ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

รศ. ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ความกลัวของประชาชน

ในยุคดิจิตอลการตั้งคำถามท้าทายการทำงานองค์การและเจ้าหน้าที่ของรัฐเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและต่อเนื่อง  แม้ว่าบ้านเมืองจะอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกและอำนาจเด็ดขาดของผู้ปกครอง  แต่ประชาชนก็หาได้เป็นลูกแกะที่เชื่องซึมซึ่งเดินตามคำสั่งแต่เพียงอย่างเดียวแต่อย่างใด  ตรงกันข้ามได้ส่งกระแสเสียงที่แตกต่างและท้าทายออกมาในหลายเรื่องราว
หากถามว่าประชาชนมีความหวาดกลัวหรือไม่  ก็คงมีอยู่บ้าง  ใครเล่าจะไม่รู้สึกหวาดกลัวอำนาจที่ป่าเถื่อนและไร้เหตุผล   แต่ระดับความรู้สึกความกลัวต่ออำนาจรัฐของประชาชนคงไม่มากเท่ากับในอดีต  ทั้งนี้น่าจะมาจากเงื่อนไขสำคัญหลายประการ
ประการแรกการสั่งสมบทเรียนและพัฒนายุทธวิธี   ประชาชนไทยผ่านการต่อสู้กับอำนาจรัฐและอำนาจเถื่อนมาหลายครั้งหลายคราว  ได้สั่งสมบทเรียนและประสบการณ์การจากการต่อสู้และพัฒนายุทธศาสตร์และยุทธวิธีสำหรับการต่อสู้ได้อย่างหลากหลาย   รูปแบบและกระบวนการต่อต้านอำนาจจึงมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ปกครองเกิดความยุ่งยากในการใช้อำนาจรัฐอย่างดิบเถื่อนเพื่อจัดการกับประชาชน
ในยามต่อสู้กับเผด็จการทุนสามานย์ที่อาศัยคราบของประชาธิปไตยบังหน้า ประชาชนก็ใช้การชุมนุมอย่างสันติ  การรณรงค์จัดนิทรรศการเปิดโปงความชั่วร้ายของกลุ่มทุนสามานย์  มีการสื่อสารผ่านสื่อมวลชนหลากหลายช่องทาง  และใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างมีพลัง    
ฝั่งของกลุ่มทุนสามานย์ แม้จะยึดกุมอำนาจรัฐ แต่ภายใต้กรอบบรรทัดฐานของระบอบที่ตนเองใช้ในการอ้างความชอบธรรมของอำนาจ ทำให้พวกเขาใช้อำนาจรัฐกระทำความรุนแรงอย่างเปิดเผยต่อประชาชนไม่ได้  พวกเขาจึงจัดตั้งกองกำลังเถื่อนเพื่อทำร้ายผู้ต่อต้าน  ขณะเดียวกันก็ได้ใช้มวลชนจัดตั้งและสื่อมวลชนของตนเองออกมาตอบโต้ในทุกรูปแบบเช่นกัน  แต่ประชาชนก็หาได้หวาดกลัวอำนาจของกลุ่มทุนสามานย์  ในทางตรงกันข้ามกลับยิ่งทำให้ประชาชนมีความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับกลุ่มทุนสามานย์ยิ่งขึ้น 
ครั้นเมื่อกลุ่มทุนสามานย์ถูกโค่นล้มลงชั่วคราว  ผู้ปกครองใหม่ที่เข้ามาโดยการอาศัยกฎอัยการศึกและกองกำลังทหารที่เข้าควบคุมอำนาจรัฐ   ประชาชนก็เฝ้าจับตามองตั้งแต่เริ่มต้น  กลุ่มนายพลใช้เงื่อนไขความขัดแย้งของประชาชน  การทุจริตของกลุ่มทุนสามานย์ และการปฏิรูปประเทศเป็นข้ออ้างในการควบคุมอำนาจรัฐ  แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่พวกเขากระทำหลายอย่างมิได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสิ่งที่อ้างตอนต้น  ระบบเช่นพรรคเล่นพวกยังถูกใช้เป็นกลไกอย่างแพร่หลายในการทำงานและบริหารราชการแผ่นดิน   การทุจริตก็ไม่มีวี่แววว่าจะเอาจริงเอาจังแต่อย่างใด มีแต่ตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกเล่นงาน แต่ตัวใหญ่กลับลอยนวล  ทั้งยังมีแนวโน้มของการเพิ่มและขยายอำนาจขององค์กรราชการ และลดอำนาจฝ่ายประชาชน  ความหวังในการปฏิรูปก็ดูเหมือนมีอยู่ไม่มากนัก  ประชาชนก็เริ่มตั้งคำถามต่อผู้ปกครองมากขึ้นตามเวลาของการอยู่ในอำนาจ  และการต่อสู้รอบใหม่กำลังเกิดขึ้นมา
ประการที่สองการกลายเป็นสถาบัน   ในยุคปัจจุบันแนวความคิด บรรทัดฐาน และการปฏิบัติหลายอย่างทางการเมืองได้เริ่มที่กลายเป็นสถาบันซึ่งดำรงอยู่อย่างอิสระจากเจตจำนงของปัจเจกบุคคล   แม้ปัจเจกบุคคลที่ยึดกุมอำนาจรัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จ ก็ยากที่จะละเมิดบรรทัดฐานทางสังคมที่ได้รับการสถาปนาขึ้นมาเป็นสถาบันได้   หากผู้มีอำนาจกลุ่มใดแสดงออกถึงเจตนารมณ์ที่ล่วงล้ำละเมิดบรรทัดฐานเหล่านั้น  ก็จะถูกตั้งคำถามจากสังคมทันที
ตัวอย่างเช่น การแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  แม้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บางส่วนซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นนายทหารระดับสูง แสดงเจตจำนงที่ไม่ต้องการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะ โดยสื่อสารผ่านวาทกรรมที่ว่า สนช. ไม่ใช่เป็นตำแหน่งทางการเมืองบ้าง หรือ เปิดเผยแล้วกลัวว่าจะถูกปล้นบ้าง   รวมทั้งการยื่นเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณาเพื่อไม่ให้ตนเองต้องเปิดบัญชีทรัพย์สิน   แต่ในที่สุดศาลปกครองก็ไม่รับเรื่อง  จนคนเหล่านั้นต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินออกมา
เมื่อบัญชีทรัพย์สินของบรรดานายพลและข้าราชการระดับสูงได้ถูกเปิดเผยออกมา  ก็ปรากฏว่าแต่ละคนมีทรัพย์สินจำนวนนับร้อยล้านบาท  บางคนก็เกินร้อยล้านบาท   ความสงสัยของผู้คนในสังคมก็ผุดขึ้นตามมาว่าทำไมคนเหล่านี้จึงร่ำรวยกันนัก  เพราะเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ได้รับจากราชการไม่มีทางที่จะทำให้คนเหล่านั้นมีทรัพย์สินมากขนาดนั้นได้  ยกเว้นบางคนที่ได้รับมรดกจากครอบครัวหรือครอบครัวมีธุรกิจอื่นๆ   
ประการที่สามการเชื่อมโยงกับสากล  ด้วยความจริงที่ว่าแต่ละประเทศในโลกยุคปัจจุบันไม่อาจอยู่ได้อย่างลำพังโดดเดี่ยว  แต่กลับมีความเข้มข้นของการปฏิสัมพันธ์กันสูงในหลากหลายมิติ  การกระทำโดยใช้อำนาจรัฐที่ป่าเถื่อนและไร้เหตุผลของผู้ปกครองในบางประเทศ อาจเป็นสาเหตุให้นานาชาติหรือองค์การระหว่างประเทศเข้ามากดดันการกระทำและแทรกแซงกิจการภายในของประเทศนั้นได้   
รูปแบบของการกดดันมีความหลากหลายทั้งโดยอาศัยการรายงานข้อมูลด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน   การงดการช่วยเหลือทางทหาร  การห้ามนักธุรกิจของประเทศตนเข้าไปลงทุน  การประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยงและไม่สนับสนุนให้ประชาชนของไประเทศตนไปท่องเที่ยวในประเทศที่ผู้ปกครองใช้อำนาจอย่างป่าเถื่อน   และการงดซื้อสินค้า  เป็นต้น
สำหรับการแทรกแซงกิจการภายในนั้นมีตั้งแต่การสนับสนุนผู้ต่อต้านรัฐบาล  การจัดส่งความช่วยเหลือทางเงินและเครื่องมือในการต่อต้าน   การส่งอาวุธให้ฝ่ายต่อต้าน   การส่งสายลับและกองกำลังลับ การส่งเครื่องบินไปโจมตีที่ตั้งกองกำลังของฝ่ายรัฐบาล   และในบางประเทศก็ถึงขั้นการส่งกำลังทหารของตนเองเข้าไปช่วยเหลือผู้ต่อต้านโดยตรง
กล่าวได้ว่าการกระทำของผู้ปกครองและกลุ่มผู้ต่อต้านผู้ปกครองต่างตกอยู่ภายใต้การเฝ้าดูของนานาชาติ    บรรดาประเทศต่างๆก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในรูปแบบต่างๆ  หากการกระทำของฝ่ายนั้นมีความชอบธรรมในสายตาของพวกเขา    แน่นอนว่าการกระทำใดจะมีความชอบธรรมในสายของใครนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า จุดยืนของพวกเขาเป็นอย่างไร    แต่อย่างน้อยทั้งผู้ปกครองและประชาชนต่างก็ทราบว่าการกระทำของตนมีความเชื่อมโยงกับพลังทางสากล จึงมีความระมัดระวังในการกระทำมากขึ้น
ดังนั้นหากกลุ่มใดมีการกระทำที่ป่าเถื่อนและไร้เหตุผล ก็ย่อมจะถูกตอบโต้จากบางประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำนั้น    ประชาชนจึงมีพื้นที่ในการต่อต้านการกระทำของรัฐบาลในบางรูปแบบ และรัฐเองก็ไม่อาจใช้วิธีการป่าเถื่อนรุนแรงดังในอดีต
ประการที่สี่พลังของสื่อสังคมออนไลน์   ในยุคปัจจุบันมีข้อมูลจำนวนมหาศาลล่องลอยอยู่ในโลกของสังคมออนไลน์  ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น  ดังนั้นการที่หน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดที่ใช้ข้อมูลเท็จหลอกลวงประชาชน  ในไม่ช้าก็จะถูกเปิดโปงซึ่งจะทำให้หน่วยงานนั้นมีความน่าเชื่อถือลดลง หากประสงค์ที่จะให้ได้รับการยอมรับจากประชาชน   ก็จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการทำงานมากขึ้นกว่าเดิม     แต่หากหน่วยงานใดเพิกเฉยไม่สนใจการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน ในไม่ช้าหน่วยงานนั้นก็จะถูกกดดันให้เปลี่ยนแปลงอย่างขนาดใหญ่ จนกระทั่งต้องยุบเลิกหน่วยงานไปเลยก็เป็นได้
ในยุคนี้หากผู้ปกครองประเทศคิดว่ามีอำนาจแล้วกระทำตามอำเภอใจ หวังรวมศูนย์อำนาจในกลุ่มหรือหน่วยงานของตนเอง   ดูแคลนพลังของประชาชน  ลิดรอนอำนาจประชาชน  ไม่ใส่ใจกับความถูกต้องชอบธรรม   อนาคตของผู้ปกครองที่ปฏิบัติเยี่ยงนี้เป็นอย่างไรก็ไม่ยากที่จะทำนาย
ท่ามกลางหมอกเมฆแห่งอวิชชาปกคลุมทุกหนแห่ง   ยังมีดวงประทีปแห่งปัญญาปรากฏขึ้นซึ่งเป็นประจักษ์พยานถึงความพยายามอันสูงส่งของผู้คนในการแสวงหาทางออกจากความมืดมน    และความหวาดกลัวจะค่อยๆเลือนหายไปในที่สุด

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั