ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พลวัตความขัดแย้งทางการเมืองไทย (จบ)


  พลวัตความขัดแย้งทางการเมืองไทย : ขุนนาง ทหาร นายทุนและประชาชน (จบ)



        ประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนซ้ำรอยอีกครั้งเมื่อชัย ชนะ ของประชาชนถูกฉกฉวยไปโดยกลุ่มอำนาจนำทางการเมือง
       
        รัฐบาลหุ่นเชิดของกลุ่มทุนสามานย์ระบอบทักษิณ ถูกแทนที่ด้วยกลุ่มการเมืองซึ่งเป็นการรวมตัวกันชั่วคราวระหว่างกลุ่มนักการเมืองอาชีพ กลุ่มนายพล และกลุ่มทุนอิทธิพล อำนาจรัฐเพียงเปลี่ยนมือจากชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง หาได้ตกสู่มือประชาชนแต่อย่างใด
       
        ยิ่งกว่านั้นกลุ่มทุนสามานย์ระบอบทักษิณก็มิได้ยอมจำนนหรือล่มสลายไป กลับวางแผนและดำเนินการทางการเมืองอย่างเข้มข้นทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก ทั้งบนดินและใต้ดิน ทั้งสันติและรุนแรง เพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐกลับคืนมา
       
        ภายหลังได้อำนาจรัฐมาครอบครอง รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มิได้ดำเนินการขจัดอิทธิพลของระบอบทักษิณ ตรงกันข้ามกลับพยายามสร้างวาทกรรมปรองดองขึ้นมา ทั้งยังมีท่าทีผ่อนปรนต่อการดำเนินงานทางการเมืองของระบอบทักษิณ
       
        ความพยายามของเครือข่ายระบอบทักษิณในการโค่นล้มรัฐบาลอภิสิทธิเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่รัฐบาลอภิสิทธิ์บริหารประเทศ
       
        ระบอบทักษิณได้ร่วมมือกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอดีตฝ่ายซ้ายที่มีทัศนคติไม่ดีต่อการดำรงอยู่ของสถาบันสูงสุดเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้ซึ่งประกอบด้วย การต่อสู้ทางความคิด การต่อสู้ด้วยมวลชน และการต่อสู้ด้วยกองกำลังติดอาวุธการปลุกระดม โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐกลับคืนมา
       
        การให้ข่าวสารเท็จ การสร้างวาทกรรมความเหลื่อมล้ำ และวาทกรรม อำมาตย์-ไพร่ บังเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เพื่อใช้ในการชี้นำความคิดของมวลชนในการเคลื่อนไหวทางการเมือง จากนั้นใช้การระดมจัดตั้งผสมกับการว่าจ้างนำมวลชนออกสู่ท้องถนน ชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์
       
        ฉากหน้าของการชุมนุมสร้างภาพโดยชูแนวทางสันติวิธี แต่ฉากหลังซ่อนเร้นด้วยการกระทำที่รุนแรง และยั่วยุให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม โดยหวังจะนำชีวิตของมวลชนไปทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล
       
        รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากบรรดานายพลก็ได้ดำเนินการต่อรองและต่อสู้กับมวลชนและกองกำลังของระบอบทักษิณ ยกแรกของการต่อสู้ในปี 2552 จบลงด้วยชัยชนะชั่วคราวของรัฐบาลอภิสิทธิ์และเครือข่ายอำนาจที่สนับสนุนรัฐบาล
       
       หลังชัยชนะทางการเมือง รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มิได้ดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้อิทธิพลของระบอบทักษิณลดลง อีกทั้งยังประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าความ เป็นจริง และที่สำคัญมิได้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังแต่อย่างใด เพียงทำในเชิงสัญลักษณ์พิธีกรรมซึ่งไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น
       
        หลังการพ่ายแพ้ในปี 2552 ระบอบทักษิณได้สรุปบทเรียนการต่อสู้และนำไปกำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้ใหม่ในปี 2553 แม้จะได้รับความบอบช้ำจากความพ่ายแพ้ทางการเมืองแต่ระบอบทักษิณก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และวางแผนปฏิบัติการที่มีความพิสดารยิ่งขึ้นกว่าเดิม
       
        การระดมจัดตั้งขนผู้คนมาชุมนุม การใช้กองกำลังติดอาวุธก่อกวนและก่อการร้ายมีปริมาณมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีการใช้ความรุนแรงหลายรูปแบบเพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลเข้าปราบปรามมวลชนเสื้อแดง และที่สำคัญคือการเตรียมการอย่างเป็นระบบในการสังหารมวลชนเสื้อแดงที่พวกตนนำมาชุมนุมเพื่อทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล
       
        ฉากของความรุนแรงของการต่อสู้ในปี 2553 ก็เกิดขึ้นอย่างที่กลุ่มทุนสามานย์วางแผนเอาไว้ ทหารที่นำมาควบคุมฝูงชนถูกยิงและระเบิดเสียชีวิตหลายนาย ประชาชนทั่วไปที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบทักษิณก็ถูกทำร้ายครั้งแล้วครั้งเล่า และมวลชนเสื้อแดงเองก็ถูกสังหารไปหลายคน
       
       กองกำลังของระบอบทักษิณที่ปฏิบัติการก่อการร้ายมักสวมชุดดำและคลุมใบหน้า สังคมจึงเรียกคนเหล่านี้ว่า "ชายชุดดำ" ชายชุดดำเหล่านี้ได้รับการฝึกฝนการใช้อาวุธสงครามจากนายพลและอดีตนายพลบางคนที่เป็นสมุนของระบอบทักษิณ
       
       การต่อสู้ในปี 2553 ระบอบทักษิณประสบความสำเร็จทางการเมืองตามเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้คือ
      
       1. มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากซึ่งระบอบทักษิณนำความตายที่ตนเองเป็นผู้สร้างมาบิดเบือนเพื่อทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ และสถาบันสูงสุด โดยใช้ถ้อยคำเชิงสัญลักษณ์ที่คนฟังแล้วสามารถตีความได้ว่าใครเป็นผู้สังหารมวลชนเสื้อแดง
      
       เป้าหมายนี้ของระบอบทักษิณบรรลุผลในแง่ที่ทำให้เกิดคำถาม การท้าทาย และนำไปสู่การลดความน่าเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อสถาบันสูงสุด
      
       2. สร้างกรอบความคิดขึ้นมาในจิตใจของรัฐบาลอภิสิทธิ์เกี่ยวกับการยุบสภาก่อนครบวาระ เพราะว่าข้อเรียกร้องหนึ่งของมวลชนเสื้อแดงระบอบทักษิณก็คือการยุบสภา แม้ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์จะไม่ยุบสภาตามกรอบเวลาที่ระบอบทักษิณเรียกร้อง แต่ความคิดเกี่ยวกับความจำเป็นของการยุบสภาก่อนครบวาระได้ถูกปลูกฝังเอาไว้แล้ว และในที่สุดรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ยุบสภาตามนั้นจริงๆ ทั้งที่สามารถบริหารประเทศจนครบวาระก็ได้

       
       เครือข่ายอำนาจที่สนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์บริหารประเทศอย่างแหลกเหลวไม่ต่างอะไรจากระบอบทักษิณ มีการทุจริตเหมือนเดิม ใช้ประชานิยมเป็นแนวทาง และบริหารก็ไร้ประสิทธิภาพเหมือนเดิม หากจะมีความต่างบ้างก็ตรงที่เครือข่ายอำนาจของชนชั้นนำกลุ่มนี้ไม่ทะเยอทะยานในการรวบอำนาจหรือคิดเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองดังที่ระบอบทักษิณคิดและดำเนินการมาโดยตลอด
       
        ยิ่งกว่านั้นความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับเขาพระวิหาร จนทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะที่เสียเปรียบประเทศกัมพูชา ก็ทำให้ภาคประชาชนเกิดความไม่พอใจและดำเนินการประท้วงในต้นปี 2554
       
        ภายใต้แรงกดดันจากประชาชน การถูกปลูกฝังความคิดจากระบอบทักษิณ และการประเมินความนิยมของตนเองผิดพลาด ทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา และนำไปสู่การสูญเสียอำนาจในที่สุด
       
        ระบอบทักษิณกลับเข้ามามีอำนาจด้วยการใช้ยุทธศาสตร์และวาทกรรมแบบเดิมๆในการหาเสียง โดยมียิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นหัวหน้ารัฐบาลหุ่นเชิด
       ส่วนผู้มีอำนาจตัวจริงคือทักษิณ ชินวัตรที่หนีคุกอยู่ในต่างแดน แต่บริหารประเทศได้เพียงปีเศษเท่านั้นก็สร้างความหายนะอันใหญ่หลวงแก่สังคมไทย
       
        เกิดมหาทุจริตในโครงการจำนำข้าว และนำไปสู่วิกฤติของระบบค้าขายข้าวไทย เกิดการเสื่อมเสียภาพลักษณ์ของประเทศเพราะความด้อยปัญญาของผู้นำ เกิดการขยายตัวของกลุ่มที่ทำลายสถาบันและค่านิยมดั้งเดิมของสังคม และสังคมไทยถูกทำให้เสื่อมโทรมในทุกระบบอย่างไม่เคยมีมาก่อน
       
        ในที่สุดมวลมหาประชาชนที่ได้รับการนำโดยอดีตนักการเมืองผู้กลับตัวกลับใจอย่างกำนันสุเทพ ก็เกิดขึ้น ประชาชนจำนวนมหาศาลจากทุกกลุ่มอาชีพ ทุกชนชั้นชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดของระบอบทักษิณอย่างต่อเนื่องร่วมหกเดือน โดยมีเป้าหมายในการปฏิวัติประชาชน
       
        แต่ทว่าอำนาจที่มาจากมือและเท้าเปล่าๆของประชาชนไม่อาจขจัดระบอบทักษิณได้ และยังไม่อาจสถาปนาเป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้ หกเดือนในการแสดงอำนาจของประชาชนกลางท้องถนนนั้น ยังไม่สามารถทำให้อำนาจของประชาชนเป็นที่ยอมรับของผู้คนและองค์กรในสังคมได้ ซึ่งแสดงว่าความเป็นสถาบันของอำนาจประชาชนยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย
       
       ในทางกลับกันอำนาจของกองทัพและนายพลกลับได้รับการยอมรับโดยปราศจากข้อโต้แย้ง ดังนั้นเมื่อบรรดานายพลประกาศยึดอำนาจ ชัยชนะที่กำลังจะได้มาของประชาชนก็ดูลางเลือนออกไป
       
        อย่างไรก็ตามการยึดอำนาจอย่างง่ายๆของบรรดานายพลจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น หากประชาชนไม่ต่อสู้จนทำให้ระบอบทักษิณอ่อนกำลังและหมดความชอบธรรม
       
       หากประชาชนอยู่เฉย ไม่ต่อสู้กับระบอบทักษิณ บรรดานายพลทั้งหลายก็ยังคงตกอยู่ในอำนาจครอบงำของระบอบทักษิณ และจะถูกระบอบทักษิณบั่นทอนกัดกร่อนไปเรื่อยๆจนอ่อนแอลงไป และในที่สุดก็อาจตกอยู่ในสภาพเดียวกับตำรวจ ที่กลายเป็นเพียงเครื่องมือของระบอบทักษิณเท่านั้น
       
       บรรดานายพลที่ครองอำนาจในยามนี้ หากยังมีความคิดแบบเดิมๆและลืมคุณค่าความหมายของประชาชน วังวนอำนาจแบบแผนเดิมของระบอบทักษิณก็จะเกิดขึ้นอีกในไม่ช้า
       
        การขจัดระบอบทักษิณและดำเนินการปฏิรูปประเทศได้จำเป็นต้องร่วมมืออย่างเข้มข้นและรอบด้านกับภาคประชาชนและองค์กรทางสังคมที่เคยต่อสู้กับระบอบทักษิณมาก่อนเท่านั้น ไม่มีการเลือกอื่นที่จะมีประสิทธิผลเท่าทางเลือกนี้อีกแล้ว แต่เหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรเราคงต้องติดตามกันต่อไป

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ