ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

วิวัฒนาการของตรรกะและแบบแผนของพรรคการเมืองไทย

วิวัฒนาการของตรรกะและแบบแผนของพรรคการเมืองไทย 

เผยแพร่: 22 ธ.ค. 2560 16:54:00  โดย: MGR Online
LeftCenterRightRemove
"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

นับตั้งแต่มีการใช้ระบอบประชาธิปไตยเมื่อ ๘๕ ปี ที่แล้ว ตรรกะและแบบแผนความคิดเกี่ยวกับ “พรรคการเมือง” ของ “ชนชั้นนำไทย” ซึ่งมีอิทธิพลต่อการกำหนดรูปลักษณ์ของพรรคการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจหลายประการ

เริ่มจากความรู้สึกหวาดระแวงในการจัดตั้งเป็นกลุ่มและองค์การทางการเมือง จึงไม่ต้องการให้มีพรรคการเมืองในสนามการเลือกตั้ง จากนั้นก็เริ่มคิดใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือสร้างเสถียรภาพของรัฐบาล จึงมีการรับรองเอาไว้รัฐธรรมนูญและให้อิสระในการดำเนินงาน และในที่สุดก็ออกกฎหมายมากำกับโดยตรง ครั้นเมื่อเห็นว่าไม่สามารถใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิผลในการสร้างความมั่นคงให้แก่อำนาจของตนเองได้ ก็โยนเครื่องมือนี้ทิ้งลงในถังขยะทางประวัติศาสตร์ไปเสีย

ในระยะแรกของการเปลี่ยนผ่านการปกครอง ชนชั้นนำไทยห้ามมิให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง โดยให้เหตุผลว่า จะก่อให้เกิดความขัดแย้งและความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นมา ช่วง ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๘๙ จึงเป็นการเมืองที่ปราศจากพรรคการเมือง ใครประสงค์ลงเล่นการเมืองก็ทำได้อย่างเป็นอิสระ สามารถเดินไปสมัครรับเลือกตั้ง หาเสียง และหากได้รับชัยชนะในสนามการเลือกตั้งก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้เลย เมื่อเข้าไปอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรก็สามารถแสดงบทบาทอย่างเป็นอิสระ ส.ส.บางคนก็แสดงบทบาทในการเป็นผู้แทนราษฎรได้อย่างโดดเด่น แต่บางคนก็เริ่มแสวงหาประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ของตน การยกมือสนับสนุนร่างกฎหมายใดๆกฎหมายหนึ่งก็กลายเป็นกลไกการต่อรองและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างรัฐบาลและส.ส.

ครั้นกระแสประชาธิปไตยในระดับสากลเพิ่มสูงขึ้น ด้วยชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่สองของฝ่ายประเทศพันธมิตรที่ส่วนใหญ่ใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เหนือระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ของฝ่ายอักษะ ชนชั้นนำไทยก็รับอิทธิพลจากกระแสดังกล่าวด้วย และเริ่มเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อพรรคการเมือง โดยมองว่าสามารถใช้พรรคการเมืองเป็นกลไกในการเข้าสู่อำนาจและสร้างเสถียรภาพแก่ได้บาลได้ จึงมีการกำหนดลงไปในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๔๘๙ รับรองสิทธิของประชาชนในการจัดตั้งพรรคการเมือง เปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง ขณะเดียวกันก็ให้ปัจเจกบุคคลสมัครรับเลือกตั้งอย่างอิสระโดยไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองได้ สนามการเลือกตั้งจึงมีทั้งผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมืองและผู้สมัครอิสระ

ช่วงแรกกลุ่มคนที่จัดตั้งพรรคการเมืองก็มิได้เป็นกลุ่มนายทุนแต่อย่างใด ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เคยเป็น ส.ส.มาแล้ว และบางส่วนก็เป็นชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม พรรคการเมืองที่โดดเด่นในยุคนั้น เช่น พรรคสหชีพ ซึ่งมีกลุ่มอดีต ส.ส.จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแกนนำโดยมี นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรค พรรคแนวรัฐธรรมนูญ มีอดีตข้าราชการเป็นแกนนำ และมี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าพรรค และ พรรคประชาธิปัตย์ มีชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็นแกนนำ และมี นายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค เป็นต้น

แต่เพียงปีเศษๆ หลังจากนั้น ในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๐ กลุ่มทหารโดยการนำของ พลโท ผิน ชุณหะวัณ ก็ทำการรัฐประหารโดยอ้างเหตุผลว่า ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤติการณ์ ประชาชนเดือดร้อน ข้าวยาก หมากแพง รัฐบาลและสภาไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากปล่อยเอาไว้ก็จะทำให้ประเทศหายนะได้ แต่การรัฐประหารครั้งนั้นไม่ได้ยุบพรรคการเมือง คงปล่อยให้พรรคการเมืองดำเนินการทางการเมืองต่อไป

ในช่งแรกๆทหารยุคนั้นคงมีความกระดากใจในการขึ้นมาเปิดหน้าขึ้นมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองทันที จึงให้นายควง อภัยวงศ์จัดตั้งรัฐบาล ส่วนกลุ่มของตนเองชักใยกำกับอยู่เบื้องหลัง และได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งในเดือนมกราคม ๒๔๙๑ หลังการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวน ส.ส. มามากพอสมควร กลุ่มทหารจึงยอมให้พรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่เป็นอยู่ได้เพียงเดือนกว่าๆเท่านั้น รัฐบาลนายควง ก็ถูกกลุ่มทหารบังคับให้ลาออก และยกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้แก่ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็ถูกโยนให้เป็นฝ่ายค้าน แต่นั่นก็กลับกลายเป็นว่าทำให้บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ดูดีขึ้น ในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองที่วิจารณ์ทหารและต่อสู้กับเผด็จการ

ช่วงที่จอมพลแปลก เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่หลังวันที่ ๘ เมษายน ๒๔๙๑ เป็นต้นมา จวบจนสิ้นอำนาจในเดือนกันยายน ๒๕๐๐ ได้เกิดปรากฎการณ์อันเป็นแบบแผนบางอย่างของการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาในบริบทการเมืองไทย แบบแผนที่ว่าคือ ในบรรดาผู้เป็นส.ส. จะมีแกนนำทำหน้าที่รวบรวม ส.ส. เข้ามาเป็นกลุ่มก้อน เพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง หลักคิดของบรรดา ส.ส.ที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งพรรคการเมืองคือ พวกเขาจะไม่เข้าไปอยู่ในพรรคใหญ่ เพราะโอกาสต่อรองเพื่อให้ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีมีความยากลำบาก ดังนั้นหนทางที่ทำให้มีโอกาสได้ตำแหน่งรัฐมนตรีคือ การจัดตั้งพรรคของตนเองโดยมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่มีปริมาณ ส.ส.มากเพียงพอสำหรับการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี

ตรรกะของการจัดตั้งพรรคการเมืองจึงประกอบด้วย ความปรารถนาในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนักการเมืองที่เป็น ส.ส. หนทางที่จะทำให้ได้ตำแหน่งนั้นมาคือ การมีสมาชิกพรรคที่เป็นส.ส.จำนวนหนึ่ง ที่มีปริมาณเพียงพอที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองตำแหน่งมาได้ จึงนำไปสู่การรวบรวม ส.ส.ที่มีอยู่แล้วในสภาจำนวนหนึ่งและจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง เช่น พรรคประชาชนของนายเลียง ไชยกาล และพรรคกสิกรรมของนายวรการบัญชา (บุญเกิด สุตันนานนท์)

เงื่อนไขที่บรรดา ส.ส.ยอมไปสังกัดพรรคเหล่านั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า ผลประโยชน์ต่างตอบแทนที่พวกเขาได้รับมีมากน้อยเพียงใด เมื่อใดก็ตามที่พรรคการเมืองอื่นเสนอผลประโยชน์ให้มากกว่า พวกเขาก็พร้อมที่จะย้ายพรรคได้ทุกเมื่อ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลในยุคนั้นไม่มั่นคง จนนำไปสู่การรัฐประหารตนเองของจอมพลแปลก ในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๔ สำหรับข้ออ้างการรัฐประหารตนเองในครั้งนั้นค่อนข้างจะพิสดารอยู่นิดหนึ่งคือ อ้างว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๙๒ ทำให้ไม่สะดวกในการบริหารประเทศ บางทีข้ออ้างนี้อาจจะถูกนำมาใช้อีกครั้งในยุคปัจจุบันก็ได้ เพราะเริ่มมีสัญญาณบางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งมีนัยว่าเหตุการณ์คล้ายคลึงกับอดีตอาจจะกลับมาอีก เช่น การที่ผู้อยากจะเป็นนักการเมืองและอดีตนักการเมืองเสนอให้ใช้มาตรา ๔๔ แก้กฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งประกาศใช้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติถูกตรึงเอาไว้ ด้วยประกาศ คสช.

การเสนอให้แก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองทั้งๆที่ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้จริง ย่อมเป็นเค้าลางที่อาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่ใหญ่กว่าในอนาคตได้ นั่นคือ หากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการบริหารประเทศ ก็อาจนำไปสู่การรัฐประหารได้

ย้อนกลับมาดูพรรคการเมืองในอดีตต่อ ใน พ.ศ. ๒๔๙๘ หลักคิดเกี่ยวกับพรรคการเมืองได้วิวัฒนาการมาสู่การใช้กฎหมายรองรับ ในครั้งนั้นได้เกิดพรรคทหารขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ชื่อ พรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งมีจอมพลแปลก เป็นหัวหน้าพรรค สรรพกำลังของบรรดาผู้นำทหารทั้งที่ยังประจำการและเกษียณไปแล้วถูกระดมเข้ามาอยู่ร่วมในพรรคนี้อย่างพร้อมเพรียง ขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ก็ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่บอยคอต ไม่ยอมส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งใน พ.ศ. ๒๔๙๕ เพราะรับไม่ได้กับการที่จอมพลแปลกรัฐประหารตนเอง ในกรณีประชาธิปัตย์จะเห็นว่า การใช้แนวทางการบอยคอตการเลือกตั้ง เป็นวิธีการที่พรรคใช้เพื่อประท้วงการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมของฝ่ายที่ครองอำนาจทางการเมืองมานานแล้ว และถูกหยิบมาใช้ซ้ำอีกครั้งในการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๙

ในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๐ เมื่อฝ่ายรัฐบาลทหารจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเองและส่งสมาชิกพรรคสมัครรับเลือกตั้ง ผลที่ตามมาคือ การใช้อำนาจรัฐทุจริตเลือกตั้งอย่างมโหฬาร และพรรคเสรีมนังคศิลาได้รับเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด นับเป็นครั้งแรกของการเมืองไทยที่มีพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งจากเสียงข้างมาก แต่ก็เกิดขึ้นท่ามกลางการประท้วงของนักศึกษาและประชาชนอย่างไม่เคยมีมาก่อน ท้ายที่สุดก็จบลงด้วยการรัฐประหารของจอมพลสฤดิ์ ธนะรัชต์ ในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน แต่กระนั้นก็ไม่มีการยุบเลิกพรรคการเมืองแต่อย่างใด การเลือกตั้งทั่วไปถูกจัดขึ้นมาอีกครั้งในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน พรรคที่สนับสนุนทหารก็ได้มีการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ชื่อ พรรคสหภูมิ ซึ่งรวบรวมอดีตส.ส.ที่ไม่สังกัดพรรค และอดีต ส.ส.ที่เคยสังกัดพรรคเสรีมนังคศิลาเข้ามาอยู่ร่วมกัน ส่วนพรรคเสรีมนังศิลานั้นก็สลายหายไปตามการจากไปของผู้นำ ที่ต้องลี้ภัยในต่างประเทศหลังการรัฐประหาร

แม้ว่าจะมีพรรคสหภูมิสนับสนุน แต่กลุ่มอำนาจนำฝ่ายทหารก็ยังไม่อุ่นใจดีนัก ดังนั้นหลังการเลือกตั้งไม่นาน จอมพลสฤดิ์ จึงตั้งพรรคการเมืองของตนเองขึ้นมา ชื่อ พรรคชาติสังคม ซึ่งได้ทำการควบรวมเอาสมาชิกพรรคสหภูมิและพรรคเล็กพรรคน้อยอื่นๆ เข้ามาอยู่รวมกัน และมอบให้พลโทถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพชั่วคราว ส่วนตนเองนั้นไปเตรียมการยกเครื่องการเมืองไทย และกลับมารัฐประหารยึดอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในเดือนตุลาคม ๒๕๐๑ และในการรัฐประหารครั้งนั้นจอมพลสฤดิ์ ได้สั่งยุบพรรคการเมืองทุกพรรค อันเป็นการปิดฉากบทบาทของพรรคการเมืองลงไปอย่างยาวนาน

ในระยะยี่สิบห้าแรกของการเมืองแบบเลือกตั้งของไทยนั้น พรรคการเมืองมีโอกาสโลดแล่นในสนามเลือกตั้งและเกมอำนาจทางการเมืองประมาณสิบสองปีเท่านั้น ตรรกะที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองในระยะนี้มีอยู่สามชุดหลักคือ ตรรกะชุดแรก เป็นตรรกะหลักของชนชั้นนำทางอำนาจไทยที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านการปกครอง ซึ่งมองว่าพรรคการเมืองเป็นองค์การที่จะสร้างความวุ่นวายและขัดแย้งในสังคม ทำให้เกิดความหวาดระแวงและไม่ยอมให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง

ตรรกะชุดที่สอง เป็นตรรกะที่วิวัฒนาการขึ้นมาอีกระดับของชนชั้นนำทางอำนาจที่เริ่มจะคุ้นเคยกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ชนชั้นนำทางอำนาจคิดว่า การทำให้อำนาจของตนเองมีเสถียรภาพ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. ในปริมาณที่เพียงพอ ดังนั้นพรรคการเมืองจึงกลายมาเป็นเครื่องมือในการรวบรวม ส.ส. ให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนเพื่อสนับสนุนรัฐบาล และทำให้เกิดเสถียรภาพขึ้นมา แต่ครั้นพบว่าพรรคการเมืองไม่สามารถเป็นกลไกที่ทำให้เกิดประสิทธิผล จึงตัดสินใจทำลายเครื่องมือนั้นเสีย และสร้างกลไกใหม่ขึ้นมาแทนนั่นคือระบบรัฐราชการ

ตรรกะชุดที่สาม เป็นตรรกะของนักการเมืองผู้มีความปรารถนาในตำแหน่งรัฐมนตรี พวกเขามองว่าพรรคการเมืองคือกลไกการรวบรวมส.ส.ให้เป็นกลุ่มก้อนในปริมาณที่เพียงพอ โดยไม่น้อยหรือมากจนเกินไปเพื่อสร้างอำนาจต่อรองตำแหน่งและผลประโยชน์ นักการเมืองเหล่านี้ตระหนักว่าพวกเขามิใช่และไม่สามารถทำให้ตนเองเป็นกลุ่มอำนาจหลักทางการเมืองได้ ดังนั้นจึงพยายามสร้างพรรคการเมืองที่มีขนาดเล็กและกลาง ซึ่งมีจำนวนส.ส. เพียงพอที่จะทำให้ได้รับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีจากกลุ่มอำนาจหลักในการจัดตั้งรัฐบาล

หลังจากวิวัฒนาการมาเพียงสิบกว่าปี ตรรกะและแบบแผนบางอย่างของพรรคคการเมืองก็เกิดขึ้น แต่ดำรงอยู่ได้ไม่นาน เส้นทางวิวัฒนาการก็หยุดชะงักลงไป เพราะพรรคการเมืองก็ถูกยุบเลิก สำหรับวิวัฒนาการในช่วงสองจะเป็นอย่างไรบ้าง ตรรกะและแบบแผนเดิมมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ในเรื่องใดบ้าง และมีตรรกะชุดใหม่เกิดขึ้นบ้างหรือไม่ สัปดาห์หน้าพบกันอีกทีครับ

                                                                   ๒
การดำรงอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานสิบกว่าปีของ จอมพลสฤดิ์ ธนะรัชต์และจอมพลถนอม กิตติขจร ทำให้อำนาจระบบราชการภายใต้การนำของกองทัพมีความแข็งแกร่งยิ่งกว่าองค์การและสถาบันทางการเมืองใดๆ ในสังคมไทย พร้อมๆ กันนั้นพรรคการเมืองก็ถูกลบออกไปจากระบบการเมืองกว่าทศวรรษ เพราะกลุ่มอำนาจนำทางการเมืองไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือเช่นนี้แล้ว เส้นทางการวิวัฒนาการของพรรคการเมืองจึงหยุดชะงักและขาดตอนไปจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยไประยะหนึ่ง

ครั้นเมื่อไม่อาจลากสถานการณ์การครอบงำอำนาจให้เนิ่นช้าต่อไปอีก เพราะแรงกดดันจากสังคมที่ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง กลุ่มอำนาจนำจึงจำยอมให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๑ เกิดขึ้น และตามมาด้วยการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ ในระบอบการเมืองแบบเลือกตั้ง จำนวนเสียงของ ส.ส.ย่อมมีความหมายต่อการจัดตั้งและการดำรงอยู่ของรัฐบาล แต่ภายใต้เงื่อนไขของระบอบการเมืองไทย อำนาจของเสียง ส.ส. มิใช่เป็นสิ่งกำหนดทิศทางการเมืองได้อย่างเด็ดขาดเพียงลำพัง แต่ระดับอิทธิพลและอำนาจแปรผันตามขอบเขตอำนาจของ สมาชิกวุฒิสภา ที่มาจากการแต่งตั้งของกลุ่มอำนาจนำทางการเมืองด้วย

กล่าวได้ว่าวุฒิสภาในบริบทการเมืองไทยเป็นสัญลักษณ์เชิงอำนาจของระบบรัฐราชการ และเป็นพลังอำนาจคู่ขนานกับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งที่ดำรงอยู่ในสังคมการเมืองไทยมาโดยตลอด แบบแผนอำนาจการเมืองเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อวิวัฒนาการของพรรคการเมืองไม่น้อยทีเดียว

แม้กลุ่มอำนาจนำทางการเมืองจะมีฐานสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกอยู่แล้ว แต่เพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำรงอยู่ของอำนาจ การได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. เป็นเงื่อนไขจำเป็น มิอาจขาดได้ กลไกที่จะทำการรวบรวมให้ ส.ส.อยู่เป็นกลุ่มก้อนและง่ายต่อการจัดการกว่าอยู่อย่างเป็นอิสระคือพรรคการเมือง ด้วยเงื่อนไขนี้ พรรคการเมืองจึงเป็นเครื่องมือที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งของกลุ่มอำนาจนำเพื่อสร้างความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจ

เป็นความจริงในบางระดับที่ว่า กลุ่มอำนาจนำย่อมรับรู้และเข้าใจตรรกะ หลักการ ระเบียบปฏิบัติ และสัญลักษณ์ของการจัดตั้งและดำเนินงานของพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตก ทว่า เงื่อนไขเชิงประวัติศาสตร์ โครงสร้างสังคม และวัฒนธรรมไทยนั้น แตกต่างจากบรรดาปัจฉิมประเทศเหล่านั้น ดังนั้นชุดของตรรกะเชิงสถาบันที่มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติการทางการเมืองย่อมแตกต่างกันไปด้วย ไม่ว่าจะมีการลอกเลียนจนเกิดความคล้ายคลึงกันในเปลือกนอกเพียงใดก็ตาม

เค้าโครงทางความคิดหลักของการจัดตั้งพรรคการเมืองในช่วง พ.ศ. ๒๕๑๑ ถึง ๒๕๑๔ ยังคงสืบเนื่องมาจากสองทศวรรษก่อน แต่เริ่มมีการวิวัฒนาการเพิ่มเติมในบางเรื่องอันได้แก่ การแสดงออกให้เห็นถึงการนำประเด็นอุดมการณ์ และสมาชิกพรรคที่เป็นประชาชนธรรมดา ซึ่งไม่ใช่นักการเมืองเข้ามาเป็นองค์กระกอบของพรรค พรรคการเมืองที่มีการจัดตั้งในระยะนี้ ได้แก่ พรรคสหประชาไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคแนวร่วมเศรษฐกร พรรแนวประชาธิปไตย และพรรคเล็กพรรคน้อยอีกจำนวนหนึ่ง

กลุ่มอำนาจนำทางทหารและราชการจัดตั้งพรรคสหประชาไทย ภายใต้ตรรกะที่มุ่งสร้างพรรคการเมืองให้เป็นกลไกที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพในการเข้าถึง สืบทอด และดำรงรักษาอำนาจ เพื่อเข้ามาเสริมกลไกระบบราชการที่เป็นฐานอำนาจเดิมทางการเมืองของพวกเขา ในการจัดตั้งพรรคสหประชาไทย มีความพยายามลอกเลียนหลักการและรูปแบบของการจัดตั้งพรรคการเมืองของประเทศตะวันตกเข้ามาใช้ โดยจัดทำอุดมการณ์ของพรรคอย่างเป็นเรื่องเป็นราวภายใต้การดำเนินการของพลโทแสวง เสนาณรงค์และนักวิชาการในเครือข่าย และพยายามขยายฐานสมาชิกของพรรคออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยให้ประชาชนและข้าราชการที่ไม่ได้อยู่ในศูนย์กลางของอำนาจรัฐเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคด้วย

ขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเคยจัดตั้งขึ้นมาในยุคแรกๆของการเมืองไทย ก็ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาโดยแกนนำพรรคดั้งเดิม ภายใต้การนำของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และอดีตนักการเมืองเก่าที่อยู่ในพรรคนี้อีกจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันภาพลักษณ์ของพรรคที่เคยต่อสู้กับเผด็จการอย่างจอมพล ป. ในยุคก่อนยังคงดำรงอยู่ในกระแสการรับรู้ของสังคม ทำให้พรรคสามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาสูงและประสงค์เข้าไปโลดแล่นในเวทีการเมืองจำนวนไม่น้อยเข้าไปอยู่ในพรรค นักการเมืองที่โดดเด่นของพรรค เช่น นายอุทัย พิมพ์ใจชน นายพิชัย รัตตกุล นายชวน หลีกภัย เป็นต้น

หากพิจารณาหลักคิดและตรรกะของกลุ่มคนที่เป็นแกนนำการจัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ในยุคนั้น ผมคิดว่าตรรกะหลักน่าจะเป็น การพยายามต่อสู้และช่วงชิงพื้นที่ทางการเมืองให้แก่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม แต่การต่อสู้ทำภายใต้เงื่อนไขและขอบเขตที่กลุ่มอำนาจนำทางสังคมเปิดให้เท่านั้น และจะยุติบทบาททางการเมืองหากกลุ่มอำนาจนำทางทหารห้ามมิให้ดำเนินการทางการเมือง การต่อต้านเผด็จของพรรคประชาธิปัตย์จึงมีแนวโน้มในลักษณะที่ต่อต้านเมื่อเผด็จการไม่อยู่ในอำนาจแล้ว แต่หากเผด็จการยังอยู่ในอำนาจพวกเขาก็มักจะเงียบเสียงลงไป (ยกเว้นนักการเมืองที่สังกัดพรรคนี้บางคน เช่น นายอุทัย พิมพ์ใจชน ที่ใช้กลไกกฎหมายฟ้องคณะรัฐประหารข้อหากบฎ ภายหลังรัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๑๔) ทว่าหลักคิดแบบนี้มิใช่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคเดียว หากแต่เกิดขึ้นกับแทบทุกพรรคในสังคมไทย แม้กระทั่งในปัจจุบันก็ตาม เพียงแต่พรรคอื่นมิได้ประกาศตัวอย่างชัดเจนต่อสาธารณะว่าต่อต้านเผด็จการอย่างแข็งขันแบบพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตามในยุคนี้ มีร่องรองของการใช้ตรรกะในการจัดตั้งพรรคการเมืองแตกต่างจากเดิมอยู่บ้างทั้งไม่ใช่ตรรกะแบบรักษาและสืบทอดอำนาจของกลุ่มทหารและราชการ และมิใช่ตรรกะแบบเปิดพื้นทางการเมืองแบบเสรีนิยมของกลุ่มแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ หากแต่เป็นตรรกะของการสร้างพื้นที่ทางการเมืองแก่หลักคิดและนโยบายเชิงสังคมนิยม พรรคการเมืองที่แสดงออกถึงการใช้ตรรกะแบบนี้อย่างชัดเจนมีสองพรรคหลักคือพรรคแนวร่วมเศรษฐกร อันเป็นการรวมตัวของนักการเมืองที่มีแนวคิดแบบสังคมนิยม เช่น นายแคล้ว นรปติ นายทองใบ ทองเปาว์ เป็นต้น และพรรคแนวประชาธิปไตย ซึ่งมีนักวิชาการสายสังคมนิยมอย่าง นายบุญเย็น วอทอง เป็นแกนนำ

ในอีกด้านหนึ่ง การจัดตั้งพรรคการเมืองภายใต้ตรรกะของการต่อรองเพื่ออำนาจและผลประโยชน์กับกลุ่มอำนาจนำก็ยังคงดำรงอยู่ พรรคการเมืองเหล่านั้นทำหน้าที่เป็นกลไกสำรองในการสืบทอดอำนาจให้แก่กลุ่มอำนาจนำ เช่น พรรคประชาชน พรรคท้องถิ่นก้าวหน้า เป็นต้น และตรรกะแบบนี้ยังคงดำรงอยู่ตราบจนปัจจุบัน

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ มีส.ส. ทั้งหมดจำนวน ๒๑๙ ที่นั่ง พรรคสหประชาไทย ได้รับเสียงมากที่สุด ๗๔ ที่นั่ง รองลงมาคือประชาธิปัตย์ได้ ๕๕ ที่นั่ง ส่วนส.ส.ที่เหลือมาจากพรรคเล็กพรรคน้อยและผู้สมัครอิสระ ซึ่งในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคสหประชาไทยได้รวบรวม ส.ส.อิสระและจากพรรคเล็กพรรคน้อยเข้ามาสนับสนุนจนมีเสียงเกินครึ่งในสภา ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน

ปรากฎการณ์เช่นนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า “ความเป็นพรรคการเมือง” ในฐานะที่เป็นองค์การทางอุดมการณ์ มิใช่ตรรกะหลักของพรรคการเมืองแต่อย่างใด อุดมการณ์จึงไม่มีพลังเพียงพอในการยึดโยงและสร้างความจงรักภักดีให้กับสมาชิกพรรคได้ กล่าวได้ว่า ส.ส. ส่วนใหญ่ในยุคนั้นพร้อมย้ายพรรคได้เสมอ หากได้รับข้อเสนอที่ทำให้ตนเองมีโอกาสดีกว่าในการดำรงตำแหน่งและได้ผลประโยชน์ทางการเมือง

ภายใต้ตรรกะดังกล่าว ทำให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลแสดงพฤติกรรมที่สั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลเสียเองประกอบกับ กลุ่มอำนาจนำมิสามารถใช้ระเบียบและบรรทัดฐานของพรรคการเมืองกำหนดและควบคุมการตัดสินใจของ ส.ส. ในพรรคของตนเองได้ แบบแผนการตัดสินใจลงมติของ ส.ส.ขึ้นอยู่กับการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการเมืองกับกลุ่มผู้นำรัฐบาล หากพวกเขาได้รับผลประโยชน์ตอบแทนที่สร้างความพึงพอใจ ก็จะลงมติสนับสนุน แต่หากต่อรองกันแล้วไม่ได้รับผลประโยชน์ตามที่ต้องการ บรรดาส.ส.เหล่านั้นก็ใช้พลังเสียงที่ตนเองมีอยู่เป็นเครื่องในการสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลเสมอ

สถานการณ์ทางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรพัฒนาไปจนทำให้กลุ่มอำนาจนำทางทหารมิอาจทนกับสภาพการที่ดำรงอยู่ในขณะนั้นได้ จอมพลถนอม กิตติขจรและคณะจึงตัดสินใจรัฐประหารตนเอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร และยุบเลิกพรรคการเมือง การรัฐประหารตนเองครั้งนั้น ผมตีความว่ามาการไร้ความสามารถและขาดทักษะในการจัดการความขัดแย้งและประสานประโยชน์ภายใต้การเมืองแบบรัฐสภาของคณะทหารเอง อุปมาเหมือนเด็กที่เคยเล่น “เกมต่อภาพ” แบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ก็พอสามารถทำได้ แต่ครั้นเมื่อสถานการณ์บังคับให้ต้องเล่น “เกมต่อภาพ” ที่มีความซับซ้อนและยากยิ่งขึ้น ทุกสิ่งดูสับสนวุ่นวาย จนปัญญา ไม่สามารถต่อชิ้นส่วนต่างๆ เป็น “ภาพ” ได้สำเร็จ เพราะตนเองขาดความสมรรถนะและไม่มีทักษะเพียงพอ แต่แทนที่จะเลือกพัฒนาทักษะของตนเอง กลับเลือกฉีกเกมนั้นทิ้งไปเสีย ความคิดแบบเอาง่ายและสะดวกเข้าว่า ดูเหมือนกลายเป็นแบบแผนความคิดหลักของกลุ่มอำนาจนำในสังคมไทย ซึ่งส่งอิทธิพลต่อมาถึงยุคปัจจุบัน

การทำเช่นนี้ของกลุ่มอำนาจนำจึงเป็นการผลิตซ้ำตรรกะและแบบแผนทางความคิดที่พวกเขาเคยทำมาตั้งแต่อดีต นั่นคือการคิดว่า พรรคการเมืองเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งในการสืบทอดและรักษาอำนาจ แต่เมื่อใดก็ตามที่ พรรคการเมืองไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้ตามความต้องการ กลุ่มอำนาจนำทางการเมืองก็พร้อมที่จะทำลายเครื่องมือนั้นทิ้งเสีย และหันมาใช้ระบบราชการและกองทัพ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่พวกเขาคุ้นเคยและสามารถควบคุมได้แทน

แต่การตัดสินใจเลือกการรัฐประหารของของจอมพลถนอม กิตติขจรในครั้งนั้นทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ย้อนกลับมาทำลายพวกเขาอย่างใหญ่หลวงในภายหลัง โดยคณะของพวกเขาได้รับการจารึกชื่อลงในประวัติศาสตร์การเมืองในทางที่ทำให้ลูกหลานมิอาจสู้หน้าคนในสังคมได้เป็นเวลายาวนาน และยังทำให้ภาพลักษณ์ของทหารไทยในภาพรวมเสื่อมลงเป็นระยะเวลาหนึ่ง

การรัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๑๔ ทำให้วิวัฒนาการของพรรคการเมืองหยุดชะงักลงชั่วคราว ทว่าหลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗ พรรคการเมืองได้อุบัติขึ้นมาอย่างมากราวดอกเห็ดต้นฤดูฝน และที่สำคัญคือ มีตรรกะและแบบแผนการปฏิบัติที่สำคัญของพรรคการเมืองไทยเกิดขึ้น จนกลายเป็นตรรกะหลักที่ครอบงำพรรคการเมืองไทยอย่างยาวนานหลายทศวรรษหลังจากนั้น
                                      ๓
การครอบครองอำนาจที่ยาวนาน มักนำภัยพิบัติและความหายนะย้อนกลับมาสู่ตัวผู้ใช้อำนาจเสมอ เพราะว่าผู้ใช้อำนาจมักหลงในมายาคติว่าตนเองไม่มีวันหมดอำนาจ จึงมีแนวโน้มใช้อำนาจตามอำเภอใจมุ่งแสวงหาประโยชน์และเพื่อต่ออายุทางอำนาจให้แก่กลุ่มพวกพ้อง โดยไม่สนใยไยดีกับความชอบธรรมและความต้องการของประชาชน การต่อต้านอำนาจไม่ชอบธรรมในสังคมจึงค่อยๆสะสมและขยายออกไป และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็กวาดเอาผู้ครอบครองอำนาจรัฐตกจากเวทีประวัติศาสตร์

ความไม่ชอบธรรมในการใช้อำนาจของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร หลังการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๑๔ นำไปสู่การชุมชุมของนักศึกษาประชาชนหลายครั้งหลายคราวอย่างต่อเนื่อง และก้าวสู่จุดสูงสุดในช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ประเทศเข้าสู่ภาวะวิกฤติและเกิดการปะทะกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประวัติศาสตร์ระหว่างประชาชนผู้มีเพียงมือเปล่า กับกลไกรัฐที่พรั่งพร้อมด้วยปืน รถถัง และอากาศยานติดอาวุธ ประชาชนจำนวนมากถูกยิงสังหาร ความชอบธรรมของรัฐบาลหมดลงไปอย่างสิ้นเชิง จอมพลถนอม ลาออกจากนายกรัฐมนตรี รัฐบาลทหารล่มสลาย พร้อมกับพรากเกียรติภูมิของกองทัพให้จมดิ่งตามลงไปด้วย

รัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ และ การเลือกตั้งตามมาในปลายเดือนเดือนมกราคม ๒๕๑๘ เป็นครั้งแรกที่มีการระบุในรัฐธรรมนูญว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และสนามการเลือกตั้งเต็มด้วยความเข้มข้น พรรคที่สำคัญและมีบทบาททางการเมืองสูงในช่วงนี้ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคกิจสังคม พรรคชาติไทย พรรคธรรมสังคม พรรคพลังใหม่ พรรคแนวร่วมสังคมนิยม และพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ที่สนามการเมืองของการเลือกตั้งไทยกลายเป็นเวทีการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจนและเปิดเผย

ทว่า การเปิดกว้างของเวทีการเมืองแบบนี้เกิดขึ้นได้เพียงสองปีเศษเท่านั้น พรรคการเมืองที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาในช่วงนี้มีอายุเพียงสั้นๆ เท่านั้น และถูกยุบเลิกไปโดยการรัฐประหารในเดือนตุลาคม ๒๕๑๙ อย่างไรก็ตาม การขาดหายไปจากเวทีการเมืองของฝ่ายทหาร ทำให้แบบแผนการจัดตั้งพรรคการเมืองภายใต้การนำของทหารดังที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างพรรคเสรีมนังคศิลา พรรคชาติสังคม และพรรคสหประชาไทย ได้ลบเลือนไปจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย และหลังจากนั้นผู้นำทหารที่ยังดำรงอำนาจอยู่ก็ไม่ได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาอีกเลย จะมีก็แต่เพียงอดีตผู้นำทหารที่ไร้อำนาจในกองทัพแล้วที่มาจัดตั้งพรรคการเมือง

เราสามารถจำแนกพรรคการเมืองอันมากมายในช่วงนี้ออกเป็นห้ากลุ่มหลัก กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่มีนายทุนระดับชาติเป็นแกนนำและมีนายทุนท้องถิ่นเข้ามาผสม ซึ่งมีสองพรรคหลักคือ พรรคกิจสังคมและพรรคชาติไทย กลุ่มที่สองคือ พรรคที่มีนายทุนท้องถิ่นเป็นแกนหลักคือพรรคธรรมสังคม การเกิดพรรคการเมืองที่มีกลุ่มทุนระดับชาติและท้องถิ่นเป็นแกนหลักนี้เสมือนเป็นวิวัฒนาการต่อจากพรรคการเมืองที่มีชนชั้นนำของกองทัพเป็นแกนนำในอดีตนั่นเอง และกลุ่มที่สามคือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักการเมืองอาชีพเสรีนิยมและชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม กลุ่มที่สี่คือ กลุ่มพรรคที่มีแกนนำเป็นบุคคลในแวดวงวิชาชีพ วิชาการ สื่อมวลชน และอดีตส.ส.แนวสังคมนิยมประชาธิปไตย ได้แก่พรรคพลังใหม่ พรรคแนวร่วมสังคมนิยม และพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย กลุ่มที่ห้าคือบรรดาพรรคเล็กพรรคน้อยซึ่งมีเป็นจำนวนมาก พรรคการเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกลไกของบรรดานักฉวยโอกาสทางการเมือง เช่น พรรคสันติชน พรรคประชาธรรม เป็นต้น

ตรรกะการจัดตั้งพรรคการเมืองในยุคนี้มีสามรูปแบบหลัก แบบแรกคือ พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือทางการเมืองสำหรับการสร้างพลังในการต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง อำนาจ ผลประโยชน์ และการปกป้องธุรกิจ ตรระชุดนี้เป็นตรรกะหลักของ กลุ่มทุนระดับชาติ ท้องถิ่น และนักฉวยโอกาสทางการเมืองทั้งหลาย แบบที่สองคือ พรรคการเมืองเป็นกลไกในการเผยแพร่อุดมการณ์และนโยบายทางการเมือง รวมทั้งเป็นโอกาสเข้าถึงอำนาจทางการเมืองเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเชิงการปฏิรูปสังคมไปสู่การปฏิบัติ ตรรกะชุดนี้แพร่หลายในแวดวงนักวิชาชีพ วิชาการ และสื่อมวลชน ที่เข้ามาจัดตั้งพรรคการเมืองยุคนั้น และ แบบที่สามคือการใช้พรรคการเมืองเพื่อสร้างบทบาทและอำนาจต่อรองสำหรับตนเองสำหรับการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแบ่งปันผลประโยชน์ และสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รับรู้ของสาธารณะ อันเป็นตรรกะของบรรดาเหล่านักฉวยโอกาสทางการเมือง สำหรับตรรกะของการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ระบอบประชาธิปไตยและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น ยังเป็นจินตนาที่ห่างไกลจากความคิดของบรรดานักการเมืองในยุคนั้น

ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๖ ถึง ๒๕๑๙ เป็นช่วงที่ความขัดแย้งและความแตกแยกทางสังคมปรากฎขึ้นอย่างแพร่หลายทั้งภายในและภายนอกรัฐสภา การต่อสู้ทั้งในเชิงอุดมการณ์และผลประโยชน์เป็นไปอย่างเข้มข้น การใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นในแทบทุกปริมณฑลของสังคม มีทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายต่างก็จัดตั้งมวลชนเพื่อใช้เป็นพลังในการต่อสู้ทางการเมือง ในส่วนของพรรคการเมืองเองก็มีความขัดแย้งทั้งภายในพรรค และระหว่างพรรค ผู้คนส่วนใหญ่ที่เข้าสู่เวทีทางการเมืองยังไม่มีการเรียนรู้ความอดกลั้นต่อความแตกต่างทางความคิด และยังไม่เรียนรู้การละวางและเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม สภาวะความสับสนระส่ำระสาย ความรุนแรง และไร้เสถียรภาพจึงกลายเป็นปรากฎการณ์ทั่วไปของสังคมการเมืองไทย จนกลายเป็นเงื่อนไขของการรัฐประหารและการกลับเข้ามาควบคุมสังคมอีกครั้งของกองทัพ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ และพรรคการเมืองก็ถูกยุบเลิกไปอีกครั้ง

เมื่อรัฐธรรมนูญอีกฉบับ ถูกประกาศใช้ใน พ.ศ. ๒๕๒๑ และการเลือกตั้งถูกกำหนดขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๒๒ แต่ทว่าเป็นการเลือกตั้งที่ปราศจากพรรคการเมือง ด้วยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ ห้ามใช้คำว่าพรรคการเมืองในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามแกนนำของพรรคการเมืองช่วงก่อนหน้านั้นก็ได้ส่งผู้สมัครในนามกลุ่มการเมืองซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองหลักในช่วงนี้คือ กลุ่มกิจสังคม กลุ่มชาติไทย กลุ่มประชาธิปัตย์ กลุ่มประชากรไทย และกลุ่มสยามประชาธิปไตย ต่อมาเมื่อมี พรบ. พรรคการเมืองพ.ศ. ๒๕๒๔ กลุ่มการเมืองเหล่านี้ก็มีการปรับชื่อเป็นพรรคการเมือง

หากนับศักราชการเมืองแบบการเลือกตั้งยุคสองของประเทศไทยเริ่มต้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ พรรคการเมืองหลักที่มีการดำรงอยู่ของชื่อและแกนนำสืบเนื่องมาถึงการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๒๒ คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคกิจสังคม และพรรคชาติไทย ทั้งสามพรรคนี้ต่างมีโอกาสในการสร้างพัฒนาการให้มีความสืบเนื่องขึ้นมาได้ แต่ปรากฎว่ามีเพียงพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่สามารถสร้างความเป็นสถาบันขึ้นมาได้ และอยู่จนมาถึงปัจจุบัน ขณะที่พรรคกิจสังคมล่มสลายไป ภายหลังการเสียชีวิตของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ไม่นาน ส่วนพรรคชาติไทยทำได้ดีกว่าพรรคกิจสังคมในแง่ความสืบเนื่อง แต่ก็กลายมาเป็นพรรคขนาดกลางค่อนข้างเล็กไปในที่สุด

สำหรับพรรคประชากรไทย และพรรคสยามประชาธิปไตย เป็นพรรคที่มีช่วงชีวิตไม่ยืนยาวมากนัก แต่สองพรรคมีจุดเด่นแตกต่างกัน พรรคประชากรไทย อาศัยชื่อเสียงและความนิยมของหัวหน้าพรรค อย่างนายสมัคร สุนทรเวช เป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตของพรรค พรรคนี้มีแนวทางขวาจัดและได้รับความนิยมเพราะท่วงทำนองการพูดและการทำงานการเมืองของนายสมัคร กลุ่มที่นิยมพรรคนี้คือกลุ่มชาวบ้านและข้าราชการระดับล่างในกรุงเทพมหานคร ครั้นเมื่อความนิยมของนายสมัครลดลง พรรคนี้ก็หมดบทบาทลงไป

ส่วนพรรคสยามประชาธิปไตยเป็นพรรคแบบชั่วคราวของนายทุน ที่มีอดีตเป็นนายทหาร ถูกตั้งขึ้นเมื่อเพื่อสนับสนุนรัฐบาล โดยการรวบรวมบรรดาส.ส.เข้ามาอยู่รวมกัน ตรรกะ รูปแบบและเป้าหมายของการตั้งพรรคคล้ายคลึงกับพรรคสหภูมิ ในยุคพ.ศ. ๒๕๐๐ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนผู้นำทหารเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นพรรคแบบนี้มักอยู่ดำรงได้นานนัก ก็ล่มสลายไป

การเมืองในช่วง ๒๕๒๒ ถึง ๒๕๓๑ เป็นการเมืองที่มีสภาพแวดล้อมที่สามารถสร้างเงื่อนไขการพัฒนาพรรคการเมืองได้เป็นอย่างมาก หากนักการเมืองที่จัดตั้งพรรคเหล่านั้นมีเจตจำนงในการสร้างพรรคให้กลายเป็นสถาบัน ทว่าความจริงของพรรคการเมืองเกือบทั้งหมดที่เกิดขึ้นกลับเป็นอีกแบบหนึ่ง กล่าวคือแทนที่พรรคการเมืองจะได้รับการพัฒนาให้เป็นองค์การทางการเมืองที่เป็นกลไกในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย พรรคการเมืองกลับถูกทำให้กลายเป็นกลไกในการกัดกร่อน บ่อนทำลายสารัตถะของประชาธิปไตย และปูทางสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมอย่างขนานใหญ่อีกครั้งใน พ.ศ. ๒๕๓๕

                                                              ๔
ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๓๑ จวบจนถึงปัจจุบัน พรรคการเมืองเกือบทั้งหมดของสังคมไทยถูกดำเนินภายใต้ตรรกะสี่ประการอันได้แก่ ตรรกะของครอบครัว ตรรกะของชุมชน ตรรกะศาสนา และตรรกะของการตลาด โดยตรรกะครอบครัวและตรรกชุมชน เป็นวิวัฒนาการต่อเนื่องมาจากช่วงประชาธิปไตยครึ่งระหว่างพ.ศ. ๒๕๒๒ ถึง ๒๕๓๑ สำหรับตรรกะศาสนาก่อตัวขึ้นมาในฐานะที่เป็นขั้วตรงข้ามของตรรกะแบบครอบครัวในปี ๒๕๓๑ ส่วนตรรกะตลาดก่อตัวขึ้นมาเพื่อต่อยอดและแทนที่ตรรกะแบบครอบครัว ในช่วงหลังพ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา

ในส่วนตรรกะของรัฐ ซึ่งมีอำนาจรัฐเป็นศูนย์กลางที่เคยเป็นตรรกะหลักในยุคก่อนนั้น ครั้นมาถึงยุคนี้แม้จะมีความพยายามในการนำตรรกะนี้มาใช้อีกหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ แต่ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ พรรคสามัคคีธรรมที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาด้วยตรรกะนี้เพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และล่มสลายไปในเวลารวดเร็ว ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าบริบทสังคมการเมืองไทยไม่เหมาะสมในการจัดตั้งพรรคการเมืองที่ใช้ตรรกะของรัฐอีกต่อไป และในยุคปัจจุบัน(พ.ศ.๒๕๖๑) หากกลุ่มบุคคลใดที่คิดอาศัยตรรกะของรัฐในการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนและรองรับการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ควรศึกษาบทเรียนจากประวัติศาสตร์ให้ดี ก่อนที่จะกระทำการใดๆลงไป

ตรรกะที่เป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนพรรคการเมืองตั้งแต่ยุค ๒๕๒๒ ต่อเนื่องมาจนถึงประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๐ คือ ตรรกะของครอบครัวหรือพรรคครอบครัว ภายใต้ตรรกะของครอบครัว หลักคิดสำคัญคือพรรคการเมืองเป็นสมบัติของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง หรือกลุ่มตระกูลที่เป็นแกนหลักในการจัดตั้ง หัวหน้าพรรคเป็นหัวหน้าครอบครอบ ส่วนเลขาธิการพรรคเปรียบเสมือน”แม่บ้าน” ส่วนบรรดาส.ส. ที่อยู่ในพรรค ถูกเรียกว่า “ลูกพรรค” กลุ่มหัวหน้าตระกูลทำหน้าที่ในการหาเงินเข้าพรรค และมอบเงินให้บรรดาลูกพรรคเพื่อนำไปใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งมอบเงินในการดำเนินงานการเมืองเป็นรายเดือน

ระดับของลูกพรรคมีหลายระดับ ลูกพรรคคนโปรดหรือคนที่มีอิทธิพลในการดูแลลูกพรรคคนอื่นๆก็จะได้รับการจัดสรรเงินให้มาก ส่วนลูกพรรคที่มีศักยภาพตามสมควรพอที่จะมีโอกาสเป็น ส.ส. ได้ แต่ไม่มีอิทธิพลในการดึงคนอื่นเข้ามาด้วยก็จะได้รับเงินรองลงมา ส่วนลูกพรรคที่เป็นหางแถวซึ่งมีศักยภาพและโอกาสน้อยในการเข้ามาเป็นส.ส. ก็จะได้รับการสนับสนุนน้อยที่สุด

แหล่งของความชอบธรรมที่ทำให้พรรคการเมืองที่ถูกครอบงำด้วยตรรกะครอบครัวดำรงรงอยู่ได้คือ ความจงรักภักดีของลูกพรรคที่มีต่อหัวหน้าพรรค และ “แม่บ้าน” ของพรรค หากลูกพรรคคนใดขาดความจงรักภักดีก็จะถูกขับไล่ออกจากพรรค แต่ขณะเดียวกันหากลูกพรรคคนใดมีความรู้สึกว่าตนเองไม่รับความสำคัญหรือถูกละเลยจากแกนนำของพรรค ก็สามารถย้ายออกจากพรรค และหันไปซบ “พรรคครอบครัว” ใหม่ที่พวกเขาประเมินว่า “แม่บ้าน” ของพรรคจะมีความ “เมตตา” (ให้ทรัพยากรหรือตำแหน่ง) แก่เขามากกว่าพรรคครอบครัวเดิม ดังนั้นความจงรักภักดีของบรรดาลูกพรรค จึงเป็นความจงรักภักดีที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการรับรู้ว่า “พ่อบ้าน” และ “แม่บ้าน” ของพรรคสามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้มากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่นักการเมืองบางคนซึ่งถูกครอบงำด้วยตรรกะครอบครัว แต่หลงเข้าไปอยู่ในพรรคการเมืองที่มีตรรกะของชุมชนเป็นหลัก นักการเมืองผู้นั้นมักจะอยู่ได้ไม่นาน และมักจะย้ายออกไปอยู่ในพรรคที่มีตรรกะสอดคล้องกับค่านิยมของตนเอง

แหล่งอำนาจของพ่อบ้านและแม่บ้านของพรรคขึ้นอยู่กับการที่พวกเขาสามารถสร้างความผูกพันส่วนตัว การสะสมทรัพยากร และการจัดสรรทรัพยากรทั้งในแง่อำนาจและตำแหน่งให้แก่ลูกพรรคได้มากน้อยและยาวนานเพียงใด เงื่อนไขการดำรงและขยายแหล่งอำนาจ รวมทั้งรักษาความชอบธรรมทำให้ พวกเขาจำเป็นต้องหาหนทางในการนำพรรคเข้าร่วมเป็นรัฐบาลให้ได้ทุกครั้ง เพราะการเป็นรัฐบาลนั้นทำให้พวกเขามีโอกาสมากขึ้นในการแสวงหาทรัพยากรเข้าพรรค ส่วนการเป็นฝ่ายค้านนั้นทำให้พวกเขา “อดอยากปากแห้ง” ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่พึงปรารถนาสำหรับพวกเขาเป็นอย่างยิ่ง

การยักย้ายถ่ายเททรัพยากรและงบประมาณของรัฐ รวมทั้งการใช้อำนาจรัฐเพื่อดูดซับทรัพยากรจากภาคธุรกิจเข้ามาสู่พรรคจึงเป็นกิจกรรมหลักของพรรคครอบครัว รัฐบาลผสมที่เกิดจากการรวมตัวของพรรคครอบครัวจึงมีอัตลักษณ์เป็น “บุฟเฟ่ต์คาบิเนต” หรือ “รัฐบาลที่กินทุกอย่าง” ที่วางอยู่ข้างหน้า ส่วนอัตลักษณ์ของพรรคการเมืองเปรียบประดุจ “ปลาไหล” อันเป็นอุปลักษณ์ที่มีนัยถึงความลื่นไหลในการตัดสินใจและวิธีการปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงจุดยืนและหลักการทางการเมือง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของความปรารถนา

แม้ว่าในการฉายาพรรคปลาไหล จะเป็นฉายาที่เจาะจงถึงพรรคการเมืองหนึ่งในสังคมไทย แต่อันที่จริงการอุปลักษณ์ของพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งว่าเป็น “ปลาไหล” นั้น สามารถใช้ได้เกือบแทบทุกพรรคในประวัติศาสตร์การเมืองไทยระหว่างพ.ศ. ๒๕๒๒ ถึง ๒๕๔๐ และสามารถใช้ได้ในบางพรรคหลังจากช่วงเวลาดังกล่าว เพราะนัยของคำนี้คือ การที่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งพร้อมที่จะเข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสม โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของจุดยืนและนโยบายของพรรคแต่อย่างใด

อีกตรรกะหนึ่งที่มีความโดดเด่นและพัฒนาขึ้นมาจนเป็น “ตรรกะเชิงสถาบัน” ที่ครอบงำพรรคการเมือง คือ“ตรรกะของชุมชน” หลักคิดของตรรกะของชุมชนคือ การที่พรรคมีความเชื่อมโยงและผูกพันกับภูมิภาคหรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในสังคมเป็นพิเศษอย่างเด่นชัด ซึ่งวิวัฒนาการมาจากการที่พรรคมีจำนวนส.ส.ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมากอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน แหล่งที่สร้างความชอบธรรมของตรรกะนี้คือ การมีเจตจำนงค์ทางการเมืองบางอย่างร่วมกัน การมีความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิก การมีความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางการเมืองบางอย่างร่วมกัน ซึ่งอาจเป็นอุดมการณ์แบบท้องถิ่นนิยม ชาตินิยม อนุรักษ์นิยม หรือ เสรีนิยม เป็นต้น

การดำรงอยู่และการดำเนินงานพรรคการเมืองชุมชนภูมิภาคไม่ขึ้นอยู่กับกลุ่มตระกูลใดตระกูลหนึ่งเป็นหลัก หากแต่ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ ค่านิยม และบรรทัดฐานการปฏิบัติที่สมาชิกพรรคสร้างขึ้นและผลิตซ้ำติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน ความสัมพันธ์เชิงอำนาจภายในพรรคมีฐานจากบรรทัดฐานทางสังคมของพรรคเองและกฎระเบียบที่เป็นทางการภายในพรรค แหล่งความชอบธรรมในการนำพรรคขึ้นอยู่กับสองเงื่อนไข เงื่อนไขแรกคือการมีบทบาทและเป็นส.ส.ของพรรคติดต่อสืบเนื่องกันอย่างยาวนาน และเงื่อนไขที่สองคือการแสดงบทบาททางการเมืองในการทำให้พรรคมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากสังคม ด้านความจงรักภักดีของสมาชิกพรรคและส.ส. เป็นความจงรักภักดีต่อพรรคมากกว่าการจงรักภักดีต่อหัวหน้าหรือเลขาธิการพรรค อย่างไรก็ตามความจงรักภักดีต่อแกนนำพรรคส่วนบุคคลก็ดำรงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากเท่ากับความจงรักภักดีต่อพรรค

การดำเนินงานทางการเมืองของพรรคมีแนวโน้มเป็นไปตามบรรทัดฐานและความเชื่อร่วมของพรรคมากกว่าเพียงการได้เข้าร่วมเป็นรัฐบาล พรรคสามารถทำหน้าที่ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลได้ตามจังหวะและโอกาส และสามารถแสดงบทบาทเพื่อสร้างชื่อเสียงและการยอมรับของพรรคได้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพใด พรรคการเมืองที่ดำเนินงานภายใต้ตรรกะชุมชนในสังคมไทยมีน้อยมาก ที่ใกล้เคียงมากที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นพรรคที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะสามารถวิวัฒนาการจาก “พรรคชุมชนภูมิภาคนิยม” กลายเป็น “พรรคประชาธิปไตย” ที่มีตรรกะของประชาธิปไตยเป็นตรรกะหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานทางการเมืองของพรรคในอนาคต

อีกตรรกะหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งเกิดขึ้นตามเงื่อนไขและสถานการณ์ทางการเมืองที่พิเศษบางอย่างคือ ตรรกะศาสนา พรรคจึงเปรียบเสมือนวัด พรรคที่มีตรรกะศาสนาเป็นหลักในการดำเนินงานดำรงอยู่ช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ทว่าด้วยเงื่อนไขของระบบนิเวศทางการเมืองไทย จึงแสดงบทบาททางการเมืองที่โดดเด่นได้อยู่ไม่นานนัก หรือในยุคหลังอาจมีบางพรรคที่พยายามใช้ตรรกะนี้ แต่บทบาทมักอยู่ในแวดวงจำกัดและมีนัยต่อการเมืองไทยไม่มากนัก

แกนนำการจัดตั้งพรรคมักเป็นผู้ที่มีค่านิยมยึดมั่นในหลักศีลธรรมของศาสนา ความชอบธรรมจึงขึ้นอยู่กับการแสดงบทบาทและพฤติกรรมที่สอดคล้องกับหลักความเชื่อของศาสนา อำนาจของผู้นำเป็นอำนาจเชิงบารมีบนฐานของหลักศาสนา หัวหน้าพรรคจะถูกเรียกว่า “มหา” อันเป็นคำที่เรียกนักบวชในศาสนาพุทธ พรรคลักษณะนี้มักปรากฎขึ้นในบริบทการเมืองที่คุณค่าศีลธรรมถูกละเลยจนกลายเป็นวิกฤติ และมีบุคคลที่ยึดมั่นในหลักศีลธรรมพร้อมบารมีระดับหนึ่งรวมรวบกลุ่มคนที่มีค่านิยมใกล้เคียงกันก่อตั้งเป็นพรรคการเมืองขึ้นมา โดยมีเจตจำนงค์ในการใช้อำนาจทางการเมืองรื้อฟื้นและสร้างคุณค่าทางศีลธรรมขึ้นมาใหม่

แนวทางการตัดสินใจและการทำงานทางการเมืองของพรรคแบบนี้จึงมีความแตกต่างจากบรรทัดฐานของพรรคครอบครัวและพรรคชุมชนภูมิภาค และไม่สามารถผสานกลมกลืนกับพรรคการเมืองกระแสหลักเหล่านั้นได้ จนในที่สุดมักจะกลายเป็นพรรคที่มีความโดดเดี่ยว และหากผู้นำของพรรคถูกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการกระทำ จะด้วยเกิดจากพรรคคู่แข่งใส่ร้ายป้ายสี หรือเกิดการกระทำที่ไม่สามารถตอบสนองกระแสความต้องการของสังคมได้ก็ตาม ความชอบธรรมของพรรคก็จะลดลงและนำไปสู่ความตกต่ำของพรรค การลดลงของความชอบธรรมรวมไปถึงปัญหาในการสืบทอดการนำภายในพรรคด้วย กล่าวคือหากผู้นำพรรคคนใหม่ไม่ใช่ผู้ที่มีค่านิยมยึดมั่นในหลักศีลธรรมทางศาสนา ความชอบธรรมของพรรคก็จะยิ่งลดลงไปอีก จนอาจทำให้พรรคล่มสลายได้ พรรคการเมืองไทยที่มีตรรกะแบบนี้เป็นตรรกะหลักคือพรรคพลังธรรม ซึ่งมีบทบาทการเมืองที่โดดเด่นระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๑ ถึง ๒๕๓๖ และเลือนหายจากเวทีการเมืองในปีพ.ศ.๒๕๔๐ และช่วงเวลาหลังจากนั้นไม่มีพรรคการเมืองใดที่ใช้ตรรกะศาสนาเป็นหลักสามารถสร้างบทบาททางการเมืองที่โดดเด่นอย่างที่พรรคพลังธรรมเคยทำได้อีกต่อไป การใช้ตรรกะทางศาสนาเพื่อดำเนินงานพรรคการเมืองจึงมิอาจสถานปนาให้กลายเป็นสถาบันขึ้นมาได้ภายใต้ระบบนิเวศทางการเมืองของสังคมไทย

หลังพ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ตรรกะที่ค่อยๆ ก่อตัวภายในพรรคการเมืองและวิวัฒนการจนกลายเป็นตรรกะหลักที่ครอบงำสนามการเมืองของไทยตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะครอบงำต่อไปอีกยาวนานคือ “ตรรกะการตลาด” แต่การใช้ตรรกะการตลาดของพรรคการเมืองซึ่งต่อยอดจากตรรกะครอบครัว กลับกลายเป็นเงื่อนไขนำไปสู่วิกฤติการณ์การเมืองที่รุนแรงและยืดเยื้อในสังคมไทย ชนิดที่ไม่เคยปรากฎขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
                                ๕
ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๔๐ ตรรกะการตลาดได้เข้ามามีอิทธิพลต่อพรรคการเมืองไทยอย่างเข้มข้น และพรรคการเมืองที่ใช้ตรรกะนี้ในการดำเนินงานกลายเป็นพรรคหลักที่เข้ามาครองอำนาจนำทางการเมืองร่วมทศวรรษ ลักษณะของพรรคการเมืองแบบนี้มีความคล้ายคลึงกับบริษัท แต่เป็นบริษัทแบบครอบครัว การเรียกหัวหน้าพรรคใช้คำว่า “นายใหญ่” ส่วนภรรยาหัวหน้าพรรคซึ่งมีอิทธิพลสูงในพรรคถูกเรียกว่า “นายหญิง” ขณะที่สมาชิกพรรคมีฐานะคล้ายกับพนักงานของบริษัท ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวหัวหน้าพรรคกับสมาชิกพรรคเสมือนความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

ตรรกะขององค์การทางธุรกิจได้ถูกนำมาใช้อย่างขว้างขวางในการดำเนินงานของพรรค ตั้งแต่กรอบคิดในการมองสนามการเมือง ซึ่งถูกมองในฐานะสนามการแข่งขันทางธุรกิจอำนาจ พรรคการเมืองโลดแล่นในสนามของธุรกิจอำนาจ ซึ่งมีการแข่งขันกันสูงระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ อันเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดสภาพความไม่แน่นอนขึ้นมา ดังนั้น เพื่อลดความไม่แน่นอนและความไร้เสถียรภาพของสิ่งแวดล้อม รูปแบบ “การควบรวม” ที่องค์การทางธุรกิจนิยมทำกันเพื่อลดการแข่งขันระหว่างบริษัท จึงถูกนำมาใช้ในกับพรรคการเมือง พรรคการเมืองที่เคยตั้งขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่แล้วหลายพรรค เช่น พรรคความหวังใหม่ พรรคเสรีธรรม พรรคชาติพัฒนา เป็นต้น ถูกควบรวมไปกับ “พรรคไทยรักไทย” อันเป็นพรรคหลักที่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของตรรกะการตลาด

“พรรคตลาด” เชื่อว่านโยบายคือ “ผลิตภัณฑ์” หรือ สินค้า ที่ถูกผลิตขึ้นมาภายใต้หลักคิดการ “โดนใจผู้ซื้อ” ขณะที่ประชาชนผู้เลือกตั้งถูกมองในฐานะ “ผู้บริโภคสินค้า” หรือ “ลูกค้า” ส่วนประชาธิปไตยถูกลดรูปตัดทอนให้เป็นเพียง “ประชาธิปไตยที่กินได้” ลักษณะนโยบายของ “พรรคตลาด” เน้นความเป็นรูปธรรมและมีประโยชน์การใช้สอยที่สัมผัสได้ เพื่อใช้ดึงดูดผู้เลือกตั้งอันเป็นลูกค้าของพรรค ตัวอย่างของนโยบายแบบนี้ เช่น สามสิบบาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ภายใต้ตรรกะดังที่กล่าวมาแหล่งที่สร้างอัตลักษณ์ของพรรคคือ “การเมืองเชิงธุรกิจ”

การรณรงค์หาเสียงของ “พรรคตลาด” จะใช้หลักคิดเดียวกันกับการโฆษณาของบริษัทธุรกิจ ทั้งในแง่ของการสำรวจเชิงการตลาด หรือ ที่เรียกว่าการทำโพล การกำหนดรูปแบบและแนวทางการโฆษณาที่จะส่งตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง การเลือกสัญลักษณ์ ภาษาและถ้อยคำสำหรับการสื่อสารที่เรียบง่ายเพื่อสะดวกในการจดจำ และทรงพลังในการดึงดูดใจของผู้คน อีกทั้งยังมีการใช้ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายรูปแบบเพื่อให้ครอบคลุมและเข้าถึงผู้บริโภคอันเป็นกลุ่มเป้าหมาย

แหล่งความชอบธรรมของพรรคคือ ลำดับตำแหน่งในสนามตลาดการเมือง ส่วนแบ่งการตลาดในแง่คะแนนนิยมจากผู้เลือกตั้ง และจำนวนสมาชิกที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ส่วนสิ่งที่ทำลายความชอบธรรมของพรรคคือ การใช้อำนาจในทางมิชอบของกลุ่มผู้บริหารพรรคในการเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง เครือญาติ และพวกพ้อง และการละเมิดหลักนิติธรรม

พันธกิจพื้นฐานของพรรคการตลาดคือ การสร้างความสามารถในการแข่งขันของพรรคในสนามตลาดการเมือง การแสวงหาผลประโยชน์และโอกาสทางธุรกิจจากการครอบครองและใช้อำนาจรัฐ ความสนใจของผู้บริหารพรรคจึงมุ่งเน้นการสร้างและสะสมทรัพยากรในสามลักษณะ ลักษณะแรกคือการสะสมความมั่งคั่งให้แก่ตนเองและเครือญาติเพื่อให้วงศ์ตระกูลของตนเองสามารถครอบงำและควบคุมพรรคได้อย่างต่อเนื่อง และลักษณะที่สองคือ การสะสมทรัพยากรเพื่อเป็นทุนในการบริหารพรรค เช่น การให้เงินประจำเดือนแก่ สมาชิกพรรคที่เป็น ส.ส. เพื่อใช้จ่ายในการรักษาฐานเสียง การกระทำเช่นนี้คล้ายคลึงกับการที่บริษัทให้เงินเดือนแก่ลูกจ้างนั่นเอง ผลสืบเนื่องจากการให้เงินประจำเดือนคือ การสร้างเงื่อนไขการพึ่งพาให้เกิดขึ้นระหว่างส.ส.ธรรมดากับผู้บริหารพรรค ซึ่งตีความได้ประการหนึ่งว่า เงินประจำเดือนของพรรคการตลาดคือ โซ่ตรวนที่มองไม่เห็น ซึ่งผูกล่ามส.ส.เอาไว้ มิให้ตีตัวออกจากพรรค

สำหรับลักษณะที่สามของการสะสมทรัพยากรของพรรคการตลาดเป็นไปเพื่อการสร้างความมั่นคงในการสืบทอดอำนาจของพรรค ด้วยตรรกะที่ว่า พรรคจะรักษาตำแหน่งและอำนาจไว้ได้ สมาชิกพรรคจะต้องได้รับการเลือกตั้งมาด้วยจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ การเอาชนะการเลือกตั้งได้จะต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาล และบุคลากรจำนวนมากในการรณรงค์หาเสียง ดังนั้นการแสวงหาและสะสมทรัพยากรระหว่างการครอบครองอำนาจรัฐจึงเป็นพันธกิจที่สำคัญอย่างยิ่งของพรรคการตลาด

ยุทธศาสตร์พื้นฐานที่พรรคการตลาดใช้ในการแสวงหาและสะสมทรัพยากรมีหลักๆสามประการ อย่างแรกคือ ยุทธศาสตร์ดูดซับและรับเงินทอน อันได้แก่การคิดและทำโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อสร้างโอกาสและช่องทางแก่แกนนำพรรคและหรือสมาชิกพรรคในการเข้าไปดูดซับทรัพยากรและงบประมาณของรัฐเข้ามาเป็นของตนเอง และจัดสรรจำนวนหนึ่งเข้าไปสู่พรรค ยุทธศาสตร์ที่สองคือ ยุทธศาสตร์นายหน้าและค่าส่วนต่าง อันได้แก่ การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์หรือเทคโนโลยี โดยตั้งราคาที่สูงกว่าราคาตลาดทั่วไป เพื่อจะได้มีโอกาสในการรับค่านายหน้าและส่วนต่างของราคา และยุทธศาสตร์ที่สามคือ ยุทธศาสตร์อำนาจเอื้อทุน อันเป็นการกำหนดนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทธุรกิจบางบริษัท เช่น การกำหนดภาษีนำเข้า ส่งออก หรือ การอนุญาตและไม่อนุญาตนำเข้าหรือส่งออกสินค้าบางอย่าง การกำหนดค่าสัมปทาน เป็นต้น และในทางกลับกัน เมื่อได้รับประโยชน์แล้ว บรรดาบริษัทต่างๆ ก็จะมอบผลประโยชน์ในรูปแบบใดแบบหนึ่งแก่ผู้บริหารพรรคเป็นการตอบแทน

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ตรรกะการตลาดมีอิทธิพลในสนามการเมืองไทยสูงยิ่ง เข้าไปแทรกซึมและเบียดขับตรรกะชุดก่อนๆ อย่าง ตรรกะครอบครัว และตรรกะชุมชน ให้กลายเป็นตรรกะรองลงไป ตรรกะการตลาดได้รับการนำไปผลิตซ้ำเชิงการปฏิบัติจนกลายเป็นบรรทัดฐาน และผนึกเข้าเป็นความเชื่อและค่านิยมเชิงวัฒนธรรมของพรรคการเมืองเดิมจำนวนมาก ทั้งในแง่การแข่งขันเชิงการตลาดในการผลิตนโยบายประชานิยมเชิงรูปธรรม การรณรงค์หาเสียงที่เน้นการโฆษณาและสร้างภาพลักษณ์ และการแสวงหาและสะสมทรัพยากร

แม้ว่าพรรคไทยรักไทยที่เริ่มนำตรรกะการตลาดมาใช้เป็นพรรคแรกถูกยุบไปแล้ว แต่ความสืบเนื่องของตรรกะการตลาดกลับดำรงอยู่อย่างแข็งแกร่ง แกนนำเดิมของพรรคไทยรักไทยร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่โดยใช้ตรรกะชุดเดิม และเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคพลังประชาชน จนมากลายเป็นพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ทำให้พรรคการเมืองต้องยุติบทบาทการเมืองที่เป็นทางการลงชั่วคราว สนามการเมืองถูกครอบงำและควบคุมด้วยคณะรัฐประหารเป็นเวลาสี่ปีเศษ แต่พรรคการเมืองต่างๆก็ยังคงสภาพความเป็นพรรคการเมืองอยู่ โดยมิได้ถูกยุบไปแต่อย่างใด และยังคงดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแบบไม่เป็นทางการภายใต้ขอบเขตที่จำกัด อย่างไรก็ตามคณะรัฐประหารมิอาจปฏิเสธตรรกะประชาธิปไตยอันเป็นตรรกะหลักในการบริหารปกครองของนานาประเทศทั่วโลกได้ จึงจำเป็นต้องมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในพ.ศ.๒๕๖๐ และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในปลายปี ๒๕๖๑

สนามการเมืองของการเลือกตั้งเป็นสนามการแสดงบทบาทของพรรคการเมือง และเป็นเวทีเชิงปฏิบัติการณ์ของตรรกะที่ครอบงำพรรคการเมืองแต่ละพรรค สามตรรกะหลักอันได้แก่ ตรรกะครอบครัว ตรรกะชุมชน และตรรกะการตลาด ยังคงเป็นตรรกะที่มีการแข่งขันกันอยู่ในสนามการเมือง แต่ก็มีสัญญาณบางอย่างที่อาจมีการรื้อฟื้น “ตรรกะอำนาจรัฐ” เข้ามาจัดตั้งพรรคการเมืองดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่บทเรียนที่ผู้สนใจการเมืองสามารถสรุปได้คือ การใช้ตรรกะอำนาจรัฐเป็นหลักในการดำเนินงานของพรรคการเมือง เป็นตรรกะที่พ้นยุคสมัยและไม่สอดคล้องกับบริบททางสังคมการเมืองของปัจจุบันและอนาคต หากชนชั้นนำทางอำนาจหรือบรรดาผู้เกาะกระแสอำนาจในปัจจุบันคิดจะใช้ตรรกะแบบนี้ทำงานทางการเมือง ก็แสดงว่ากลุ่มบุคคลเหล่านั้นมิได้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยให้ลึกซึ้งเพียงพอ และในท้ายที่สุดชะตากรรมที่ไม่น่าพึงปรารถนาก็จะเกิดขึ้นกับพวกเขา

ที่น่าเสียดายคือ จวบจนถึงบัดนี้ยังไม่เห็นร่องรอยของกลุ่มทางสังคมที่ทรงพลังและได้รับการยอมรับนับถือจากสาธารณะจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่โดยนำ “ตรรกะประชาธิปไตย” และ “ตรรกะคุณธรรม” เป็นแกนกลางในการจัดตั้งและการดำเนินงานของพรรค หากมีบ้างก็เป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆจำนวนหนึ่งที่พยายามจัดตั้งพรรคการเมืองโดยใช้ตรรกะทั้งสอง แต่ยากที่จะขยายตรรกะทั้งสองให้กลายเป็นตรรกะหลักของพรรคการเมืองไทยได้ในระยะเวลาสั้นๆ

การวิวัฒนาการของพรรคการเมืองยังคงดำเนินต่อไปตามการเปลี่ยนแปลงบริบทของสังคมการเมือง บทเรียนทางประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย บอกให้เราทราบว่า หากพรรคการเมืองของสังคมใดยังไม่ถูกชี้นำทางความคิดและดำเนินการเชิงปฏิบัติด้วยตรรกะประชาธิปไตยและตรรกะคุณธรรม หรืออีกนัยหนึ่งคือ การที่สังคมยังไม่สามารถสถาปนาตรรกะประชาธิปไตยและตรรกะคุณธรรมให้กลายเป็นสถาบันหลักของสังคมได้ การเมืองของประเทศนั้นก็จะมีความผันผวนและไร้เสถียรภาพสูง และมีโอกาสเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงขึ้นมาเป็นระยะ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ