ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

จารีต จิตอารมณ์ และเหตุผลในการกระทำของมนุษย์

จารีต จิตอารมณ์ และเหตุผลในการกระทำของมนุษย์
เผยแพร่: 3 พ.ย. 2560 16:53:00  โดย: MGR Online
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต


                                                

พฤติกรรมและการกระทำของคนในสังคมเป็นประเด็นที่นักวิชาการพยายามทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่องยาวนาน หากศึกษาประวัติศาสตร์ทางความคิดของมนุษย์ จะพบว่าการถกเถียงทางปรัชญาและวิชาการในเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นในแทบทุกสังคมที่อารยธรรมทางปัญญาได้ถูกสถาปนาขึ้นมา กล่าวได้ว่านอกจากเรื่องราวของพระเจ้าและธรรมชาติที่อยู่ภายนอกตัวเองแล้ว มนุษย์ก็พยายามคลี่คลายปริศนาเกี่ยวกับตนเองทั้งในเชิงความคิดและการกระทำด้วย

อันที่จริงการพยายามอธิบายพฤติกรรมและการกระทำของมนุษย์เกิดขึ้นได้ทั้งในแวดวงของคนทั่วไป และในทางวิชาการหลากหลายสาขาของสังคมศาสตร์ เพราะมนุษย์ต้องการเข้าใจให้กระจ่างว่า การที่ใครคนใดคนหนึ่งกระทำสิ่งใดออกมา เขาหรือเธอถูกผลักดันด้วยปัจจัยหรือเงื่อนไขอะไรบ้าง โดยเฉพาะการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบก็ตาม การกระทำใดที่ยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงแรงและกว้างไกลมากเท่าไร เราก็ยิ่งมีความสนใจพฤติกรรมหรือการกระทำนั้นมากขึ้น

ในท่ามกลางความหลากหลายของการอธิบายพฤติกรรมและการกระทำของมนุษย์ เราสามารถจำแนกออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มถูกครอบงำและชี้นำโดย “กฎเกณฑ์” ที่อยู่ภายนอก กฎเกณฑ์ภายนอกที่ชี้นำพฤติกรรมของมนุษย์มีหลายลักษณะ ตั้งแต่กฎเกณฑ์ทางศาสนาที่ถูกสถาปนาโดยอาศัยความเชื่อต่อสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติ กฏธรรมชาติที่มนุษย์สังเกตเห็นและปฏิบัติตาม ไปจนถึงกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ถูกสถาปนาขึ้นมาโดยอาศัยคตินิยมร่วมของสังคมหรือกลุ่มนั้นๆ 

เรารู้จักกฎเกณฑ์ทางสังคมภายใต้นามที่หลากหลาย ที่คุ้นเคยกันดีในบรรดาคนทั่วไปคือ ประเพณีนิยม และธรรมเนียมปฏิบัติ ส่วนคำที่ใช้ในแวดวงวิชาการก็มีเป็นจำนวนมาก เช่น โครงสร้างสังคม วัฒนธรรม จารีต ค่านิยมร่วม บรรทัดฐาน มาตรฐาน ระเบียบ และกฎหมาย ด้วยความที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นพวกเขาจึงได้รับการกล่อมเกลาและปลูกฝังกฎเกณฑ์ทางสังคมเหล่านั้นตั้งแต่ ปฐมวัยจวบจนปัจฉิมวัยของชีวิต ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว มนุษย์บางคนและบางกลุ่มจึงยึดกฎเกณฑ์ทางสังคมเป็นหลักในการแสดงพฤติกรรมและการกระทำของตนเอง เราเรียกบุคคลประเภทนี้ว่าเป็น “จารีตบุคคล”

การกระทำทางสังคมของกลุ่ม “จารีตบุคคล” นั้นคือ การกระทำที่ให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์ที่อยู่ภายนอกตัวเองเป็นหลัก มีแนวโน้มใช้กฎเกณฑ์เป็นแนวทางในการตัดสินใจว่า กระทำหรือไม่กระทำสิ่งใด จารีตบุคคลเป็นพวกที่เคร่งครัดกับชุดของกฎเกณฑ์ที่พวกเขายึดถือ บางคนยึดมั่นในชุดกฎเกณฑ์ที่มีรากฐานจากความเชื่อเหนือธรรมชาติเป็นแนวทางการกระทำ ดังนั้นหากกระทำสิ่งใด ก็ต้องเชื่อมโยงกับอำนาจเหนือธรรมชาติเป็นหลัก เช่น การดูฤกษ์ดูยามเมื่อจะทำรัฐประหาร หรือ หากย้ายที่ทำงานเพราะตำแหน่งใหม่สูงขึ้น ก่อนเข้าไปทำงานในสถานที่แห่งใหม่ ก็จะปฏิบัติตาม “ธรรมเนียม” หรือ “ประเพณีนิยม” นั่นคือต้องสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำสถานที่นั้นๆ ก่อนเสมอ

ในบางสังคมมีความเชื่อร่วมกันว่า ภัยพิบัติหรือการเจ็บไข้ได้ป่วยที่เกิดขึ้นต่อบุคคลในชุมชนหรือสังคมมาจากความพิโรธของอำนาจเหนือธรรมชาติ ดังนั้นคนในสังคมนั้นจึงต้องกระทำในสิ่งที่ไม่ละเมิดกฎเกณฑ์สังคมที่อาจสร้างความไม่พอใจแก่อำนาจเหนือธรรมชาติ หรือหากเกิดภัยพิบัติขึ้นมาแล้วก็ต้องบวงสรวง บูชา ถวายสิ่งของเป็นบรรณาการแก่อำนาจเหนือธรรมชาติ เพื่อบรรเทาความร้ายแรงของภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้น

“จารีตบุคคล” ที่ยึดกฎเกณฑ์ของอำนาจเหนือธรรมชาติเป็นแนวทางการกระทำนั้นดำรงอยู่มาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่จะมากหรือน้อยก็เป็นไปตามการพัฒนาการทางความคิดและปัญญาของสังคมนั้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขการพัฒนาสังคมและภูมิปัญาของมนุษย์ ทำให้จารีตบุคคลจำนวนมากเลิกและลดการให้ความสำคัญต่อกฎเกณฑ์ที่อิงกับอำนาจของสิ่งเหนือธรรมชาติ และสิ่งที่เข้ามาทดแทนคือกฎเกณฑ์ที่สถาปนาขึ้นมาด้วยอำนาจและความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ 

กฎเกณฑ์ที่สถาปนาขึ้นมาโดยอิงอำนาจและความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์มีรูปแบบมากมาย กฎเกณฑ์เหล่านั้นเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์มาอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว เป็นกลุ่ม เป็นชุมชน และเป็นรัฐ “จารีตบุคคล” จะให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์ของหน่วยงทางสังคมที่พวกเขาสังกัด และจะปฏิบัติตามบรรทัดฐาน ธรรมปฏิบัติที่เป็นแบบแผนของหน่วยทางสังคมนั้นๆ พวกเขาจะผนึกอัตลักษณ์ของตนเองเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับอัตลักษณ์ของหน่วยทางสังคมที่เขาสังกัด

หน่วยทางสังคมแต่ละหน่วยผลิตกฏเกณฑ์ทั้งที่ไม่เป็นทางการและเป็นทางการขึ้นมาในรูปแบบของธรรมเนียมการปฏิบัติ บรรทัดฐาน ระเบียบเพื่อเป็นแนวทางให้สมาชิกปฏิบัติตาม ส่วนกฏเกณฑ์จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่าหน่วยทางสังคมนั้นมีรูปลักษณ์เป็นแบบใด หน่วยทางสังคมที่เป็นครอบครัวก็จะผลิตแบบแผนพฤติกรรมที่เรียกว่า “กฏครอบครัว” หรือ “กฏบ้าน” ขึ้นมา เช่น กฎการแต่งงาน กฎการยึดถือความอาวุโส กฎของความกตัญญู และกฎของการลำดับความสำคัญของครอบครัวและเครือญาติเหนือสิ่งอื่น

หน่วยทางสังคมที่เป็นกลุ่ม ก็เช่นเดียวกัน มีการผลิตกฎเกณฑ์ขึ้นมาอย่างหลากหลาย ที่เรียกว่า “กฏกลุ่ม” เช่น กฎเกณฑ์การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม กฏเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกลุ่ม กฏเกณฑ์เกี่ยวกับจรรยาบรรณวิชาชีพ กฏเกณฑ์การลงโทษผู้ละเมิดบรรทัดฐานของกลุ่ม หรือในชุมชนและรัฐก็จะมี “กฎเมือง” เช่น กฏเกณฑ์ของความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในชุมชนและรัฐ กฎเกณฑ์ที่จะกำหนดว่าเรื่องใดที่สมาชิกทำได้ เรื่องใดทำไม่ได้ เรื่องใดควรทำ เรื่องใดไม่ควรทำ ตลอดจนการกำหนดบทลงโทษแก่ผู้ที่ละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านั้น

มีความเป็นไปได้ว่า กฏเกณฑ์ทั้งหลายของหน่วยทางสังคมในแต่ละระดับมีทั้งที่สอดคล้องและกลายเป็นกระแสเดียวกันทั้งสังคม และไม่สอดคล้องหรือแม้กระทั่งขัดแย้งกันก็มี ในกรณีที่กฎเกณฑ์สอดคล้องกันย่อมไม่มีปัญหาใดในการปฏิบัติ แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อกฏเกณฑ์ขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องกัน เมื่อเกิดในกรณีแบบนี้ขึ้นมา “จารีตบุคคล”ในแต่ละสังคมก็ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกใช้กฏเกณฑ์ระดับใดเป็นกฏเกณฑ์หลักในการปฏิบัติของตนเอง 

ตัวอย่างความขัดแย้งระหว่าง “กฏบ้าน” “กฎกลุ่ม” และ “กฏเมือง” เช่น เมื่อ “จารีตบุคคล” ผู้หนึ่งซึ่งทำงานในกรมสรรพากรพบว่านักธุรกิจที่เป็นญาติของตนเองหลีกเลี่ยงการชำระภาษี เขาจะทำอย่างไร หากเขาตัดสินใจเลือกช่วยเหลือญาติ โดยกลบเกลื่อนและปกปิดเรื่องราว ก็แสดงว่า เขาให้น้ำหนักแก่ “กฏบ้าน” เหนือ “กฎเมือง” ในทางกลับกัน หากเขาตัดสินใจแจ้งให้ญาติของเขามาชำระภาษีให้ถูกต้อง และหากไม่มาชำระก็ดำเนินคดีตามกฎหมาย ก็แสดงว่าเขาให้น้ำหนักกับ “กฎเมือง” เหนือ “กฎบ้าน” 

หรืออย่างกรณีบางประเทศ สมมุติว่า จารีตบุคคลผู้หนึ่งเป็นสมาชิกของคณะปกครองประเทศสูงสุดของประเทศ คณะปกครองนี้กำหนดกฏกณฑ์ว่าสมาชิกแต่ละคนสามารถตั้งเลขานุการส่วนตัวได้ “จารีตบุคคล” ผู้นั้นก็ยึด “กฎบ้าน” เป็นหลัก โดยตั้งลูกสาวตนเองขึ้นมาเป็นเลขานุการ เพราะคนในครอบครัวย่อมสำคัญที่สุด แต่การกระทำของ “จารีตบุคคล” ผู้นี้อาจไม่ขัดแย้งกับ “กฎเมือง” เพราะว่าไม่มีกฎหมายใดของเมืองห้ามเอาไว้ แต่อาจจะขัดแย้งกับ “กฎกลุ่ม” ซึ่งในกรณีนี้คือ “จรรยาบรรณของกลุ่มที่ปกครองประเทศ” ที่จะต้องไม่ใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์แก่เครือญาติของตนเอง 

กล่าวโดยสรุป มนุษย์ที่มีความโน้มเอียงเป็น “จารีตบุคคล” นั้น แบบแผนการกระทำส่วนใหญ่ของพวกเขาถูกครอบงำและชี้นำด้วยชุดของ “กฏเกณฑ์” จำนวนหนึ่งเสมอ แต่กฎเกณฑ์ที่พวกเขายึดอาจมีความแตกต่างกัน บางคนอาจยึดชุดของกฎเกณฎ์ที่อ้างอิงจากอำนาจเหนือธรรมชาติเป็นหลัก ขณะที่บางคนยึดกฎเกณฑ์ที่อ้างอิงกับอำนาจและความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ ซึ่งชุดของกฏเกณฑ์แบบนี้มีหลากหลายระดับ แต่ที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อการกระทำของมนุษย์เป็นอย่างมากคือ “กฎบ้าน” “กฏกลุ่ม” และ “กฎเมือง” 

สำหรับในประเทศไทยนั้น บุคคลที่มีการปฏิบัติเป็นแบบ “จารีตบุคคล” อยู่ไม่น้อย และเป็น “จารีตบุคคล” ประเภทยึดกฎเกณฑ์ที่อิงกับอำนาจเหนือธรรมชาติ บวกกับ ประเภทที่ยึด “กฎบ้าน” แบบให้ความสำคัญกับเครือญาติ และ “กฎกลุ่ม” ที่ให้ความสำคัญกับพวกพ้อง มากกว่า “กฎเมือง” ที่ให้ความสำคัญกับ “กฏหมาย” 

อย่างไรก็ตามพฤติกรรมและการกระทำของมนุษย์ หาได้ถูกกำหนดโดยกฏเกณฑ์ภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว มิติภายในตัวมนุษย์เองก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน อันได้แก่ มิติด้านจิตอารมณ์หรือความรู้สึก ซึ่งเราเรียกว่าเป็น “จิตตบุคคล” กับมิติของความคิดและเหตุผลที่เรียกว่า “ปัจเจกบุคคล” ซึ่งมนุษย์ทั้งสองแบบนี้ผมจะกล่าวในโอกาสต่อไป


                                                 
จารีต จิตอารมณ์ และเหตุผลในการกระทำของมนุษย์ (2)
เผยแพร่: 10 พ.ย. 2560 17:23:00  โดย: MGR Online
"ปัญญาพลวัตร"

"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

อันที่จริงกฎเกณฑ์ทางสังคมที่เป็นเงื่อนไขให้มนุษย์ปฏิบัติตามมีเป็นจำนวนมาก กฎเกณฑ์บางอย่างเราไม่ตระหนักเสียด้วยซ้ำว่ามันเป็นกฏเกณฑ์ภายนอก เพราะว่ามันได้ผนึกลงและผสานจนเป็นเนื้อเดียวกับโครงสร้างทางจิตของเรา จนยากที่จะแยกแยะได้ว่า การกระทำที่ปรากฎออกมาเป็นไปเพราะถูกกำหนดจากกฎเกณฑ์ภายนอก หรือ ถูกขับเคลื่อนจากความคิดและอารมณ์ภายในจิตของเรากันแน่

กระบวนการภายในจิตเกิดขึ้นสองลักษณะคือ เแบบที่เราสำนึกรู้ และแบบที่เราไม่ทันสำนึกรู้ถึงกระบวนการนั้น หากเกิดขึ้นในแบบที่เราสำนึกรู้ มีการไตร่ตรอง และนำไปสู่การปฏิบัติเรามักเรียกมันว่า “เป็นความคิดเชิงเหตุผล” แต่หากเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว ไม่ทันได้ไตร่ตรอง และนำไปสู่การกระทำ เรามักเรียกมันว่า “อารมณ์” 

การกระทำของมนุษย์จำนวนมากถูกขับเคลื่อนด้วย “อารมณ์ความรู้สึก” หรือ บางทีเราเรียกกันอย่างติดปากว่า “ทำด้วยใจ” การถกเถียงรื่องที่ว่า การกระทำของมนุษย์ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ความรู้สึก หรือขับเคลื่อนด้วยความคิดเชิงเหตุผลเป็นหลักกันแน่ เป็นประเด็นที่มีมาอย่างยาวนานในแวดวงปรัชญาตะวันตก 

นักปราชญ์ผู้สนับสนุน “เหตุผล” ประกาศว่า เหตุผลทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากความงมงายในสิ่งเหนือธรรมชาติ และหลุดพ้นจากตรวนที่มองไม่เห็นของธรรมเนียมการปฏิบัติที่รัดตรึงพวกเขาเอาไว้ เหตุผลยังเป็นรากฐานในการสร้างสรรพความรู้ทั้งมวลของมนุษย์ ความรู้จะขจัดความกระวนกระวาย ความสับสน และความกลัว และนั่นทำให้มนุษย์มีความสุขมากขึ้นในการใช้ชีวิต นักปราชญ์กลุ่มนี้ยืนยันว่า “ความสุขที่มาจากปัญญาย่อมเหนือกว่าความสุขอื่นใดทั้งปวง” 

ทว่า รุสโซ นักปราชญ์ผู้สนับสนุนอารมณ์ชี้ว่า เหตุผลมีประโยชน์บางอย่าง แต่หาใช่หนทางหลักในการตอบปัญหาชีวิตของผู้คน ยามชีวิตเผชิญกับความไม่แน่นอนหรือวิกฤติการณ์ หากคนไม่หันไปหาความเชื่อก็ย้อนกลับไปถามหาอารมณ์ความรู้สึก (หัวใจ) เหตุผล (สมอง) ไปหลบอยู่ที่ใดเล่า นั่นเป็นเพราะเราไว้วางใจอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผลมิใช่หรือ ยิ่งกว่านั้นเหตุผลและความรู้ไม่ได้ทำให้คนกลายเป็นคนดีขึ้นมา เพียงแต่ทำให้เขาฉลาดขึ้น และมักใช้ความฉลาดนั้นไปในทางที่เสียหาย เราจึงไม่ควรไว้วางใจเหตุผล และควรมอบไว้วางใจสัญชาตญาณและความรู้สึกจะดีกว่า 

อันที่จริงนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสรุ่นก่อนหน้ารุสโซ อย่าง ปาสคาส ก็เคยกล่าวมาก่อนหน้าแล้วว่า “หัวใจมีเหตุผลของมันเอง ที่สมองไม่มีวันเข้าใจ” 

ในยุคแห่งสังคมสมัยใหม่ อารมณ์ความรู้สึกมักมองในทางลบ ออกไปในทางที่เป็นผู้ร้าย เป็นสัญลักษณ์แห่งความอ่อนแอ และมีฐานะที่ด้อยกว่าเหตุผล ดังที่เราได้ยินคำเตือนอยู่บ่อยๆ ว่า “อย่าทำอะไรตามอารมณ์” “อย่าใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ” “อย่าทำอะไรด้วยอารมณ์ชั่ววูบ” “อย่าให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล” เป็นต้น ทั้งที่โดยธรรมชาติแล้วอารมณ์มีหลายประเภททั้งอารมณ์เชิงบวกและอารมณ์เชิงลบ และการกระทำโดยใช้อารมณ์นำการกระทำก็มีทั้งผลดีและผลร้าย 

หากมนุษย์มีอารมณ์เชิงบวกดำรงอยู่ในจิตใจอย่างต่อเนื่อง และใช้อารมณ์บวกชี้นำการกระทำของตนเองแล้ว ย่อมเกิดผลดีต่อตนเองและผู้อื่นตามมามากมาย อารมณ์บวกเหล่านี้เช่น อารมณ์ร่าเริง เบิกบาน อารมณ์กระตือรือร้น อารมณ์เมตตา กรุณา อารมณ์เย็น อารมณ์รัก และอารมณ์กวี หากไร้เสียซึ่งอารมณ์บวกแล้ว โลกย่อมหารอยยิ้มไม่ได้ ปราศจากเสียงหัวเราะ ขาดแคลนความเอื้ออาทร ไม่มีความสงบสันติ และไร้ผลงานเชิงสร้างสรรค์ มนุษย์ก็จะกลายเป็นหุ่นฟางและโลกก็จะแห้งแล้งไร้สีสัน

ส่วนอารมณ์ด้านลบนั้นมีหลายประเภท บางอย่างก็รับรู้ได้ง่าย บางอย่างก็รับรู้ได้ยาก อารมณ์ด้านลบที่รับรู้ง่ายที่สุดและมักกลายเป็นผู้ร้ายเสมอหากครอบงำการกระทำคือ อารมณ์โกรธ อารมณ์กลัว และอารมณ์โลภ ส่วนอารมณ์ที่ละเอียดอ่อนกว่ายากแก่การสังเกตคือ อารมณ์หลง 

อารมณ์โกรธ นั้นมีลูกหลานหลายอย่าง เริ่มต้นจากความหงุดหงิดหรือน้อยใจเมื่อผู้อื่นกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกใจตนเองหรือไม่เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ จากนั้นก็สะสมพัฒนาเป็นความขุ่นเคือง นำไปสู่ความเคียดแค้น เกลียดชัง และบางคนพัฒนาไปไกลถึงขั้นเป็นความอาฆาตพยาบาท เมื่ออารมณ์โกรธกระตุ้นให้เราทำสิ่งใดแล้ว แบบแผนของการกระทำมักมีแนวโน้มไปในทางทำลายล้าง อย่างเบาๆคือ การพูดเสียดสี หนักเข้าก็ ตำหนิ ดุด่าด้วยคำหยาบ โจมตีเพื่อให้ด้อยค่า หรืออาจไปถึงขั้นการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งตัวผู้กระทำเอง และผู้หรือสิ่งที่ถูกกระทำ 

สำหรับความกลัวนั้นเป็นอารมณ์พื้นฐานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทในการชี้นำการกระทำของนุษย์ในหลากหลายรูปแบบ อารมณ์ที่เป็นองค์ประกอบของความกลัว เช่น ความหม่นหมองใจ ความหดหู่ ความเศร้าหมอง ความกระวนกระวาย ความหวาดระแวง เมื่อคนถูกความกลัวครอบงำก็มีแนวโน้มจะกระทำในทางที่ตรงกันข้ามกันสองอย่างคือ การยอมจำนนและปฏิบัติตามสิ่งกำเนิดความกลัวแบบหัวหด หรือ ไม่ก็กระทำในเชิงการปกป้องตนเองอย่างก้าวร้าวรุนแรง จนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ความกล้าอย่างบ้าบิ่น นั่นเอง

ด้านอารมณ์โลภนั้น เป็นความอยากได้วัตถุสิ่งของและทรัพสินย์เงินทองมาครอบครองจนเกินขอบเขต อยากกินอาหารอร่อยๆแบบไม่ยั้งปาก อยากไปท่องเที่ยวแบบไม่ยั้งเท้าเพื่อเติมเต็มอารมณ์ที่บกพร่องของตนเอง หรืออยากสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จนลืมนึกถึงชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อม การกระทำที่ถูกครอบงำด้วยอารมณ์โลภ นำไปสู่การหลอกลวง การบังคับขู่เข็ญ การทุจริตคอรัปชั่น และการลักขโมย ความเสียหายแก่สังคมที่เกิดมาจากความโลภของมนุษย์มีมากมายเหลือคณานับ 

ส่วนอารมณ์หลงนั้นเป็นอารมณ์ละเอียด หากไม่สังเกต ก็ยากที่จะตระหนักรู้ได้ อารมณ์ที่เป็นลูกหลานของความหลงคือ คือ ความหยิ่งยะโสโอหัง ทรนง ถือดี อวดเก่ง ประเภทข้าดีอยู่คนเดียว คนอื่นเลวหมด หรือข้าเก่งอยู่คนเดียว คนอื่นใช้ไม่ได้โง่หมด หากผู้นำรัฐบาลคนใดที่รู้สึกว่ารัฐบาลตนเองทำงานได้ดีมีธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ มีผลงานมากมาย ส่วนรัฐบาลอื่นๆ แย่หมด มีทั้งการทุจริต ไร้ประสิทธิภาพ และไม่มีผลงาน ก็หมายความว่า ผู้นำรัฐบาลนั้นอาจตกอยู่ในห้วงเหวของอารมณ์หลง อาจถึงขั้นหลงตัวเองอย่างไม่ลืมหูลืมตาก็เป็นได้ 

บุคคลที่การกระทำถูกครอบงำชี้นำด้วยจิตอารมณ์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์เชิงบวกหรืออารมณ์เชิงลบก็ตามเราเรียกว่า “จิตตบุคคล” เราจะเห็นจิตตบุคคลมากมายในแวดวงนักกวี นักเขียนนวนิยาย นักแสดง นักดนตรี นักออกแบบ และศิลปินแขนงต่างๆ หรือแม้กระทั่งแวดวงวิทยาศาสตร์ก็มีอยู่บ้าง นักวิทยาศาสตร์บางคนอาจก็มีมิติของความเป็นจิตตบุคคลโดดเด่นออกมาในบางขณะ จึงทำให้พวกเขาสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้นมาได้ 

นักปฏิบัติธรรมทางศาสนาบางส่วนก็เป็น “จิตตบุคคล” เหมือนกัน เพราะว่าพวกเขามุ่งเน้นการปฏิบัติเชิงจิตอารมณ์ด้วยการทำสมถะและวิปัสนา มากกว่ายึดติดกับพิธีธรรมแบบ “จารีตบุคคล” อันที่จริงศาสนาหลายศาสนานี่ค่อนข้างแปลก เพราะว่า ศาสดามักเป็น “จิตตบุคคล” แต่สาวกในรุ่นหลังๆมีแนวโน้มเป็น “จารีตบุคคล” เสียมากกว่า 

จิตตบุคคลที่มีอารมณ์เชิงบวกเป็นพื้นฐานนั้นมีส่วนสำคัญในการสร้างสุนทรียภาพ ความงดงามทางศิลป และนวัตกรรมต่างๆ ให้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในโลกใบนี้ ขณะที่จิตตบุคคลที่มีอารมณ์เชิงลบเป็นพื้นฐานนั้น มีแนวโน้มสร้างความอัปลักษณ์และการทำลายล้างเป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้เป็นแบบนี้เสมอไป เพราะบางกรณี แม้ว่าไม่มากนัก ความโกรธและความกลัวอาจนำไปสู่การทำลายสิ่งเก่าที่น่ารังเกียจ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ดีกว่าขึ้นมาก็ได้

แต่นั่นแหละมนุษย์เป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งในจักรวาล ที่แม้แต่พระเจ้าก็ยังอาจประหลาดใจ เพราะการกระทำของมนุษย์จึงมีความแปรผันไม่รู้จบ อันเกิดจากการผสมผสานของแรงขับเคลื่อนที่มาจากปัจจัยภายนอกอย่างจารีตกฏเกณฑ์และปัจจัยภายในอย่างจิตอารมณ์หลากหลายประเภท เราจึงทำได้เพียงแต่วิเคราะห์ว่า การกระทำหนึ่ง ณ กาลและเทศะหนึ่งนั้น ลักษณะความเป็น “จารีตบุคคล” หรือ “จิตตบุคคล” ของพวกเขาโด่ดเด่นมากกว่ากัน แต่นี่ยังไม่ได้รวมถึงความเป็น “ปัจเจกบุคคล” ที่เราจะมาดูกันต่อไปภายหน้า
จารีต จิตอารมณ์ และเหตุผลในการกระทำของมนุษย์ (จบ)
เผยแพร่: 17 พ.ย. 2560 17:18:00   โดย: MGR Online
"ปัญญาพลวัตร"


"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

“เหตุผล” มีฐานะสูงยิ่งในสังคมสมัยใหม่ เป็นคำที่ได้รับการยอมรับยกย่องสูงจนยากที่จะหาคำใดในภาษาของมนุษย์ในปัจจุบันมาเปรียบเทียบได้ ยิ่งในแวดวงการใช้ปัญญาและวิชาการแล้ว “เหตุผล” ก็ยิ่งมีฐานะที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด โดยได้รับการจัดวางให้เป็น “แกนกลาง” ของการผลิตความรู้ทั้งมวลของสรรพศาสตร์สมัยใหม่ 

“เหตุผล” ครอบงำและมีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง มนุษย์ต้องการให้ผู้อื่นมองและยอมรับว่าการคิด พูด และกระทำของตนมี “เหตุผล” จะรู้สึกอับอายหรือด้อยค่าหากถูกวิจารณ์ว่า “ไร้เหตุผล” หรือ “ไม่มีเหตุผล” และหากการกระทำใดที่ถูกประเมินว่าปราศจาก “เหตุผล” การกระทำนั้นก็จะไม่ได้รับการยอมรับ และถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง 

ด้วยสถานะอันสูงส่งของ “เหตุผล” ในฐานะที่เป็นแกนกลางความรู้ของสังคมสมัยใหม่ ทำให้ “เหตุผล”ถูกยกขึ้นเป็นเสมือน “พระเจ้า” องค์ใหม่ของมนุษย์ และเข้าสวมแทนตำแหน่งของ “ความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ” แบบจารีตดั้งเดิม และเบียดขับ “จิตอารมณ์” ให้ไปอยู่ชายขอบ 

ในสังคมตะวันหลังยุคกรีก มนุษย์ถูกครอบงำด้วยความเชื่อทางศาสนาและสิ่งเหนือธรรมชาติ “เหตุผล” ที่ได้รับการวางรากฐานไว้ด้วยนักปรัชญากรีกถูกกดทับเอาไว้อย่างยาวนาน จนกระทั่งถึงยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ “เหตุผล” และ “ประสบการณ์จากประสาทสัมผัส” ก็เริ่มเปิดฉากท้าทาย “ความเชื่อ” และ “สิ่งเหนือประสบการณ์” อย่างรอบด้านทั่วทวีปยุโรปทั้งภาคฟื้นดินและเกาะอังกฤษ

นักปราชญ์ที่สนับสนุนเหตุผลและมีอิทธิพลทางความคิดต่อความรู้สมัยใหม่จวบจนมาถึงปัจจุบันคือ เดการ์ตส์ ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส ประโยคอันเป็นที่จดจำและถูกอ้างมากที่สุดของเขาคือ “ฉันคิด ฉันจึงดำรงอยู่” ความคิดที่ดำรงอยู่ในจิตอย่างมีสำนึก หรือที่เรียกว่า “เหตุผล” จึงกลายเป็นรากฐานที่มนุษย์ยึดถือประดุจพระเจ้าองค์ใหม่ของเขา เพราะมันเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เขาตระหนักรู้ในการดำรงอยู่ของเขาในฐานะมนุษย์ หากมนุษย์ผู้ใดปราศจากความคิดอย่างมีสำนึกรู้เสียแล้ว เขาย่อมมิอาจตระหนักรู้ได้ว่าเขาเป็นมนุษย์หรือไม่

แม้บรรดานักปรัชญาส่วนใหญ่ในยุคการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ต่อเนื่องจนมาถึงยุคการตื่นรู้ทางปัญญา จะมีความคิดอย่างหนึ่งตรงกันนั่นคือ การแยกความรู้และความจริงออกจากความเชื่อทางศาสนา ทว่ามีความไม่ลงรอยระหว่างความคิดที่ว่า สิ่งใดควรเป็นแก่นหลักในการแสวงหาความรู้และความจริง ระหว่าง “เหตุผล” อันเป็นโครงสร้างที่อยู่ภายในของจิต กับ “ประสบการณ์” จากประสาทสัมผัสที่รับรู้สรรพสิ่งจากภายนอก แต่เรื่องนี้มีความละเอียดและมีข้อถกเถียงกันมากมาย จึงขอละเอาไว้ไม่กล่าวถึงในบทความนี้

อย่างไรก็ตาม อิมมานูเอล ค้านท์ นักปรัชญาชาวเยอรมันแห่งยุคการตื่นรู้ทางปัญญาพยายามประสานทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน โดยชี้ว่าประสบการณ์เป็นสิ่งที่บอกให้เรารู้ว่า สิ่งที่เราประสบเป็นอะไร ในกาละและเทศะหนึ่ง ทว่าไม่อาจสร้างความเป็นจริงสากลแก่มนุษย์ได้ หากมนุษย์ยึดติดกับประสบการณ์รูปธรรมและถือว่านั่นเป็นความจริงแท้แล้ว สภาวะที่เกิดขึ้นคือ “ความมืดบอด” ทำให้เขาไม่อาจเห็นความจริงภาพรวมได้อย่างกระจ่างและครอบคลุม เพราะสิ่งที่ได้จากประสบการณ์นั้นเป็นความรู้และความจริงแบบเสี่ยงเสี้ยวเท่านั้น ขณะที่ “จิต” ซึ่งเป็นโครงสร้างความคิดที่ติดตัวมนุษย์มาก่อนที่เรามีประสบการณ์ในโลกกายภาพ สามารถสร้างความจริงสากลได้ แต่โครงสร้างความคิดหรือเหตุผลมิได้สร้างความเป็นจริงจากความว่างเปล่า หากแต่หล่อหลอมและรวบรวมประสบการณ์สัมผัสเข้าไปประกอบสร้างเป็นความรู้และความจริง 

ดังนี้ ประโยคอมตะของค้านท์ที่ได้รับการอ้างอิงกันแพร่หลายจวบจนมาถึงยุคปัจจุบันคือ “การรับรู้ข้อมูลเชิงประสบการณ์ โดยปราศจากการจัดระเบียบความคิดด้วยเหตุผลรองรับคือ ความมืดบอด ขณะที่การอ้างเพียงระเบียบความคิดหรือเหตุผลโดยปราศจากข้อมูลเชิงประสบการณ์สนับสนุนคือ ความว่างเปล่า” กลายเป็นเสาหลักทางปัญญาของการแสวงหาความรู้สมัยใหม่ ที่จะต้องประกอบด้วยความคิดทฤษฎีและข้อมูลเชิงประจักษ์ ผสานกันอย่างแนบแน่นไม่อาจขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ 

ด้วยการวางรากฐานของนักปรัชญา การสร้างความรู้เชิงการประยุกต์ของนักทฤษฎีทั้งทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทำให้ “เหตุผล” หรือโครงสร้างระเบียบความคิดของจิต กลายเป็นแก่นหลักของการสร้างความรู้ และแน่นอนต่อการกระทำในชีวิตประจำวันของมนุษย์ด้วย และด้วยธรรมชาติหลักที่ดำรงอยู่ในโครงสร้างทางจิตของมนุษย์คือ “เจตจำนง” หรือ “ความปรารถนา” ดังนั้น “เหตุผล” ถึงมีความเชื่อมโยงกับ “ความปรารถนา” ภายในจิตของมนุษย์อย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้ 

ในมุมมองของค้านท์ การกระทำของมนุษย์อยู่ภายใต้ความปรารถนาที่จะมุ่งให้หลักการของการกระทำนั้นเป็นหลักการสากลที่มนุษย์ทุกคนพึงปฏิบัติร่วมกัน และต้องเป็นการกระทำที่ดีในตัวมันเองโดยไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น การกระทำที่มุ่งให้เป็นหลักการสากลจึงเป็นเหตุผลบริสุทธิ์ เป็นทั้งวิธีการและเป้าหมายในตัวมันเอง และเป็นรากฐานทางจริยธรรมที่สำคัญของมนุษย์ เพราะว่ามนุษย์ที่มีเหตุผลย่อมไม่กระทำในสิ่งที่ไร้จริยธรรม อย่างเช่นการโกหก เพราะเขาทราบดีว่า เขาไม่อาจทำให้การโกหกกลายเป็นหลักการสากลที่มนุษย์ทุกคนปฏิบัติต่อกันได้ 

อย่างไรก็ตาม ความคิดเกี่ยวกับการกระทำเชิงเหตุผลของค้านท์มีคู่ปรับที่สำคัญอยู่สองค่าย และดูเหมือนว่าผู้คนโลกทุนนิยมสมัยใหม่จำนวนมากถือเป็นหลักปฏิบัติของพวกเขา ค่ายแรกคือ ค่ายที่มองว่า เหตุผลที่มนุษย์กระทำสิ่งใดก็เพราะว่า การกระทำนั้นตอบสนองความปรารถนาที่จะทำให้เขาได้รับผลประโยชน์เข้ามาสู่ตนเองมากที่สุด หรือ หลักคิดที่ว่า “มนุษย์ทำสิ่งใดก็เพราะว่าเขาเห็นแก่ตัว” นั่นเอง เราเรียกเหตุผลแบบนี้ว่า “เหตุผลแบบอัตตนิยม”

พวกนักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมสนับสนุนให้มนุษย์ทำในสิ่งที่เห็นแก่ตัว เพราะเขาเชื่อว่า ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์แต่ละคนจะสร้างผลรวมที่ดีและความก้าวหน้าให้เกิดขึ้นแก่สังคมได้ อย่างเช่น มนุษย์เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวจึงไปลงทุน เมื่อมีหลายคนลงทุนในเรื่องเดียวกัน จึงเกิดการแข่งขันเพื่อให้ขายสินค้าของตนเองให้ได้มากและมีกำไรมาก ในการทำให้สินค้าขายได้มากต้องทำให้สินค้ามีราคาถูกหรือไม่ก็ต้องมีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างจากสินค้าอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน และท้ายที่สุดผู้บริโภคก็จะได้สินค้าราคาถูกและมีคุณภาพดีนั่นเอง

ส่วนค่ายที่สอง มองผลประโยชน์กว้างกว่าค่ายแรก โดยเห็นว่า “เหตุผลที่มนุษย์กระทำสิ่งใดก็เพราะเขาต้องการสร้างประโยชน์ให้มากที่สุด แก่คนจำนวนมากที่สุด” ค่ายนี้มองว่าค่ายแรกออกจะเห็นแก่ตัวไปหน่อย และผลลัพธ์อาจไม่เป็นตามที่นักวิชาการของค่ายนั้นเชื่อ แต่อาจทำให้สังคมมีปัญหาเชิงจริยธรรมได้ ดังดังนั้นสำหรับค่ายที่สองแล้ว การกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถคำณวนเป็นตัวเลขได้ จึงเป็นการกระทำที่มีเหตุผลอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่เป็นเหตุผลธรรมดา หากยังเป็นเหตุผลเชิงจริยธรรมด้วย

อย่างไรก็ตาม การกระทำด้วยเหตุผลของมนุษย์ ยังเป็นไปเพื่อผู้อื่น มิใช่แต่เพียงเพื่อตนเอง เช่น ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ หรือ มีความสุข หรือเป็นไปด้วยผลประโยชน์เรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือด้านเศรษฐกิจอีกด้วย เช่น ผลประโยชน์ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง เป็นต้น ดังนั้นการกระทำที่ขับเคลื่อนด้วยเหตุผลในยุคปัจจุบันจึงมีขอบเขตกว้างขวางอย่างยิ่ง 

สำหรับมนุษย์ที่จัดระบบความคิด ใช้ข้อมูลและปัญญาไตร่ตรอง เพื่อตัดสินการกระทำของตนเองด้วยเหตุผล ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลแบบใดก็ตาม เราเรียกคนแบบนี้ว่าเป็น “ปัจเจกบุคคล” ซึ่งหมายความว่าเป็นบุคคลที่ถูกขับเคลื่อนโดยใช้กระบวนการทางความคิด มากกว่าใช้แบบแผนเชิงจารีต และจิตอารมณ์ นั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม การกระทำหลายอย่างของมนุษย์บางคนในบางสถานการณ์ มีความเป็นไปได้สูงที่เขาจะหลอมรวมทั้งเหตุผล จิตอารมณ์ และจารีต เข้าด้วยกัน แล้วตัดสินกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปเพื่อตอบสนองแรงขับเคลื่อนทั้งสามมิติ แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่อาจถูกครอบงำด้วยมิติใดมิติหนึ่งเป็นหลัก และกระทำด้วยแรงขับเคลื่อนของสิ่งนั้น 


ในสังคมไทยนั้น มิติจิตอารมณ์และจารีตแบบดั้งเดิมเป็นพลังขับเคลื่อนหลักต่อการกระทำของคนไทย ส่วนมิติของเหตุผลนั้น ที่มีอยู่บ้าง ก็มักเป็นเหตุผลแบบอัตนิยมหรือเพื่อประโยชน์ตนเอง ครอบครัว และพวกพ้อง มากกว่าเหตุผลเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจหรือเรื่องอื่นๆก็ตาม และคนที่กระทำด้วยเหตุผลบริสุทธิ์เพื่อให้การกระทำนั้นเป็นหลักการสากลมีอยู่บ้าง แต่หายากยิ่งนัก

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั