ทฤษฎีองค์การ เมื่อความคิดเชิงกลไกและความมีเหตุผลถูกท้าทาย
พิชาย รัตนดิลก ร ภูเก็ต
การผลิตความรู้วิชาการเป็นกิจกรรมทางสังคม[WU1] การสร้างความรู้เกี่ยวข้องทั้งการวิจัยและปฏิสัมพันธ์เชิงการสื่อสาร การวิจัยมีนัยของการแสวงหา ทำความเข้าใจ
และตีความความจริง รวมทั้งการถ่ายทอดและปรับรูปแบบของสัญลักษณ์เพื่อเป้าประสงค์ของมนุษย์
กระบวนการที่ทำให้ความจริงเผยตัวออกมาเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ
เช่น การทดลอง การสำรวจ และการสังเกตในภาคสนาม
สำหรับปฏิสัมพันธ์เชิงการสื่อสารหมายถึงการแบ่งปันความหมายในชุมชนวิชาการ
ผ่านการเรียนรู้ทางภาษาวิชาการและชุดของกระบวนการคิดและถกเถียงเกี่ยวกับสิ่งที่ศึกษา
ทั้งการวิจัยและปฏิสัมพันธ์เชิงการสื่อสารต่างจำเป็นด้วยกันทั้งคู่มิอาจขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้
นักวิจัยทำงานในประเด็นที่ศึกษาผ่านชุดความคิดที่มีการสื่อสาร
ซึ่งเรียนรู้มาในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชนทางวิชาการในสาขาหนึ่งๆ ทฤษฎีองค์การเป็นศึกษาองค์การซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นมาและประกอบด้วยชุมชนภาษาเฉพาะ
การพัฒนาความรู้ใหม่เป็นกิจกรรมเชิงปฏิบัติซึ่งนักวิจัยสร้างจากแนวความคิด
สัญลักษณ์ และทรัพยากรเชิงวัตถุของชุมชนทางภาษา
เพื่อพยายามอธิบายและทำความเข้าใจว่ามีอะไรเกิดขึ้นในเรื่องนั้นๆ
รากฐานทางประวัติศาสตร์ของการศึกษาองค์การมาจากงานเขียนด้านสังคมการเมืองของนักคิดในศตวรรษที่19 [WU2] เช่น แซงต์ ซีมง (Saint-Simon) ผู้พยายามคาดการณ์และตีความการเปลี่ยนผ่านทางอุดมการณ์และโครงสร้างที่กำลังเริ่มเกิดขึ้นจากอิทธิพลของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม
ในปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่20 ซึ่งมีการเติบโตขององค์การขนาดใหญ่ในภาคเศรษฐกิจ
สังคมและการเมือง และส่งผลให้กิจกรรมที่มนุษย์กระทำร่วมกันมีความซับซ้อนและความเข้มข้น
เกินกว่าความสามารถของปัจเจกบุคคลและการประสานงานแบบซึ่งหน้าจะจัดการได้ การบริหารองค์การขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนต้องการระเบียบใหม่ที่มิได้กำหนดจากความรู้สึกของมนุษย์
หากแต่ต้องใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ที่มีรากฐานจาก “ธรรมชาติของสรรพสิ่ง”
และเป็นอิสระจากเจตจำนงของมนุษย์
ในแง่นี้สังคมที่มีองค์การเป็นองค์ประกอบหลักจึงจำเป็นต้องมีพันธะต่อกฎทางวิทยาศาสตร์มากกว่ามนุษย์
และการเมืองในองค์การจักสิ้นสูญไปในที่สุด องค์การจักเป็นกลไกในการเปลี่ยนความไร้เหตุผลของมนุษย์ไปสู่การมีพฤติกรรมที่มีเหตุผล
(Wolin 1961:378-83) ดังนั้นรากฐานของการศึกษาองค์การจึงผูกติดอย่างลึกซึ้งกับพลังขับเคลื่อนของสังคมทุนนิยมช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า
และการคาดการณ์อย่างเชื่อมั่นในชัยชนะของวิทยาศาสตร์ต่อการเมือง และความมีชัยของระเบียบรวมหมู่ที่มีการออกแบบอย่างมีเหตุผลต่อการไม่เชื่อฟังและความไร้เหตุผลของมนุษย์
(Reed 1985)
การเติบโตของสังคมองค์การ (organizational society)มีความหมายเสมือนความก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งของเหตุผล
เสรีภาพ และความยุติธรรม และในท้ายที่สุดก็จะขจัดความโง่เขลา การกดขี่บังคับ
และความยากจนไปได้ องค์การได้รับการออกแบบอย่างมีเหตุผลเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่าความจำเป็นของส่วนรวมกับความต้องการของส่วนบุคคล
ซึ่งรบกวนความก้าวหน้าของสังคมตั้งแต่ยุคโบราณ (Wolin 1961)
องค์การสร้างหลักประกันให้กับระเบียบสังคมและอิสระภาพส่วนบุคคลโดยการหลอมรวมการตัดสินใจเพื่อส่วนรวมกับผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคล
ผ่านการออกแบบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ซึ่ง โครงสร้างการบริหารที่ได้รับการออกแบบจะดำรงรักษาและปฏิบัติในลักษณะที่ผสานผลประโยชน์ในแต่ละส่วนให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของส่วนรวม
ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อย่างยาวนานระหว่างผลประโยชน์ของสังคม”
กับผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลจะได้รับการแก้ไขในที่สุด (Reed, 2005)
กล่าวได้ว่านักทฤษฎีองค์การในยุคแรกได้มอบศรัทธาต่อองค์การยุคใหม่ในฐานะเป็นวิธีการสากลหรือกฎสามัญการ
(universal law) ในการแก้ปัญหาสังคม “[WU3]
นักวิชาการที่ศึกษาองค์การในปัจจุบันมีแนวโน้มยอมรับและให้ความสำคัญกับประเด็นบางประการที่เคย[WU4] ละเลยในอดีต เช่น ความจำกัดของความมีเหตุผล
ธรรมชาติของความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในองค์การ และบริบทของวัฒนธรรมในการจัดองค์การ
เราไม่อาจหลอกตัวเองราวกับว่าเราไม่รู้ว่ามีสิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่
ความตระหนักรู้เหล่านี้ทำให้ภาพของทฤษฎีองค์การมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทฤษฎีความมีเหตุผลที่ถูกจำกัดของ March และ Olsen (1986: 28) ทำให้ฐานคติเกี่ยวกับสมรรถนะเชิงพุทธิปัญญาและความรู้ของมนุษย์ถูกตั้งคำถาม
ทฤษฎีความขัดแย้งทำให้ฐานคติเกี่ยวกับเอกภาพของวัตถุประสงค์ขององค์การอ่อนตัวลง
ทฤษฎีความคลุมเครือและระเบียบชั่วคราว ทำให้ฐานคติเกี่ยวกับความชัดเจนของวัตถุประสงค์และความเป็นสาเหตุ
(causality) ถูกสั่นคลอน (Tsoukas and Knudsen, 2003: 10) ฐานคติที่เชื่อว่าองค์การเป็นระบบที่ได้รับการออกแบบอย่างมีเหตุผล
ซึ่งเป็นฐานคติในช่วงเริ่มต้นการศึกษาทฤษฎีองค์การ
ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดมุมมองใหม่ที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันนั่นคือ
องค์การเป็นการกระทำร่วมทางสังคมที่ได้รับการประกอบสร้างขึ้นมาเชิงประวัติศาสตร์และผนึกดำรงภายในสิ่งแวดล้อม
มุมมองเช่นนี้ได้กระตุ้นให้เกิดการขยายอาณาเขตของศึกษาองค์การ เช่น
การศึกษาการผนึกตัวเข้าสู่ภายในสังคมขององค์การ (Granovetter 1992; Scott
et al. 1994)
วัฒนธรรมองค์การ (Kunda 1992) การสร้างทางสังคมของอัตลักษณ์องค์การ
(Brown 1997) เป็นต้น
มุมมองที่กล่าวมาข้างต้นมีฐานคติร่วมกันว่าองค์การเป็นเรื่องทางสังคม
มีการเปลี่ยนแปลงเชิงประวัติศาสตร์ และเป็นเรื่องที่ขึ้นต่อบริบท
ขณะที่มุมมองแบบเดิมหรือที่เรียกว่ามุมมองเชิงกลไกแบบนิวตัน(Newtonian Mechanic Perspective) ซึ่งมองว่าองค์การได้รับการออกแบบอย่างมีเหตุผลเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ที่เฉพาะเจาะจง
ไม่อาจอธิบายประเด็นที่สำคัญหลายประเด็นในการศึกษาองค์การเช่น
ความแตกต่างหลากหลายขององค์การในแต่ละเวลาและพื้นที่ได้ พัฒนาการเชิงประวัติศาสตร์ขององค์การ
อิทธิพลของสถาบันทางสังคมที่มีต่อองค์การ ความหลากหลายของเพศสภาพ สีผิว
และเชื้อชาติในสถานที่ทำงาน การดำรงอยู่ของความมีเหตุผลที่หลากหลายในองค์การ
การตัดสินใจและการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ใช้จริงในองค์การ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น