำของปัจเจกบุคคลแล้ว ผลสืบเนื่องที่ไม่ได้ตั้งใจยังเกิดจากปฏิสัมพันทางสังคมซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกตัวมนุษย์   ผลลัพธ์ของการปฏิสัมพันธ์มีทั้งผลเชิงบวกและเชิงลบ เช่น แนวคิด “มือที่มองไม่เห็น” ของกลไกตลาดซึ่งทำให้เกิดความสมดุลย์ระหว่างอุปสงค์และอุปทานของสินค้าและความเหมาะสมของราคา  หรือ เรื่องการที่มนุษย์ได้สร้างเทคโนโลยีขึ้นมา ท้ายที่สุดเทคโนโลยีก็มีพลังอำนาจในการบงการพฤติกรรมของมนุษย์   

 นอกจากพลังภายนอกเหล่านี้แล้ว ยังมีอาการทางสังคมอีกประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ตั้งใจขึ้นมา  จอน เอลส์เตอร์ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ เรียกผลสืบเนื่องจากการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเช่นนี้ว่าเป็น “อาการพี่น้องผู้อ่อนเยาว์” ซึ่งมีที่มาจากทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า “ทฤษฎีใยแมงมุม” หรือเรียกอีกอย่างว่า “วัฎจักรขนแกะ”  ที่เรียกอย่างนี้เนื่องจากว่ามีจุดเริ่มต้นจากการอธิบายวงจรการผันผวนของการผลิตขนแกะ  วัฎจักรแบบนี้เป็นแบบแผนที่ใช้ในการอธิบายปรากฎการณ์ของการเกิดผลสืบเนื่องที่ไม่ได้ตั้งใจได้หลายกรณี

เกษตรกรผู้เลี้ยงแกะต้องตัดสินใจล่วงหน้าหนึ่งปีว่าจะผลิตขนแกะป้อนตลาดจำนวนเท่าไร  การตัดสินใจดังกล่าวถูกกำหนดโดยราคาขนแกะที่คาดหวังและต้นทุนในการผลิต  หากปีนี้ขนแกะราคาสูงชาวนาก็คาดหวังว่าในปีหน้าขนแกะจะมีราคาสูงเช่นเดียวกัน พวกเขาก็จะผลิตขนแกะมากขึ้น    เกษตรกรแต่ละคนก็คาดหวังเช่นเดียวกัน จึงทำให้มีการเลี้ยงแกะเพิ่มมากขึ้น  ปริมาณขนแกะที่ผลิตออกมาจึงล้นตลาด และท้ายที่สุดทำให้ราคาขนแกะลดลง 

มีสิ่งที่ไร้เหตุผลเกี่ยวกับพฤติกรรมของเกษตรกร คือ เขาคิดว่าตนเองคนเดียวที่มองเห็นปรากฎการณ์นี้ และคิดว่าเกษตรกรคนอื่นคิดไม่เหมือนเขาและคิดว่าคนอื่นคงผลิตแกะน้อยเช่นเดียวกับเขาในปีที่ผ่านมา  นี่คืออาการที่มนุษย์มักจะมองว่าผู้อื่นเป็น “พี่น้องผู้เยาว์วัย” ที่ไร้เดียงสา  ไม่คิดว่าผู้อื่นเขาก็คิดเป็น คำนวณได้ และวางยุทธศาสตร์เป็นเหมือนกัน

ตรงกันข้ามกับวิธีคิดแบบ “พี่น้องผู้เยาว์วัย”  ยังมีวิธีคิดอีกแบบที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ได้ตั้งใจไว้เหมือนกันคือวิธีคิดแบบ “เปลี่ยนผู้อื่นเป็นปีศาจ”   วิธีคิดแบบนี้เป็นการมองว่าผู้อื่นหรือคู่แข่งมีพลังอำนาจมาก และมีความชั่วร้ายที่คอยทำลายฝ่ายตนจนเกินความเป็นจริง ซึ่งทำให้เกิดการตอบสนองที่รุนแรงและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ

ปรากฎการณ์ของการเมืองไทยในปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของวิธีคิดทั้งสองแบบในวงกว้างนักการเมืองจำนวนมากมักคิดว่าประชาชนเป็น “ผู้ไร้เดียงสา”  จึงพยายามผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดอง และแก้ไขรัฐธรรมนูญ   คาดการณ์ว่าเมื่อประชาชนเลือกพรรคตนเองมาด้วยคะแนนเสียงถึง 15 ล้านเสียง  จนได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร์   ประชาชนเหล่านั้นคงสนับสนุนพรรคตนเองต่อไปในการแก้รัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายปรองดอง    ส่วนประชาชนที่ไม่เลือกพรรคตนเองก็คงไม่ออกมาคัดค้านหรือหากจะมีบ้างก็คงมีไม่มาก   วิธีคิดของพรรคการเมืองพรรคนี้คล้ายคลึงกับเกษตรกรผู้เลี้ยงแกะ และจุดจบของพวกเขาก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก นั่นคือ เดินไปสู่เส้นทางแห่งความหายนะ

ส่วนวิธีคิดแบบเปลี่ยนผู้อื่นเป็นปีศาจ คือ การกล่าวหาว่าผู้อื่นมีพฤติกรรมแบบนักล่าแม่มด ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญามาตรา 112  โดยไม่สำรวจตรวจตราพฤติกรรมของตนเองให้ถ่องแท้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ และมีพฤติกรรมเยี่ยงไร     กฎหมายอาญามาตรา 112  ดำรงอยู่อย่างยาวนานเป็นเวลาหลายปี  ในอดีตมีผู้คนละเมิดกฎหมายมาตรานี้อยู่บ้างแต่ไม่มากนัก   แต่ในระยะไม่กี่ปีมานี้ หลังจากเกิดขบวนการเสื้อแดง การละเมิดกฎหมายนี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย   กฎหมายดังคงเป็นเช่นเดิมแต่พฤติกรรมของคนต่างหากที่เปลี่ยนแปลง  

การแก้กฎหมายเพื่อลดโทษหรือเพิ่มกระบวนการในการฟ้องให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น ก็ไม่อาจทำให้พฤติกรรมของผู้ละเมิดกฎหมายนี้เปลี่ยนแปลงได้   และเมื่อมีคนถูกดำเนินคดีด้วยมาตรานี้  สิ่งประหลาดที่เกิดขึ้นก็คือ มาตรานี้ถูกทำให้กลายเป็นปีศาจโดยผู้ที่ละเมิดและผู้ที่อยากละเมิด   ส่วนบุคคลที่พยายามให้เกิดการบังคับใช้มาตรานี้ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นขบวนการล่าแม่มด

นอกจากกลุ่มผู้ที่ประสงค์จะละเมิดกฎหมายมาตรานี้จะตีตราว่ากฎหมายนี้มีความร้ายกาจดุจปีศาจแล้ว     พวกเขายังมองว่าประชาชนไร้เดียงสา  โดยคิดว่ากลุ่มของตนสามารถกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเคลื่อนไหวเป็นเพียงกลุ่มเดียวกระมัง  คงลืมไปว่ากลุ่มอื่นเขาก็คิดเป็นเหมือนกัน  เพราะฉะนั้นหากกลุ่มนิติราษฎร์และบรรดาเสื้อแดงที่ต้องการยกเลิกมาตรานี้เคลื่อนไหว   ก็ย่อมมีกลุ่มทางสังคมอีกหลายกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับพวกเขา  

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอาจไม่เป็นดังที่กลุ่มนิติราษฎร์และบรรดาเสื้อแดงบางกลุ่มตั้งใจไว้  เส้นทางแห่งความหายนะอาจรออยู่เบื้องหน้า  เฉกเช่นเดียวกับกลุ่มที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ  จึงขอให้ไตร่ตรอง ทบทวนพฤติกรรม และยุติการจุดชนวนแห่งความขัดแย้งเสียเถิด   


  

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ