การสร้างความคิดเชิงวิพากษ์และพลเมืองที่มีคุณภาพในระบอบประชาธิปไตย
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ความล้มเหลวประการหนึ่งของสังคมไทยคือการขาดความสามารถในการสร้างและพัฒนาประชาชนพลเมืองได้อย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะคุณภาพของระบบคิด เราจึงมีบุคคลจำนวนมากที่คิดสั้น คิดตื้น
คิดเข้าข้างตนเอง คิดเอาแต่ประโยชน์ และคิดว่าตนเองถูกตลอด ความคิดเหล่านี้ย่อมไม่ส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตย
และเป็นรากฐานนำไปสู่การกระทำที่สร้างความเสียหายให้กับสังคมได้อย่างมหาศาล
พลเมืองที่มีคุณภาพในระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นพลเมืองที่มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายและประเด็นทางสังคม
เศรษฐกิจ และการเมือง เพื่อว่าจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพในการอภิปรายและการตัดสินใจเชิงนโยบาย คุณสมบัติหลักของพลเมืองที่มีคุณภาพอีกประการหนึ่งคือการมีระบบคิดที่ดีซึ่งสามารถจำแนกแยกวิเคราะห์แยกแยะปรากฏการณ์
และนำเสนอเหตุผลที่เชื่อมโยงกับข้อมูลเชิงรูปธรรมอย่างสมเหตุสมผล สังคมไทยดูเหมือนมีพลเมืองที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ไม่มากนัก
พลเมืองไทยจำนวนมากยังเชื่อในสิ่งที่ตนเองรับรู้อย่างงมงาย
โดยขาดการไตร่ตรองในเชิงเหตุผลและขาดการแสวงหาข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ ดังเช่น เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่งกล่าวว่า
การที่เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีที่ดินรัชดา
เพราะว่าเขาเป็นนักการเมืองคนหนึ่ง
ผู้คนจำนวนมากก็เชื่อโดยไม่ทันได้คิดว่าการที่ศาลจะพิพากษาให้ผู้ใดมีความผิดหรือไม่นั้น
ต้องพิจารณาทั้งข้อกฎหมายและหลักฐานอย่างรอบคอบและยุติธรรม
หรือกระแสความเชื่อที่ว่าอดีตนายกผู้นี้เป็นอดีตกษัตริย์ที่กลับชาติมาเกิด
คนจำนวนมากก็เชื่อกันอย่างงมงายโดยปราศจากคำถาม
การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเสื้อแดงเมื่อเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม
2553 เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของพลเมืองอย่างชัดเจนทั้งในระดับ
นักวิชาการ แกนนำ และมวลชน
พวกนักวิชาการและแกนนำเสื้อแดงพยายามสร้างวาทกรรมไพร่และอำมาตย์ขึ้นมา
อย่างผิดเพี้ยนทั้งทางทฤษฎีและข้อเท็จจริงทางสังคม
อันที่จริงการหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมามีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นประเด็นบังหน้า เป้าประสงค์ที่แท้จริงของการเคลื่อนไหวคือ
การต่อสู้เพื่อให้ทักษิณได้รับสถานภาพเดิมคืนและกลับมามีบทบาททางการเมืองในสังคมไทยต่อไป
วาทกรรมไพร่-อำมาตย์จึงสะท้อนให้เห็นถึงความอับจนทางปัญญาของนักวิชาการและแกนนำเสื้อแดงในการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อปลุกระดมมวลชน
มวลชนเสื้อแดงเป็นพวกที่ตกใจง่าย ตามที่แกนนำคนหนึ่งได้กล่าวขณะปราศรัยที่เวทีราชประสงค์
ซึ่งต่อมาสิ่งที่แกนนำผู้นี้กล่าวไว้ก็เป็นจริง เมื่อรัฐบาลมีมาตรการกระชับวงล้อม 14 –
19 พฤษภาคม 2553 มวลชนเสื้อแดงจำนวนมากเกิดความตกใจจนกระทั่งสำแดงออกมาโดยการเผาสถานที่ต่างๆจำนวนมาก
และยังได้เข้าไปขโมยสินค้าจากห้างสรรพสินค้าที่ถูกเผาอีกด้วย
บุคคลที่ตกใจง่ายเป็นบุคคลที่ขาดสติ
ขาดความยั้งคิดและขาดปัญญาในการพิจารณาเหตุและผล
ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะกระทำสิ่งใดโดยไร้ความสำนึกผิดชอบชั่วดี
เมื่อสังคมไทยมีพลเมืองที่มีลักษณะเช่นนี้เป็นจำนวนมาก
ย่อมส่งผลด้านลบต่อการพัฒนาประเทศ เพราะพวกเขามีโอกาสที่จะถูกนักการเมืองชั่วร้ายบางคนใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้งและความรุนแรง ดังที่เกิดขึ้นในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา
การสร้างระบบคิดเชิงวิพากษ์แก่พลเมืองจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะบรรเทาความขัดแย้งและความรุนแรง
เพราะเมื่อผู้คนจำนวนมากมีความคิดเชิงวิพากษ์พวกเขาย่อมสามารถวิเคราะห์
มองทะลุความต้องการที่แท้จริงของนักการเมืองได้
ทำให้พวกเขาตาสว่างและไม่ถูกหลอกลวงหรือครอบงำด้วยความคิดเชิงมายาคติ และตรรกที่ชั่วร้ายทำลายสังคมอีกต่อไป
การคิดแบบวิพากษ์เป็นการบูรณาการทักษะที่หลากหลายซึ่งแต่ละทักษะต่างก็มีส่วนในการเสริมสร้างความแหลมคมและเป็นพลังให้แก่กันและกัน ทักษะที่สำคัญ ได้แก่ทักษะการวิเคราะห์ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิผล การแสวงหาความรู้โดยการวิจัย และความยืดหยุ่นและการอดกลั้นต่อความคลุมเครือ
นักคิดเชิงวิพากษ์จำเป็นต้องสามารถวิเคราะห์และนำเสนอตรรกเพื่อสนับสนุนความเชื่อมากกว่าการใช้ความคิดเห็นธรรมดา สิ่งสำคัญของทักษะการวิเคราะห์ประการหนึ่งคือ
การจดจำและการประเมินความคิดและข้อโต้แย้งของบุคคลอื่น เพื่อว่าจะได้ไม่ผิดพลาดในการให้เหตุผลสำหรับการสนับสนุนหรือโต้แย้งเรื่องใดๆ
เหตุผลเป็นกระบวนการของการสนับสนุนข้อเสนอหรือข้อสรุปซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักฐาน สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุผลมีสองด้านคือ
ประการแรก การใช้หลักการที่อยู่บนพื้นฐานของจริยธรรม สัจธรรม ศีลธรรม
และเป้าประสงค์ เช่นการที่เราไม่เห็นด้วยกับการทำแท้งเพราะว่า
การทำแท้งเป็นการทำลายชีวิต มนุษย์ย่อมไม่มีสิทธิในการทำลายชีวิตมนุษย์ด้วยกันเอง
การให้เหตุผลลักษณะนี้ยืนอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมเชิงศาสนา แต่หากมีผู้เห็นด้วยกับการทำแท้ง
และให้เหตุผลว่าหากปล่อยให้เด็กออกมาอาจสร้างปัญหาแก่สังคมเพราะเด็กอาจถูกเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ที่ไร้วุฒิภาวะหรือไม่พร้อม
การให้เหตุผลเช่นนี้มีรากฐานจากการมองไปที่เป้าประสงค์ของสังคม
ประการที่สอง การให้เหตุผลเพื่อประยุกต์กฎระเบียบหรือแนวทางเพื่อแก้ปัญหา
โดยอ้างอิงถึงประสิทธิผลของระเบียบหรือแนวทางเหล่านั้น เช่น หากใช้มาตรการห้ามดื่มสุรา
ขณะขับขี่รถยนต์ จะทำให้อุบัติเหตุลดลง
หรือ หากใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเขตใหญ่ จะทำให้การซื้อขายเสียงทำได้ยากขึ้น
เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในบางครั้งการให้เหตุผลเชิงหลักการกับการให้เหตุผลเชิงประสิทธิผลอาจขัดแย้งกันก็ได้ เช่น หากเลือกระบบการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเลือก
ส.ส. ได้หนึ่งคน
ก็จะเป็นการใช้เหตุผลเชิงหลักการแบบ “หนึ่งคนมีหนึ่งเสียง” ตามระบอบประชาธิปไตย แต่ก็อาจขัดแย้งกับเหตุผลเชิงประสิทธิผล
เพราะการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวจะทำให้ซื้อขายเสียงได้ง่าย
ซึ่งทำให้การเลือกตั้งไม่ยุติธรรม
นอกจากเรื่องเหตุผลแล้ว
การคิดเชิงวิพากษ์ยังต้องการทักษะในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิผล ซึ่งรวมถึง
การฟัง การอ่าน การพูด และการเขียน
การฟังไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะในสังคมมีคน “ฟังไม่ได้ศัพท์จับมากระเดียด” จำนวนมาก หรือฟังแล้วไปบิดเบือนก็มีไม่น้อย หรือ ฟังเฉพาะที่ตนเองชอบก็มีจำนวนมหาศาล ดังนั้นการฝึกฟังอย่างรอบด้าน
ฟังอย่างอดกลั้น ฟังอย่างปราศจากอคติ และฟังอย่างตั้งใจและจริงจัง
จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ความคิดเชิงวิพากษ์เกิดขึ้นได้
สำหรับทักษะอื่นๆก็เช่นเดียวกันต้องส่งเสริมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
การแสวงหาความรู้โดยการวิจัย เป็นการค้นหาความจริงซึ่งเริ่มต้นจากการตั้งคำถามหรือคิดโจทย์ปัญหาของสิ่งที่เราสนใจศึกษา กำหนดวัตถุประสงค์ ศึกษาบรรดาแนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องซึ่งผู้อื่นมาก่อนในอดีตเพื่อเป็นฐานทางความคิดให้กับเรา
ขณะเดียวกันเราก็ต้องมีการอภิปรายถกเถียงวิพากษ์แนวคิดที่เราอ่านว่ามีจุดอ่อน
จุดแข็งอะไรบ้าง
และจะนำมาสังเคราะห์เป็นแนวทางหรือกรอบในการวิเคราะห์ของเราได้อย่างไร
เมื่อมีแนวทางกว้างๆ(สำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพ)
หรือมีกรอบแนวคิดที่ชัดเจน (สำหรับงานวิจัยเชิงปริมาณ) เราก็นำกรอบเหล่านั้นมาสร้างเป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ เครื่องมือนี้อาจเป็น แนวทางการสัมภาษณ์ แบบสอบถาม แบบทดลอง แบบสังเกต หรือ
อาจเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์สำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ เครื่องมือเหล่านี้จะต้องมีความเที่ยงและความตรงกับสิ่งที่เราต้องการศึกษา
เมื่อได้ข้อมูลมา
ก็นำมาประมวลและจัดระบบในการวิเคราะห์ต่อไป สำหรับจะใช้เทคนิควิเคราะห์อย่างไรนั้นก็ขึ้นกับว่าเรามีสมมติฐานอย่างไร โดยทั่วไปในการวิจัยเชิงปริมาณจะใช้สถิติช่วยในการวิเคราะห์ตั้งแต่สถิติระดับเบื้องต้น
เช่น ร้อยละ จนไปถึงสถิติระดับสูง เช่น การวิเคราะห์ความแปรปรวน และสมการเชิงโครงสร้าง
ส่วนในเชิงคุณภาพ ก็อาจใช้เทคนิคการวิเคราะห์โดยการสร้างแบบแผน การจัดกลุ่มชั้น การสร้างอุปมา
การเปรียบเทียบ การเชื่อมโยงตรรก เป็นต้น
เมื่อได้ผลจากการวิจัยเราก็นำมาอภิปรายผลว่างานวิจัยของเราเมื่อเปรียบเทียบกับงานวิจัยของผู้อื่นแล้วมีความเหมือนความต่างกันหรือไม่
เพราะเหตุใด
รวมทั้งอภิปรายเกี่ยวกับคุณูปการของงานวิจัยเราที่มีต่อศาสตร์ว่า
เป็นการยืนยันแนวคิดทฤษฎีเดิม ในบริบทที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นการขยายความเป็นสามัญการหรือความสามารถในการอธิบายของทฤษฎีนั้นในหลากหลายพื้นที่หรือช่วงเวลามากขึ้น หรือ
เป็นการเพิ่มเติมขยายองค์ความรู้เดิมในเชิงเนื้อหามากขึ้น หรือ
เป็นการล้มล้างแนวคิดทฤษฎีเดิมอย่างสิ้นเชิง
หรือ เป็นการสร้างความรู้ใหม่ที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน
การส่งเสริมพลเมืองให้มีความสามารถในการแสวงหาความรู้โดยการวิจัย
จึงเป็นการเสริมสร้างปัญญา ขยายขอบเขตในการทำความเข้าใจโลกและสังคมอย่างเป็นระบบ
และเป็นการฝึกฝนการใช้ความคิดในเชิงวิพากษ์ที่มีประสิทธิผล
ความยืดหยุ่นและความอดกลั้นต่อความคลุมเครือ
เป็นคุณสมบัติสำคัญของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
เพราะทำให้ผู้คนสามารถยอมรับความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ
และแนวทางการปฏิบัติ
การทำให้พลเมืองมีสิ่งนี้ได้ จะต้องมีการฝึกฝนและปฏิบัติการจริง โดยการส่งเสริมการจัดกลุ่มสานเสวนา พูดคุยอภิปราย
อย่างเปิดกว้างในประเด็นต่างๆทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มต่างๆในสังคมอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ขยายเครือข่ายสังคมของผู้มีจิตอาสาออกไปให้กว้างขวาง
การรักษาและพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ของสังคมไทยให้มีความเข้มแข็ง จึงต้องมีการสร้างความคิดเชิงวิพากษ์ให้กับพลเมืองไทยอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อให้พวกเขาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ
สามารถวิเคราะห์แยกแยะและไม่ตกอยู่ภายใต้การหลอกลวงและเป็นเครื่องมือของนักการเมืองที่ชั่วร้ายอีกต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น