ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

รศ. ดร. พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

สัญญาณแห่งการล่มสลายของสังคม

ากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์อย่างพินิจพิจารณา  แบบแผนปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับสังคมและอารยธรรมของมนุษย์คือ การก่อเกิด การเติบโต ความรุ่งเรือง การเสื่อมโทรม และการล่มสลาย  แน่นอนว่าผู้คนส่วนมากในแต่ละสังคมย่อมต้องการให้สังคมของตนเองเติบโตและรุ่งเรืองตลอดกาล  พวกเขาพยายามรักษาสภาพดังกล่าวไว้โดยใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาลและยุทธศาสตร์ที่หลากหลาย  หลายแห่งประสบความสำเร็จ แต่อีกหลายแห่งกลับล่มสลาย   ทำไมความหายนะจึงมาเยือนสังคมเหล่านั้น    คำตอบที่น่าสนใจอยู่ในงานวิจัยของ จาเร็ด ไดมอนด์  ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลลิส

จาเร็ด ไดมอนด์ ได้จำแนกการเกิดขึ้นของความหายนะออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่  ในขั้นแรกกลุ่มคนจำนวนหนึ่งซึ่งมีบทบาทหลักในสังคมไร้ความสามารถในการคาดการณ์ปัญหาล่วงหน้าได้   ในขั้นที่สอง เมื่อปัญหาเกิดขึ้น กลุ่มเหล่านั้นก็หาได้ตระหนักถึงความสำคัญของสัญญาณที่กำลังคุกคามความอยู่รอดของสังคมแต่ประการใด   ขั้นที่สาม แม้จะรู้และตระหนักถึงปัญหา แต่พวกเขาก็ไม่พยายามลงมือแก้ปัญหาเหล่านั้น  และขั้นที่สี่  พวกเขาอาจแก้ปัญหา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ขั้นแรก กลุ่มที่มีบทบาทในการบริหารสังคมไร้ความสามารถในการคาดการณ์ปัญหาล่วงหน้าได้  หากนำประเด็นนี้มาเทียบเคียงกับสังคมไทย  มีตัวอย่างหลายกรณีที่ชี้ให้เห็นถึงปรากฎการณ์นี้  เช่น  เมื่อผู้ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540  กำหนดระบบให้นายกรัฐมนตรีมีความมั่นคงในการดำรงตำแหน่ง โดยทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯเกิดขึ้นได้ยาก   สิ่งที่ตามมาคือประเทศไทยได้นายกฯที่ระบบรัฐสภาและกลไกรัฐอื่นๆไม่สามารถตรวจสอบได้     หรือ การที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.)  ทำให้เกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่องที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของสังคมไทย ส่งผลให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายพันคน ผู้หญิงเป็นหม้าย  เด็กกำพร้า  คนชราสูญเสียบุตร และประเทศต้องสูญเสียงบประมาณนับแสนล้านบาทในการแก้ปัญหาที่เกิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของทักษิณ ชินวัตร  

ขั้นที่สอง เมื่อปัญหาเกิดขึ้น พวกเขาก็มิได้ตระหนักรับรู้ถึงปัญหา    รัฐบาลอภิสิทธิ์ หลังเหตุการณ์เดือน เมษายน พ.ศ. 2552  เป็นตัวอย่างของการที่ไม่ตระหนัก ไม่รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งที่ตัวนายกรัฐมนตรีถูกรุมทำร้ายหมายเอาชีวิตโดยคนเสื้อแดงที่จังหวัดชลบุรีและภายในกระทรวงมหาดไทย   เกิดจราจลเผายางรถยนต์และรถเมล์หลายคัน รวมทั้งทำลายการประชุมระดับนานาชาติ   แต่หลังเหตุการณ์ในปีนั้นรัฐบาลบริหารราวกับว่าไม่เคยเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นมาก่อนเลย  จนกระทั่งในเดือนมีนาคม ถึงพฤษภาคม 2553   ประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอย คนเสื้อแดงก่อการร้ายและจราจลเผาบ้าน ทำลายเมืองอย่างรุนแรงซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของสังคมไทยอีกเช่นเดียวกัน หรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในปี 2554  มิได้ตระหนักถึงปัญหามหาอุทกภัย  ไม่ได้เตรียมการป้องกันอย่างเป็นระบบ จนทำให้ประเทศเกิดความเสียหายอย่างมหาศาล  มีผู้คนเสียชีวิตหลายร้อยคน และเศรษฐกิจเสียหายนับแสนล้านบาท

ขั้นที่สาม ปัญหาเกิดขึ้น รู้แล้วแต่ไม่พยายามแก้ปัญหา   ผู้บริหารสังคมรู้ปัญหา และอาจแสดงท่าทีว่าสนใจในปัญหาเหล่านั้น แต่ที่จริงแล้วหาได้ใส่ใจอย่างจริงจัง จนกระทั่งปัญหาได้ขยายตัวออกไปจนไม่สามารถควบคุมได้   รัฐบาลไทยหลายยุคหลายสมัยเป็นตัวอย่างชัดเจนถึงการแสดงท่าทีเช่นนี้  เช่น รู้ทั้งรู้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลทุจริต  หรือรู้ทั้งรู้ว่ากลไกรัฐโดยเฉพาะตำรวจไม่ทำงาน   แต่ก็ไม่พยายามจะเข้าไปแก้ปัญหาเหล่านี้แต่ประการใด   

ยิ่งกว่านั้นยังมีปัญหาที่สะท้อนให้เห็นถึงภาวะวิกฤติการณ์ของประเทศหลายประการ ที่รัฐบาลไทยปัจจุบันอาจรู้แล้ว แต่ไม่พยายามแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ  ปัญหาเหล่านั้นได้แก่ ความเสื่อมคลายของความเป็นปึกแผ่นทางสังคมซึ่งเกิดจากค่านิยมร่วมของสังคมต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขถูกท้าทายจากกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม  ปัญหาการปริแยกของอัตลักษณ์ร่วมในฐานะที่เป็นคนไทย  ที่แตกออกเป็นอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มอันเกิดจากการสร้างและตอกย้ำวาทกรรมไพร่ อำมาตย์ และสองมาตรฐานของแกนนำเสื้อแดง   

การท้าทายความชอบธรรมของสถาบันทางสังคมและการเมือง ทั้งสถาบันรัฐสภา รัฐบาล องค์กรอิสระ และสถาบันที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมโดยเฉพาะตำรวจ ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่กำลังพัฒนากลายเป็นวิกฤติ  เพราะประชาชนหลากหลายกลุ่มขาดความเชื่อถือไว้วางใจในการปฏิบัติงานของสถาบันเหล่านี้  หากสถาบันเหล่านี้ล้มละลาย ระบอบประชาธิปไตยก็ตกอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการล่มสลายเช่นเดียวกัน

สัญญาณอีกประการที่บ่งบอกนัยถึงอันตรายต่อสังคมคือ ความแพร่หลายของวิถีคิดและการปฏิบัติที่ใช้ความรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมายของบุคคลบางกลุ่ม โดยไม่สนใจไยดีกับผลกระทบที่เกิดขึ้น  การละเมิดกฎหมายและการใช้กฎหมู่แพร่ระบาดเสมือนกฎหมายเป็นเพียงกระดาษเปื้อนหมึกที่ไร้การบังคับใช้  ส่วนสันติวิธีก็กลายเป็นข้ออ้างเพื่อซ่อนเร้นการก่อการร้าย

ในขั้นสุดท้ายที่เป็นสัญญาณแห่งการคืบคลานของภาวะที่สังคมกำลังล่มสลาย คือผู้บริหารสังคมพยายามแก้ปัญหา แต่ไม่สำเร็จเพราะขาดความสามารถและไร้ปัญญาในการเสนอทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา     บางกรณีแม้จะมีทางเลือกที่ดูเสมือนว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ แต่ผู้นำก็ไม่มีความกล้าหาญเพียงพอในการเลือกใช้ทางเลือกนั้นเพราะอาจไปกระทบผลประโยชน์ของกลุ่มบางกลุ่มที่พวกเขาเกรงใจหรือกลุ่มที่มีอำนาจในสังคม   หรือทางเลือกบางอย่างอาจต้องไปกระทบกับค่านิยมบางประการของสังคมที่จะก่อให้เกิดการต่อต้านจากกลุ่มที่ยึดถือค่านิยมเหล่านั้น เช่น ทางเลือกในการยกเลิกนโยบายประชานิยม  ทางเลือกในการเก็บภาษีมรดก หรือทางเลือกในการยกเลิกยศตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น   

สัญญาณแห่งความหายนะทั้งสี่ขั้นที่กล่าวมาข้างต้นเกิดขึ้นในสังคมไทยในหลายแง่ หลายมุม และหลายช่วงเวลา  อีกทั้งยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยความถี่ที่เข้มข้นขึ้นทุกขณะ  หากผู้บริหารสังคมยังไม่ตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่ของปัญหา หรือแม้รู้แล้วแต่ไม่จริงจังในการแก้ปัญหา หรือมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาที่ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร หรือทราบว่าจะทำอย่างไรแต่ขาดความกล้าหาญในการตัดสินใจและขับเคลื่อนแนวทางที่มีประสิทธิภาพ   อนาคตสังคมไทยเป็นอย่างไรก็ไม่ยากที่จะคาดการณ์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั