ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

รศ. ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต "สังคมอนาถา"

สังคมอนาถา
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
สังคมไทยมีพลเมืองตื่นตัวทางการเมืองเป็นจำนวนมาก พวกเขามีความปรารถนาเห็นสังคมไทยมีความก้าวหน้ารุ่งเรือง มีการกระจายทรัพยากรของสังคมอย่างเป็นธรรม  เกิดความสันติสงบสุข   ผู้คนมีปัญญา มีเหตุมีผล รู้จักจำแนกแยกแยะเลือกกระทำสิ่งดี ละเว้นสิ่งเลวร้าย  ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนทุกข์ยากตามศักยภาพและความเหมาะสม มีความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างมีน้ำใจ เป็นมิตร และเคารพซึ่งกันและกัน  
พลเมืองเหล่านั้นมีจิตใจแห่งการเสียสละสูง ยึดถือเอาส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ไม่กลัวความยากลำบาก ไม่กลัวแม้กระทั่งความเจ็บปวดหรือความเสี่ยงในการถูกทำร้าย  พวกเขาเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงความเสื่อมโทรมของบ้านเมืองให้กลายเป็นความจำเริญรุ่งเรือง 
พลเมืองผู้ตื่นตัวต่อสู้กับกลุ่มคนอันเป็นทรชนผู้ยึดกุมอำนาจรัฐ  ผู้นำอำนาจไปใช้อย่างบิดเบือน เพื่อหยิบฉวยเคลื่อนย้ายผลประโยชน์โภคทรัพย์ของสังคมให้มาสุมกองอยู่ภายในเครือข่ายส่วนตน  ทั้งยังมีสมุนบริวารคอยรังควานทำร้ายพลเมืองผู้รู้เท่าทันไม่ว่างเว้นด้วยความป่าเถื่อนรุนแรง
ในท่ามกลางกระบวนการต่อสู้  แม้พลเมืองจำนวนมากถูกสมุนบริวารของทรชนทำร้ายจนบาดเจ็บ พิการ และล้มตาย แต่พวกเขาก็ยังยืนหยัดไม่ท้อถอย จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร  แกนนำกลุ่มทรชนส่วนหนึ่งหมดอำนาจรัฐไปชั่วคราว แต่สมุนบริวารจำนวนมากของทรชนยังคงทรงอำนาจในหน่วยงานราชการหลายแห่ง  รอจังหวะฟื้นกลับมา
กลุ่มอำนาจใหม่ก็หาได้ใหม่ตามความหมายที่แท้จริงไม่   แกนนำหลายคนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มทรชน  พวกเขาไม่ได้มองว่ากลุ่มทรชนเป็นผู้สร้างความเสื่อมโทรมแก่บ้านเมือง  ตรงกันข้ามกลับมีแนวโน้มมองว่าพลเมืองผู้ตื่นรู้เป็นปัญหาของบ้านเมือง  นี่นับเป็นเรื่อง "น่าขบขันอย่างอนาถา"  เสียจริงๆ
ยิ่งสมุนบริวารของหัวหน้าทรชนผู้ชอบอวดอ้างวุฒิการศึกษาออกมาวิเคราะห์ว่า หัวหน้าทรชนได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการรัฐประหาร   เมื่อผู้เป็นสมุนออกมายืนยันเช่นนี้ก็คงมีความจริงอยู่บ้าง  แม้ว่าในอดีตคนผู้นี้จะกล่าวความเท็จเสียเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม   ดังนั้นคำสวยหรูที่คณะรัฐประหารยกมาอ้างเมื่อคราวยึดอำนาจจึงถูกทำให้เลือนหายไป  ความจริงที่ซ่อนเร้นจึงเผยตัวออกมา  
มิใช่แต่เพียงคำพูดของสมุนทรชนเท่านั้นที่เป็นหลักฐาน  แต่ข้อมูลจากการตัดสินใจของคณะรัฐประหารหลายเรื่องทำให้เราเห็นว่า มีร่องรอยของการได้ประโยชน์ดำรงอยู่จริง
การแต่งตั้งคนในเครือข่ายด้วยข้ออ้างของความเป็นเอกภาพทางความคิดและการทำงานเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติเพื่อกำกับการตัดสินใจส่งผลให้เห็นอย่างชัดเจน  เมื่อสภาแห่งนี้ไม่กล้ารับเรื่องการถอดถอน “นิคม – สมศักดิ์” ผู้ละเมิดรัฐธรรมนูญ และมีการกระทำรับใช้กลุ่มอำนาจเก่าระบอบทักษิณ ละเมิดกฎหมาย 
ทำท่าจะเอาจริงเอาจังเรื่องภาษีมรดก  แต่เมื่อดูพฤติกรรมของ สนช. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความพยายามยับยั้งไม่ให้เปิดเผยทรัพย์สิน  ความโลเลในการรับเรื่องถอดถอนนักการเมือง ย่อมสะท้อนสิ่งที่ดำรงอยู่ในจิตใจของคนเหล่านั้น การจะคาดหวังให้บรรดาคนที่มีจิตใจเยี่ยงนี้กล้ากระทำสิ่งที่กระทบกับผลประโยชน์ของพวกเขาย่อมยากยิ่งกว่าการส่งยางพาราไปขายที่ดาวอังคาร
             ภาษีมรดกก็คงเป็นอีกเรื่องที่มีแนวโน้มล้มเหลว เหมือนกับการแก้ปัญหาราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลนั่นแหละ เข้าทำนองท่าดีที่เหลว  เจออุปสรรคนิดหน่อยก็ถอยกรูด 
             ส่วนปฏิรูปพลังงาน  คำตอบก็คงชัดเจนขึ้นเมื่อมีการประมูลโดยใช้ระบบสัมปทานแบบเดิม หลักคิดของรัฐบาลยังคงเป็นเช่นเดียวกับผู้ปกครองในยุคอาณานิคม  รอรับเศษส่วนแบ่งที่เขาให้   ไร้การพัฒนาความคิด ไร้ปัญญา และไร้ความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง
 ถึงเวลานี้ใครยังมีความหวังว่ารัฐบาลกับสภานิติบัญญัติจะทำการปฏิรูปพลังงานได้  เห็นจะเป็นความเพ้อฝันส่วนใครที่ยังเชื่อว่าพวกเขาจะกลับใจและหันมาปฏิรูปเพื่อประชาชน ก็น่าจะเป็นเรื่องของความงมงาย   แต่ประสบการณ์บอกเราว่าสังคมไทยมีพวกเพ้อฝันและงมงายเป็นจำนวนมาก  เป็นสังคมที่เข้าข่าย “จิตอนาถา” 
               บรรดาสมุนทรชนแถวหน้าเริ่มอ่านความระหว่างบรรทัดออกแล้วว่า  ที่แท้บรรดาผู้มาขับไล่นายของพวกเขานั้นมีบทบาทหลายชั้น ด้านหนึ่งทำขึงขังใช้กฎหมายปราบปรามพวกปลายแถว  อีกด้านหนึ่งประนีประนอมผลประโยชน์กับนายตนเองอีกด้านหนึ่งใช้อำนาจเผด็จการกดข่มบรรดาพลเมืองผู้ตื่นรู้   ไปๆมาๆถึงบางอ้อว่านายตนเองได้ประโยชน์มากกว่าใคร
               ตั้งสภาปฏิรูปมีแต่คนแก่เต็มสภา  แกนนำที่ถูกวางตัวก็มีบทบาทปฏิรูปมาหลายครั้งในช่วงยี่สิบปีมานี้ แต่ไม่เคยปฏิรูปอะไรสำเร็จ  แถมบางช่วงยังรับใช้ทรชน กว่าจะดูออกว่าคนที่ตนรับใช้เป็นทรชนและถอยออกมาใช้เวลานานมาก แล้วคนแบบนี้มาเป็นแกนนำในการปฏิรูปประเทศได้อย่างไร
ภายใต้ผู้คนที่มีความคิดและผลประโยชน์ผูกติดกับระบบเดิมรวมตัวกันเพื่อสร้างกฎกติกาใหม่ หลายคนประเมินล่วงหน้าไปแล้วว่าการปฏิรูปเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงคงมีไม่มากนัก  คงไม่กล้าทำอะไรหักล้างผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง และคงไม่กล้าทำอะไรที่ไปกระทบสถานภาพของกลุ่มระบอบทักษิณมากนัก  ดังนั้นเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว แนวโน้มที่กลุ่มอำนาจเก่าจะกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้งก็มีความเป็นไปได้สูง
ผู้นำรัฐบาลที่ทำท่าเหมือนจะมีอำนาจ  ประกาศขึงขังจะคืนความสุขแก่ประชาชน ผ่านไปไม่กี่เดือน ความจริงก็เกิดขึ้น ความสุขชั่วก้านธูปที่ได้รับช่วงแรกของการยึดอำนาจจากกลุ่มทรชนก็มลายหายไป  การใช้อำนาจเพื่อการปฏิรูปเกิดขึ้นน้อยมากจนแทบมองไม่เห็น
หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าผู้นำรัฐบาลมีอำนาจจริงหรือไม่  เพราะพวกเขามองเห็นหลักฐานว่าอิทธิพลของบุคคลที่เป็นรุ่นพี่ของผู้นำรัฐบาลมีมากเหลือเกิน   นั่นยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าหนทางการปฏิรูปยิ่งลางเลือนออกไป  จะทำอะไรที่สร้างการเปลี่ยนแปลงก็ดูติดขัดไปหมด  เปลี่ยนนั่นก็กระทบ   เปลี่ยนนี่ก็กระทบ   ท้ายที่สุดก็เปลี่ยนอะไรไม่ได้เลย  ก็เสมือนว่าไม่มีอำนาจที่แท้จริงแต่อย่างใด
 สังคมไทยจึงกลายเป็นสังคมอนาถา  ดูไปแล้วก็น่าสังเวช  ไปเปรียบเทียบกับประเทศจีนแล้วเหมือนอยู่บนดาวคนละดวง   เพียงยี่สิบกว่าปีที่เปิดประเทศและพัฒนาอย่างอย่างจริงจัง  ประเทศจีนก็รุดหน้ากว่าประเทศไทยหลายเท่าตัว ปัจจัยหลักที่สำคัญอย่างยิ่งที่จีนมีแต่ไทยไม่มีคือ การมีกลุ่มผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความมุ่งมั่น เสียสละเพื่อส่วนรวม รวมทั้งมีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
ความอนาถาของสังคมไทยคือการมีกลุ่มผู้นำที่น่าอนาถา ทำอะไรครึ่งๆกลางๆ กล้าๆกลัวๆ จดๆจ้องๆ ท้ายที่สุดก็จบลงด้วยประโยคที่ว่าปัญหามันมีมาก ปัญหามันทับถมมานาน  มีเวลาอยู่ในอำนาจไม่มาก  จะใจร้อนใจเร็วแก้ปัญหาให้เสร็จในเร็ววันได้อย่างไร  ที่มาอยู่ในตำแหน่งรับผิดชอบบ้านเมืองก็ถือว่าเสียสละมากแล้ว
ถามว่าเสียสละอะไร หากเทียบกับพลเมืองที่ต้องสูญเสียอวัยวะ ชีวิต และทรัพย์สิน  เทียบไม่ได้แม้แต่น้อย  หากรู้ตัวว่าทำไม่ได้จะอยู่ให้อายไปทำไม  หรือจะอยู่จนเป็นผู้นำแบบอนาถาจริงๆ 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั