ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เหตุผลของผู้เลือกตั้งไทย


เหตุผลของผู้เลือกตั้งไทย


โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 1 กุมภาพันธ์ 2556 23:17 น.

ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

การตัดสินใจของประชาชนในการเลือกใครเป็นตัวแทนไม่ว่าระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น ประชาชนมีเหตุผลในการตัดสินใจที่สำคัญอย่างน้อยสี่เหตุผล คือ เหตุผลเชิงอรรถประโยชน์สูงสุด เหตุผลเชิงความผูกพัน เหตุผลเชิงหลักการคุณธรรม และเหตุผลในเชิงการลดความเสี่ยง

นักการเมืองจำนวนมากมักจะเข้าใจแบบเหมารวมว่า ประชาชนใช้ทางเลือกเชิงเหตุผลทางเศรษฐกิจแบบคับแคบ ที่ใช้อรรถประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ผลจากความเข้าใจแบบนี้ของนักการเมืองทำให้พวกเขาแข่งขันกันผลิตนโยบายประชานิยมออกมานำเสนอแก่ประชาชน โดยมีความเชื่อการผลิตนโยบายประชานิยมหลากหลายประเภท เพื่อตอบสนองแก่คนหลากหลายกลุ่ม และด้วยมูลค่าที่สูงกว่าจะจูงใจให้ประชาชนเลือกพวกเขา

การแข่งขันของพรรคการเมืองและผู้สมัครในการนำเสนอนโยบายประชานิยม บางกรณีเป็นการเสนอแบบสุดโต่งและยากจะเป็นไปได้ แต่ผู้เลือกตั้งหาได้ไร้เดียงสาจนหลงเชื่อไปเสียทั้งหมด ตรงกันข้ามพวกเขาใช้วิจารณญาณในการประเมินด้วยว่านโยบายเหล่านั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

หากผู้เลือกตั้งตัดสินใจยึดถือมูลค่าสูงสุดอย่างเดียว สิ่งที่ตามมาคือพวกเขาย่อมตัดสินใจเลือกนักการเมืองและพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายประชานิยมที่มีมูลค่าสูงสุด แต่ในความเป็นจริงผู้เลือกตั้งมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจโดยประเมินทั้งมูลค่าและความเป็นไปได้ของมาตรการประชานิยมเสนอควบคู่กันไป

ความเป็นไปได้ของการนำนโยบายประชานิยมไปปฏิบัติย่อมขึ้นอยู่กับมูลค่าที่นำเสนอนั้นมีความสมเหตุสมผลเพียงใด และขึ้นอยู่กับศักยภาพของนักการเมืองและพรรคการเมืองที่นำเสนอด้วย หากผู้เลือกตั้งประเมินว่านักการเมืองและพรรคการเมืองที่นำเสนอมีศักยภาพในการผลักดันนโยบายประชานิยมให้เป็นจริงได้ เขาย่อมมีแนวโน้มที่จะเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้น แม้ว่ามูลค่าที่นำเสนออาจน้อยกว่าคู่แข่ง

แต่หากผู้เลือกตั้งประเมินว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายประชานิยมแข่งขันกันมีศักยภาพที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้ทั้งคู่ เขาย่อมมีแนวโน้มตัดสินใจเลือกผู้ที่ให้มูลค่าสูงกว่า เช่น ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2554 พรรคเพื่อไทยเสนอค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท แต่ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอขึ้นค่าแรง 25 เปอร์เซ็นต์ ผู้ใช้แรงงานที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของนโยบายนี้ย่อมตัดสินใจเลือกพรรคเพื่อไทยเพราะมูลค่าของมาตรการนี้ของพรรคเพื่อไทยสูงกว่าพรรคประชาธิปัตย์

หากมีพรรคการเมืองอื่นเสนอมูลค่าของประชานิยมที่สูงกว่าสองพรรคนี้มาก เช่น เสนอค่าจ้างขั้นต่ำ 500 บาทต่อวัน ผู้ใช้แรงงานย่อมประเมินได้ว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอที่สุดโต่งซึ่งเป็นไปได้ยาก และพรรคการเมืองที่นำเสนออาจไม่มีศักยภาพเพียงพอในการนำมาตรการนี้ไปปฏิบัติให้เป็นจริงได้ ดังนั้นเขาย่อมจะตัดตัวเลือกเช่นนี้ออกไปจากการตัดสินใจ

การใช้มาตรการประชานิยมอาจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของบางกลุ่มในสังคมที่ตัดสินใจโดยใช้อรรถประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจเป็นฐานในการตัดสินใจ การตัดสินใจเช่นนี้ส่งผลในเชิงลบต่อสังคมในภาพรวม เพราะเมื่อพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่เสนอนโยบายประชานิยมได้รับเลือกไปบริหารประเทศแล้ว พวกเขาก็พยายามผลักดันนโยบายประชานิยมไปสู่การปฏิบัติ

จุดอ่อนที่สำคัญของนโยบายประชานิยมมีหลายประการแต่ที่ผมคิดว่าสำคัญมากที่สุดคือ เป็นนโยบายที่ทำลายสำนึกแห่งการพึ่งพาตนเองของประชาชนซึ่งจะนำไปสู่ภาวะ “การพึ่งพาอย่างสัมบูรณ์ต่อพรรคการเมืองขึ้นในสังคม” ทำลายระบบการแข่งขันอันส่งผลให้เกิด “ความไร้ประสิทธิภาพแบบสัมบูรณ์” ขึ้นในสังคม และ ทำลายระบบธรรมาภิบาลเพราะนโยบายประชานิยมจำนวนมากที่มีมูลค่ามหาศาล เช่น การจำนำข้าว ส่งผลให้เกิดการ “ทุจริตอย่างบูรณาการในสังคม” ของทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องทั้งแต่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ และกลุ่มเป้าหมายของนโยบาย

เหตุผลประการที่สองซึ่งผู้เลือกตั้งจำนวนไม่น้อยใช้ในการตัดสินใจคือ “เหตุผลเชิงความผูกพัน” ซึ่งอาจเป็นทั้งความผูกพันกับสถาบัน เช่น พรรคการเมือง และ/หรือความผูกพันกับตัวบุคคล เช่น นักการเมืองหรือผู้นำชาวบ้านที่เป็นหัวคะแนน

ความผูกพันจะเกิดขึ้นมาและดำรงอยู่ได้ต้องใช้เวลายาวนานพอสมควร โดยจุดเริ่มต้นอาจเกิดขึ้นจากความรู้สึกนิยมชมชอบ อันเป็นผลมาจากจุดยืนทางอุดมการณ์ทางการเมือง หรือบทบาททางการเมืองของนักการเมืองและพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งสอดคล้องกับความคิดหรือความเชื่อของตนเอง และยิ่งเวลาผ่านไปความนิยมชมชอบก็อาจตกผลึกไปสู่ระดับของความผูกพันอันเป็นการเชื่อมโยงระหว่างตัวตนของตนเองกับพรรคหรือนักการเมืองผู้นั้น เช่น การระบุว่าตนเองเป็นประชาธิปัตย์ หรือ ตนเองเป็นเพื่อไทย เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงภาวะความผูกพันของผู้เลือกต่อพรรคการเมือง

ส่วนในกรณีความผูกพันกับนักการเมืองที่ปัจเจกบุคคลเป็นภาวะที่แสดงความนิยมชมชอบอย่างลึกซึ้งต่อบุคคล ประเภทที่ว่า หากบุคคลนี้ลงสมัครเลือกตั้งเมื่อไร หรือสนับสนุนใคร หรืออยู่พรรคการเมืองใด ผู้เลือกตั้งก็จะเลือกบุคคลผู้นี้อย่างต่อเนื่อง การแสดงออกของผู้เลือกตั้งที่สะท้อนถึงความผูกพันกับนักการเมืองอีกประการคือ การปกป้องนักการเมืองผู้นั้น เช่น หากมีใครวิจารณ์นักการเมืองที่ตนเองผูกพันก็จะรู้สึกไม่พึงพอใจ และออกมาตอบโต้ทันที เป็นต้น

เหตุผลเชิงความผูกพันต่างจาก “กระแสนิยมเชิงความรู้สึก” ในแง่ที่ว่าความผูกพันก่อตัวขึ้นมาจากการเฝ้าดูและติดตามอย่างยาวนาน ส่วนกระแสนิยมเชิงความรู้สึกนั้นเป็นภาวะการสะท้อนถึงความเบื่อหน่ายอะไรบางอย่าง และหันไปนิยมอะไรอีกอย่างหนึ่ง จากนั้นไม่นานก็เบื่อหน่ายและไปนิยมอย่างอื่นแทน กระแสนิยมเชิงความรู้สึกจึงมิใช่เรื่องของเหตุผลเชิงความผูกพัน เพราะเป็นการตัดสินใจที่ผู้ตัดสินใจมิได้มองผลลัพธ์ของการตัดสินใจว่าสอดคล้องกับความเชื่อหรือเป้าประสงค์ของตนเองหรือไม่ แต่เป็นการตัดสินใจบนฐานของภาวะอารมณ์ความรู้สึกในขณะนั้นเพื่อสนองความพึงพอใจของตนเอง หรือ ภาษาชาวบ้านคือ “เพื่อความสะใจ” เป็นหลัก

กลุ่มผู้เลือกตั้งที่ตัดสินใจโดยใช้ความผูกพันเป็นฐานเสียงที่มั่นคงของพรรคและนักการเมือง เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีความคงเส้นคงวาในการเลือกตั้ง โดยจะเลือกพรรคและนักการเมืองที่ตนเองผูกพันแทบทุกครั้ง ยากที่จะมีปัจจัยหรือเงื่อนไขจากภายนอกไปสั่นคลอนความผูกพันของพวกเขาได้

สำหรับเหตุผลประการที่สามที่ผู้เลือกตั้งใช้ในการตัดสินใจคือ “เหตุผลซึ่งอยู่บนรากของหลักการทางคุณธรรม” ในกรณีนี้ผู้เลือกตั้งจะพิจารณาเลือกพรรคหรือนักการเมืองโดยใช้หลักการทางคุณธรรมในการประเมินเพื่อตัดสินใจ เช่น หลักการความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญในการแก้ปัญหา ความเสียสละต่อส่วนรวม ความมีสมรรถภาพทางการบริหาร เป็นต้น หากนักการเมืองที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับหลักการเชิงคุณธรรมที่ผู้เลือกตั้งให้ความสำคัญ ผู้เลือกตั้งก็จะเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นๆ

อย่างไรก็ตามยังมีเหตุผลอีกประการหนึ่งที่ผู้เลือกตั้งใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจคือ “เหตุผลของการลดความเสี่ยง” ในกรณีนี้ผู้เลือกตั้งประเมินว่าไม่มีผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดที่เสนอนโยบายที่ตอบสนองประโยชน์แก่ตนเองหรือสังคมอย่างแท้จริง ตนเองไม่มีความผูกพันกับนักและพรรคการเมืองใดเลย รวมทั้งไม่มีพรรคและนักการเมืองใดที่แสดงบทบาทสอดคล้องกับหลักการเชิงคุณธรรมที่ตนเองให้ความสำคัญ เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้เลือกตั้งก็จะตัดสินใจเลือกโดยใช้ “ทางเลือกที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด” หรือ เลือกพรรคและนักการเมืองที่มีโอกาสสร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติและสังคมน้อยที่สุด หรือ เลือกพรรคและนักการเมืองที่มีบทบาทและการกระทำในอดีตใกล้เคียงกับเหตุผลเชิงคุณธรรมที่ผู้เลือกตั้งยึดถือมากที่สุด ประโยคทั่วๆไปที่มักจะได้ยินจากการเลือกตั้งที่ใช้เหตุผลแบบนี้คือ “เลือกคนที่เลวน้อยที่สุด

ในบางโอกาสเมื่อผู้เลือกตั้งประเมินว่า พรรคหรือนักการเมืองที่ตนเองมองว่าเลวมากมีโอกาสชนะการเลือก ผู้เลือกก็จะหันไปตัดสินใจเลือกพรรคหรือนักการเมืองที่ถูกประเมินว่าเลวน้อยกว่าเพื่อลดความเสี่ยงลง

อย่างไรก็ตามมีผู้เลือกอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจประเมินว่าในเมื่อไม่มีผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดมีเงื่อนไขสอดคล้องกับเหตุผลของตนเอง พวกเขาก็อาจตัดสินใจไปลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนหรืออาจจะไม่ไปเลือกตั้งเลยก็ได้ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการปฏิเสธภาวะที่ไม่พึงประสงค์ของการเมืองให้นักและพรรคการเมืองได้รับรู้รับทราบ ซึ่งหากนักการเมืองมีสำนึกผิดชอบชั่วดีอยู่บ้างเมื่อเห็นตัวเลขไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ใครมีจำนวนมาก พวกเขาก็อาจปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นต่อไป

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ