รศ.
ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
วิกฤติความไว้วางใจ
เงื่อนไขที่ทำให้ให้ปัจเจกบุคคล
ชุมชน องค์การ สังคม และประเทศประสบความสำเร็จและมีการพัฒนาที่ต่อเนื่องยั่งยืน
รวมทั้งมีความปรองดองสมานฉันท์อาจมีหลายเงื่อนไข
แต่มีเงื่อนไขหนึ่งที่นักวิชาการสังคมศาสตร์หลากหลายสาขาซึ่งทำการวิจัยได้พบร่วมกันว่าเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นและสำคัญ
นั่นคือ “ความไว้วางใจ”
ความไว้วางใจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คนตลอดเวลา ทั้งในด้านคุณภาพของความสัมพันธ์ การสื่อสาร
การพัฒนาประเทศ การดำเนินงานโครงการต่างๆ
การตกลงในเชิงธุรกิจ การดำเนินงานทางการเมือง และมิติอื่นของชีวิตที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
ความไว้วางใจมิใช่สิ่งที่เป็นมายาคติหรือภาพลวงตาเชิงนามธรรมที่ล่องลอยในจินตนาการของผู้คน
ในทางตรงกันข้ามความไว้วางใจเป็นพลังอำนาจที่ดำรงอยู่จริงซึ่งมีพลังขับเคลื่อนทิศทางความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้คน
ทั้งในทางที่สร้างสรรค์ และในทางที่ทำลายล้างหากใช้ในทางที่ผิด
ความไว้วางใจมีองค์ประกอบสำคัญ
4 ประการคือ ความซื่อสัตย์มั่นคงในหลักการ(integrity) ความตั้งใจ (intent) สมรรถภาพ(capability) และผลลัพธ์(results)
ประการแรก ความซื่อสัตย์มั่นคงในหลักการ
หมายถึง การที่บุคคลได้กระทำอย่างที่พูด
และมีความกล้าหาญในการแสดงจุดยืนและการกระทำที่สอดคล้องกับความเชื่อ ค่านิยม
และอุดมการณ์ของตนเอง
บุคคลใดที่พูดอย่างแต่ทำอีกอย่าง หรือ ตัวเองสอนอย่างแต่ทำอีกอย่าง
ย่อมไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้อื่น
เช่นเดียวกันบุคคลใดที่ไม่กล้าทำตามสิ่งที่ตนเองเชื่อซึ่งได้ประกาศให้สาธารณะทราบแล้ว
โดยอ้างว่ามีข้อจำกัดหรือมีอุปสรรคต่างๆนานา
ก็ย่อมไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้อื่น
การพูดอย่างทำอย่างหรือการไม่กล้ากระทำอย่างที่ตนเองเชื่อของผู้นำทางการเมืองในสังคมไทย
มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ก่อนรับตำแหน่งบริหารประเทศ ผู้นำทางการเมืองส่วนใหญ่ประกาศว่าจะจัดการกับการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเด็ดขาด
แต่เมื่อดำรงตำแหน่งแล้วก็ไม่ปรากฏหลักฐานใดว่าได้ดำเนินการตามนั้น
และที่ร้ายกว่านั้นคือการเมินเฉยหรือกลบเกลื่อนเมื่อมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น
ส่วนที่ร้ายแรงที่สุดคือการเป็นผู้มีส่วนร่วมในการทุจริตเสียเอง
ด้วยเหตุนี้ความไว้วางใจของประชาชนไทยต่อผู้นำทางการเมืองจึงเสื่อมคลายลงและกลายเป็นวิกฤติแห่งความไว้วางใจในปัจจุบัน
ประการที่สอง
ความตั้งใจเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจและระเบียบวาระและผลของพฤติกรรมของเรา ความไว้วางใจจะขยายตัวหากแรงจูงใจของเราอยู่บนพื้นฐานของความปรารถนาดีต่อผู้อื่น
และกระทำโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน
ไม่ฉกฉวยโอกาสหรือเห็นผู้อื่นเป็นเครื่องมือในการสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งเมื่อเราเอาใจเขามาใส่ใจเราอย่างจริงใจ
และคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่นควบคู่ไปกับประโยชน์ของตนเอง
ความศรัทธาก็เพิ่มขึ้น
แต่เมื่อไรก็ตามที่เรามีประเด็นซ่อนเร้นแอบแฝง
โดยฉากหน้าสร้างภาพว่ากระทำไปโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่
แต่เบื้องหลังกลับมุ่งแต่ประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง
ความไว้วางใจก็ย่อมลดลงและเสื่อมถอยลงไป
ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคภูมิใจไทยที่ฉากหน้าประกาศอย่างสวยหรูว่า
ทำไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน
แต่แท้จริงแล้วกลับกระทำเพื่อนักการเมืองและข้าราชการที่เป็นพวกพ้องตนเองเพื่อให้กลุ่มบุคคลเหล่านั้นพ้นจากความผิดที่พวกเขากระทำลงไปเมื่อ
7 ตุลาคม 2551
การกระทำที่ซ่อนเร้นแอบแฝงเจตนาที่แท้จริงเอาไว้เป็นปรากฏการณ์ทั่วไปที่เกิดขึ้นในแวดวงการเมืองไทยอย่างยาวนาน
ซึ่งผู้คนในสังคมจำนวนมากก็รู้เท่าทันกับสิ่งเหล่านี้
จึงทำให้ประชาชนไทยจำนวนมากสิ้นศรัทธาและหมดความไว้วางใจนักการเมือง
แต่ก็มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้เท่าทันเจตนาที่แท้จริงของบรรดานักการเมือง
จึงได้ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองเหล่านั้น เพื่อให้พวกเขาได้กลับเข้ามามีอำนาจและแสวงหาผลประโยชน์ แต่ที่น่าเศร้าก็คือในบางกรณี
ประชาชนได้กลายเป็นเครื่องมือในการทำลายบ้านและเผาเมือง
รวมทั้งบั่นทอนความมั่นคงของประเทศเพื่อตอบสนองเจตนาที่ชั่วร้ายของนักการเมืองบางคน
ประการที่สาม
ความมีสมรรถภาพ เป็นความสามารถในการก่อให้เกิดความเชื่อมั่น ซึ่งได้แก่ ความรู้
ทักษะ ความสามารถพิเศษ หรือท่วงทำนองในการทำงาน
สิ่งเหล่านี้เป็นกลไกในการสร้างหรือผลิตผลลัพธ์ นักการเมืองบางคนอาจมีความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา
และมีความตั้งใจและเจตนาที่ดีต่อบ้านเมือง
ไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆในทางที่สร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือพวกพ้อง ซึ่งอาจได้รับความเชื่อถือไว้วางใจในระยะแรกๆของการเข้ามาดำรงตำแหน่ง
แต่หากเขาไม่มีสมรรถภาพในการบริหารประเทศ ไม่มีทักษะในการแปลงความรู้ให้เป็นการปฏิบัติ
แต่ละวันก็มุ่งแต่ตีฝีปากพูดแต่สิ่งที่ดีๆไปวันๆ
รวมทั้งไม่มีความสามารถในการใช้อำนาจหน้าที่และบารมีในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นแก่บ้านเมือง
ไม่มีปัญญาที่จะป้องกันหรือจัดการกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
เมื่อเวลาผ่านไปความศรัทธาและความไว้วางใจที่ผู้คนเคยมีให้ก็จะเสื่อมคลายลงไป
การรื้อฟื้นความไว้วางใจกลับคืนมาจำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารประเทศ
โดยการนำพาหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้เกิดขึ้นกับสังคม
ในระยะเวลาที่ไม่นานจนเกินไป
พร้อมกันนั้นก็ต้องหยุดการกระทำที่ชั่วร้ายของผู้คนที่อยู่รอบข้างให้ได้
หากพูดดีๆแล้วไม่หยุด ก็ต้องมีความกล้าหาญในการขจัดออกไป
ประการที่สี่ ผลลัพธ์เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับประวัติ
ประสบการณ์ในการทำงาน เมื่อใดที่เราสามารถผลักดันให้สิ่งใดบรรลุความสำเร็จ
ความน่าเชื่อถือก็เกิดขึ้นกับเรา
แต่เมื่อใดที่เราไม่สามารถผลักดันให้สิ่งที่เป็นเป้าหมายในการทำงานของเราให้สำเร็จได้ความน่าเชื่อถือก็จะลดลง กล่าวอีกนัยหนึ่งเมื่อใดก็ตามที่เราทำในสิ่งที่เราสัญญาต่อสาธารณะชนได้สำเร็จ
เราก็จะได้รับชื่อเสียงในเชิงบวกและความเชื่อถือไว้วางใจก็จะเกิดขึ้น
แน่นอนว่าการนำนโยบาย
โครงการ หรือมาตรการใดไปปฏิบัติย่อมจะมีปัญหาและอุปสรรคมากมายที่ขวางหน้าอยู่
โดยเฉพาะหากนโยบาย โครงการ มาตรการนั้นไปกระทบผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพลหรือเป็นเรื่องที่ทำให้คนจำนวนมากต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
วิถีปฏิบัติ หรือเปลี่ยนแปลงค่านิยมและความเชื่อ
ความยากลำบากในการผลักดันให้ประสบความสำเร็จก็ยิ่งมีมากขึ้น แต่ถ้าหากว่าเราสามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้
ก็ยิ่งทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจเราเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
ในสังคมไทยปัจจุบันเราจะเห็นว่าภาวะวิกฤติของความไว้วางใจแผ่ขยายเป็นวงกว้าง
ในแวดวงการเมือง ทั้งพรรคการเมือง รัฐบาล รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา
องค์กรอิสระทั้ง ปปช. สตง. กกต. แวดวงการศึกษาทั้งสถาบันการศึกษาระดับสูง
ระดับกลาง และระดับเบื้องต้น หน่วยงานราชการที่สำคัญทั้งตำรวจและทหารรวมทั้งหน่วยงานอื่นๆอีกจำนวนมาก
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การด้านศาสนา รวมทั้งภาคธุรกิจเอกชน
วิกฤติความไว้วางใจเมื่อเกิดขึ้นก็กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างสรรค์และพัฒนาประเทศ การที่เราจะฝ่าฟันวิกฤติเหล่านี้ออกไปได้ บุคลากร
องค์การ และสถาบันที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย
จะต้องมาทบทวนและรื้อฟื้นความศรัทธาไว้วางใจให้เกิดขึ้นใหม่
การสร้างความไว้วางใจโดยวางรากฐานอยู่บนความซื่อสัตย์มั่นคงตรงไปตรงมาในหลักการที่ดีและมีคุณค่าต่อตนเองและสังคม
มีความกล้าหาญทางจริยธรรมในการกระทำตามหลักการอย่างแน่วแน่ มีความตั้งใจที่ดีต่อประชาชนและประเทศชาติ
โดยปราศจากวาระซ่อนเร้น
มีการพัฒนาสมรรถภาพทั้งความคิด
ความรู้และทักษะในการบริหารและการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิผล เป็นธรรม
โปร่งใสและมีส่วนร่วม ตลอดจนการผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ตามเวลาที่เหมาะสมไม่ปล่อยให้ยืดเยื้อยาวนานจนเกินไป
ทั้งหมดนี้หากสถาบันและองค์การต่างๆสามารถกระทำได้
ก็จะสามารถสร้างความเชื่อถือศรัทธาและความไว้วางใจกลับคืนมาอีกครั้ง
และจะทำให้สังคมไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น