ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การกีดกันทางการเมือง


การกีดกันทางการเมือง: การบังคับพลเมืองให้เสียเงินเพื่อเข้าถึงสิทธิการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ในช่วงที่มีการพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีข้อถกเถียงสำคัญอันเกิดจากการตีความการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในกิจกรรมพรรคการเมืองแบบพิสดารของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)    ทำให้ กรธ. กำหนดข้อความบางมาตราของร่างกฎหมาย ซึ่งสามารถตีความได้ว่า พลเมืองผู้ใดก็ตามที่ประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องเสียค่าบำรุงพรรค หากพลเมืองผู้ใดไม่มีเงินค่าบำรุงพรรค ก็จะสูญเสียสิทธิเป็นสมาชิกพรรคการเมืองทันที  การตีความการมีส่วนร่วมแบบพิสดารดังกล่าวส่งผลให้เกิดการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และกำลังสร้างสิ่งที่เรียกว่า การกีดกันทางการเมือง (political exclusion) ขึ้นมาในสังคมไทย
ร่าง พ.ร.บ. พรรคการเมืองกำหนดให้พลเมืองคนใดก็ตามหากต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจะต้องจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคคนละ ๑๐๐ บาทต่อปี สำหรับปีแรกเก็บไม่น้อยกว่า ๕๐ บาท  หากสมาชิกคนใดไม่ชำระเงิบบำรุงสองปีติดต่อกันจะสิ้นสุดการเป็นสมาชิกพรรค  และกำหนดด้วยว่าหากพรรคการเมืองใดไม่สามารถเก็บค่าบำรุงสมาชิกได้ในจำนวนและเวลาที่กฎหมายกำหนดก็จะสิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมือง
การกำหนดเช่นนี้ กรธ.ระบุว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือ ต้องให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในกิจกรรมของพรรคการเมือง  โดยตีความว่าการชำระค่าบำรุงพรรค เป็นการแสดงสิทธิต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของพรรคที่เท่าเทียมกัน  โดยไม่ถูกครอบงำและชี้นำจากนายทุน 
ในการเก็บค่าบำรุงสมาชิกพรรคการเมืองนั้น กรธ.อ้างว่าเป็นไปตามข้อเสนอของพรรคการเมืองและประชาชน ที่กรธ.จัดเวทีรับฟังความเห็น  แต่ผมสงสัยว่าการตัดสินใจของกรธ.ที่กำหนดมาแบบนี้ได้ไตร่ตรองเหตุผลเชิงวิชาการของการมีส่วนร่วมทางการเมือง หลักการประชาธิปไตย และประสิทธิผลของมาตรการนี้อย่างรอบคอบและรอบด้านเพียงใด  หรือว่าเป็นการตัดสินใจตามกระแสความต้องการของกลุ่มคนที่ กรธ.อ้างว่าไปรับฟังความคิดเห็น หรือตัดสินใจตามความปรารถนาบางอย่างของกรธ. เอง หรือ มีข้อจำกัดในการคิดเรื่องรูปแบบการมีส่วนร่วม จึงทำให้เกิดการตีความการมีส่วนร่วมแบบพิสดารเช่นนี้ขึ้นมา
ในเชิงวิชาการ หลักการการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่สำคัญคือ “การมีส่วนร่วมแบบสมัครใจ” อันเกิดมาจากความตระหนักภายใจจิตสำนึกของพลเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นมีหลายระดับตั้งแต่การร่วมในการให้ข้อมูลข่าวสาร การร่วมแสดงความคิดเห็น การร่วมในการตัดสินใจ การร่วมในการดำเนินงานหรือกิจกรรม การรร่วมในการประเมินผล และการร่วมรับผลประโยชน์ ส่วนรูปแบบของการมีส่วนร่วมก็มีหลายอย่าง เช่น ร่วมโดยใช้ปัญญา ร่วมโดยใช้แรงกาย และร่วมโดยใช้เงินทุนหรือทรัพยากร   แต่ทั้งหมดต้องเป็นโดยสมัครใจ มิใช่เป็นการบีบบังคับโดยกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ทางสังคม
ภายใต้หลักการดังกล่าว การบังคับโดยกฎหมายเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจึงเป็นการตีความการมีส่วนร่วมที่ผิดพลาด และยิ่งผิดพลาดมากขึ้นเมื่อใช้เงินเป็นใบเบิกทางสำหรับการทำให้ได้สิทธิทางการเมืองของพลเมืองในการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง  และสิทธิในการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็สิ้นสุดลงหากไม่มีเงิน  ความคิดที่ว่า สิทธิทางการเมืองได้มาด้วยเงินตรา ออกจะเป็นเรื่องที่ประหลาดพิกลไม่น้อยสำหรับพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
การบีบบังคับให้พลเมืองต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้สิทธิทางการเมือง ไม่ว่าเงินนั้นจะมากหรือน้อยไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญคือมันขัดหลักการประชาธิปไตย อีกทั้งยังขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗ ที่ กรธ.เขียนขึ้นมาเองด้วย  โดยในมาตรานี้ระบุว่า  
“มาตรา ๒๗ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย  มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล  ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกําเนิด  เชื้อชาติ  ภาษา  เพศ  อายุ  ความพิการ  สภาพทางกายหรือสุขภาพ  สถานะของบุคคล  ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม  ความเชื่อทางศาสนา  การศึกษาอบรม  หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  หรือเหตุอื่นใดจะกระทํามิได้”
การบังคับให้พลเมืองเสียเงินค่าบำรุงพรรคเพื่อให้ได้สิทธิทางการเมือง จึงเป็นการออกกฎหมายที่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันและไม่เป็นธรรม โดยใช้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจเป็นเกณฑ์ในการเข้าถึงสิทธิ และยังเป็นการจำกัดเสรีภาพทางการเมืองอีกด้วย   ซึ่งหมายความว่าพลเมืองไม่สามารถมีเสรีภาพทางการเมืองในการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองได้ หากพลเมืองผู้นั้นไม่มีเงินจ่ายค่าบำรุงสมาชิก
การบังคับให้พลเมืองที่ประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องจ่ายเงินค่าสมาชิก จึงเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย เป็นการสร้างเงื่อนไขของการกีดกันทางการเมือง และสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมขึ้นมา  และสิ่งเหล่านี้ย่อมไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน  หรือ กรธ.ว่าใช่
ส่วนในแง่ประสิทธิผลของมาตรการนี้  ตามที่กรธ.คาดหวังนั้น ผมคิดว่า กรธ.มองสังคมไทยไม่ลึกซึ้งเพียงพอ  เพราะว่าการบังคับให้พลเมืองเสียเงินเป็นค่าสมาชิกพรรคเพียงไม่กี่บาทนั้นไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พลเมืองเกิดความตระหนักในสิทธิทางการเมืองหรือตระหนักถึงความเป็นเจ้าของพรรคการเมืองแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากองค์การอาสาสมัครแบบสมาคมทั้งหลาย ซึ่งหลายแห่งมีการเก็บค่าสมาชิก  แต่ก็ไม่ได้ทำให้สมาชิกส่วนใหญ่ของสมาคมเกิดความตระหนักในการร่วมทำกิจกรรมของสมาคมแต่อย่างใด ใครที่เคยเป็นกรรมการสมาคมคงทราบดีว่า  กว่าจะเรียกประชุมใหญ่ได้สักครั้งมีความยากลำบากในการตามตัวสมาชิกให้ครบองค์ประชุมมากเพียงใด 
ความคิดในการใช้เงินเพื่อสร้างความผูกพันในองค์การอาสาสมัครเชิงพันธกิจทั้งหลาย รวมทั้งพรรคการเมืองด้วย จึงเป็นความคิดที่ผิดพลาด ซึ่งพิสูจน์ได้จากข้อมูลเชิงประจักษ์จำนวนมากในสังคมไทย อันที่จริงเรื่องนี้ กรรมการร่างฯ บางท่านซึ่งเป็นอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์และทำงานในองค์การสาธารณะประโยชน์รู้ดีกว่าผมด้วยซ้ำไป  แต่สงสัยว่าทำไมจึงปล่อยให้การบังคับเก็บเงินค่าสมาชิกพรรคการเมืองหลุดออกมาได้ทั้งที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย และไร้ประสิทธิผลในการทำให้สมาชิกเกิดความผูกพันต่อองค์การ   แก่นหลักที่ทำให้สมาชิกมีความผูกพันต่อองค์การแบบพรรคการเมืองคือ การมีอุดมการณ์และความเชื่อบางอย่างร่วมกันอย่างเข้มข้นต่างหาก ไม่ใช่เงินค่าสิทธิของการเป็นสมาชิกแต่อย่างใด
  หากถามว่า พรรคการเมืองจะเก็บเงินค่าบำรุงสมาชิกได้หรือไม่  ผมคิดว่าเก็บได้ แต่ต้องเป็นไปโดย     “สมัครใจ”  และให้เป็นเรื่องของพรรคการเมืองแต่ละพรรคเองที่จะกำหนดข้อบังคับ ไม่ใช่ถูกบังคับโดย “กฎหมายที่ออกโดยรัฐ”      ทางที่ดีคือให้พรรคการเมืองไปคิดเองว่า จะสร้างการมีส่วนร่วมให้กับสมาชิกในแบบใดและระดับใดบ้าง จะเก็บ “ค่าบำรุงพรรคแบบสมัครใจ” หรือไม่และอย่างไร    สำหรับในแง่กฎหมาย สิ่งที่ควรทำคือ การกำหนดมาตรการส่งเสริมหรือจูงใจพรรคการเมืองด้านอื่นๆเพื่อให้กำหนดแนวทางการเก็บค่าบำรุงพรรคแบบสมัครใจ  เช่น การนำจำนวนเงินที่พรรคได้รับจากค่าบำรุงสมาชิก เป็นเกณฑ์หนึ่งในการพิจารณาจัดสรรเงินให้แก่พรรคการเมืองของกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองก็ได้
ส่วนการสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อกิจกรรมพรรคมีหลากหลายวิธี  ที่ไม่จำเป็นต้อง “ร่วมเสียเงิน”    มีรูปแบบการมีส่วนร่วมอื่นๆมากมายในทางสร้างสรรค์กว่าการบังคับเก็บเงิน เช่น ในการสมัครเป็นสมาชิกพรรคนั้น ก็ให้พลเมืองผู้ที่ประสงค์เป็นสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลข่าวสารและแสดงความคิดเห็นต่อพรรคเป็นเบื้องต้นก่อนก็ได้  โดยมีคำถามในใบสมัครของสมาชิก เช่น  “ท่านมีความคาดหวังต่อพรรคอย่างไร”  “ท่านมีปัญหาและความต้องการที่ให้พรรคนำไปกำหนดเป็นนโยบายเรื่องอะไรบ้าง”  “ท่านมีข้อเสนอแนะต่อพรรคในเรื่องใดบ้าง”   หรือ การจัดทำสื่อสังคมออนไลน์ให้สมาชิกพรรคเข้าไปแสดงความคิดเห็นก็ย่อมได้เช่นเดียวกัน
สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆของรูปแบบการมีส่วนร่วม ที่พรรคการเมืองสามารถสร้างขึ้นมาได้อย่างไม่ยากนัก และผมคิดว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ มีบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์มากมายที่จะสร้างรูปแบบและลักษณะการมีส่วนร่วมที่หลากหลาย  ยิ่งในยุคปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเทคโนโลยีการสื่อสารมีประสิทธิภาพและราคาถูกลง ก็ยิ่งทำให้พรรคการเมืองสามารถสร้างรูปแบบการมีส่วนร่วมได้อย่างหลากหลายที่เอื้ออำนวยต่อการมีส่วนร่วมของสมาชิกได้อย่างสะดวก  ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ดังนั้นผมจึงอยากฝากไปยัง กรธ. ว่าอย่ามีทิฐิในเรื่องนี้เลย ยกเลิก “การบังคับให้พลเมืองต้องเสียเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิทางการเมือง” เสียเถอะครับ  เพราะกฎหมายแบบนี้สุ่มเสี่ยงต่อการขัดหลักประชาธิปไตยและขัดกับรัฐธรรมนูญด้วย อีกทั้งยังเป็นมาตรการที่ไร้ประสิทธิผล ซึ่งไม่ทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งและมีความเป็นสถาบันมากขึ้นแต่อย่างใด   


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ