ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การเมืองเรื่องโพล

การเมืองเรื่องโพล


โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 8 กุมภาพันธ์ 2556 19:44 น.

ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

สังคมไทยยุคปัจจุบันกำลังถูกท่วมท้นด้วยโพลประเภทต่างๆ มากมาย จากหลากหลายสำนัก โดยปกติแต่ละสัปดาห์ก็จะมีการแจกจ่ายข่าวเกี่ยวกับผลของโพลในเรื่องราวต่างๆอยู่แล้ว และปริมาณการทำโพลจะมีแนวโน้มมากขึ้นในช่วงเทศกาลการเลือกตั้ง

โพลเป็นการวิจัยเชิงสำรวจเกี่ยวความคิดเห็น ความความรู้สึก ความเชื่อของบุคคลต่อเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ทางสังคม และยังเป็นการสำรวจพฤติกรรมในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งความตั้งใจต่อการแสดงพฤติกรรมในอนาคตของบุคคลอีกด้วย เช่น ความตั้งใจในการเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง

เมื่อโพลเป็นการวิจัยรูปแบบหนึ่ง เป้าประสงค์ของการทำโพลที่สำคัญประการหนึ่งก็คือการแสวงหาความเป็นจริงที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของผู้คนในสังคม ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ ส่วนการจะนำความจริงเหล่านั้นไปทำอะไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ทำโพลและมีวัตถุประสงค์หลักเพื่ออะไร

ในประเทศไทยกลุ่มผู้ทำโพลส่วนใหญ่เป็นสถาบันทางวิชาการ ส่วนในต่างประเทศกลุ่มผู้ทำโพลที่มีชื่อเสียงเป็นบริษัทเอกชน เช่น แกลลัพ โพลของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นต้น สำนักโพลต่างๆพยายามแข่งกันกันทำโพลและนำเสนอผลโพลต่อสาธารณะเพื่อสร้างชื่อเสียงและความยอมรับ และแน่นอนว่าสิ่งเหล่านั้นย่อมนำมาซึ่งการเติบโตของธุรกิจการวิจัยของสำนักโพลนั้นๆ ด้วย

เงื่อนไขเบื้องต้นที่ทำให้การทำโพลของสำนักใดสำนักหนึ่งได้รับการยอมรับจากสาธารณะคือ ความแม่นยำของการใช้ความเป็นจริงในอดีตไปทำนายผลที่เกิดขึ้นในอนาคต เช่น สมมุติว่า โพลสำนัก อ.ทำโพลก่อนการเลือกตั้ง และทำนายว่า ผู้สมัครชื่อ พ. จะชนะการเลือกตั้ง เมื่อผลการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง ปรากฏว่าเป็นไปตามนั้น โพลของสำนักนี้ก็เริ่มได้รับการเชื่อถือจากประชาชน และหาก โพลของสำนักนี้ทำนายได้ถูกต้องซ้ำกันหลายครั้ง ระดับความน่าเชื่อถือก็จะมีมากยิ่งขึ้น

โพลที่เป็นประเด็นสาธารณะและได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุดเห็นจะได้แก่ โพลเลือกตั้ง ส่วนรองๆลงคือน่าจะเป็นโพลที่เกี่ยวข้องกับความคิดเห็นต่อนโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาล และความคิดเห็นต่อผู้นำรัฐบาล

โดยปกติสำนักโพลมักจะทำโพลสองประเภทหลักๆคือ ประเภทแรกเป็นโพลที่ทำเพื่อชื่อเสียงของสำนักโพลเอง ซึ่งเป็นโพลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสาธารณะหรือปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมต่างๆ และประเภทที่สองเป็นโพลเพื่อธุรกิจหรือโพลหาเงินนั่นเอง โดยสำนักโพลได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานต่างๆให้สำรวจในประเด็นต่างๆตามที่กำหนดจากผู้ว่าจ้าง เช่น การสำรวจความพึงพอใจต่อหน่วยงาน หรือ สำรวจวิจัยตลาด หรือพฤติกรรมของผู้บริโภค เป็นต้น

ปัจจัยสำคัญในการกำหนดความถูกต้องแม่นยำและความน่าเชื่อถือของโพลมีสี่ประการ คือ ความชัดเจนของประเด็นและคำถามที่ใช้ในการสำรวจ ความถูกต้องตามหลักวิชาการของการสุ่มตัวอย่าง ความเป็นมืออาชีพในการรวบรวม การประมวลและการวิเคราะห์ข้อมูล และการไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างโพลเพื่อสาธารณะกับโพลเพื่อธุรกิจ

ประเด็นและคำถามที่ใช้ในการสำเร็จต้องมีความชัดเจนเพื่อให้ผู้ตอบที่หลากหลายมีความเข้าใจตรงกัน ประโยคคำถามต้องไม่คลุมเครือหรือมีความเป็นนามธรรมสูงเกินไปเพราะจะทำให้ผู้ตอบเข้าใจและตีความหลากหลาย อันจะนำไปสู่การได้คำตอบที่ขาดความตรงต่อประเด็นคำถาม และหากเป็นคำถามที่ผู้ตอบต้องมีข้อมูลข่าวสารบางอย่างมาประกอบการประเมิน การตอบให้ตรงกับประเด็นคำถามก็จะทำได้ยากยิ่งขึ้นเพราะผู้ตอบแต่ละคนย่อมมีข้อมูลข่าวสารแตกต่างกันไม่มากหรือน้อย

ตัวอย่างโพลที่ตั้งประเด็นคำถามไม่ดี เช่น การถามว่านักการเมืองของไทยที่มีผลงานสร้างสรรค์มากที่สุดในรอบปี 2555 เพราะคำว่า “สร้างสรรค์” ในคำถามนี้มีความคลุมเครือมากเกินไปทำให้ผู้ตอบสามารถเข้าใจและตีความได้หลายอย่าง และยังต้องมีข้อมูลข่าวสารเพียงว่านักการเมืองแต่ละคนมีผลงานสร้างสรรค์เรื่องอะไรบ้าง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเงื่อนไขเช่นนี้เกิดขึ้นได้ยาก คำถามนี้จึงเป็นคำถามที่ทำให้ผลของการตอบไม่ตรงประเด็นและไม่น่าเชื่อถือ

การสุ่มตัวอย่างตามหลักวิชาการที่สามารถครอบคลุมคุณลักษณะของประชากรได้ครบถ้วนเป็นประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งของการทำโพล เพราะว่าการสุ่มตัวอย่างสามารถกำหนดทิศทางของผลการศึกษาได้ หากวิธีการการสุ่มตัวอย่างถูกต้องผลการสำรวจย่อมสามารถสะท้อนความเป็นจริงได้อย่างใกล้เคียง หากจะมีความผิดพลาดบ้างก็ไม่มากนัก แต่หากการสุ่มตัวอย่างไม่ถูกต้องอันเนื่องมาจากความไม่รู้หรือจากความจงใจก็ตาม ผลการสำรวจย่อมแตกต่างจากความเป็นจริงมาก

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสุ่มตัวอย่างอีกประการหนึ่งคือข้อถกเถียงระหว่าง ระหว่างปริมาณจำนวนตัวอย่างที่ใช้ในการสำรวจกับความถูกต้องทางวิชาการของการสุ่มตัวอย่าง คนทั่วไปมักจะเข้าใจอย่างไม่ถูกต้องว่ายิ่งตัวอย่างมาก ยิ่งทำให้ผลการสำรวจมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น แต่ในความเป็นจริงซึ่งมีการพิสูจน์กันมาหลายครั้งหลายคราทั้งต่างประเทศและในประเทศพบตรงกันว่า การสำรวจที่ใช้จำนวนตัวอย่างน้อย แต่มีความถูกต้องตามหลักวิชาการของการสุ่มตัวอย่างมีความแม่นยำมากกว่าการสำรวจที่ใช้จำนวนอย่างมาก แต่ขาดความถูกต้องทางวิชาการ

ดังนั้นโพลที่ดีจะต้องใช้การสุ่มตัวอย่างที่ถูกต้องตามหลักวิชา และต้องสามารถมีตัวอย่างที่ครอบคลุมคุณลักษณะสำคัญของประชากรกลุ่มต่างๆสอดคล้องกับความเป็นจริง และครบถ้วนตามวัตถุประสงค์ที่ศึกษา

ถัดมาเป็นเรื่องความเป็นมืออาชีพในการรวบรวม ประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งมีสิ่งบ่งชี้สองประการสำคัญคือ ความสามารถกับการมีจรรยาบรรณ ในเรื่องความสามารถไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไรนัก เพราะบุคลากรที่ทำโพลส่วนใหญ่ก็ได้รับการอบรมอย่างเข้มข้นในการรวบรวม ประมวลและวิเคราะห์ข้อมูล กรณีนี้จะมีปัญหาบ้างสำหรับการทำโพลแบบเป็นครั้งคราวของบางสถาบัน เพราะผู้เก็บรวบรวมข้อมูลมักจะเป็นมือใหม่ขาดประสบการณ์ แต่หากเป็นสำนักโพลที่กระทำเป็นอาชีพอย่างยาวนาน ประเด็นนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่แต่ประการใด

ส่วนจรรยาบรรณเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาของสำนักโพลทั้งหลาย เพราะผู้ทำโพลสามารถแปลงข้อมูลให้ผลการสำรวจออกมาเป็นไปในทิศทางใดก็ได้ในขั้นตอนนี้ หากว่าผู้นั้นเป็นผู้ไร้จรรยาบรรณ เช่น ผู้เก็บข้อมูลบิดเบือนคำตอบ หรือ ผู้ป้อนข้อมูลและผู้วิเคราะห์แก้ไขข้อมูลให้เป็นไปตามผลที่ตนเองต้องการก็ได้ เช่น สมมุติว่า ในการสำรวจการเลือกตั้ง การวิเคราะห์ปรากฏว่า ผู้สมัครคนหนึ่งมีคะแนนนำ แต่ผู้ทำโพลก็สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้ผู้สมัครคนนี้กลายเป็นผู้มีคะแนนตามหลังผู้สมัครคนอื่นก็ได้

สำหรับสิ่งสำคัญประการสุดท้ายซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุด คือ การไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างโพลเพื่อสาธารณะกับโพลเพื่อธุรกิจ กรณีโพลเพื่อสาธารณะ สำนักโพลต่างๆอาจใช้งบประมาณของหน่วยงานตนเองหรือหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ศึกษาดำเนินการศึกษา เพื่อให้เกิดความเป็นกลางทางวิชาการในการนำเสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมา ส่วนกรณีโพลเพื่อธุรกิจนั้น สำนักโพลกระทำตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง ซึ่งก็แล้วแต่ว่าผู้ว่าจ้างต้องการอย่างไรในการสำรวจ เช่น ผู้ว่าจ้างบางรายอาจต้องการรู้ความจริง ก็อาจให้สำนักโพลทำงานอย่างอิสระ แต่หากผู้ว่าจ้างต้องการผลสำรวจไม่ต้องการความจริง แต่ต้องการผลสำรวจที่สร้างประโยชน์แก่ตนเองเท่านั้น การทำโพลก็จะถูกบิดเบือนทันที

โดยปกติสำนักโพลจะมีความระมัดระวังที่จะไม่ปะปนระหว่างการทำโพลเพื่อสาธารณะกับการทำโพลเพื่อธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับในสังคมไทย ผู้คนจำนวนมากมีข้อสงสัยหลายครั้งหลายคราต่อสำนักโพลบางแห่งว่าจะมีการปะปนระหว่างโพลเพื่อสาธารณะกับโพลเพื่อธุรกิจ เพราะเรื่องที่ทำโพลบางเรื่องก็หาสาระทางวิชาการอะไรไม่ได้เลย แต่เป็นประเด็นที่เหมือนประสบสอพลอนักการเมือง เช่น การถามว่าหากโลกแตกแล้ว อยากให้นักการเมืองคนใดรอดชีวิต หรือ อย่างโพลสำรวจเกี่ยวกับคะแนนนิยมของผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ซึ่งผลที่ออกมาดูจะค้านกันเอง เช่น ผู้สมัครที่เสนอนโยบายประชานิยมสุดขั้วได้รับคะแนนนิยมมากที่สุดและมีคะแนนนำมากจนดูไม่ค่อยสมจริงนัก แต่ในอีกคำถามหนึ่งซึ่งถามว่า ประชาชนอยากให้ผู้ว่าฯดำเนินการเรื่องใดมากที่สุด กลับเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นนโยบายของผู้สมัครอีกคนหนึ่งที่ได้รับคะแนนนิยมน้อยกว่าคนแรก

การทำโพลเพื่อสาธารณะหากให้ธุรกิจและการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องย่อมส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสำนักโพลนั้นๆ และหากกระทำบ่อยเข้าก็ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือสูญสิ้นไป และแน่นอนว่าย่อมกระทบกับความน่าเชื่อถือของวิชาชีพและวิชาการของสถาบันที่โพลนั้นสังกัดอยู่ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำนักโพลใดที่สังคมมีข้อสงสัยควรจะชี้แจงสร้างความกระจ่างแก่สังคม ไม่ว่าสำนักโพลใดก็ตามควรทำโพลโดยยึดหลักความเป็นวิชาการอย่างเคร่งครัด ควรทำโพลในเรื่องที่สังคมได้ประโยชน์ อย่าทำโพลที่ไร้สาระเพื่อเอาใจนักการเมืองหรือรัฐบาล และที่สำคัญคือจะต้องไม่ให้เกิดกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นมาอย่างเด็ดขาด

หากสามารถทำอย่างที่ผมเสนอได้ การทำโพลก็สามารถได้รับความเชื่อถือจากสังคมในฐานะเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของผู้คนซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ