ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เปิดโฉมหน้า 7 นักการเมืองน้ำเน่า


เปิดโฉมหน้า 7 นักการเมืองน้ำเน่า

มีผู้คนจำนวนมากคาดหวังว่าการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554  เป็นการเลือกตั้งที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ระหว่างการเมืองน้ำเน่าย่ำอยู่กับที่ กับการเมืองที่แสวงหาทางออกให้กับสังคมไทย   แต่เมื่อพิจารณากลุ่มผู้สมัคร ส.ส. หรือ นักการเมืองที่เสนอหน้าให้ประชาชนเลือก  ความหวังของผู้คนเหล่านั้นคงเป็นความฝันที่ไม่อาจเป็นจริงได้
กล่าวได้ว่าบรรดานักการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเกือบทั้งหมดเป็นนักการเมืองน้ำเน่า  เน่าเสียจนกระทั่งกลิ่นที่กระจายออกมาไม่เพียงแต่อบอวลอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น  แต่ยังกระจายไปสู่สังคมโลกด้วย
นักการเมืองน้ำเน่า คือนักการเมืองผู้มีวิธีคิดที่ต้องการได้ตำแหน่งและอำนาจทางการเมืองมาให้ได้โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ  นักการเมืองน้ำเน่าจะใช้ทุกวิธีการที่ชั่วร้าย ผิดกฎหมาย ผิดจริยธรรมเพื่อให้ตนก้าวสู่การเป็นรัฐบาล    เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วนักการเมืองน้ำเน่าก็จะใช้วิธีการต่างๆนาๆในการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง ตลอดจนรักษาอำนาจของตนเองให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้  
 ความเน่าเหม็นของนักการเมืองเหล่านี้แสดงออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน จากความคิดและพฤติกรรมที่พวกเขาแสดงออกมา ซึ่งมีทั้ง ความกระสันอยากเป็นรัฐบาลจนตัวสั่น  การทำตนอยู่เหนือกฎหมายชอบใช้เส้นสาย  การดีแต่พูด ขณะที่ทำไม่เป็นหรือไม่มีความกล้าหาญในการตัดสินใจ  การมอมเมาประชาชน กระตุ้นความโลภจนเกินขอบเขตแก่ประชาชน ทำให้ประชาชนลุ่มหลงงมงายในลัทธิบริโภคนิยมอย่างไม่ลืมหูลืมตา  การยึดหลักประชาธิปไตยแต่ปาก แต่มีพฤติกรรมเผด็จการ  การกินอย่างมูมมามทุจริตคอรัปชั่น  และ การเอาดีใส่ตัว ชอบให้ร้ายป้ายสีผู้อื่น
นักการเมืองน้ำเน่าพวกแรก เป็นพวกกระสันอยากเป็นรัฐบาล  ไม่อยากเป็นฝ่ายค้านเพราะกลัวอดอยากปากแห้ง พวกเขาจึงงัดเล่ห์กลทุกอย่างเอามาใช้ ทั้งการหลอกลวง การหักหลัง เพื่อไม่ให้ตกกระบวนในการจัดตั้งรัฐบาล  และหากถูกเขี่ยออกจากอำนาจรัฐ นักการเมืองน้ำเน่าก็จะไปจัดตั้งมวลชนออกมาเผาบ้านเผาเมือง เพื่อปูทางให้ตนเองได้มีอำนาจต่อรองและมีโอกาสครอบครองอำนาจรัฐในอนาคต  
ในช่วงฤดูกาลเลือกตั้งพวกนักการเมืองน้ำเน่ามีพฤติกรรมประดุจสัตว์ที่กำลังติดสัด  เดินสายพูดคุย เจรจาต่อรองหาพวกประเภทเดียวกันเพื่อผสมพันธุ์  บางตัวที่ดูท่าจะขี้เหร่และมีกำลังน้อยสักหน่อยก็วิ่งรี่ไปเกาะตัวที่อัปลักษณ์แต่มีกำลังมาก  แต่ปรากฏว่าถูกตัวที่อัปลักษณ์ไล่กัดออกมา ทำให้ต้องวิ่งหนีไปแทบไม่ทัน  ขณะเดียวกันบางตัวบางกลุ่มก็วางมาด รวบรวมฝูงเล็กๆเข้าด้วยกันเพื่อหวังต่อรอง เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว
ถัดมาเป็นนักการเมืองน้ำเน่าที่ชอบแสดงอิทธิพลอยู่เหนือกฎหมาย    นักการเมืองน้ำเน่าพวกนี้ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง  พวกเขาหาช่องว่างในการหลีกเลี่ยงกฎหมายอยู่ตลอดเวลา  ยิ่งกว่านั้นพวกนี้ชอบใช้เส้นสายทำลายกฎระเบียบของหน่วยงานราชการและสังคมเป็นกิจวัตร    ตัวอย่างพฤติกรรมของนักการเมืองประเภทนี้ที่โด่งดังไปทั่วโลกคือ  การซุกหุ้นไว้กับคนใช้ที่บ้าน หรือ การให้พี่น้อง เครือญาติถือหุ้นแทน
เมื่อนักการเมืองน้ำเน่าถูกจับได้และถูกพิพากษาว่ามีความผิดต้องติดคุก  แทนที่จะสำนึกความผิดบาปที่ตนเองกระทำต่อประเทศ นักการเมืองน้ำเน่าเหล่านี้กลับตำหนิกระบวนการยุติธรรมว่ามีสองมาตรฐาน   นักการเมืองน้ำเน่าไม่ยอมติดคุกตามความผิดที่ได้ทำไว้ แต่จะหนีออกนอกประเทศ บางคนก็เปลี่ยนสัญชาติ      บางคนก็ยุยงให้มวลชนที่คลั่งไคล้ตนเองออกมาทำลายบ้านเมืองก่อความจลาจลวุ่นวายไปทั้งประเทศ    บางคนก็ตั้งพรรคการเมืองให้นอมินีหรือญาติพี่น้องตนเองลงเลือกตั้งเพื่อให้ได้อำนาจมานิรโทษกรรมให้ตนเอง
พวกที่สามเป็นน้ำเน่าประเภทดีแต่พูด  เป็นพวกชอบอวดโอ้ว่าจะทำโน่นทำนี่ ในช่วงหาเสียง เช่น ชอบว่าจะถมทะเลสร้างเมืองใหม่  จะแก้ปัญหาความยากจนให้หมดไปใน 1 ปี  จะไม่ทำให้การเมืองล้มเหลว   จะสร้างความสามัคคี  จะลดค่าครองชีพ  จะรักษาแผ่นดินเอาไว้  จะปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น   พวกดีแต่พูดมักจะให้สัญญากับประชาชนอย่างหนึ่ง  แต่พอสักพักพวกเขาก็ลืมว่าตนเองพูดอะไรไปบ้าง   
พวกดีแต่พูดมักจะเป็นคนพูดเก่ง  เบี่ยงเบนประเด็นเก่ง  ลื่นไหลไปได้เรื่อย  หากมีผู้ถามว่าทำไมไม่ทำตามสัญญาพวกดีแต่พูดก็บอกว่ากำลังหาหนทางดำเนินการอยู่ หรือไม่ก็อ้างว่ามีเงื่อนไขบางประการที่เป็นอุปสรรค   เช่น เมื่อพวกดีแต่พูดรับปากประชาชนว่าจะปกป้องอธิปไตยของชาติโดยใช้วิธีการทั้งการทูตและการทหารในการผลักดันกองกำลังต่างชาติที่เข้ามารุกรานประเทศไทย  แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานหลายเดือนก็ไม่ปรากฎว่านักการเมืองน้ำเน่าผู้นี้จะทำอย่างที่รับปากเอาไว้ กลับบ่ายเบี่ยงเลี่ยงอยู่ตลอดเวลา จนเป็นเหตุให้กองกำลังต่างชาติโจมตีประเทศไทยด้วยกำลังอาวุธ ทำให้ทหารและประชาชนบาดเจ็บล้มตายหลายคน ตลอดจนสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อยู่บริเวณชายแดนต้องจูงลูกจูงหลานอพยพหนีภัยสงครามอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย
พวกดีแต่พูดมักจะเป็นพวกที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือไม่มีความกล้าหาญเพียงพอในการตัดสินใจ เราจะเห็นนักการเมืองประเภทนี้เป็นจำนวนมาก  บางคนมีตำแหน่งสำคัญในการบริหารบ้านเมือง แต่กลับตกอยู่ภายใต้การกำกับและควบคุมบงการของเลขาธิการพรรคของตนเอง หรือ เจ้าของพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค    หลายคนเป็นหัวหน้าพรรคแต่ในนาม แต่อำนาจการตัดสินใจในพรรคกลับอยู่ในมือเจ้าของพรรคผู้ถูกห้ามเล่นการเมือง
พวกที่สี่ เป็นพวกมอมเมาประชาชน     ด้วยความหลงใหลในอำนาจทางการเมืองทำให้นักการเมืองน้ำเน่าใช้นโยบายประชาชนนิยมมอมเมาประชาชนเพื่อให้ประชาชนเลือกตนเอง     พวกเขาล้างสมองประชาชนให้ยึดติดกับเงินและวัตถุสิ่งของ  ทำให้จิตสำนึกการพึ่งตนเองของประชาชนลดลง กลายเป็นผู้เสพติดยึดอยู่กับผลประโยชน์ที่ได้รับเฉพาะหน้า และทำให้ประชาชนเป็นทาสของนโยบายต้องพึ่งพาพวกเขาตลอดไป
ยิ่งกว่านั้นด้วยความที่อยากได้ตำแหน่งจนหน้ามืดตามัว นักการเมืองน้ำเน่ายังได้หาเสียงโดยใช้นโยบายสร้างโครงการขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้เงินนับล้านล้านบาท  โดยไม่สนใจไยดีต่อผลกระทบทางการเงินและการคลังของประเทศ ตลอดจนผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่ตามมาจากโครงการเหล่านั้น   โครงการที่นักการเมืองน้ำเน่าเสนอ เช่น  การถมทะเลเพื่อสร้างเมืองใหม่   การสร้างแลนบริด์จ และคลังน้ำมันในภาคใต้   เป็นต้น
พวกที่ห้าเป็นพวกปากประชาธิปไตย แต่มีพฤติกรรมเผด็จการ  นักการเมืองพวกนี้มักจะพูดอย่างซ้ำซากว่าตนเองยึดมั่นหลักการประชาธิปไตย    แต่ทำตัวเสมือนว่ายึดหลักประชาธิปไตย เฉพาะในหน้าเลือกตั้งเท่านั้น  เมื่อจบการเลือกตั้งและได้อำนาจแล้ว  หลักประชาธิปไตยก็ถูกพวกเขาสลัดทิ้งทันที  หรือในตอนเป็นฝ่ายค้าน อาจจะแสดงพฤติกรรมที่ดูราวกับว่ายึดหลักประชาธิปไตย   แต่ครั้นเป็นฝ่ายรัฐบาลลายเผด็จการที่แอบซ่อนไว้ก็เผยโฉมออกมา   เช่น บางคนเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ใช้การบริหารแบบและตัดสินใจแบบสั่งการ  หากตนเองต้องการอะไรก็จะเอาให้ได้ โดยที่รัฐมนตรีร่วมคณะผู้ไม่เห็นด้วยไม่กล้าเสนอความคิดเห็นของตนเองออกมา   ส่วนบางคนยามเป็นฝ่ายค้านก็ประกาศว่าจะรับฟังเสียงของประชาชน ครั้นเป็นรัฐบาลเสียงของประชาชนก็กลายเป็นเสียงนกเสียงกาไปทันที
พวกที่หก กินอย่างมูมมาม ทุจริตคอรัปชั่นในทุกรูปแบบตั้งแต่การทุจริตโครงการเล็กๆไม่กี่ล้านบาท จนไปถึงโครงการขนาดใหญ่นับหมื่นล้านบาท  นักการเมืองน้ำเน่ารีดไถเงินทั้งจากนักธุรกิจโดยการชักหัวคิวในโครงการต่างๆสามสิบถึงห้าสิบเปอร์เซ็น  รีดไถเงินจากข้าราชการโดยให้ข้าราชการจ่ายเงินซื้อตำแหน่งนับล้านบาท  รีดไถจากประชาชนโดยร่วมมือกับนักธุรกิจทำให้น้ำมันปาล์มหรือสินค้าอื่นๆราคาแพงอย่างไม่สมเหตุสมผล และรีดไถจากคนไทยทุกกลุ่มตั้งแต่ลูกเล็กเด็กแดงจนไปถึงคนชราแก่เฒ่า ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส โดยการทุจริตเงินงบประมาณแผ่นดินที่ควรจะนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเหล่านั้นมาเป็นของตนเอง เพราะฉะนั้นนักการเมืองน้ำเน่าจึงเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความยากจนและคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ของคนไทย
และสุดท้าย เป็นพวกเอาดีใส่ตัว ชอบร้ายป้ายสีผู้อื่น  พวกนี้พอมีเรื่องอะไรที่มีผลดีก็รีบรับสมอ้างว่เป็นผลงานของตนเอง แต่เมื่อใดที่ตนเองทำเรื่องไม่ดีและอื้อฉาวพวกเขาก็ปัดความรับผิดชอบหรือใส่ร้ายแก่ผู้อื่นทันที  เช่น  บางพรรคหาเสียงหาคะแนนิยมสู้พรรคคู่แข่งไม่ได้ ด้วยเหตุที่ตนเองไร้ฝีมือในการบริหารประเทศ จนผู้คนที่เคยสนับสนุนต่างส่ายหน้า และถอนตัวไม่สนับสนุน แทนที่จะสำนึกว่าเป็นความผิดของตนเอง  กลับกล่าวหาว่าผู้ที่เคยสนับสนุนตนเองไปรับเงินจากคู่แข่ง นี่แหละสันดานที่แก้ไม่หายของนักการเมืองน้ำเน่า
เมื่อนักการเมืองไทยเป็นนักการเมืองน้ำเน่าเกือบทั้งหมดดังที่กล่าวมาข้างต้น  ผู้เลือกตั้งต้องครุ่นคิดพิจารณาอย่างจริงจังและรอบคอบว่า  ควรที่จะฝากบ้านเมืองไว้ในมือของนักการเมืองน้ำเน่าอีกต่อไปหรือไม่   เมื่อข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ การให้นักการเมืองน้ำเน่ามีอำนาจต่อไปจึงเท่ากับเป็นการทำลายและสร้างหายนะให้กับประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  
ทางเลือกเดียวในขณะนี้ก็คือ การโหวตโนเพื่อกวาดล้างนักการเมืองน้ำเน่าและเป็นแสดงเจตนารมย์ไม่ยอมจำนนกับพวกมันอีกต่อไป        

ความคิดเห็น

  1. สวัสดีครับอาจารย์...เข้ามาดู บล็อคโพส ของอาจารย์แล้วก็อยากทำบ้างแต่ยังไม่มีโอกาสได้ศึกษาวิธีเลยครับ คงต้องอ่านของอาจารย์เป็นแนวทางบ้างครับผม ชอบอ่านสิ่งที่อาจารย์เขียนมากๆครับ และติดตามอาจารย์เสมอๆ ในช่อง ASTV NEW1 ครับ

    ตอบลบ
  2. ยินดีที่อาจารย์ทำบล็อคนะคะ จะได้เข้ามาอ่านบล็อคนี้บ่อยๆค่ะ ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  3. ถึงใจดีครับ_อาจารย์วิพากย์สื่อบ้างครับ_สื่อประเทศเรากลายเป็น"สื่อชั่ว"ไปเกือบหมดแล้ว สื่อชั่วนี่แหละครับเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่หลอกล่อมอมเมาประชาชนไม่ให้สนใจบ้านเมือง ประเทศจะหายนะก็เพราะสื่อชั่วด้วยนะครับ

    ตอบลบ
  4. ดีใจที่อาจารย์มี blog นะคะ เดี๋ยวจะขอเป็นผู้ติดตามค่ะ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ