การเมืองไทยแห่งยุคระยะเปลี่ยนผ่าน:
พิชาย รัตนดิลก ณ
ภูเก็ต
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สังคมไทยมีระยะการเปลี่ยนผ่านหลายครั้ง
ทุกครั้งที่เกิดห้วงเวลาเช่นนี้ขึ้นมาความสับสนไม่มั่นคงทางสังคม และความหวังก็เกิดขึ้น หากนับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา
ซึ่งเกิดการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่จากการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เพื่อหวังว่าจะเป็นระบอบประชาธิปไตย
แต่ท้ายที่สุดกลับกลายเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบขุนนาง
และจบลงด้วยระบอบเผด็จการทหารในพ.ศ. 2501
ระยะการเปลี่ยนผ่านในครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2516
ความคาดหวังก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับครั้งแรกคือประชาชนต้องการเปลี่ยนจากระบอบเผด็จการทหาร
ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่กลับจบลงด้วยระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ
และต่อด้วยระบอบประชาธิปไตยของกลุ่มนายทุนท้องถิ่นในระยะสั้นๆ ครั้งที่สามเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม
2535
ประชาชนผู้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงคาดหวังจะสามารถสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
ซึ่งดูเหมือนฝันจะใกล้ความเป็นจริงเมื่อสามารถผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540
ขึ้นมาได้ แต่ความยินดีดำรงอยู่ได้ไม่นานนัก
เพราะท้ายที่สุดกลับจบลงด้วยระบอบเผด็จการทุนนิยมหรือที่รู้จักกันในนามระบอบทักษิณ
อีกครั้งหนึ่งที่ประชาชนต้องเคลื่อนไหวผลักดันการเปลี่ยนแปลงเพื่อล้มล้างระบอบทักษิณ
และสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เป็นของปวงชนอย่างแท้จริงขึ้นมา ยังไม่ทันที่ประชาชนจะผลักดันให้เกิดความสำเร็จขึ้นมา
ก็ปรากฏว่ามีคณะทหารได้เข้ามายึดอำนาจเสียก่อน
อย่างไรก็ตามเนื่องจากเงื่อนไขพื้นฐานของสังคมไทยในช่วงทศวรรษ 2550
มีความแตกต่างจากอดีตเป็นอย่างมาก คณะทหารจึงไม่ใช้อำนาจเผด็จการดังในอดีต
แต่กลับหนุนเสริมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยเร็ว
สังคมไทยจึงเกิดรอยต่อแห่งยุคสมัยขึ้นมาอีกครั้ง
ความคาดหวังที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาจะบรรลุได้หรือไม่
หรือจะจบลงด้วยระบอบอื่นๆดังที่เกิดขึ้นมาในอดีต
ยังคงเป็นปมปริศนาสำหรับผู้คนในยุคปัจจุบัน
ความเป็นจริงประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยคือ
ระยะช่วงรอยต่อของยุคสมัยทุกครั้งสังคมจะมีความสับสน เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงขึ้นมา
ประชาชนที่อยู่ในกระแสความขัดแย้งมีจำนวนมากที่ต้องล้มตาย หรือไม่ก็บาดเจ็บ
พิการไปก็มี
การเปลี่ยนผ่านในระยะนี้ก็เช่นเดียวกันร่องรอยความรุนแรงเกิดขึ้นหลายครั้งหลายครา
แม้ว่าหากเทียบกับอดีตแล้วจะมีความรุนแรงน้อยกว่าก็ตาม
ข้อสังเกตประการหนึ่งของความขัดแย้งในครั้งนี้คือ
ขอบเขตของความขัดแย้งที่มีมากกว่าความขัดแย้งในอดีต
จนกล่าวได้ว่าความขัดแย้งในครั้งนี้แผ่กว้างและซึมลึกไปทั่วทุกอาณาบริเวณของสังคมทั้งในเมืองและชนบท ครอบคลุมผู้คนในแทบทุกวงการตั้งแต่ชนชั้นนำในส่วนกลาง
ลงไปถึงชาวบ้านในท้องถิ่น
สภาพความเป็นขั้วขัดแย้งตามสภาพจุดยืนทางการเมืองของแต่ละกลุ่มและพื้นที่มีการแยกแยะกันอย่างเห็นได้ชัด ภาพแผนที่ประเทศไทยที่ปรากฏขึ้นในช่วงการลงประชามติได้ยืนยันความเป็นจริงนี้
โดยไม่มีข้อโต้แย้ง
การสร้างความสมานฉันท์ระหว่างกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้บรรลุเป้าประสงค์ได้ง่าย
ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ลงมือกระทำก็ตาม
เพื่อทำความเข้าใจกับสถานการณ์ในปัจจุบันให้กระจ่างขึ้น
ผู้เขียนจะวิเคราะห์จำแนกแยกแยะปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะนี้โดยละเอียด
โดยจะชี้ให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของสองชนชั้นใหญ่ในสังคม สองขั้วจุดยืนทางการเมือง สามกลุ่มพลังหลักที่ขับเคลื่อนสังคมไทย
และห้าอุดมการณ์ที่เป็นรากฐานทางความเชื่อของสังคม
2 ชนชั้น
หากจำแนกสังคมไทยในปัจจุบันตามลักษณะทางชนชั้น
กล่าวอย่างกว้างๆได้ว่า สังคมไทยมีสองชนชั้นหลักคือชนชั้นกลาง
และชนชั้นชาวบ้าน
ชนชั้นกลางเป็นกลุ่มบุคคลที่มีการศึกษาค่อนข้างสูง ฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี
อาศัยอยู่ตามเขตเมืองหรือเขตเทศบาลเป็นหลัก และมีหลากหลายอาชีพ เช่น
ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจระดับกลาง พนักงานเอกชนระดับกลาง และผู้ประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ เป็นต้น
ส่วนชนชั้นชาวบ้านเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาไม่สูงนัก ฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างยากจน อาศัยในชุมชนชนบทหรือชุมชนแออัดในเขตเมือง ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม และเป็นผู้ใช้แรงงาน
เป็นหลัก
การมีเงื่อนไขเชิงภววิสัยเช่นนี้
ทำให้ชนชั้นกลางมีความเป็นตัวของตัวเองหรือมีลักษณะเป็นปัจเจกชนค่อนข้างสูง มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาก และมีการตัดสินใจทางการเมืองที่ค่อนข้างเป็นอิสระ
ไม่ตกอยู่ภายใต้การชี้นำหรือครอบงำจากกลุ่มทุน รัฐ และผู้มีอิทธิพลอื่นๆ
ในทางตรงกันข้ามชนชั้นชาวบ้านมีลักษณะความเป็นปัจเจกชนต่ำ มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจำกัด การตัดสินและการกระทำมีแนวโน้มตกอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มทุน ระบบอุปถัมภ์
รัฐ และผู้มีอิทธิพลอื่นๆ ที่เข้าไปควบคุมและชี้นำ
วัฒนธรรมทางการเมืองของชนชั้นทั้งสองมีความแตกต่างกันซึ่งเป็นผลมาจากสภาพความเป็นจริงทางสังคมที่พวกเขามีประสบการณ์โดยตรง
ชนชั้นกลางมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ขณะที่ชนชั้นชาวบ้านมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบอำนาจนิยม วัฒนธรรมทางการเมืองทั้งสองนี้ทำให้ทั้งสองกลุ่มมีการกระทำทางการเมืองและการแสดงจุดยืนต่อระบอบทักษิณแตกต่างกัน ชนชั้นกลางมีจุดยืนที่ปฏิเสธระบอบทักษิณ
ซึ่งเป็นระบอบการเมืองแบบผูกขาดอำนาจหรือเป็นเผด็จการทุนนิยม
ขณะที่ชนชั้นชาวบ้านมีจุดยืนทางการเมืองที่สนับสนุนระบอบทักษิณ
เพราะโดยพื้นฐานวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมนั้น ทำให้ชาวบ้านมีจิตสำนึกที่ยอมจำนนต่ออำนาจรัฐ
ผนวกกับการที่ระบอบทักษิณสร้างภาพลวงตา
โดยหยิบยื่นผลประโยชน์เฉพาะหน้าให้กับชาวบ้าน
ปลูกฝังระบบคิดการพึ่งพา สร้างความเข้าใจผิดอย่างเป็นระบบว่าประชาธิปไตยของพวกเขาเป็น
“ประชาธิปไตยที่กินได้” ซึ่งอันที่จริงแล้วผู้ที่ “ได้กิน”ก็เป็นเพียงเครือข่ายหัวคะแนนของพวกเขาเท่านั้น
ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่หาได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริงไม่
หรืออาจได้บางส่วนในลักษณะ “เศษเนื้อข้างเขียง”
มีตัวอย่างมากมายจากผลของนโยบายที่ดำเนินการในรัฐบาลทักษิณที่มีลักษณะเช่นนี้ เช่น
นโยบายกองทุนหมู่บ้าน นโยบาย OTOP นโยบายหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน เป็นต้น แต่เนื่องจากเครือข่ายหัวคะแนนของพวกเขาเป็นชนชั้นนำในหมู่บ้านหรือตำบลซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดต่อชาวบ้านทั่วไป
เมื่อพวกเขาได้รับประโยชน์จากระบอบทักษิณ
พวกเขาก็กลายเป็นกระบอกเสียงและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีงามราวกับนักบุญของระบบอบทักษิณขึ้นมา
ทำการตอกย้ำ ผลิตซ้ำความคิดเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งชาวบ้านเกิดความเข้าใจผิดอย่างเป็นระบบ
เกิดจิตสำนึกที่ผิดพลาดขึ้นมา
โดยหลงคิดและรู้สึกไปว่าระบอบทักษิณเป็นระบอบที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น
การดำรงอยู่ของสองชนชั้นสองวัฒนธรรมทางการเมืองนี้
เป็นปรากฏการณ์สำคัญของระยะการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยในปัจจุบัน
ที่จะชี้ขาดพัฒนาการทางการเมืองต่อไปในอนาคต
2
ขั้วจุดยืนทางการเมือง
ในส่วนนี้ผู้เขียนจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกของการสร้างระบอบทักษิณ
การดำรงอยู่และการเสื่อมถอยของมัน
จนกระทั่งทำให้เกิดสองขั้วจุดยืนทางการเมือง
ระบอบทักษิณ
ถือกำเนิดจากกลุ่มทุนโทรคมนาคมและทุนอื่นๆที่เป็นแนวร่วม
กลุ่มนี้เป็นกลุ่มทุนใหม่ที่เริ่มเติบโตขึ้นมาประมาณปี 2531
พวกเขาอาศัยธุรกิจการสื่อสารและโทรคมนาคมเป็นช่องทางในการหารายได้และการสะสมทุน
ทักษิณ ชินวัตร เป็นแกนนำหลักของกลุ่มนี้
ทักษิณมีความสามารถในการสร้างภาพลักษณ์สูง
รู้จักการใช้ประโยชน์การสื่อมวลชนอย่างเชี่ยวชาญ
สังคมส่วนใหญ่รับรู้ว่าพวกเขาเป็นคนดีและเก่ง
จนกระทั่งผู้นำทางการเมืองคนสำคัญคือ พลตรีจำลอง ศรีเมือง ชักชวนเข้าพรรคพลังธรรม
การเข้าพรรคพลังธรรมของเขาเปิดโอกาสให้เขาได้รู้จักนักการเมืองหลายคนที่เป็นอดีตฝ่ายซ้ายเก่า
บุคคลเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติงานมวลชน
ทั้งในการสร้างกระแสสำนึกและการระดมจัดตั้ง
อันเป็นวิชาการที่ได้รับมาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต
ต่อมาเมื่อไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพรรคพลังธรรมในทางการเมือง
พวกเขาก็ทิ้งพรรคนี้ไป สาเหตุสำคัญคือพรรคพลังธรรมยึดหลักไม่ใช้เงินในการหาเสียงและหาคะแนนเสียง
ทำให้เกิดข้อจำกัดในการขยายฐานทางการเมืองของกลุ่มทุนกลุ่มนี้ พวกเขาจึงหันไปสร้างพรรคใหม่ชื่อไทยรักไทย
ขึ้นมา โดยยึดหลักการในการทำงานว่า ต้องทำภาระกิจให้บรรลุเป้าหมาย
ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดๆก็ตาม
พรรคไทยรักไทยจึงใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ซึ่งประกอบด้วย
1) การมีทุนอย่างไม่จำกัด 2) การมีเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย 3)
การมีบริษัทโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นของตนเอง
4) การมีทรัพยากรบุคคลที่มีภาพลักษณ์ดีเป็นสมาชิกระดับแนวหน้าของพรรค 5)
การมีทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญการกำหนดยุทธศาสตร์ทั้งด้านการประชาสัมพันธ์
การรณรงค์ การจัดตั้ง และการระดมมวลชน และ
6) การมีอดีต ส.ส. ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการหาคะแนนเสียงในทุกรูปแบบ เป็นฐานในการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของพรรค
ผลิตนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของชนชั้นชาวบ้าน
และสร้างระบบการจัดตั้งระดมคะแนนเสียง ขึ้นมาภายในเวลาอันรวดเร็ว
แนวทางหลักสำคัญ
3 ประการ ที่กลุ่มนี้ผลิตและใช้เพื่อก้าวสู่อำนาจคือ
1)
การใช้สื่อมวลชนและการโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่า
ตนเองและพวกพ้องเป็นกลุ่มที่เป็นผู้บริหารมืออาชีพ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล
และสามารถนำพาประเทศแข่งขันในเวทีโลกได้
ภาพลักษณ์เช่นนี้สร้างเพื่อดึงคะแนนเสียงจากชนชั้นกลาง ซึ่งปรากฏว่าได้ผล
โดยทำให้ชนชั้นกลางจำนวนมากให้การสนับสนุนพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544
และ 2548
2)
การใช้นโยบายประชานิยม ซึ่งเป็นนโยบายที่ให้ผลประโยชน์เฉพาะหน้าระยะสั้นแก่ชนชั้นชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรมในการรณรงค์หาเสียง
เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค
เป็นต้น ขณะเดียวกันเขาก็ผลิตนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของชนชั้นกลางด้วย
โดยประกาศอย่างน่าเชื่อถือว่า จะทำสงครามกับยาเสพติด และการคอรัปชั่น จึงทำให้ชนชั้นชาวบ้าน และชนชั้นกลางสนับสนุนเขาเป็นจำนวนมาก
3) การใช้กลไกระบอบอุปถัมภ์อำนาจนิยม กลุ่มทุนกลุ่มนี้ได้กวาดต้อนบรรดานักการเมืองที่มีเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่นเข้ามาอยู่ในพรรคของตนเองเป็นจำนวนมาก
ใช้นักการเมืองเหล่านี้เป็นเป็นฐานในการสร้างคะแนนนิยมในชนบทโดยสนับสนุนเงินทุนเพื่อใช้การหาเสียงและระดมคะแนนเสียง
ทำให้พวกเขาสามารถได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนมาก
เมื่อได้อำนาจมาครอบครอง
ในระยะแรกของการบริหารประเทศก็ดูเหมือนว่าจะได้รับการชื่นชมจากแทบทุกชนชั้น พวกเขาเริ่มต้นสร้างระบอบทักษิณขึ้นมาอย่างช้าๆทีละขั้นทีละตอน เริ่มตั้งแต่
การแทรกแซงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้เขาหลุดพ้นจากคดีซุกหุ้น การกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นการทำลายระบบศาลรัฐธรรมนูญ
และส่งผลให้ความเชื่อถือของสาธารณะต่อศาลรัฐธรรมนูญลดลง ต่อมาได้มีการสถาปนาระบอบทักษิณขึ้นมาอีกในหลายกรรมหลายวาระ
เช่นการสั่งให้มีการปราบปรามเรื่องยาเสพติดอย่างเด็ดขาด รัฐตำรวจถูกสร้างขึ้นมา
มีการฆ่าตัดตอนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
ความหวาดกลัวกระจายไปทั่วทุกหัวระแหง
จากนั้นเขาก็เริ่มเข้าแทรกแซงและยึดอำนาจจากสถาบันหลักทางการเมือง
ตลอดจนองค์กรอิสระแทบทุกองค์กร
เขากวาดต้อนสมาชิกวุฒิสภาจำนวนมากเข้ามาอยู่ในเครือข่าย
และกำหนดให้เลือกบุคคลที่เขาสั่งได้เป็นประธานวุฒิสภา จากนั้นกำหนดให้บุคคลที่เขาสั่งได้เช่นกันเป็นคณะกรรมการเลือกตั้ง
และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ในอีกด้านหนึ่งระบอบทักษิณได้เข้าไปควบคุมระบบราชการ
มีการปฏิรูประบบราชการ ใช้ระบบการบริหารงานแบบเอกชนไปใช้ในส่วนราชการทุกแห่ง
ใช้ระบบการโยกย้ายแบบเถ้าแก่ แทนที่จะเป็นระบบคุณธรรม ทำเกิดความโกลาหล
ความเครียดและความขัดแย้งในแวดวงข้าราชการอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ข้าราชการที่ดีจำนวนมากลาออกจากราชการเนื่องจากไม่อาจทนอยู่กับพฤติกรรมของบุคคลในระบอบนี้ได้
ทางด้านมวลชน พวกเขาใช้สื่อมวลชน
จัดสภาพและบริหารกระแสอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณะอย่างเป็นระบบ
มีการสร้างข่าวลวงเพื่อกลบเกลื่อนเสียงวิพากษ์วิจารณ์
มีการสร้างสร้างข่าวใหม่ในเชิงจิตนิยายเพื่อสร้างความตื่นเต้นแก่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอ
ด้านพรรคการเมือง
พวกเขายื่นข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้แก่พรรคการเมืองที่ไม่ยอมสยบต่อพวกเขา
เพื่อให้พรรคการเมืองเหล่านั้นยุบพรรครวมกับพรรคไทยรักไทย
ข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้นี้รวมไปถึงผลประโยชน์ และการใช้หลักฐานบางประการเกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้นำพรรคการเมืองบางพรรค
ซึ่งหากหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคนั้นไม่ยินยอมยุบพรรคก็จะถูกเล่นงานโดยกฎหมาย
ด้านสื่อมวลชน
เขาเข้าไปทำการซื้อสื่อมวลชนเป็นพวก หากใครไม่ยอมสนับสนุนเขา
ก็จะไม่สนับสนุนงบประมาณในการลงโฆษณา
รวมทั้งสั่งการหน่วยงานของรัฐไม่ให้ลงโฆษณาในสื่อเหล่านั้น และหากสื่อมวลชนกลุ่มใดยังแข็งข้อเป็นปรปักษ์
เขาก็ใช้อำนาจสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
เข้าไปตรวจสอบและอายัดทรัพย์สินของบุคคลเหล่านั้นไว้
ด้านผู้ร่วมงาน
หากผู้ร่วมงานของเขาผู้ใดมีกระแสนิยมที่อาจจะเด่นกว่าเขา
ก็จะถูกลิดรอนและลดบทบาทลงไป ดังที่เกิดขึ้นกับ ศาสตราจารย์ ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์
เมื่อเขาควบคุมกลไกต่างๆเหล่านี้ไว้ได้แล้ว
การกระทำของพวกเขาก็มีความเหิมเกริมและลุแก่อำนาจมากขึ้น มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องเป็นจำนวนมาก
รวมทั้งมีการเรียกรับผลประโยชน์เกิดการคอรัปชั่นขึ้นมากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อนในปะเทศไทย
ดังจะเห็นได้จากเรื่องที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำผิดต่อรัฐ
(คตส.)ที่เข้าไปตรวจสอบและไต่สวนจำนวนมีจำนวนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องนับแสนล้าน
ในที่สุด คตส. ได้ประกาศอายัดทรัพย์สินของทักษิณประมาณห้าหมื่นล้านบาทในช่วงกลางปี
2550
แม้ว่าพวกเขาจะมีความสามารถในการควบคุมกลไกทางสังคมและการเมืองได้แทบทั้งหมด แต่ไม่อาจควบคุมปัญญาชนของชนชั้นกลางได้ การกระทำที่ลุแก่อำนาจ ละเมิดกฎหมาย
ละเมิดสิทธิมนุษยชน และฉ้อฉลคอรัปชั่น
เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ชนชั้นกลางที่มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ลุกขึ้นมาต่อต้านระบอบทักษิณอย่างเปิดเผย
โดยเริ่มจากการผลิตหนังสือรู้ทันทักษิณขึ้นมาก่อน แต่ยังไม่อาจสร้างความกระทบกระเทือนต่อระบอบทักษิณได้
จุดเปลี่ยนสำคัญที่สร้างความสั่นคลอนแก่ระบอบทักษิณคือ การเกิดขึ้นของ “ปรากฏการณ์สนธิ”
นายสนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เว็ปไซด์ผู้จัดการ
และโทรทัศน์ผ่านระบบดาวเทียม ASTV เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ระบอบทักษิณในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ที่จัดในสถานีโทรทัศน์ช่อง
9 จนถูกถอดรายการออกไป หลังจากนั้นนายสนธิ ก็ได้เคลื่อนไหวจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร
โดยใช้สวนลุมพินีเป็นสถานที่จัดรายการและถ่ายทอดผ่าน ASTV ผู้คนชนชั้นกลางได้เริ่มสนใจและติดตามข่าวสารจากรายการของนายสนธิมากขึ้น
ในรายการมีการเปิดโปงการทุจริตของระบอบทักษิณหลายเรื่อง
รวมทั้งการกระทำที่ไม่บังควรต่อองค์สมเด็จพระสังฆราชของบุคคลในระบอบทักษิณ
ในที่สุดนายสนธิ
นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวทางสังคม ได้ร่วมกันจัดตั้ง“กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่ระบอบทักษิณออกจากการเมืองไทย
การเคลื่อนไหวเกิดขึ้นกลายครั้งหลายคราตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2549
เป็นต้นมา ยิ่งจำนวนครั้งของการเคลื่อนไหวมีมากเท่าไร คลื่นของประชาชนที่ร่วมการประท้วงก็มีมากขึ้นเท่านั้น
บุคคลที่เข้าร่วมการประท้วงประกอบด้วยชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
จนในที่สุดกระแสการขับไล่ทักษิณได้แผ่ขยายออกไปทั่วทุกปริมณฑลของสังคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองซึ่งเป็นฐานของชนชั้นกลาง
แรงกดดันที่ประชาชนออกมาขับไล่ทักษิณ
ให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีมากขึ้น จนกระทั่งทำให้ทักษิณต้องประกาศยุบสภา
เพื่อให้มีการเลือกตั้ง ด้วยมีความเชื่อมั่นว่า
ประชาชนชนชั้นชาวบ้านยังสนับสนุนพรรคไทยรักไทย
เมื่อมีการเลือกตั้งพรรคไทยรักไทยก็จะได้รับเลือกกลับมาด้วยเสียงข้างมาก อันเป็นการสร้างความชอบธรรมในการครองอำนาจของพวกเขาสืบไป
การดีดลูกคิดรางแก้วของทักษิณ
ไม่เป็นไปอย่างที่คิด เมื่อพรรคการเมืองอื่นๆต่างพากันประกาศบอยคอต
ไม่ส่งผู้สมัครเข้าร่วมการเลือกตั้ง
จนทำให้ผู้บริหารพรรคไทยรักไทยต้องลงมือปฏิบัติการว่าจ้างพรรคการเมืองอื่นให้สมัครลงแข่งขัน
โดยเฉพาะในเขตที่เป็นฐานคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์
การกระทำในครั้งนั้นของพรรคไทยรักไทยเป็นเหตุให้ตุลาการรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิการเลือกตั้งของคณะกรรมการพรรคไทยรักไทยทั้งหมดจำนวน
111 คน ในภายหลัง
การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549
เป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ เกิดปรากฏการณ์ที่ผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งออกมาลงคะแนนเสียง
“ไม่เลือกผู้สมัครคนใด” เป็นจำนวนนับสิบล้านคน
ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้คือ กลุ่มชนชั้นกลางที่ “ไม่เอาระบอบทักษิณ” นั่นเอง
การเลือกตั้งจอมปลอมเมื่อวันที่ 2
เมษายน 2549 จึงเป็นตัวบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า สังคมไทยได้แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว คือขั้วที่ไม่เอาระบอบทักษิณ กับขั้วที่เอาระบอบทักษิณ โดยขั้วแรกมีองค์ประกอบหลักคือชนชั้นกลาง
ขณะที่ขั้วที่เอาระบอบทักษิณมีชนชั้นชาวบ้านเป็นองค์ประกอบหลัก
หลังการเลือกตั้งจอมปลอมครั้งนั้น
การต่อสู้ระหว่าง 2 ขั้ว ยิ่งทวีความหนักหน่วงและแหลมคมยิ่งขึ้น
จนมีแนวโน้มว่าอาจมีการปะทะกัน
แต่ก่อนที่เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นมาอีกครั้งในสังคมไทย ทุกอย่างก็จบลงโดยไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อ
เมื่อทหารเข้ามายึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 ส่งผลให้ระบอบทักษิณต้องล่มสลายลงชั่วคราว
และทำให้ทักษิณต้องไปอยู่ในต่างประเทศ
แต่กระนั้นสภาพกลุ่มพลัง 2 ขั้วการเมืองหาได้หายไปพร้อมกับการหลุดจากอำนาจของทักษิณไม่
ขั้วจุดยืนที่สนับสนุนทักษิณยังดำรงอยู่ โดยทักษิณ
บริวาร และเครือข่ายของเขาดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อกระชับรักษาฐานกำลังของตนเองอยู่ตลอดเวลา
โดยอาศัยเครือข่ายของอดีตส.ส. ที่เคยสังกัดพรรคไทยรักไทย เป็นกลไกหลักในการประสานและเชื่อมต่อกับมวลชน ขณะเดียวกันขั้วที่ไม่เอาทักษิณ
อันได้แก่เครือข่ายของกลุ่มพันธมิตรฯ โดยมี ASTV เป็นกลไกในการเชื่อมโยง
และต่อมาได้แปรสภาพเป็นมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน ก็ยังคงดำเนินงานเปิดโปงระบอบทักษิณต่อไป
นอกจากนั้นผลจากการรัฐประหารที่มีทหารเป็นแกนนำ
ทำให้ระบบราชการหลุดพ้นจากการครอบงำของระบอบทักษิณ กลายเป็นกลุ่มพลังที่รื้อฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
3 กลุ่มพลัง
สภาพกลุ่มพลังหลักทางการเมืองภายหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน
2549 จึงประกอบด้วย 3 กลุ่มพลังหลัก คือ
กลุ่มพลังเครือข่ายระบอบทักษิณที่มีฐานเป็นชนชั้นชาวบ้าน
กลุ่มพลังเครือข่ายไม่เอาระบอบทักษิณซึ่งมีฐานเป็นชนชั้นกลาง และกลุ่มพลังระบบราชการที่มีทหารเป็นแกนหลัก
การลงประชามติเมื่อวันที่
19 สิงหาคม 2550 เป็นการทดสอบพลังครั้งแรกของกลุ่มพลังทั้งสาม กลุ่มพลังเครือข่ายระบอบทักษิณ
ประกอบด้วยอดีตส.ส.พรรคไทยรักไทย นักวิชาการบางส่วน กลุ่มศาสนาพุทธหัวรุนแรง และกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เคลื่อนไหวมวลชนเพื่อไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ เครือข่ายเหล่านี้ อาศัยเงินและระบบอุปถัมภ์ ระดมชนชั้นชาวบ้านออกมาลงคะแนนเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็เคลื่อนไหวโดยใช้สื่อมวลชนและการเคลื่อนไหวเชิงลึก
รณรงค์ทำลายความน่าเชื่อถือรัฐธรรมนูญ โดยการปล่อยข่าวลือ
บิดเบือนเนื้อหารัฐธรรมนูญโดยใช้ตรรกะที่ผิดๆ เช่น การไม่รับรัฐธรรมนูญเท่ากับการล้มรัฐประหาร หรือ หากรับรัฐธรรมนูญจะไม่มีศาสนาพุทธอีกต่อไป
เป็นต้น
ด้วยความไร้เดียงสาและขาดข้อมูลข่าวสารของประชาชนชาวบ้าน จึงมีชาวบ้านจำนวนมากที่คล้อยตามและลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีผู้ไม่รับร่างอยู่ระหว่าง ร้อยละ 60 ถึง 70
ของผู้มาใช้สิทธิในหลายจังหวัด และภาคเหนือปรากฏการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นในทำนองเดียวกันแต่ระดับความรุนแรงไม่มากเท่า
ขณะที่กลุ่มพลังเครือข่ายไม่เอาระบอบทักษิณประกอบด้วย
อดีตพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นักวิชาการบางส่วน พรรคการเมืองบางพรรค เช่น ประชาธิปัตย์ ชาติไทย
และประชาราช เป็นต้น
การเคลื่อนไหวของพลังกลุ่มนี้ในการรณรงค์เพื่อให้รับร่างรัฐธรรมนูญ
ไม่เข้มข้นนักเมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวของเครือข่ายระบอบทักษิณ
อย่างไรก็ตามเนื่องจากฐานพลังหลักของกลุ่มนี้เป็นชนชั้นกลางในเขตเมือง
ซึ่งมีการติดตามข่าวสารมากกว่าชนชั้นชาวบ้าน
พวกเขาจึงมีความเข้าใจในรัฐธรรมนูญมากกว่าชาวบ้าน ทำให้ผลของประชามติในภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง กรุงเทพมหานคร และภาคใต้
มีผู้รับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าผู้ไม่รับ และชนชั้นนี้เป็นพลังหลักในการทำให้รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ
ส่วนกลุ่มพลังระบบราชการ
ซึ่งมีรัฐบาลและทหารเป็นแกนนำ ก็ได้มีการเคลื่อนไหวในบางระดับ
แต่ดูเหมือนไม่ทุ่มเทพลังอย่างเต็มที่ อีกทั้งมีการเคลื่อนไหวในลักษณะกล้าๆกลัวๆ
ไม่กล้าชี้นำทางความคิดแก่ประชาชนมากนัก
ส่วนการเคลื่อนไหวในระดับลึกแม้ว่าจะมีการสั่งการให้กลไกระดับพื้นที่เคลื่อนไหว แต่การตอบสนองก็มีไม่มากนัก เพราะข้าราชการบางส่วนในระดับพื้นที่โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ
ยังฝักใฝ่ระบอบทักษิณ
พลังในการต่อสู้ช่วงชิงมวลชนจึงไม่อาจเทียบกับเครือข่ายอุปถัมภ์ของระบอบทักษิณได้
การพ่ายนี้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและหลายจังหวัดในภาคเหนือเป็นสิ่งที่ยืนยันความจริงดังกล่าว
การลงประชามติ เป็นเพียงการต่อสู้ยกแรกของสงครามช่วงชิงประเทศในระยะนี้
ยังไม่อาจตัดสินได้อย่างชัดเจนว่า การต่อสู้ในครั้งต่อไปซึ่งได้แก่การเลือกตั้ง พลังใดจะเป็นฝ่ายมีชัย
แต่การได้รับชัยชนะในการลงประชามติในครั้งนี้
ก็เป็นการเปิดเวทีให้กับฝ่ายพลังชนชั้นกลางในการเข้ามาตรวจสอบการบริหารงานการเมืองและการบริหาราชการในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนในเวทีการบริหารการเมือง
ขณะเดียวกันก็มีการลดอำนาจรัฐและทุนลงไป
5
อุดมการณ์
ในท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองระยะนี้
แม้ว่าด้านหนึ่งจะเป็นการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง
แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองด้วยเช่นเดียวกัน อุดมการณ์ที่ต่อสู้ช่วงชิงในสนามการเมืองมี 5
อุดมการณ์หลักคือ
1)
อนุรักษ์นิยมใหม่(Neo-Conservative) มีความเชื่อว่า โลกาภิวัฒน์นำมาซึ่งความมั่งคั่ง
กำแพงภาษีระหว่างประเทศควรถูกกำจัด เปิดโอกาสให้ทุนไหวเวียนอย่างเสรี
และหลักคิดการบริหารธุรกิจภาคเอกชนเท่านั้นที่มีประสิทธิภาพ กลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์แบบนี้คือกลุ่มทุนใหม่ซึ่งมีทุนโทรคมนาคมเป็นแกนนำ
พรรคการเมืองที่กลุ่มผู้บริหารพรรคมีอุดมการณ์นี้คือ อดีตพรรคไทยรักไทย
ซึ่งกลายสภาพเป็นพรรคพลังประชาชนในเดือนสิงหาคม 2550 อย่างไรก็ตามบุคคลที่มีอุดมการณ์เช่นนี้แทรกซึมอยู่แทบทุกพรรคการเมือง
แม้ว่าจะมีระดับความมากน้อยและความเข้มข้นในเชิงอุดมการณ์แตกต่างกันบ้าง
2)
อุดมการณ์อุปถัมภ์นิยม (Clientelism) เป็นอุดมการณ์หลักที่ครอบงำสังคมการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน
ในระยะหลังความเข้มข้นของอุดมการณ์นี้ลดลงในกลุ่มชนชั้นกลาง
แต่ยังคงมีความเข้มข้นในกลุ่มชนชั้นชาวบ้านและชนชั้นนำทางการเมือง ชนชั้นนำทางการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น
อาศัยอุดมการณ์อุปถัมภ์เป็นกลไกในการสร้างเครือข่ายหัวคะแนนและจัดตั้งมวลชนในชนบทให้มาสนับสนุนตนเองเมื่อเกิดกรณีการต่อสู้ทางการเมืองทั้งในเรื่องการเลือกตั้ง
และการชุมนุมประท้วง
อุดมการณ์นี้แทรกซึมอยู่ทุกพรรคการเมือง ทั้งพรรคใหญ่บ้าง
พรรคเล็กบ้าง
แต่จะมีมากในพรรคที่ถูกจัดตั้งโดยกลุ่มอดีต
ส.ส.ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
3)
อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมดั้งเดิม(Traditional
Conservative) เชื่อในเรื่อง
การรักษาสถานภาพเดิมของสังคม เชิดชูความมั่นคงสถาบันหลักของสังคม กลุ่มที่ดำรงอุดมการณ์แบบนี้คือ กลุ่มทุนเก่า
เช่น ทุนการเงิน และอุตสาหกรรมหนักบางประเภท กลุ่มข้าราชการส่วนใหญ่ บางครั้งกลุ่มนี้ได้รับการเรียกว่า
เป็นกลุ่มอำมาตยาธิปไตย
กลุ่มนี้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายชี้นำสังคมไทยมายาวนาน แต่บทบาทเริ่มลดลงเมื่อมีการปฏิรูปการเมืองในปี
2540
และในเวลาต่อมาได้ถูกสั่นคลอนอย่างหนักจากระบอบทักษิณซึ่งนำพาอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมใหม่เข้ามาจัดการภายในระบบราชการ
พรรคการเมืองที่มีแนวโน้มยึดถือในอุดมการณ์นี้คือ พรรคชาติไทย และพรรคประชาราช
เป็นต้น
4)
อุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal
Democracy) มีความเชื่อพื้นฐานว่า
เสรีภาพและความเป็นปัจเจกบุคคลเป็นสิ่งที่มีคุณค่าของมนุษย์
กลุ่มที่มีแนวคิดเช่นนี้คือกลุ่มชนชั้นกลางซึ่งประกอบด้วยพ่อค้า นักธุรกิจรายย่อย
ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจระดับกลาง
พนักงานเอกชนระดับกลาง และผู้ประกอบอาชีพอิสระทั้งหลาย
กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นภายหลังปี 2540
และขยายตัวจนกลายเป็นพลังในการต่อต้านระบอบทักษิณ
พรรคการเมืองที่อาจถือได้ว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มอุดมการณ์นี้
คือพรรคประชาธิปัตย์
5)
อุดมการณ์การประชาสังคมประชาธิปไตย (Civil Society
Democracy) มีความเชื่อว่า
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในทุกระดับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับสังคม
กลุ่มที่นำอุดมการณ์นี้ไปปฏิบัติการทางการเมืองคือ กลุ่มองค์การพัฒนาเอกชน
นักวิชาการ และนักการเมืองบางกลุ่ม
กลุ่มนี้มีความมุ่งหมายที่จะผลักดันให้สังคมเป็นสังคมแห่งการมีส่วนร่วม
โดยให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
และสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งตนเอง และสามารถบริหารจัดการชุมชนด้วยตนเองได้
ปัจจุบันยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่ใช้อุดมการณ์นี้ไปปฏิบัติการทางการเมือง
อนาคตการเมืองไทยในท่ามกลางความขัดแย้ง
จากสภาพการที่เป็นจริงทางสังคมการเมืองดังที่ได้วิเคราะห์มาข้างต้น
สามารถสรุปแนวโน้มการเมืองไทยในอนาคตได้ดังนี้
1)
การต่อสู้ทางการเมืองมีความเข้มข้นขึ้น
ปริมาณกลุ่มและสถาบันของสังคมจะเข้าสู่สนามการต่อสู้ทางการเมืองมากขึ้น
และเกิดขึ้นในทุกระดับทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
2)
การเสื่อมศรัทธาต่อสถาบัน ทั้งสถาบันทางการเมือง สถาบันการบริหาร สถาบันองค์การตรวจสอบอิสระ
สถาบันทางสังคม การเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันเหล่านี้เกิดมาจากในระยะสี่ถึงห้าปีที่ผ่านมา
สถาบันเหล่านี้โดยเฉพาะสถาบันทางการเมือง บริหาร
และองค์กรอิสระได้ถูกแทรกแซงและทำลายความเที่ยงธรรมโดยระบอบทักษิณ
การรื้อฟื้นศรัทธาขึ้นมาอีกครั้งจึงเป็นภาระที่หนักหน่วงของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งในขณะนี้และในระยะต่อไป
สถาบันทางสังคม
โดยเฉพาะสถาบันทางศาสนาซึ่งได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการบรรจุประโยค “ให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทย” ลงในรัฐธรรมนูญ
วิธีการเคลื่อนไหวเรียกร้องของคณะสงฆ์กลุ่มหนึ่งได้สร้างภาพลักษณ์เชิงลบเกิดขึ้นแก่สาธารณชน
เพราะมีการกระทำทางสังคมหลายประการของสงฆ์บางส่วนที่สังคมชาวพุทธไม่อาจยอมรับได้
สถาบันที่ประชาชนให้ความเชื่อถือสูงอยู่บ้างก็คือ
สถาบันตุลาการซึ่งกลายเป็นเสาหลักในการค้ำยันวิกฤติของสังคมไทยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามก็ยังมีข่าวที่อาจมีการสร้างความเสื่อมเสียแก่สถาบันนี้อยู่บ้าง
ด้วยการกระทำของบุคคลบางในสถาบันที่เกี่ยวข้องกับคดียุบพรรคการเมือง
3) ความไร้เถียรภาพของรัฐบาล เป็นที่คาดการได้ว่ารัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 23
ธันวาคม 2550 จะเป็นรัฐบาลผสม สภาพของรัฐบาลที่มีความเป็นไปได้มีหลายลักษณะ
3.1) แบบแรก
มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนในการจัดตั้งรัฐบาล มีพรรคชาติไทย พรรคประชาราช
และพรรคการเมืองที่แยกตัวออกมาจากพรรคไทยรักไทยเดิม ร่วมรัฐบาล
โดยมีหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตามรูปแบบได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบันยังขาดบารมีทางการเมือง
หากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ยากที่จะควบคุมสถานการณ์ให้ราบรื่นได้ ส่งผลให้เกิดการต่อรองตำแหน่ง และผลประโยชน์
จนเป็นเหตุให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพในระยะเวลาอันสั้นๆ
3.2) แบบที่สอง
มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนในการจัดตั้งรัฐบาล มีพรรคชาติไทย พรรคประชาราช
และพรรคการเมืองที่แยกตัวออกมาจากพรรคไทยรักไทยเดิม ร่วมรัฐบาล
แต่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ใช่หัวหน้าพรรค แต่อาจเป็นนายชวน หลีกภัย
อดีตหัวหน้าพรรคซึ่งเป็นบุคคลที่มีบารมีทางการเมืองสูงและเป็นที่ยอมรับของสาธารณชนจำนวนไม่น้อย
รูปแบบนี้รัฐบาลอาจมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ก็ไม่ยั่งยืนนัก
3.3) แบบที่สาม จัดตั้งรัฐบาลผสมโดยที่บุคคลในพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่อาจเป็นหัวหน้าพรรคอื่น
เช่นพรรคชาติไทยเป็นนายกรัฐมนตรี แต่รูปแบบนี้อาจทำให้พรรคประชาราชไม่เข้าร่วมเป็นรัฐบาลก็ได้
และแม้ตั้งรัฐบาลขึ้นได้ก็มีความไร้เสถียรภาพสูงเช่นเดียวกัน
3.4) รูปแบบที่สี่
จัดตั้งรัฐบาลผสมที่ไม่ใช่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ
โดยมีนายกรัฐมนตรีจากพรรคใดพรรคหนึ่ง
ซึ่งบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีอาจเป็นหรือไม่เป็นหัวหน้าพรรคก็ได้ เช่น กรณีพรรคประชาราชของนายเสนาะ เทียนทอง
หรือพรรคชาติไทย
หรือพรรคของอดีตอาจมีบุคคลที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมอยู่ในพรรค
และอาจได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้
อย่างไรก็ตามการมีรัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรีที่สังคมยอมรับแต่ขาดบารมีในพรรคก็จะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลได้สูงเช่นเดียวกัน
3.5) รูปแบบที่ห้า
รัฐบาลผสมที่มีพรรคนายสมัคร เป็นแกนนำ
และมีกลุ่มอดีตส.ส.พรรคไทยรักไทยที่ไปจัดตั้งพรรคอื่นเป็นพรรครัฐบาลผสม
โดยมีนายสมัคร เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลที่เกิดขึ้นก็มีความไร้เสถียรภาพสูงเช่นเดียวกัน
สืบเนื่องจากบุคลิกของนายสมัคร และการไม่ยอมรับของสังคม
รูปแบบนี้จะทำให้สังคมมีความแตกแยกอย่างรุนแรง
3.6) รูปแบบที่หก
รัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยพรรคนายสมัคร และพรรคอื่นที่เป็นอดีตส.ส.ไทยรักไทย
แต่มีบุคคลอื่นที่ไม่ใช่นายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี
ซึ่งรัฐบาลที่เกิดขึ้นหากพิจารณาปัจจัยภายในอาจมีเสถียรภาพสูงกว่าการที่มีนายสมัคร
เป็นนายก
แต่ก็เกิดปัญหาจากการไม่ยอมรับจากสังคมเช่นเดียวกัน
กล่าวโดยสรุป
ไม่ว่ารูปแบบรัฐบาลผสมภายหลังการเลือกตั้งจะปรากฏออกมาในรูปแบบไหนก็ตาม
ก็ยากที่จะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพขึ้นได้
4.
ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น
ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ส่งผลให้ประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงมากขึ้น รวมทั้งทำให้การตัดสินใจเชิงนโยบายจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมากขึ้น
หากมีรัฐบาล องค์กรของรัฐ และระบบราชการมีการจัดการการมีส่วนร่วมที่ไร้ประสิทธิภาพ
หากอาจสร้างปัญหาความขัดแย้งจากการมีส่วนร่วมได้มากขึ้น
5. ผลจากข้อ 4 ) ทำให้การคอรัปชั่นทำได้ยากขึ้น
เพราะนักการเมืองมีต้นทุนในเรื่องความเสี่ยงมากขึ้น และมีแนวโน้มจะเกิดพรรคการเมืองใหม่ที่ใช้อุดมการณ์ประชาคมประชาธิปไตย
หรืออุดมการณ์อื่นๆเช่น อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
สตรีนิยม ขึ้นมา
6. กลุ่มอำนาจเก่ายังคงสร้างความปั่นป่วนทางการเมือง
โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะชำระล้างความผิดที่ได้ก่อไว้ในอดีต
กลุ่มนี้จะแสดงการขัดขวางการกระทำทางการเมืองหรือกฎหมายใดๆที่ส่งผลในเชิงลบต่อตนเอง
ขณะเดียวกันก็พยามผลักดันให้ออกกฎหมายหรือมาตรการที่สร้างผลบวกให้กับตนเอง
ซึ่งอาจเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นเช่นเดียวกัน
7.
ศาลมีบทบาททางสังคมการเมืองมากขึ้น
ซึ่งเป็นจุดที่มีความเสี่ยงพอสมควร เพราะหากศาลขาดความมั่นคงในจุดยืนหรือไม่อาจต้านแรงกดดันได้
อาจทำให้เกิดวิกฤติความน่าเชื่อขึ้นมาได้
ดังนั้นการที่ศาลจะเป็นหลักให้สังคมได้นั้นจะต้องรักษาอุดมการณ์และจุดยืนบนพื้นฐานของความยุติธรรมอย่างเข้มแข็ง
8.
สังคมไทยขาดแคลนผู้นำทางการเมือง
ขณะที่ผู้คนเบื่อหน่ายนักการเมืองเก่า แต่ก็ยังมีนักการเมืองหน้าใหม่เข้าสู่สนามการเมืองน้อย
9.
การเลือกตั้งในระยะ 5 – 10 ปี นี้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้าง
โดยนโยบายของพรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเลือกพรรคและนักการเมืองมากขึ้น
ขณะที่เงินและระบบอุปถัมภ์ก็ยังคงมีบทบาทที่สำคัญในการเลือกตั้งของชนชั้นชาวบ้าน
10.
มีความเป็นไปได้ที่อาจมีการรัฐประหาร
แต่ค่อนข้างน้อย
ยกเว้นจะเกิดวิกฤติที่ไม่คาดฝันที่เกี่ยวข้องสถาบันสำคัญทางสังคมบางสถาบัน
วิกฤติดังกล่าวอาจนำไปสู่ภาวะสับสนอลหม่านทางการเมืองและสังคม
อันอาจเป็นเหตุผลให้ทหารต้องออกมารัฐประหารอีกครั้ง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น