ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

วัฒนธรรมการเมือง:โครงสร้างความคิดเชิงปฏิบัติการเลือกตั้ง
พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

บทคัดย่อ
บทความนี้เป็นการทำความเข้าใจวัฒนธรรมทางการเมืองและการเลือกตั้ง โดยใช้แนวทางการการศึกษาเชิงการตีความ เพื่อค้นหาความปรารถนาและความเชื่อในเชิงโครงสร้างความคิดเชิงปฏิบัติการทางการเมืองและการเลือกตั้งของผู้เลือกตั้งไทย    ภาพที่สะท้อนจากการตีความความเป็นจริงของสังคมและการเมืองไทยคือความเป็นทวิภาวะของวัฒนธรรมการเมืองซึ่งแสดงออกผ่านโครงสร้างทางความคิดเชิงการปฏิบัติการเลือกตั้งและอาณาบริเวณทางการเมืองอื่นนอกเหนือจากปริมณฑลการเลือกตั้งของชาวบ้านและชนชั้นกลาง  ชาวบ้านมีโครงสร้างความคิดเชิงปฏิบัติการเลือกตั้งภายใต้รากฐานของระบบคุณค่าเชิงอำนาจ-สังคม และมูลค่าทางเศรษฐกิจ และใช้การเลือกตั้งเป็นวิธีการในการรักษาสิ่งทั้งสองไว้   ขณะที่ชนชั้นกลางมีโครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติการทางการเมืองและการเลือกตั้งภายใต้ความเชื่อของระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกและการมีความปรารถนาที่จะได้รัฐบาลซึ่งบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและซื่อสัตย์  แต่การเลือกตั้งไม่สามารถตองสนองความปรารถนาของชนชั้นกลางได้ทั้งหมด  ดังนั้นชนชั้นกลางจึงใช้การปฏิบัติการทางการเมืองที่หลากหลายเพื่อให้บรรลุความปรารถนาของตนเอง 

 (หมายเหตุ  บทความนี้เขียนในปี 2550 เสนอในที่ประชุมวิชาการประจำปีสถาบันพระปกเกล้า)


ความนำ
            วัฒนธรรมทางการเมืองที่มีการศึกษากันในโลกวิชาการตะวันตกหมายถึงชุดของทัศนคติ ความเชื่อ   และความรู้สึก ซึ่งก่อให้เกิดการจัดระเบียบและความหมายต่อกระบวนการการเมืองและสร้างฐานคติและกฎเกณฑ์ซึ่งเป็นกรอบของพฤติกรรมในกระบวนการทางการเมือง[1]  ทฤษฎีวัฒนธรรมทางการเมืองที่รู้จักกันดีคือ ทฤษฎีที่นำเสนอโดย Almond และ Verbra ซึ่งจำแนกประเภทวัฒนธรรมโดยใช้ตัวแปรสี่ตัวมาผสมผสานกันประกอบด้วย ความแปลกแยก(alienation) กับความจงรักภักดี(allegiance)  และ การเชื่อฟัง(deference)กับการมีส่วนร่วม(participation)  
ในระยะแรกของการเสนอประเภทของวัฒนธรรม AlmondและVerbra จำแนกวัฒนธรรมการเมืองออกเป็นสามประเภทคือ วัฒนธรรมการเมืองแบบคับแคบ(parochial political culture)  วัฒนธรรมการเมืองแบบไพร่ฟ้า (subject political culture) และวัฒนธรรมการเมืองแบบมีส่วนร่วม (participation political culture)[2] และต่อมาภายหลังพวกเขาได้นำเสนอวัฒนธรรมการเมืองแบบพลเมือง (civic political culture)เพิ่มขึ้นมาอีกประเภทหนึ่ง   Almond และ Verbra เห็นว่าวัฒนธรรมแบบพลเมืองมีความสอดคล้องกับประชาธิปไตยมากที่สุด[3]     
 การศึกษาวัฒนธรรมการเมืองของ Almond  และ Verbra มีจุดอ่อน เพราะว่าเป็นการศึกษาแบบลดทอนความหมายของวัฒนธรรมการเมืองให้เหลือเพียงทัศนคติต่อระบบการเมืองและต่อองค์ประกอบต่างๆในระบบการเมือง รวมทั้งทัศนคติของประชาชนเกี่ยวกับบทบาทของตนเองในระบบการเมืองนั้น   อีกทั้งวิธีการศึกษาวัฒนธรรมของนักวิชาการทั้งสองใช้แนวการศึกษาแบบปฏิฐานนิยม (positivism) ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงพรรณนาความ(descriptive study)ในเชิงภาคตัดขวาง ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งทำให้ไม่เห็นภาพในเชิงพลวัตรและบริบทที่เป็นเงื่อนไขในการก่อรูป พัฒนา และสถาปนาความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งให้กลายมาเป็นวัฒนธรรม
          นักวิชาการแนวปฏิฐานนิยมในยุคหลัง เช่น Putnam  ได้นำแนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมเพื่อศึกษาความแตกต่างของประชาธิปไตยระหว่างภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศอิตาลี Putnam ได้ชี้ให้เห็นว่า การที่พลเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองและทำให้สถาบันประชาธิปไตยปฏิบัติงานตามเจตจำนงร่วมของสังคม มีผลมาจากการที่สังคม มีทุนทางสังคม (social capital) สูง   Putnam ระบุว่า ทุนทางสังคมมีสามองค์ประกอบคือ การมีบรรทัดฐานต่างตอบแทน (reciprocal norm) ความไว้วางใจ (trust) และเครือข่ายสังคม (social networks) ของสมาคมต่างๆ[4]     ในระยะต่อมาแนวคิดทุนทางสังคม โดยเฉพาะมิติด้านความไว้วางใจเป็นประเด็นทางวัฒนธรรมที่มีนักวิชาการเป็นจำนวนมากนำมาเป็นหัวข้อในการศึกษาวิจัย ซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปอย่างกว้างๆร่วมกันว่า ความไว้วางใจเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย[5]
          ผู้เขียนเห็นว่า การลดทอนการศึกษาวัฒนธรรมทางการเมืองให้กลายเป็นทัศนคติทางการเมืองของนักวิชาการแนวปฏิฐานนิยมยุคแรก ทำให้ความเข้าใจวัฒนธรรมทางการเมืองมีความคับแคบและมีลักษณะเสี่ยงเสี้ยว    ขณะที่การอธิบายประชาธิปไตยด้วยตัวแปรวัฒนธรรมที่นักวิชาการแนวปฏิฐานนิยมรุ่นหลังใช้ในการศึกษาเป็นการขยายขอบเขตในการทำความเข้าใจประชาธิปไตยได้กว้างขึ้น กระนั้นก็ตามการสรุปว่าทุนทางสังคมทำให้ระบอบการเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมมากขึ้นนั้น  เป็นการสรุปที่ขาดการคำนึงถึงบริบทของสังคม เพราะมีความเป็นไปได้เช่นเดียวกันว่าภายใต้บริบทของสังคมแบบหนึ่ง ทุนทางสังคมอาจทำให้ระบอบอำนาจนิยมแข็งแกร่งมากขึ้นก็ได้ หรือ อาจทำให้หลักการบางอย่างของระบอบประชาธิปไตยเบี่ยงเบนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น เช่น ทุนทางสังคมอาจไปสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบการซื้อขายเสียงในการเลือกตั้งก็ได้   
ประสบการณ์ของสังคมไทยเป็นหลักฐานในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ดังที่การมีบรรทัดฐานต่างตอบแทนทางสังคมดำรงอยู่ ทำให้ชาวบ้านผู้ซึ่งรับเงินจากหัวคะแนนมาแล้วต้องลงคะแนนเสียงแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งตามที่หัวคะแนนกำหนดให้ลง     อีกทั้งความไว้วางใจจะทำให้การซื้อขายเสียงได้ง่ายขึ้นและสามารถทำได้หลายรูปแบบ โดยไม่ต้องหวั่นเกรงว่าผู้ร่วมมือซื้อขายเสียงจะนำเรื่องเหล่านี้ไปดำเนินคดี   หรือการมีเครือข่ายทางสังคมมากก็ยิ่งทำให้โอกาสในการซื้อขายเสียงขยายออกไปได้อย่างกว้างไกลมากยิ่งขึ้น
          การทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมืองนั้น จำเป็นที่จะต้องเข้าใจระบบคิด  ความปรารถนา ชุดความเชื่อ และโครงสร้างทางความคิดของกลุ่มคนที่เป็นหน่วยการวิเคราะห์  รวมทั้งต้องเข้าใจกฎเกณฑ์และกลไกที่ผู้กระทำทางสังคม (social actors) ใช้ในการสร้าง ตอกย้ำ ผลิตซ้ำ และขยายสิ่งเหล่านั้น   แนวทางที่ผู้เขียนใช้เพื่อทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมทางการเมืองและการเลือกตั้งในบทความชิ้นนี้ คือการใช้แนวทางการตีความ (interpretative approach) เพื่อค้นหานัยของความปรารถนา ความเชื่อ และโครงสร้างทางความคิดของผู้เลือกตั้งในสังคมไทย    
คำหรือวลีที่ผู้เขียนใช้ในบทความชิ้นนี้เพื่อทดแทน/แลกเปลี่ยนกับคำว่า “วัฒนธรรม” คือ “โครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติ”    และจากการสังเกตศึกษาประเด็นด้านวัฒนธรรมการเมืองและการเลือกตั้งในสังคมไทย ผู้เขียนได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า สังคมไทยมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบ ทวิลักษณ์  ซึ่งเป็นผลพวงมากจากความแตกต่างเชิงภาวะวิสัยและประสบการณ์เชิงปฏิบัติทางสังคมของกลุ่มต่างๆ     การสรุปบทเรียนของแต่ละกลุ่มที่เกิดจากการผลิตซ้ำทางความคิดและการปฏิบัติ ได้ตกผลึกกลายเป็นโครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติ และมีการถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อไป   แต่ก่อนที่จะทำความเข้าใจกับ ลักษณ์ แต่ละอย่าง  ประเด็นพื้นฐานที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องคือ ช่องว่างระหว่างการเลือกตั้งในเชิงอุดมคติกับการเลือกตั้งที่เป็นจริงของสังคมไทย
             
อุดมคติและความเป็นจริงในการเลือกตั้งไทย
อุดมคติในการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองในสังคมที่เรียกว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งอย่างเสรีและเที่ยงธรรม   นัยของการเลือกตั้งที่เสรีคือการที่ผู้เลือกตั้งสามารถใช้วิจารณญาณของตนเองเพื่อไตร่ตรองเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง โดยใช้ความปรารถนาและความเชื่อชุดหนึ่งที่มีความสอดคล้องกัน  ความปรารถนาที่ว่านี้คือความปรารถนาถึงภาพในอนาคตของประเทศภายใต้การนำพาของผู้ที่อาสาเข้ามาบริหาร    หากผู้เลือกตั้งเชื่อว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองพรรคใด  มีนโยบายและความสามารถในการนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายที่ตนเองปรารถนาได้แล้ว   ผู้เลือกตั้งย่อมที่จะเลือกนักการเมืองและพรรคการเมืองนั้นๆตามเจตจำนงและอัตวินิจฉัยของตนเอง โดยปราศจากการชี้นำ  การครอบงำ การให้อามิสสินจ้าง การบังคับขู่เข็ญจากบุคคล กลุ่ม หรือ องค์กรใดๆ     สำหรับความเที่ยงธรรมนั้นมีนัยที่แสดงให้เห็นถึงภาวะที่การเลือกตั้งเป็นอิสระ ปลอดจากใช้อำนาจในรูปแบบใดๆที่เข้ามาบิดเบือนกระบวนการเลือกตั้งและผลของการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
หากนำอุดมคตินี้เป็นมาตรฐานในการพิจารณาความเป็นจริงของการเลือกตั้งในสังคมไทยจะพบว่ามีช่องว่างที่ค่อนข้างกว้างดำรงอยู่ระหว่างความเป็นจริงและอุดมคติ   ความเป็นจริงของการเลือกตั้งที่มีการศึกษาในแวดวงวิชาการคือ การเลือกตั้งในสังคมไทยมีกลุ่มผู้เลือกตั้งสองกลุ่มใหญ่ที่มีความปรารถนาต่างกัน กลุ่มแรกคือชาวบ้านในเขตชนบทซึ่งเป็นกลุ่มผู้เลือกตั้งส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางในบางส่วน ผู้เลือกตั้งกลุ่มนี้มี ความปรารถนา ที่เชื่อมโยงกับนามธรรมของค่านิยมดั้งเดิมของสังคมไทยและเชื่อมโยงกับตัวตนของตนเองและ/หรือชุมชนกับการเลือกตั้ง   กลุ่มที่สองคือชนชั้นกลางซึ่งเป็นกลุ่มผู้เลือกตั้งส่วนใหญ่ในภาคใต้ กรุงเทพมหานคร และบางส่วนในต่างจังหวัดที่กระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง  ผู้เลือกตั้งกลุ่มนี้มี ความปรารถนา ทางการเมืองซึ่งเชื่อมโยงกับความเชื่อเชิงนามธรรมบางประการของระบอบประชาธิปไตยตะวันตกและเชื่อมโยงกับสังคมในภาพรวมกับการเลือกตั้ง      ความปรารถนาที่แตกต่างกันของผู้เลือกตั้งสองกลุ่มนี้ สะท้อนถึงความแตกต่างของโครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติทางการเมืองและการเลือกตั้ง

โครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติในการเลือกตั้งของชาวชนบท

ผู้เลือกตั้งชาวชนบทมีความปรารถนาในการรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีกับกลุ่มผู้อำนาจเหนือพวกเขา และต้องการได้รับประโยชน์บางอย่างจากความสัมพันธ์นั้น การเมืองระดับชาติดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากชีวิตประจำวันของพวกเขา  ขณะที่การเลือกตั้งซึ่งแม้ว่าจะเกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว แต่ก็เป็นเวทีสำหรับการปฏิบัติการทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมของพวกเขา   การเลือกตั้งจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์และกลไกประการหนึ่งที่พวกเขาใช้เพื่อบรรลุความปรารถนาของพวกเขา        อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้อธิบายโครงสร้างทางความคิดของชาวชนบทที่มีต่อการเลือกตั้งว่า  ชาวชนบทใช้การเลือกตั้งเป็นการเชื่อมโยงตนเองกับชนชั้นนำท้องถิ่นที่เป็นผู้อุปถัมภ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การที่ชาวชนบทเลือกลงคะแนนให้ใครขึ้นอยู่กับบุญคุณที่ผู้สมัครหรือเครือข่ายของเขาที่มีต่อตนเองและครอบครัวในอดีตเป็นหลัก  รวมทั้งความคาดหวังในอนาคตว่าจะได้ความช่วยเหลือหรือได้ประโยชน์จากกลุ่มบุคคลเหล่านี้อย่างไร   ในการลงคะแนนชาวชนบทไม่คิดว่าตัวเองเป็นอิสรชน และไม่มองว่าการรับเงินเป็นการรับอามิสสินจ้าง[6]      แต่มองว่าการซื้อขายเสียงเป็นเรื่องของการรักษาสัจจะระหว่างตนเองกับเครือข่ายหัวคะแนน ดังนั้นเมื่อรับเงินแล้วก็ต้องลงคะแนนตามที่หัวคะแนนกำหนด
การรักษาสัจจะของชาวบ้านในสนามการเลือกตั้งเป็นประเด็นที่ นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ เห็นว่าเป็นเยื่อใยทางศีลธรรมของสังคม ซึ่งควรจะดำรงรักษาเอาไว้  และไม่ควรทำลายเยื่อใยเหล่านี้ด้วยการโฆษณาว่า ให้รับเงิน แต่ไม่ต้องเลือกเขา[7] ซึ่งเป็นการโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลาง  มุมมองของนิธิ ที่เกี่ยวข้องค่านิยมและบรรทัดฐานของชาวบ้านที่แสดงออกในสนามเลือกตั้ง ได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่พยายามเข้าใจชาวบ้าน และอธิบายแทนชาวบ้าน  หากพฤติกรรมซื้อขายเสียงของชาวบ้านถูกวิพากษ์จากชนชั้นกลาง พวกเขาก็อธิบายแทนชาวบ้านโดยใช้หลักคิดดังที่กล่าวมา   อย่างไรก็ตามการตีความเรื่องการขายเสียงในทำนองเห็นใจชาวบ้าน ก็อาจถูกวิจารณ์ได้ว่า เป็นผู้สนับสนุนให้ดำรงรักษาการเลือกตั้งที่ไม่เสรีและไม่เที่ยงธรรมเอาไว้

จากการอธิบายและการตีความของนักวิชาการทั้งสองที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมาอภิปรายข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่าขอบเขตความคิดของชาวบ้านมีอาณาบริเวณเฉพาะผลประโยชน์ที่รายล้อมอยู่รอบๆตนเองและครอบครัว ทั้งระยะสั้น (การรับเงิน) และระยะยาว(โอกาสการได้รับความช่วยเหลือ)    โครงสร้างความคิดเช่นนี้ของชาวบ้านเกิดขึ้นมาและดำรงอยู่ได้อย่างไร ในการตอบคำถามนี้ Pierre Bourdieu  ได้อธิบายว่า มนุษย์มีโครงสร้างทางความคิดที่เรียกว่า โครงสร้างทางปริชานหรือทางจิตใจของมนุษย์ซึ่งเป็นภาวะที่มนุษย์จัดการกับโลกทางสังคม   โครงสร้างความคิดเชิงปฏิบัติของมนุษย์แต่ละคนเป็นลำดับของแบบแผนการรับรู้  การเข้าใจ  การตีความ และการประเมินโลกทางสังคม สิ่งเหล่านี้จะบูรณาการและผนึกไปสู่ภายในจิตของมนุษย์ จากนั้นจะก่อตัวเป็นโครงสร้างขึ้นมา    ในขณะเดียวกันโครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัตินี้เองที่ทำให้มนุษย์ผลิตเหตุผลเชิงปฏิบัติ  การเลือกรับรู้ การตีความ และการประเมินโลกทางสังคมที่พวกเขาเผชิญหน้า     
โครงสร้างความคิดเชิงปฏิบัติเป็นทั้งผลผลิตของประวัติศาสตร์ และโลกทางสังคมในปัจจุบัน ซึ่งก่อให้เกิดการปฏิบัติทั้งระดับปัจเจกบุคคลและปฏิบัติการเชิงรวมหมู่   และในทางกลับกันการปฏิบัติการทางสังคมของมนุษย์ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่โครงสร้างทางความคิดเชิงการปฏิบัติของมนุษย์ด้วย โครงสร้างความคิดเชิงปฏิบัติมีทั้งลักษณะที่คงทนและเปลี่ยนแปลงได้ รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่มนุษย์ผู้ซึ่งมีโครงสร้างความคิดเชิงการปฏิบัติซึ่งไม่เหมาะสมกับโลกทางสังคมอาจประสบกับความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ[8]   เช่น หากให้ชาวบ้านรับเงิน แต่ไม่ลงคะแนนเสียงให้กับผู้จ่ายเงิน  ชาวบ้านก็จะรู้สึกผิดในเชิงศีลธรรม เป็นต้น 
การที่ชาวบ้านมีโครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติในการเลือกตั้งเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นผลมาจากการปะทะประสานระหว่างการปฏิบัติการทางสังคมเชิงอุปถัมภ์ซึ่งเป็นรากฐานของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมไทยตั้งแต่อดีตอันยาวไกล กับการปฏิบัติการทางสังคมเชิงประชาธิปไตยซึ่งชนชั้นนำไทยได้นำมาใช้ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475          
การปฏิบัติการทางสังคมเชิงอุปถัมภ์มีความเชื่อพื้นฐานว่าอำนาจทางสังคมของแต่ละกลุ่มไม่เท่าเทียมกัน กลุ่มที่มีอำนาจเป็นกลุ่มที่มีบุญบารมีและเหมาะสมที่เป็นผู้ปกครอง มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือคุ้มครองชาวบ้าน  ส่วนชาวบ้านเป็นกลุ่มผู้น้อย ไร้อำนาจ และไม่มีความปรารถนาในการครอบครองอำนาจ มีหน้าที่คอยปฏิบัติตามคำสั่งจากผู้มีบารมี และต้องพึ่งพาผู้มีบารมีเพื่อให้ตนเองและครอบครัวสามารถมีชีวิตอยู่ได้ตามอัตภาพปกติ  การไม่เชื่อฟังคำสั่งผู้มีบารมีย่อมนำพาความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและครอบครัวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เมื่อผู้มีบารมีสั่งให้ทำเช่นไรชาวบ้านย่อมกระทำตาม การปฏิบัติตามคำสั่งของผู้มีบารมีเป็นวิธีการที่ทำให้ชาวบ้านได้รับสิ่งที่ตนเองพึงปรารถนา ชาวบ้านมีระบบคิดว่าหากผู้มีบารมีทำให้ตนเองสามารถมีชีวิตได้ตามปกติสุข ก็ถือว่าเป็นบุญคุณระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ผู้มีบารมีช่วยเหลือชาวบ้านในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพิ่มขึ้น ความสำนึกในบุญคุณที่ชาวบ้านมีต่อผู้มีบารมีก็เพิ่มระดับความเข้มข้นมากขึ้น
ขณะที่การปฏิบัติการทางสังคมแบบประชาธิปไตยมีรากฐานทางความเชื่อเรื่องความเท่าเทียม ความเสมอภาค ความเป็นอิสระ และความสามารถตัดสินใจกระทำการทางสังคมได้ด้วยตนเองของมนุษย์     บุคคลที่เป็นผู้ปกครองหาใช่ผู้มีบารมีที่ไหน แต่เป็นเพียงตัวแทนหรือบุคคลที่ราษฎรไว้วางใจและเลือกให้ไปเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของสังคมแทนตนเอง     หลักคิดเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งแปลกปลอมจากโครงสร้างทางความคิดดั้งเดิมของประชาชนในสังคมไทย 
ในการผลักดันความคิดเช่นนี้ให้มาทดแทนความคิดเดิม หากผู้นำการเปลี่ยนแปลงดำเนินการอย่างเต็มกำลัง อาจทำให้โครงสร้างทางความคิดเดิมของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงได้บ้างไม่มากก็น้อย   แต่จากข้อเท็จจริงเชิงประวัติศาสตร์นับแต่เริ่มการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จนถึงปี 2550 หรือ 75 ปีแล้ว  มีชนชั้นนำของสังคมเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่พยายามผลักดันการความคิดเชิงปฏิบัติการประชาธิปไตยให้เข้าไปสู่กระบวนการภายในจิตสำนึกของชาวบ้าน  ขณะที่ชนชั้นนำส่วนใหญ่มีส่วนทำลายการปฏิบัติการสังคมเชิงประชาธิปไตยโดยการส่งเสริม ผลิตซ้ำ ตอกย้ำ การปฏิบัติการทางสังคมเชิงอุปถัมภ์อย่างต่อเนื่องในแทบทุกมิติของโลกสังคม  เมื่อการกระทำทางสังคมของชนชั้นนำเป็นดังที่กล่าวมา ความคิดเชิงปฏิบัติการแบบประชาธิปไตย จึงไม่สามารถแทรกเข้าไปทดแทนจิตสำนึกเดิมของชาวบ้านได้

การรับรู้ การตีความ และการตกผลึกเชิงโครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติการเลือกตั้งของชาวบ้าน
การเลือกตั้งซึ่งเป็นองค์ประกอบด้านเงื่อนไขการเข้าสู่อำนาจของระบอบประชาธิปไตย ได้กลายมาเป็นสนามของการประทะกันระหว่างโครงสร้างความคิดแบบอุปถัมภ์กับโครงสร้างความคิดแบบประชาธิปไตย  หากยึดถือตามอุดมคติ การเลือกตั้งคือการเลือกตัวแทนในฐานะที่เป็นสมาชิกรัฐสภา  ซึ่งหลักคิดนี้ได้รับการยอมรับกันประเทศประชาธิปไตยตะวันตก  Edmund Burke ผู้ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้จุดชนวนให้หลักคิดนี้แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับในภายหลัง ได้แสดงสุนทรพจน์ไว้อย่างชัดเจนในปี ค.ศ. 1774 ในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎร์ของประเทศอังกฤษว่า

สภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่เป็นสถานที่ที่รวมของบรรดาทูตจากท้องถิ่น จังหวัด กลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งแต่ละคนต่างช่วงชิง ต่อรองเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ต่อเขตเลือกตั้งหรือกลุ่มของตนเองมากที่สุด    แต่สภาผู้แทนราษฎรเป็นแหล่งพลังอำนาจในการตัดสินใจของหนึ่งประเทศ กับผลประโยชน์เพียงหนึ่งเดียว นั่นคือผลประโยชน์ของประชาชนทั้งมวล  เมื่อประชาชนเลือกผู้แทนราษฎร เขาไม่ใช่เป็นผู้แทนของเขตเลือกตั้ง  แต่เขาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้แทนปวงชนทั้งประเทศ  เขาจะไม่สนับสนุนเรื่องใดที่สร้างประโยชน์แก่เขตเลือกตั้งตนเอง  หากการกระทำเช่นนั้นก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีหรือเกิดผลกระทบด้านลบต่อชุมชนที่เหลืออื่นๆของประเทศ[9]

การเลือกตั้งไทยได้ถูกตีความและให้ความหมายที่หลากหลายจากชาวบ้าน  ตั้งแต่เริ่มมีการเลือกตั้งโดยตรงในครั้งแรกในปี 2480     ชาวบ้านมองว่าการเลือกตั้งเป็นกิจกรรมของรัฐ เมื่อรัฐหรือผู้นำสั่งให้ไปเลือก พวกเขาก็ไป[10]  หรือ มองว่าการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ชาวกรุงเทพฯสร้างขึ้นมา และบอกว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศและชาวบ้านในชนบท [11]   ระหว่างปี  พ.ศ. 2480 ถึง พ.ศ. 2500  มีการเลือกตั้งโดยตรง 8 ครั้ง เฉลี่ย 2 ปี ครึ่งต่อครั้ง ซึ่งทำให้ชาวบ้านเรียนรู้และเริ่มสั่งสมประสบการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งมากขึ้นพอสมควร  การเรียนรู้เรื่องการเลือกตั้งในช่วงนี้ของชาวบ้านได้ก่อเป็นรูปแบบทางความคิดในเชิงการแลกเปลี่ยนมากขึ้น   การเลือกตั้งซึ่งแต่เดิมเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อฟังคำสั่งเป็นหลัก ได้ถูกขยายออกไปสู่มิติของการแลกเปลี่ยนคะแนนเสียงซึ่งแต่เดิมมีเพียง คุณค่าทางอำนาจ-สังคม เริ่มจะมี มูลค่าทางเศรษฐกิจ เข้ามาเกี่ยวข้อง   การเรียนรู้ว่าการลงคะแนนเสียงสามารถสร้างเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ได้รับการแพร่กระจายออกไป และผนึกอยู่โครงสร้างทางความคิดของชาวบ้านเพิ่มมากขึ้น
การเรียนรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ขาดหายไปช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือ ประมาณ 11 ปีเศษ  นับจาก พ.ศ. 2501 ถึง พ.ศ. 2512    กระนั้นก็ตาม โครงสร้างทางความคิดที่ถูกผนึกอยู่ในกระบวนการภายในจิตของผู้เลือกตั้งหาได้ถูกทำลายลงไปแต่อย่างใด   เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี พ.ศ. 2512    โครงสร้างทางความคิดเช่นนี้ถูกกระตุ้นให้ปรากฏออกมาอีกครั้งหนึ่งและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง      ในระหว่างปี พ.ศ. 2512 ถึง พ.ศ.2549 ซึ่งมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น 14 ครั้ง หรือ เฉลี่ย 2.7 ปี ต่อหนึ่งครั้ง   การพัฒนาการโครงสร้างทางความคิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งของชาวบ้านในระยะเวลานี้จึงเป็นการบูรณาการระหว่างหลักคิดคุณค่าเชิงอำนาจ-สังคม กับ มูลค่าทางเศรษฐกิจ   และชาวบ้านส่วนหนึ่งซึ่งเป็นชนชั้นนำในชนบทได้พัฒนาตนเองเป็นหัวคะแนนอาชีพ
อิทธิพลของหลักคิดมูลค่าเชิงเศรษฐกิจต่อการเลือกตั้ง ปรากฏชัดเจนขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2512 [12]  หลังจากนั้นหลักคิดเช่นนี้ได้รับการตอกย้ำ ผลิตซ้ำ ในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ทำให้โครงสร้างทางความคิดเช่นนี้ตกผลึกและมีเสถียรภาพอยู่ในจิตสำนึกของชาวบ้าน ซึ่งสามารถเขียนเป็นความสัมพันธ์ได้ดังนี้
1.                                ชาวบ้านมีความปรารถนาว่าตนเองจะได้ประโยชน์และ/หรือดำรงไว้ซึ่งประโยชน์ที่ตนเองและครอบครัวได้รับ
2.                                ประโยชน์ที่ชาวบ้านปรารถนาคือ การได้รับความช่วยเหลือหรือคุ้มครองจากผู้นำท้องถิ่นและ/หรือผู้สมัคร ส.ส.  การแสดงว่าตนเองมีศีลธรรม และการมีเงินไว้จับจ่ายใช้สอย
3.                                การขายเสียงเป็นวิธีการที่ใช้ในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้อุปถัมภ์ในชุมชน เป็นวิธีการที่แสดงออกทางศีลธรรม และทำให้ชาวบ้านมีเงินไว้จับจ่ายใช้สอย
4.                                ขณะที่การไม่ขายเสียง อาจทำให้เกิดรอยร้าวของความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งนำไปสู่การไม่ได้รับการได้รับการช่วยเหลือและคุ้มครองในอนาคต  รวมทั้งทำให้ไม่ได้เงิน
5.                                การรับเงิน แต่ไม่ลงคะแนนเสียง แม้จะได้รับเงินไว้จับจ่ายใช้สอย แต่อาจทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมแตกแยก  เกิดความบาดหมางกับผู้อุปถัมภ์ ส่งผลให้สูญเสียโอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลือในอนาคต  และเป็นการบั่นทอนศีลธรรมของตนเอง
6.                                ดังนั้นเมื่อหัวคะแนนผู้ซึ่งเคยช่วยเหลือตนเองหรือครอบครัวหรือญาติ มาเสนอให้เงินชาวบ้านในช่วงที่มีการเลือกตั้ง   ชาวบ้านจะรับเงินไว้และลงคะแนนตามที่หัวคะแนนบอก

การปรับขยายโครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติหลังจากเลือกตั้ง ปี 2544
ก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2544  โครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติการเลือกตั้งเดิมของชาวบ้านแสดงออกอยู่ภายใต้บริบทของเขตเลือกตั้งเป็นหลัก  เป้าหมายการตอบสนองคือตัวผู้สมัครส.ส. และหัวคะแนนที่พวกเขามีความสัมพันธ์   ในการเลือกตั้งปี 2544 บริบทการตอบสนองของชาวบ้านได้เริ่มขยายไปสู่หัวหน้าพรรคและพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง (พรรคไทยรักไทย) ที่ใช้นโยบายเชิงรูปธรรม  เสนอผลประโยชน์ให้กับชาวบ้านโดยตรงในลักษณะที่เป็นนโยบายทั่วไป (Universal Policy) และเมื่อพรรคดังกล่าวได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ก็ได้นำนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงไปปฏิบัติการจริง   การรักษาคำมั่นสัญญาของพรรคการเมืองดังกล่าว[13] ทำให้ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้ว่าการเมืองมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของตนเองมากขึ้น หัวหน้าพรรคการเมืองดังกล่าวจึงกลายมาเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของชาวบ้าน  เป็นผู้มีบุญคุณต่อชาวบ้าน ดังนั้นในความคิดของชาวบ้านการลงคะแนนเสียงเพื่อสนับสนุนให้หัวหน้าพรรคการเมืองพรรคนี้เป็นผู้บริหารประเทศจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล  นโยบายที่ชาวบ้านคิดว่าตนเองได้ประโยชน์มากที่สุดจากพรรคการเมืองดังกล่าวคือนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค   ขณะที่นโยบายอื่นๆที่เหลือ เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน นโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือชนชั้นนำในหมู่บ้านหรือบรรดาหัวคะแนนนั่นเอง   จึงกล่าวได้ว่าหัวหน้าพรรคไทยรักไทยดึงเอาชนชั้นนำในหมู่บ้านซึ่งมีอิทธิพลต่อการสร้างและผลิตซ้ำโครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติการเลือกตั้งของชาวบ้านออกจากผู้อุปถัมภ์ท้องถิ่นหรือผู้สมัครส.ส. ให้มาจงรักภักดีต่อตนเอง
 ดังนั้นในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 พรรคไทยรักไทย จึงได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น   และในการเลือกตั้งปีนั้นมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งถึงร้อยละ 72.55 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งเป็นสถิติการไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งโดยตรงครั้งแรกเมื่อปี 2480    แสดงให้เห็นว่านโยบายที่ให้ผลประโยชน์โดยตรงแก่ชาวบ้านมีพลังในการระดมบุคคลบางกลุ่มซึ่งอาจอยู่นอกอาณาบริเวณทางการเมือง-การเลือกตั้งให้เข้ามาเกี่ยวข้องในสนามของอำนาจ   

   ภาพการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับโครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติการเลือกตั้งของชาวบ้านในการเลือกตั้งที่เกิดก่อนจนถึงปี 2544    คือ ความคุ้มครอง ความช่วยเหลือและประโยชน์ที่ชาวบ้านได้รับ รวมศูนย์อยู่ที่ตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นหลัก    หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ก่อกำเนิดและบำรุงรักษาวงจรแห่งโครงสร้างความคิดนี้โดยผ่านกลไกชนชั้นนำในชุมชนที่แปลงสภาพเป็นหัวคะแนน    ขณะที่ชาวบ้านอาจการตอบแทนบุญคุณ การรักษาสัจจะต่อหัวคะแนนรอง หรือหัวคะแนนหลัก หรือผู้สมัครโดยตรงและการลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัคร    
สำหรับการเลือกตั้งในปี 2548 และความคุ้มครอง ความช่วยเหลือ และประโยชน์ที่ชาวบ้านได้รับเพิ่มขึ้นอีกแหล่งคือจากหัวหน้าพรรคไทยรักไทย  ซึ่งกลายเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของชาวบ้านและชนชั้นนำในท้องถิ่นที่เป็นหัวคะแนน  อันเป็นผลมาจากนโยบายแจกจ่ายผลประโยชน์โดยตรงที่หัวหน้าพรรคผู้นี้ผลักดันออกมาระหว่างการบริหารประเทศในปี 254ถึง 2548    สิ่งที่ตามมาคือการลดลงของอิทธิพลของผู้สมัคร ส.ส. ที่มีต่อชาวบ้านและหัวคะแนน
การบริหารประเทศของหัวหน้าพรรคไทยรักไทยหลังปีเป็นต้นมา ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงและกว้างขวางจากสื่อมวลชนและนักวิชาการในเรื่องของการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของตนเอง ครอบครัว และพวกพ้อง  และหัวหน้าพรรคก็ถูกเดินขบวนขับไล่ให้พ้นจากสถานภาพการเป็นนายกรัฐมนตรี  แต่การวิพากษ์วิจารณ์และการเคลื่อนไหวทางสังคมดังกล่าวมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความคิดเชิงปฏิบัติการเลือกตั้งของชาวบ้านเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง   ดังนั้นเมื่อมีการยุบสภาและประกาศเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549  ผู้สมัครส.ส.ของพรรคการเมืองพรรคนี้ก็ยังได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก[14]   
ในปลายปีมีสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติการเลือกตั้งของชาวบ้านหลายประการ   ประการแรกมีการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 ทำให้หัวหน้าพรรคการเมืองดังกล่าวหมดอำนาจในการบริหารประเทศ  ประการที่สอง การยุบพรรคไทยรักไทยในเดือนพฤษภาคม 2550  ตุลาการรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคไทยรักไทยและถอดถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารของพรรคนี้เป็นเวลาห้าปี[15]   ประการที่สาม อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยถูกอายัดทรัพย์สินและกำลังถูกฟ้องร้องในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเป็นจำนวนมาก[16]    
อย่างไรก็ตามตัวชี้วัดเบื้องต้นที่สามารถประเมินว่าโครงสร้างทางความคิดของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเท่าไรคือ การลงประชามติเกี่ยวกับการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550  ซึ่งผลปรากฏว่าซึ่งปรากฏว่ามีผู้ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 10,747,310 เสียง  พื้นที่ที่คะแนนไม่เห็นชอบสูงอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือซึ่งเป็นฐานคะแนนเสียงของพรรคไทยรักไทย  แม้ว่าผู้ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญอาจมีหลายกลุ่ม แต่ยากที่จะปฏิเสธได้ว่าผู้ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่คือชาวบ้านที่มีโครงสร้างทางความคิดที่ผูกติดกับอดีตหัวหน้าพรรคและบรรดาอดีตส.ส.ของพรรคไทยรักไทย  หากพิจารณาตัวเลขการลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญกับตัวเลขที่มีผู้เลือกพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งปี 2549(16.4ล้านเสียง)  จะเห็นได้ว่ามีคะแนนต่างกันประมาณ 6 ล้านเสียง  
สิ่งที่พึงตระหนักคือคะแนนการลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็เป็นเพียงภาพเชิงเปรียบเทียบในบางส่วนเท่านั้น หาใช่ภาพที่สมบูรณ์ไม่ เพราะเงื่อนไขในการเลือกตั้งทั่วไปมีความแตกต่างจากเงื่อนไขของการลงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญหลายประการ  ถึงกระนั้นตัวเลขการลงประชามติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญก็บอกแนวโน้มบางประการนั่นคือ โครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติการเลือกตั้งของชาวบ้านแบบปี 2548 และ 2549 อาจเริ่มมีการสั่นคลอนในบางระดับ และมีความเป็นไปได้ที่จะหันกลับไปสู่โครงสร้างทางความคิดที่ดำรงอยู่ก่อนการเลือกตั้งปี 2548     อย่างไรก็ตาม อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยพยายามที่จะรักษาโครงสร้างความคิดเชิงปฏิบัติการเลือกตั้งของชาวบ้านแบบปี ให้ดำรงอยู่ โดยการสนับสนุนอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งที่ยังจงรักภักดีต่อตนเองจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาชื่อ "พรรคพลังประชาชน" เพื่อใช้เป็นกลไกในการรักษาความต่อเนื่องของโครงสร้างทางความคิดดังกล่าวไว้

การก่อตัวของโครงสร้างความคิดเชิงปฏิบัติการเลือกตั้งของชนชั้นกลาง
การก่อเกิดโครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติการเลือกตั้งของประชาชนในสังคมไทยหาได้มีเพียงโครงสร้างเดียวไม่   พร้อมๆกับการที่ชาวบ้านสร้างและหล่อหลอมโครงสร้างความคิดชุดหนึ่งขึ้นมา   ชนชั้นกลางก็ได้สร้างโครงสร้างความคิดขึ้นมาอีกชุดหนึ่งซึ่งมีความแตกต่างจากโครงสร้างทางความคิดของชาวบ้านอย่างมีนัยสำคัญ  สังคมไทยในปัจจุบันและอนาคตในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้ง มีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างโครงสร้างสร้างทางคิดเชิงปฏิบัติของทั้งสองกลุ่มขึ้นมา
โดยที่สังคมไทยมีการขยายตัวของชนชั้นกลางมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2500เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ประสบการณ์และบทเรียนในการดำเนินชีวิตของชนชั้นกลางแตกต่างจากชาวบ้านค่อนข้างมาก  ชนชั้นกลางมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากกว่าชาวบ้าน มีความเป็นอิสระในการดำรงชีวิตสูงกว่าชาวบ้าน มีการศึกษาโดยเฉลี่ยสูงกว่าชาวบ้าน  มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองมากกว่าชาวบ้าน  สามารถติดตามเฝ้าดูพฤติกรรมทางการเมืองของนักการเมืองในการบริหารประเทศได้มากกว่าชาวบ้าน  สามารถเชื่อมโยงผลกระทบของการดำเนินทางนโยบายของรัฐบาลต่อวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจและทางการเมืองได้มากกว่าชาวบ้าน  สิ่งต่างๆเหล่านี้ก่อตัวขึ้นมาเป็นความปรารถนาทางการเมืองของชนชั้นกลาง และวิถีที่ชนชั้นกลางเชื่อว่าจะนำไปสู่ความปรารถนานั้น
ชนชั้นกลางมีความปรารถนาที่จะให้มีประชาธิปไตยในความหมายที่ใกล้เคียงกับหลักการของความคิดเชิงตะวันตก นั่นคือ ในการเข้าสู่อำนาจต้องมีการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและเที่ยงธรรม   ในการใช้อำนาจพวกเขาต้องการรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพและมีความซื่อสัตย์ในการบริหารประเทศ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือต้องการรัฐบาลที่มีการทุจริตคอรัปชั่นน้อยหรือไม่มีเลย   สำหรับในเรื่องของการตรวจสอบอำนาจ ชนชั้นกลางต้องการฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง และในระยะต่อมาภายหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 สิ่งที่ชนชั้นกลางมีความต้องการอีกประการหนึ่งคือการมีองค์กรอิสระที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล
ตลอดระยะเวลาของการพัฒนาการเมืองไทย ความปรารถนาของชนชั้นกลางกับความเป็นจริงทางการเมืองมีช่องว่างค่อนข้างมาก   นั่นคือชนชั้นกลางเรียนรู้ว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในชนบทเป็นการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยการซื้อสิทธิขายเสียง  ซึ่งส่งผลให้ชนชั้นกลางมีทัศนคติเชิงลบต่อนักการเมืองและผู้เลือกตั้งชาวชนบท     ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อนักการเมืองเหล่านั้นเข้ามาบริหารประเทศก็สร้างความผิดหวังให้ชนชั้นกลางมากขึ้นไปอีก  ชนชั้นกลางสังเกตพฤติกรรมการใช้อำนาจของนักการเมือง พวกเขาเห็นว่ามีนักการเมืองจำนวนมากไร้ความสามารถในการบริหารประเทศและไร้ความซื่อสัตย์  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งนักการเมืองในการรับรู้ของชนชั้นกลางนั้นบางคนแม้ว่ามีภาพลักษณ์ของความซื่อสัตย์ แต่กลับไร้วิสัยทัศน์และไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ   ขณะที่บางคนดูเหมือนมีวิสัยทัศน์และมีประสิทธิภาพก็กลับกลายเป็นว่าเป็นคนที่มีการทุจริตและความฉ้อฉลอย่างไม่น่าเชื่อ   ประสบการณ์จริงทางการเมืองที่ปรากฎให้เห็นทำให้ชนชั้นกลางขาดความเชื่อมั่นและมีทัศนคติเชิงลบต่อนักการเมือง        
สำหรับในการตรวจสอบอำนาจ ชนชั้นกลางก็พบปรากฏการณ์ที่สร้างความคิดในเชิงลบต่อนักการเมืองมากขึ้นไปอีก กล่าวคือชนชั้นกลางพบว่า นักการเมืองหาได้มีการตรวจสอบกันอย่างจริงจังไม่ เพียงแต่ใช้เวทีการตรวจสอบเป็นเวทีในการทำลายฝ่ายตรงข้ามและสร้างคะแนนนิยมให้แก่ตนเองและพรรคที่สังกัดเป็นหลัก    แม้จะมีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรม ปี 2540  ก็ปรากฏว่าองค์กรเหล่านั้นกลับถูกแทรกแซงจากนักการเมืองเมืองจนกระทั่งขาดอิสระในการดำเนินงานและไร้ความเป็นกลางในการวินิจฉัยเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของรัฐบาล
ภายใต้การรับรู้พฤติกรรมทางการเมืองของนักการเมืองแหล่านี้ ทำให้ในบางเวลาชนชั้นกลางเปิดทางต้อนรับการรัฐประหารของทหาร  ทั้งที่ชนชั้นกลางก็มีทัศนคติในเชิงลบต่อการใช้อำนาจเผด็จการของทหาร   ชนชั้นกลางคาดหวังในสิ่งที่ไม่มีการบรรลุได้หลายครั้ง นั่นคือความคาดหวังให้ทหารมาจัดระเบียบทางการเมืองและสร้างระบบการเมืองที่ไม่เปิดพื้นที่ให้นักการเมืองที่ฉ้อฉลได้แสดงอำนาจ   แต่ชนชั้นกลางก็ยินดีได้เพียงไม่นานและเขาก็พบกับประสบการณ์ที่ขมขื่นแทบทุกครั้ง เมื่อความเป็นจริงแสดงตัวออกมาอย่างชัดเจนว่า ทหารที่พวกเขาคาดหวังกลับจับมือกับนักการเมืองที่พวกเขาประณามเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป  หรือไม่ก็พบว่าทหารที่เข้ามาครองอำนาจก็มีพฤติกรรมที่ไม่แตกต่างกับนักการเมืองที่พวกเขารังเกียจ ซึ่งได้แก่การมีพฤติกรรมการบริหารประเทศที่ฉ้อฉลและไร้ประสิทธิภาพเช่นเดียวกันกับนักการเมืองนั่นเอง
ในการสถาปนาประชาธิปไตยโดยใช้การเลือกตั้งเป็นหลักในทัศนะของชนชั้นกลาง โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่เป็นกลุ่มแกนนำทางความคิด ดูจะไม่ใช่วิธีเดียวและเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาได้     กลุ่มแกนนำทางความคิดของชนชั้นกลางจึงได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการสร้างประชาธิปไตย  โดยผลักดันสิ่งที่เรียกว่า  การมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง ในกระบวนการทางการเมืองและการกำหนดนโยบาย ขึ้นมาเป็นทางเลือกสำหรับการสร้างประชาธิปไตย    ณ  จุดนี้ ประชาธิปไตยที่ชนชั้นกลางปรารถนาจึงเป็นประชาธิปไตยที่มีลักษณะทวิภาวะ ด้านหนึ่งคือ ชนชั้นกลางไม่อาจปฏิเสธประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) ได้  จึงต้องยอมรับการดำรงอยู่ของมัน แต่อีกด้านหนึ่ง ชนชั้นกลางพยายามสถาปนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (participative democracy) ขึ้นมา
นอกจากนั้นยังมีวิถีทางอีกประการหนึ่งที่ชนชั้นกลางใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับรัฐบาลที่พวกเขาเห็นว่าไร้ความชอบธรรมในการบริหารประเทศ คือการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อต่อต้านและขับไล่รัฐบาลออกไป  ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม   การเคลื่อนไหวทางสังคมของชนชั้นกลาง เริ่มปรากฏชัดเจนเมื่อปี 2535 ในการขับไล่รัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร    หลังจากนั้นคือการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ในปี 2540 และครั้งที่สาม คือการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549  การเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลครั้งหลังสุดของชนชั้นกลางเป็นการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องและยาวนาน ทำให้ชนชั้นกลางเกิดการสั่งสมประสบการณ์และเรียนรู้ถึงพลังอำนาจทางการเมืองของตนเองเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน   และมีแนวโน้มที่กลุ่มแกนนำชนชั้นกลางบางส่วนจะสร้างองค์กรทางการเมืองเพื่อรวบรวมพลังที่กระจัดกระจายของชนชั้นกลางให้เป็นกลุ่มพลังอำนาจอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้าไปปฏิบัติการทางการเมืองโดยตรงทั้งในสนามการเลือกตั้งและนอกสนามการเลือกตั้ง

โครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติการเลือกตั้งของชนชั้นกลาง
กล่าวสำหรับการปฏิบัติการในสนามเลือกตั้งของชนชั้นกลาง เราอาจจำแนกชนชั้นกลางเป็นกลุ่มย่อยสองกลุ่ม คือ ชนชั้นกลางที่อยู่ในภาคใต้ และชนชั้นกลางในเขตเมืองอื่นๆ   ชนชั้นกลางในภาคใต้ ได้ใช้พรรคการเมืองพรรคหนึ่งคือ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของตนเอง   ด้วยเหตุที่พรรคการเมืองพรรคนี้มีประวัติศาสตร์ที่ต่อสู้กับระบอบเผด็จการอำนาจนิยมทหารอย่างยาวนาน ซึ่งทำให้ผู้เลือกตั้งชนชั้นกลางภาคใต้นั้นเห็นว่าพรรคการเมืองดังกล่าวเป็นวิถีที่สามารถตอบสนองความเชื่อของพวกเขาได้    เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ พรรคการเมืองพรรคนี้ได้ปรากฏนักการเมืองที่เป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ขึ้นมา[17]เป็นหัวหน้าพรรคและเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ระยะเวลาหนึ่ง    ด้วยเหตุผลดังกล่าวการรับรู้และการตีความของชนชั้นกลางในภาคใต้ได้ผนึกเข้าไปก่อรูปเป็นโครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติการเลือกตั้งขึ้นมาชุดหนึ่ง
ด้านชนชั้นกลางที่อยู่นอกเหนือจากภาคใต้โดยเฉพาะชนชั้นกลางในเขตกรุงเทพมหานคร สิ่งที่พวกเขาปรารถนามีมากกว่าการต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมและความซื่อสัตย์  แต่ยังรวมไปถึงการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย     จากการที่ความเป็นจริงทางการเมืองไม่สามารถทำให้พวกเขาได้บรรลุความปรารถนา ส่งผลให้โครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติการเลือกตั้งของพวกเขามีเสถียรภาพต่ำและมีความยืดหยุ่นสูง พวกเขาพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางความคิดของตนเองอยู่ตลอดเวลา นั่นคือพวกเขาจะพิจารณาบริบทของการเลือกตั้งแต่ละครั้งว่ามีนักการเมืองและพรรคการเมืองที่อาจสามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้มากที่สุด  พวกเขาก็จะเลือกนักการเมืองและพรรคการเมืองดังกล่าว  และมีอยู่หลายครั้งที่การเลือกตั้งของพวกเขาเป็นการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ หรือเป็นการเลือกตั้งที่แม้จะทราบว่าพรรคการเมืองพรรคที่พวกเขาเลือกอาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการทั้งหมดของพวกเขาได้   แต่หากพรรคการเมืองพรรคนั้นสามารถตอบสนองได้ในบางส่วนพวกเขาก็จะเลือกพรรคการเมืองนั้น   หรือเลือกพรรคการเมืองพรรคหนึ่งเพื่อสกัดกั้นไม่ให้อีกพรรคการเมืองหนึ่งซึ่งพวกเขาเห็นว่าเป็นปรปักษ์กับความปรารถนาของพวกเขาได้รับการเลือกตั้ง[18]
การลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2549 ผ่านการกากบาทในช่องไม่ลงคะแนนเสียงประมาณ 9 ล้านเสียง เป็นการแสดงเจตจำนงที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของชนชั้นกลาง ที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความปรารถนาในการปฏิเสธการบริหารประเทศของรัฐบาลที่พวกเขารับรู้และตีความว่าไร้ความซื่อสัตย์ และนอกจากแสดงพลังผ่านการเลือกตั้งแล้ว ชนชั้นกลางบางส่วนยังอาศัยกลไกอื่นๆทางสังคมการเมือง เช่น กลไกด้านกฎหมาย การกดดันทางสังคม รวมถึงการสนับสนุนการรัฐประหารด้วยเพื่อทำให้ความปรารถนาของตนเองได้บรรลุ

สรุป
วัฒนธรรมการเมืองของสังคมไทยมีลักษณะทวิลักษณ์ ซึ่งแสดงออกผ่านโครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติการทางการเมืองและการเลือกตั้งของกลุ่มชนสองกลุ่มใหญ่ในสังคมคือ กลุ่มชาวบ้านหรือชาวชนบท  และกลุ่มชนชั้นกลางหรือชาวเมือง   โครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติเป็นการบูรณาการของระบบคิด ความปรารถนา ความเชื่อ การรับรู้ การเข้าใจ การตีความและการประเมินโลกทางสังคม  ซึ่งแสดงให้ปรากฏโดยการกระทำทางสังคมของบุคลหรือกลุ่มคน อย่างเป็นแบบแผนมีความต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็สามารถถ่ายทอดและเปลี่ยนแปลงได้
ลักษณะโครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติการเลือกตั้งของชาวบ้าน ก่อเกิดจากเงื่อนไขการปฏิบัติการทางสังคมเชิงอุปถัมภ์และการปฏิบัติการสังคมเชิงประชาธิปไตยแบบตัวแทน   ชาวบ้านใช้ฐานคิดและระบบความเชื่อแบบอุปถัมภ์ในการรับรู้ ทำความเข้าใจและตีความการเลือกตั้ง  โดยมีความปรารถนาที่จะได้รับความคุ้มครองช่วยเหลือและการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับชนชั้นนำในชุมชนที่เป็นหัวคะแนน  รวมทั้งปรารถนารักษาบรรทัดฐานด้านศีลธรรมของตนเอง และการได้ประโยชน์ทางวัตถุ   ในการบรรลุความปรารถนานี้ชาวบ้านจึงยอมรับเงินจากหัวคะแนนให้ในช่วงการเลือกตั้ง และลงคะแนนเสียงตามที่หัวคะแนนกำหนด   โครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติการเลือกตั้งของชาวบ้านจึงเป็นการผสานระหว่างคุณค่าเชิงอำนาจ-สังคม กับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ชาวบ้านได้รับจากหัวคะแนนและผู้สมัครรับเลือกตั้ง   หลังจากการเลือกตั้งปี 2544 แหล่งที่ให้คุณค่าเชิงอำนาจ-สังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ชาวบ้านและหัวคะแนน  เคลื่อนตัวออกไปจากผู้สมัครไปสู่หัวหน้าพรรคการเมืองบางพรรค ด้วยอิทธิพลจากนโยบายที่แจกจ่ายผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ชาวบ้านและหัวคะแนนโดยตรง จึงทำให้อิทธิพลของผู้สมัครส.ส.ที่มีต่อโครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติการเลือกตั้งของชาวบ้านลดลง  อย่างไรก็ตามการเคลื่อนตัวของแหล่งที่มาของอำนาจ-สังคมและมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบแผนหลักของโครงสร้างทางคิดเชิงปฏิบัติการเลือกตั้งแต่อย่างใด
ขณะที่ชนชั้นกลางเรียนรู้การเมืองและการเลือกตั้งโดยใช้ฐานระบบความเชื่อที่แตกต่างจากชาวบ้าน   ชั้นกลางใช้ฐานคิดและระบบความเชื่อของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งเน้นในเรื่องการเข้าสู่อำนาจโดยผ่านการเลือกตั้งต้องเป็นไปอย่างอิสระและมีความเที่ยงธรรม  เมื่อชนชั้นประสบกับความเป็นจริงทางการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับการเลือกตั้งพบว่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมาไม่สอดคล้องกับความเชื่อของตนเอง  ชนชั้นกลางจึงมีทัศนะที่ดูถูกชาวบ้านและนักการเมืองต่างจังหวัด   ชนชั้นกลางไม่มีเงื่อนไขทางสังคมที่จะต้องรักษาความสัมพันธ์ในเชิงพึ่งพากับนักการเมืองและหัวคะแนน จึงทำให้พวกเขามีอิสระทางความคิดและการปฏิบัติการทางการเมือง    ความปรารถนาของชนชั้นกลางคือ การไม่มีการซื้อขายเสียงในการเลือกตั้ง  การมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ และมีความซื่อสัตย์    ชนชั้นกลางไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะทำให้ความปรารถนาของตนเองได้บรรลุ ดังนั้นโครงสร้างทางความคิดเชิงปฏิบัติการเลือกตั้งของชนชั้นกลางจึงมีความยืดหยุ่น และปฏิบัติการณ์ตามบริบทของสังคมการเมืองในแต่ละช่วงเวลา    การที่ชนชั้นกลางไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะทำให้ความปรารถนาของตนเองบรรลุ ชนชั้นกลางจึงใช้การปฏิบัติการเมืองนอกเวทีการเลือกตั้งเพิ่มอีกทางหนึ่ง โดยการกดดันหรือเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อขับไล่รัฐบาลที่มีการดำเนินงานขัดแย้งกับความปรารถนาของพวกเขา    รวมทั้งกลุ่มผู้นำทางความคิดของชนชั้นกลางได้พยายามผลักดันและสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมขึ้นมา เพื่อเปิดพื้นที่ทางการสังคมซึ่งทำให้พวกเขาสามารถใช้วิธีการที่หลากหลายในการปฏิบัติการทางการเมืองเพื่อการบรรลุความปรารถนาของตนเอง



อ้างอิง



[1] Pye, quoted in Jan-Erik Lane and Svante Ersson, Culture and Politics: A Comparative Approach  (Burlington: Ashgate, 2005) p. 31.
[2] G.A. Almond and S. Verbra  The Civic Culture: Political Attitudes and Democracy in Five Nations (Boston, MA: Little, Brown and Company, 1965) p. 12.
[3] Jan-Erik Lane and Svante Ersson, Culture and Politics: A Comparative Approach          (Burlington: Ashgate, 2005) p. 32.
[4] Robert Putnam, Making Democracy Work: Civil Traditions in Modern Italy (New York: Simon and Schuster, 1993)
[5] Jan-Erik Lane and Svante Ersson, Culture and Politics: A Comparative Approach , อ้างแล้ว
[6] อเนก  เหล่าธรรมทัศน์, สองนคราประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2539) หน้า 8.
[7] นิธิ  เอี่ยวศรีวงศ์, สองหน้าสังคมไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ผู้จัดการ,  2539) หน้า 252.
[8] Pierre  Bourdieu, Outline of A Theory  of Practice, (London: Cambridge University Press, 1977) pp. 82-84.
[9] Edmund Burke, The Penguin Book of Historical Speeches, (London: Viking, 1995) pp. 115-116.
[10] Wilson and  Phillips, “Elections and Parties in Thailand”,  . Far Eastern Survey. vol. 27, no.8, August 1958.  pp. 117-118.
[11] Phillips, “The Election Ritual in a Thai Village”,  Journal of Social Issues. vol.14, December, 1958. p. 37.
[12] รังสรรค์  ธนะพรพันธ์,  อนิจลักษณะของการเมืองไทย: เศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่าด้วยการเมืองไทย (กรุงเทพฯ: ผู้จัดการ, 2536) หน้า 75.     อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้มีข้อถกเถียงกันมากว่าระบอบอุปถัมภ์และเงิน เข้าไปมีอิทธิพลครอบงำการเลือกตั้งในชนบทตั้งแต่เมื่อไร นักวิชาการบางท่านระบุว่าปี 2518  ขณะที่บางท่านระบุว่า ตั้งแต่ปี  2523      ในทัศนะของผู้เขียน ระบอบอุปถัมภ์สนธิกับเงินนั้นอาจมีจุดเริ่มที่ตั้งแต่การเลือกตั้งก่อนปี 2500 ด้วยซ้ำ  เพียงแต่ยังไม่ได้รับการสถาปนาเป็นกระแสหลักเนื่องจาก ระบอบอุปถัมภ์ในเชิงอำนาจ-สังคมมีอิทธิพลมากกว่า   แต่เมื่อมีการพัฒนาเศรษฐกิจในระหว่างปี 2500 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้เกิดนายทุนท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก และต่อมานายทุนเหล่านี้ได้ลงสุ่สนามเลือกตั้งจึงทำให้เงินกับระบบอุปถัมภ์มาพบกันมากขึ้น   ความต่อเนื่องของการเลือกตั้งระหว่างปี 2522 ถึง 2548 เป็น ทำให้การผสมผสานของทั้งสองส่วนนี้ได้กับการตอกย้ำ ผลิตซ้ำ จนกระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมการเลือกตั้งไป 
[13] พรรคไทยรักไทยได้รักษาคำสัญญากับชาวบ้านเฉพาะนโยบายบางนโยบายที่เป็นการให้ผลประโยชน์โดยตรงต่อชาวบ้านและง่ายต่อการปฏิบัติ  เช่น กองทุนหมู่บ้าน  หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และ สามสิบบาทรักษาทุกโรค เป็นต้น  ขณะที่ไม่ได้รักษาคำสัญญาในนโยบายที่มีความเป็นนามธรรมและปฏิบัติได้ยากกว่า เช่น นโยบายต่อต้านการคอรัปชั่น
[14] การเลือกตั้งเมื่อปี 2544 พรรคไทยรักไทย ได้คะแนนระบบบัญชีรายชื่อพรรค จำนวน 11.6 ล้านเสียง   ต่อมาในปี 2548 คะแนนระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพิ่มขึ้นเป็น 18.9 ล้านเสียง   และในการเลือกตั้ง เดือนเมษายน 2549 ซึ่งต่อมาภายหลังถูกวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นโมฆะ พรรคนี้ได้คะแนนเสียงระบบบัญชีรายชื่อ 16.4 ล้านเสียง  ซึ่งลดลงจากการเลือกตั้งปี 2548 ไม่มากนักทั้งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านอย่างรุนแรงจากชนชั้นกลาง
[15] คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ให้ยุบพรรคไทยรักไทย ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 67 ประกอบมาตรา 66 (1) และ(3) และให้ยุบพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 67 ประกอบมาตรา 66 (2) และ(3) รวมทั้งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยจำนวน 111 คน พรรคพัฒนาชาติไทยจำนวน 19 คน และพรรคแผ่นดินไทยจำนวน 3 คน มีกำหนดเวลาห้าปี ตามประกาศ คปค.ฉบับ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549  สำหรับรายละเอียดและเหตุผลของการยุบพรรคไทยรักไทย อ่านใน   คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ: กรณีอัยการสูงสุดมีคำร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง (พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย) กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, 2550:
[16] หลังการรัฐประหาร คณะรัฐประหารในนามคณะปฏิรูปการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค).ได้ มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) เพื่อตรวจสอบการดำเนินงานโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีชุดที่ผ่านมา ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นไปโดยทุจริต  การตรวจสอบสัญญา สัญญาสัมปทาน และการกระทำของบุคคลใด    ที่เห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร อันเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ    ระหว่างปลายเดือนพฤษภาคม ถึงต้นเดือนกันยายน2550  คตส. ได้ทำการตรวจสอบและประกาศอายัดทรัพย์สินของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและบุคคลที่เกี่ยวข้องประมาณ   73,271 ล้านบาท
[17] นายชวน หลีกภัย เป็นอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นนักการเมืองที่มีความซื่อสัตย์
[18] ดูรายละเอียดใน พิชาย  รัตนดิลก ณภูเก็ต , ชนชั้นกับการเลือกตั้ง: ความรุ่งเรืองและความตกต่ำของสามพรรคการเมืองในกรุงเทพมหานคร (กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2541) หน้า 65-132.



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั