ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การเมืองแห่งความกลัวและความเพ้อฝัน

การเมืองแห่งความกลัวและความเพ้อฝัน


โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 1 มีนาคม 2556 19:35 น

ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ในยุคสมัยแห่งปัจจุบันเงื่อนไขหลักที่ชี้นำการตัดสินใจและแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ดูเหมือนเป็น “ความคิดที่เชื่อมโยงกับอารมณ์ความกลัวและความเพ้อฝัน” การตัดสินใจทางการเมืองหรือแม้แต่ทางเศรษฐกิจดูเหมือนเป็นตัวอย่างของการแสดงออกถึงภาวะเช่นนั้นเป็นอย่างดี

เมื่อมนุษย์การยอมรับสมมุติฐานหรือความเชื่อโดยปราศจากการใช้ปัญญาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ พวกเขาก็ก้าวไปสู่การมีอารมณ์ความกลัวและความเพ้อฝันขึ้นมาครอบงำจิตใจ ความมืดมัวของจิตก็เกิดขึ้นตามมา และเมื่อมีการตัดสินใจและลงมือกระทำก็นำไปสู่ความพลาดพลั้งได้โดยง่าย

ผู้คนได้แสดงมายากลทางความคิดและมายาคติของความเป็นเหตุผล ซึ่งผลิตออกมาแอบแฝงไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมอันแรวพราวและเต็มไปด้วยกับดักหลุมพรางให้ผู้คนเดินตกลงไป เมื่อผู้คนติดกับดักทางความคิดใดแล้ว ความคิดนั้นก็ไปกระตุ้นอารมณ์กลัวและเพ้อฝันให้บังเกิดขึ้นมา และความคิดก็หลอกลวงต่อไปว่าอารมณ์นั้นคือเหตุผล

เรามีกรณีศึกษาของกระบวนการเหล่านี้อย่างอุดมสมบูรณ์ในฤดูการเลือกตั้ง นักการเมืองใช้ความคิดเพื่อผลิตชุดความคิดซึ่งผู้ผลิตคิดว่าจะให้ผู้อื่นคิดตามที่ตนเองกำหนด โดยหวังไปกระตุ้นอารมณ์แห่งความกลัวและความเพ้อฝันให้เกิดขึ้นมา และพวกเขาใช้อารมณ์เหล่านี้เป็นเครื่องมือในการถากถางเส้นทางสู่ตำแหน่งและอำนาจต่อไป

ความกลัวเป็นอารมณ์ที่มีพลังต่อการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์เอย่างเอกอุ เพราะว่าเป็นอารมณ์ที่เชื่อมโยงกับความอยู่รอดของชีวิต เป็นอารมณ์แรกกำเนิดของมนุษย์ และดำรงอยู่ต่อไปตราบจนสิ้นลมหายใจ ส่วนความเพ้อฝันนั้นเป็นสิ่งที่เกิดภายหลังจากการกล่อมเกลาทางสังคม และเป็นสิ่งเชื่อมโยงกับความต้องการความสะดวกสบายในอนาคต

ชุดความคิดแต่ละชุดอาจมีประสิทธิผลในการผลิตระดับความกลัวแตกต่างกันออกไป มากบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในอดีตและการเชื่อมโยงกับชุดความคิดดั้งเดิมที่ดำรงอยู่ภายในตัวของผู้คน หากชุดความคิดใหม่ไปประสานเชื่อมต่อกับชุดความคิดเดิมได้อย่างแนบสนิท พลังการสร้างอารมณ์ความหวาดกลัวก็จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ แต่หากชุดความคิดดังกล่าวไม่อาจเข้ากันได้กับชุดความคิดเดิมของผู้คน มันก็ไร้พลังในการกระตุ้นอารมณ์ใดๆ ออกมา

ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2556 พรรคเพื่อไทยได้ผลิตชุดความคิดเกี่ยวกับ “การบริหารหรือทำงานแบบไร้รอยต่อระหว่างรัฐบาลกับกรุงเทพมหานคร” ซึ่งหวังจะเชื่อมโยงกับชุดความคิดเดิมของชาวกรุงเทพมหานครที่ว่า เหตุที่การแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครในปี 2554 เป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพและปราศจากประสิทธิผล เกิดจากการไม่ประสานงานระหว่างกรุงเทพมหานครกับรัฐบาล หากทั้งหน่วยงานทั้งสองระดับมีการร่วมมือประสานงานกันเป็นอย่างดีก็จะสามารถทุเลา บรรเทา และแก้ปัญหาได้

ตรรกะชุดนี้ผู้สร้างคาดหวังให้ไปกระตุ้นความกลัวของชาวกรุงเทพฯเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการประสบความยากลำบากอันเกิดจากปัญหาหรือการถูกตัดงบประมาณในการพัฒนาหากชาวกรุงเทพฯเลือกผู้สมัครพรรคอื่นๆหรือผู้สมัครอิสระ นัยเบื้องหลังของตรรกะชุดนี้จึงได้แก่การข่มขู่ให้ความหวาดกลัวนั่นเอง

แต่ผู้ผลิตชุดความคิดนี้ลืมคิดไปว่า การสร้างตรรกะดังกล่าวให้มีน้ำหนักทางความคิดในจิตใจของชาวกรุงเทพมหานครได้ ชาวกรุงเทพฯ จะต้องมีความคิดดั้งเดิมเป็นพื้นฐานก่อนว่า “รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและบังเกิดประสิทธิผล” หากคนกรุงเทพฯ คิดในทางที่ตรงกันข้าม ตรรกะของการบริหารแบบไร้รอยต่อก็ไม่สามารถเกาะติดในจิตใจของชาวกรุงเทพฯได้

ผลงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์แห่งพรรคเพื่อไทยเท่าที่ดำรงอยู่ในความคิดของชาวกรุงเทพฯหาใช่เป็นเรื่องของผลเชิงบวกแต่อย่างใด ด้วยเหตุที่ยิ่งบริหารค่าน้ำมัน ราคาสินค้า ค่าครองชีพก็ยิ่งทะยานสูงขึ้นไปตามลำดับ สิ่งเหล่านี้คือเป็นความจริงที่คนกรุงเทพฯประสบอยู่ทุกวัน รวมทั้งการล้มเหลวในการดำเนินนโยบายจำนำข้าวและนโยบายอื่นๆก็เป็นเรื่องที่ยังดำรงอยู่ในความทรงจำของชาวกรุงเทพฯ ดังนั้นชุดความคิดเดิมของชาวกรุงเทพฯจึงไปไม่ได้กับชุดความคิดที่พรรคเพื่อไทยผลิตขึ้นมา

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับความคาดหวังของพรรคเพื่อไทย การบริหารแบบไร้รอยต่อจึงกลายเป็นการบริหารแบบเตี้ยอุ้มค่อม อันจะนำไปสู่ความล้มเหลวแบบไร้รอยต่อ หรือ การทุจริตแบบไร้รอยต่อ หรือ การรวบอำนาจแบบไร้รอยต่อในท้ายที่สุด

อันที่จริงพรรคเพื่อไทยมีความเชี่ยวชาญในการชุดความคิดที่กระตุ้นความเพ้อฝันของผู้คนมากกว่ากระตุ้นความหวาดกลัว เช่น ความเพ้อฝันเกี่ยวกับการแก้ปัญหาจราจร การปราบปรามยาเสพติด การขจัดความยากจน การสร้างความเจริญทางวัตถุโดยใช้โครงการขนาดใหญ่ และการแจกจ่ายเงินทองและสิ่งของแก่ผู้คน แต่ทว่าชุดความคิดเหล่านี้ดูเหมือนมีพลังน้อยในการกระตุ้นอารมณ์ความเพ้อฝันให้บังเกิดขึ้นแก่ชาวกรุงเทพฯ เพราะประการณ์ที่เป็นจริงของชาวกรุงเทพฯที่เกิดจากการระทำของพรรคนี้หาใช่ความสะดวกสบายไม่ แต่กลับเป็นความทุกข์ยากและขมขื่นซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ผู้ถนัดช่ำชองในการสร้างอารมณ์ความหวาดกลัวเพื่อฉกฉวยผลประโยชน์ ทางการเมืองได้สร้างชุดความคิดที่กระตุ้นอารมณ์กลัวให้เกิดขึ้นในจิตใจของคนกรุงเทพฯได้อย่างมีประสิทธิผลมากกว่าพรรคเพื่อไทย เช่น ชุดความคิดเกี่ยวกับการผูกขาดประเทศไทย ชุดความคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำลายล้างเผาบ้านเผาเมืองของกลุ่มเสื้อแดงที่เป็นองค์ประกอบหลักของพรรคเพื่อไทย เป็นต้น

ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ปรากฏว่าชุดความคิดที่พรรคประชาธิปัตย์สร้างขึ้นมาได้แผ่ซ่านไปปกคลุมจิตใจของผู้คนจำนวนมาก เงาทะมึนแห่งความหวาดกลัวเข้าไปบดบังสติปัญญาของผู้คน การใช้ปัญญาในการไตร่ตรองอย่างมีโยนิโสมนสิการจึงจางหายไป

การที่ชุดความคิดของพรรคประชาธิปัตย์มีพลังในการสร้างอารมณ์ความหวาดกลัวเพราะว่าคนกรุงเทพฯ มีชุดความคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยและกลุ่มเสื้อแดงอยู่เป็นฐานแล้ว ดังนั้นเมื่อถูกชุดความคิดที่พรรคประชาธิปัตย์สร้างขึ้นมาไปกระตุ้น ความทรงจำเก่าๆของชาวกรุงเทพฯก็ผุดขึ้นมาและเชื่อมต่อกับชุดความคิดของพรรคประชาธิปัตย์ ผสานจนกลายเป็นสิ่งที่ทรงพลังในการกำหนดพฤติกรรมของพวกเขา

เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการครอบงำของอารมณ์แห่งความหวาดกลัวก็ได้สร้างความพิศวงให้กับจิตวิญญาณของผู้คนที่ยึดติดกับกรอบความคิด ความเชื่อ และอารมณ์ของตนเอง คนเหล่านั้นจึงส่งเสียงตะโกนกึกก้องสวนมาว่า ขอให้เลิกวิจารณ์เสียเถิด ขอให้อารมณ์แห่งความกลัวชี้นำเราต่อไปเถิด พวกเขาเหล่านี้ยังได้สร้างชุดความคิดที่ประหลาดพิสดารเพื่อไปตอกย้ำความกลัวให้หนักขึ้นไปอีก เช่น หากเลือกผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพฯเบอร์อื่น ที่ไม่ใช่เบอร์ 16 ก็เท่ากับเอาคะแนนให้ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย

ชุดความคิดเช่นนี้คือหลุมพลางเพื่อหลอกล่อให้ผู้คนไปสนับสนุนพวกเขา เป็นการใช้เหตุผลเชิงมายาคติเพื่อปิดกั้นไม่ให้ผู้คนใช้วิจารณญาณที่เป็นอิสระของตนเอง

ผมคิดว่าใครจะได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่มีความสำคัญเท่ากับการที่เราตัดสินใจและกำหนดพฤติกรรมของเราด้วยความคิดที่เป็นอิสระ ภายใต้การใช้ปัญญาที่กระจ่างในการใช้ดุลยพินิจ เพราะสิ่งเหล่านี้คือรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาความเป็นมนุษย์และระบอบประชาธิปไตย ขณะที่ความกลัวและความเพ้อฝันเป็นสิ่งที่เหนี่ยวรั้งความเจริญงอกงามทางปัญญา และรังแต่สร้างความสับสนโกลาหลขึ้นมาในสังคม

ทว่าปัญหาในยามนี้ของสังคมไทยคือ เราจะหาแนวทางใดที่ชักจูงให้ผู้คนตัดสินใจและแสดงพฤติกรรมโดยขจัดแรงกระตุ้นความกลัวและความเพ้อฝันออกไป และหันไปใช้ปัญญาและเหตุผลเชิงคุณธรรมแทน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั