พลวัตความขัดแย้งทางการเมืองไทย: ขุนนาง ทหาร นายทุน และประชาชน (1)
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีความขัดแย้งเกิดขึ้นหลายครั้ง
ลักษณะของความขัดแย้งและแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งก็มีหลายรูปแบบ แต่แนวทางการประกาศใช้กฎอัยการศึกที่เกิดขึ้นตอนเช้าตรู่วันที่20
พ.ค. 2557
เพื่อแสวงหาทางออกในการยุติความขัดแย้งต้องถือว่าเป็นครั้งแรก
และเป็นนวัตกรรมทางการเมืองในสังคมไทย
ในอดีตความขัดแย้งทางการเมืองมักจะจำกัดแวดวงอยู่ภายในกลุ่มชนชั้นนำทางอำนาจ
จากนั้นพัฒนามาสู่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกลุ่มผู้ปกครองที่เป็นทหาร แลความขัดแย้งในยุคปัจจุบันเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกลุ่มผู้ปกครองที่เป็นนายทุนนักการเมือง
ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชั้นนำเกิดขึ้นระหว่าง
พ.ศ. 2475 ถึง 2514 โดยอาจจำแนกเป็นสองช่วงเวลา ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2475 ถึง 2489 กลุ่มที่เป็นคู่ขัดแย้งหลักคือกลุ่มขุนนางกับกลุ่มข้าราชการยุคใหม่ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในยุคนั้นมีความรุนแรงมาก
และแก้ปัญหาโดยการใช้กำลังอาวุธตัดสินผลแพ้ชนะกัน
กรณีที่มีการสู้รบอย่างรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเห็นจะเป็น
กบฏบวรเดชที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476
ต่อมาใน พ.ศ. 2478
เกิดกบฏนายสิบขึ้นมา
โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและมีการวางแผนสังหารบุคคลสำคัญของฝ่ายรัฐบาลหลายคน แต่ฝ่ายรัฐบาลทราบข่าวเสียก่อน
กลุ่มกบฎจึงถูกจับกุมและหัวหน้าฝ่ายขบถ ส.อ.สวัสดิ์ มหะมัด ถูกตัดสินประหารชีวิต จากนั้นใน พ.ศ. 2481 เกิดกบฏพระยาทรงสุรเดช
มีผู้ถูกตัดสินประหารชีวิต 21 คน แต่ได้รับการลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต
3 คน ส่วนอีก 18 คนถูกประหารจริง นักโทษประหารชีวิต
ถูกทยอยนำตัวออกมาประหารด้วยการยิงเป้าวันละ 4 คน ในเวลาเช้ามืด ระหว่างวันที่ 30
พฤศจิกายน-3 ธันวาคม พ.ศ. 2482 จนครบจำนวน 18 คน
สำหรับความขัดแย้งในช่วงที่สอง
เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฝักฝ่ายในกองทัพและตำรวจ โดยเริ่มจากการรัฐประหารที่นำโดยจอมพลผิน
ชุณหะวัณ ใน พ.ศ. 2490
ซึ่งฝ่ายทหารได้ก่อการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของพล.ร.ต.ถวัลย์
ธำรงนาวาสวัสดิ์ หลังจากนั้นความขัดแย้งก็เกิดขึ้นภายในกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นฝักฝ่ายภายในกองทัพและตำรวจ โดยมีสองกลุ่มหลักที่ขัดแย้งคือ
กลุ่มทหารเรือซึ่งให้การสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์
กับฝ่ายทหารบกกับตำรวจที่สนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม
เหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนถึงความขัดแย้งอย่างแตกหักคือ
กรณี กบฏวังหลวง และ
กบฏแมนฮัตตันซึ่งเกิดการสู้รบอย่างดุเดือดด้วยอาวุธสงครามนานาชนิดระหว่างฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
กับฝ่ายรัฐบาล
ผลปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลอาศัยกำลังทหารและอาวุธที่เหนือกว่าเอาชนะผู้ก่อการได้ทั้งสองกรณีผลการต่อสู้ทำให้มีผู้สูญเสียชีวิต
บาด เจ็บ และถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก
ทั้งระหว่างมีเหตุการณ์ของการปะทะกัน
และภายหลังเหตุการณ์ก็มีการตามล่าสังหารบุคคลที่ถูกสงสัยว่ามีส่วนร่วมในการกบฏด้วย
เช่น พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข
อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลและ พ.ต.โผน อินทรทัต ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบและอดีตเสรีไทย รวมทั้งการสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีที่ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 11 คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล, นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ
ซึ่งเป็นนักการเมืองในสายของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น
รัฐบาลในยุค
2490 ถึง 2500
เป็นรัฐบาลที่อยู่ภายใต้การบริหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีฝ่ายกองทัพบกที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์ และ ฝ่ายตำรวจที่นำโดย พล ต. อ.เผ่า
ศรียานนท์ เป็นกองกำลังหลักในการค้ำยันอำนาจของระบอบพิบูลสงครามเอาไว้
เมื่อฝ่ายระบอบพิบูลสงครามสามารถจำกัดปรปักษ์ทางการเมือง
อันได้แก่ฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์และกองทัพเรือได้แล้ว ก็เกิดการชิงดีชิงเด่น และช่วงชิงอำนาจกันเอง และในที่สุดฝ่ายจอมพลสฤษดิ์ ก็ประสบชัยชนะ
โดยอาศัยการรัฐประหารยึดอำนาจจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พล. ต. อ. เผ่า ศรียานนท์ ใน พ.ศ. 2500 และให้บุคคลทั้งสองออกจากประเทศไทยจวบจนสิ้นอายุขัย
จอมพลสฤษดิ์ ได้สถาปนาระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ
บริหารประเทศโดยใช้อำนาจเด็ดขาดที่เรียกกันว่า ระบอบสฤษดิ์ ขึ้นมา ภายใต้ระบอบนี้ก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพของกลุ่มชนชั้นนำ
ไม่มีกลุ่มฝักฝ่ายใดในกองทัพหรือตำรวจที่กล้าท้าทายอำนาจของระบอบสฤษดิ์ หลังจากจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต จอมพลถนอม กิตติขจร
ผู้เป็นทายาททางอำนาจก็ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำของระบอบนี้ต่อไป
ระบอบนี้ครองอำนาจในสังคมไทยยาวนานถึง 15 ปี
เมื่อความขัดแย้งระหว่างฝักฝ่ายในกลุ่มชนชั้นนำสงบลงไป
ความขัดแย้งทางการเมืองไทยก็เคลื่อนตัวไปอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ
ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกลุ่มชนชั้นนำที่มีทหารเป็นผู้ปกครอง ฝ่ายที่เป็นปรปักษ์หลักกับฝ่ายรัฐมีสองกลุ่ม คือ
กลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)
กับกลุ่มนักศึกษาประชาชนชนชั้นกลางที่มีแนวคิดเสรีนิยม
พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเลือกใช้แนวทางการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในการยึดอำนาจรัฐ
มีมวลชนในชนบทเป็นฐานสำคัญ
สงครามระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ดำเนินต่อเนื่องหลายปี
หากนับอย่างสังเขปคือตั้งแต่ พ.ศ. 2508 ถึง ประมาณ พ.ศ. 2525
เป็นการต่อสู้ที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของ พคท.
สำหรับนักศึกษาประชาชนก็ได้ดำเนินการต่อสู้กับระบอบสฤษดิ์ในยุคที่มีจอมพลถนอม
เป็นผู้บริหารประเทศ
โดยใช้การชุมนุมอย่างสงบเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสถาปนาระบอบประชาธิปไตย
รัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งขึ้นมา
การต่อสู้ได้พัฒนาการมาจนถึงขั้นแตกหักในช่วง ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.
2516
รัฐบาลถนอมดำเนินการปราบปรามนักศึกษาประชาชน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต พิการ
และบากเจ็บจำนวนมาก แต่ในที่สุดความขัดแย้งก็จบลงด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่
9 รัฐบาลจอมพลถนอมได้ลาออก และมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งมีนายสัญญา
ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีขึ้นมาทำหน้าที่บริหารประเทศ
และเอื้ออำนวยให้เกิดการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาจนเสร็จสิ้นใน พ.ศ. 2517
รวมทั้งมีความพยายามในการปฏิรูปประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยมีการจัดตั้งสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นมา
หลังชัยชนะของประชาชนต่อรัฐบาลถนอม
การเลือกตั้งเกิดขึ้นสองครั้ง ครั้งแรก พ.ศ. 2518
ต่อมามีการยุบสภาและเลือกตั้งอีกครั้ง ในพ.ศ. 2519
ในช่วงนี้อำนาจทางการเมืองในสังคมไทยแตกกระจัดกระจายไม่มีความเป็นเอกภาพ
และไม่มีกลุ่มใดสามารถสถาปนาขึ้นมาเป็นกลุ่มอำนาจนำในสังคมได้
และเป็นช่วงที่มีตัวละครใหม่ทางการเมืองเกิดขึ้นนั่นคือ กลุ่มทุน
ทั้งทุนระดับชาติและอิทธิพลท้องถิ่น
โดยกลุ่มทุนได้อาศัยกลไกการเลือกตั้งแทรกตัวเข้าไปอยู่ในวงจรอำนาจตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
และเริ่มสะสมและขยายอิทธิพลทางการเมืองอย่างช้าๆ
อย่างไรก็ตามด้วยลักษณะที่มีความขัดแย้งเชิงอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆภายในสังคมมีสูง
รวมทั้งมีการยกระดับการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
กลุ่มชนชั้นนำของสังคมไทยจึงขับเคลื่อนให้มีการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำเมื่อวันที่
6 ตุลาคม 2519
สำหรับเหตุการณ์ก่อนการยึดอำนาจ
ได้มีการปลุกระดมจนทำให้ผู้คนในสังคมไทยเกิดการเข่นฆ่ากันกลางเมือง
กลุ่มที่เป็นเหยื่อของเหตุการณ์ในครั้งนั้นคือนักศึกษา
ซึ่งถูกกระทำการฆาตกรรมเป็นจำนวนมากโดยกลุ่มมวลชนที่ถูกชนชั้นนำปลุกระดมออกมา
ฝ่ายทหารที่นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่
ได้เข้ายึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมา
แต่รัฐบาลก็อยู่ได้ไม่นานเพราะว่ามีนโยบายปราบปรามฝ่ายต่อต้านโดยเฉพาะผู้มีความคิดเห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรงจนอาจนำไปสู่การกระทบต่อความมั่นคงของรัฐได้ ระหว่างนี้ภายในกองทัพเองก็ไม่มีความเป็นเอกภาพมีกลุ่มฝักฝ่ายเกิดขึ้น ในช่วงเดือนมีนาคม 2520
มีกลุ่มทหารที่นำโดยพลเอกฉลาด หิรัญศิริ
พยายามยึดอำนาจจากรัฐบาล ระหว่างการยึดอำนาจมีการยิงพล.ต.อรุณ ทวาทศิน
ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 เสียชีวิต
อย่างไรก็ตามการยึดอำนาจประสบความล้มเหลว และพลเอกฉลาด ถูกตัดสินประหารชีวิตในเวลาต่อมา จากนั้นในเดือนตุลาคมทหารอีกกลุ่มที่นำโดย
พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ก็กระทำการรัฐประหาร
และประสบความสำเร็จ กองทัพจึงส่งคนของตนเองเข้าบริหารประเทศ แต่กลับมีนโยบายบริหารประเทศแบบยืดหยุ่น
แตกต่างจากรัฐบาลพลเรือนก่อนหน้านี้
จึงทำให้ความขัดแย้งทางสังคมเริ่มจะลดระดับความรุนแรงลงไปบ้าง
แต่ทว่าภายในกลุ่มทหารด้วยกันเองกลับมีการแตกเป็นฝักฝ่าย และฝ่ายที่ควบคุมกำลังพลมากที่สุดคือ
กลุ่มยังเติร์ก ซึ่งมีแกนหลักคือ
นายทหารที่จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่น 7 (จปร. 7) กลุ่มนี้พยายามยึดอำนาจในวันที่
1 เมษายน 2524 ช่วงแรกประสบความสำเร็จ
แต่ยึดอำนาจได้เพียงสามวัน
ก็ถูกตอบโต้จากกลุ่มทหารที่สนับสนุนรัฐบาลซึ่งมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
เป็นนายกรัฐมนตรี ในที่สุดฝ่ายรัฐบาลก็ประสบชัยชนะ ระหว่างการต่อสู้ของสองฝ่ายเป็นสงครามทางจิตวิทยาตอบโต้กันทางวิทยุและโทรทัศน์
มากกว่าการปะทะกันอย่างจริงจังด้วยกำลังอาวุธ
จึงทำให้ไม่เกิดการสูญเสียชีวิตเหมือนกับการยึดอำนาจในอดีต
ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฝักฝ่ายในกองทัพเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง
รวมทั้งมีความพยายามในการยึดอำนาจ และการลอบสังหารหลายครั้ง แต่ฝ่ายก่อการก็ประสบความล้มเหลว รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกเปรม
สามารถรักษาอำนาจไว้ได้อย่างยาวนานเป็นเวลา 8 ปี
และในช่วงนี้ก็ได้มีการเลือกตั้งต่อเนื่องกันหลายครั้ง
จนทำให้นักการเมืองประเภทนายทุนท้องถิ่นเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลทางการเมืองออกไปเรื่อยๆ
และในที่สุดเมื่อพลเอกเปรม
ประกาศวางมือทางการเมืองใน พ.ศ. 2531
กลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นและทุนระดับชาติก็ได้ครอบครองพื้นที่แห่งอำนาจทางการเมืองเกือบสมบูรณ์
ขณะที่ฝ่ายกองทัพก็เริ่มลดบทบาททางการเมืองลงไประดับหนึ่ง และเริ่มที่จะสร้างความเป็นเอกภาพภายในขึ้นมา
โดยมีนายทหารกลุ่มจปร. รุ่น 5 ที่นำโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร
เป็นแกนกลางแห่งอำนาจ
ทางด้านฝ่ายประชาชนก็ได้มีการพัฒนาแนวทางต่อสู้ทางการเมือง โดยในช่วงปี 2524 ถึง 2531
มีการถกเถียงกันในแวดวงปัญญาชนกันมากว่าจะสนับสนุนฝ่ายใดระหว่าง “ทุน” กับ
“ปืน” แต่แนวโน้มทางความคิดในช่วงนั้นโน้มเอียงไปทางสนับสนุนฝ่าย
“ทุน”
โดยมีความเชื่อว่าฝ่ายทุนจะเป็นฝ่ายที่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตยมากกว่าฝ่ายปืน ดังนั้นเมื่อ พลเอกเปรม วางมือทางการเมือง ฝ่ายประชาชนก็เกิดความยินดีและด่วนสรุปว่า
ชัยชนะของประชาธิปไตยกำลังจะเกิดขึ้น
โดยหารู้ไม่ว่าฝ่าย “ทุน”
ที่ตนเองสนับสนุนและเชื่อว่าจะเป็นผู้สร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น
แท้จริงแล้วกลับกลายเป็นปรปักษ์อย่างรุนแรงต่อระบอบประชาธิปไตยในภายหลัง
พลวัตความขัดแย้งทางการเมืองไทย: ขุนนาง ทหาร นายทุน และประชาชน (2)
ตั้งแต่ พ.ศ. 2531 เป็นต้นมาความสัมพันธ์ระหว่างทหาร
นายทุน และประชาชนมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
การจับขั้วเป็นพันธมิตรมีลักษณะเชิงซ้อนโยงใยกันหลากหลายมิติ สมการของอำนาจ ทั้งการได้มาการใช้
และการสิ้นสุดลงของอำนาจมีตัวแปรเข้ามาเกี่ยวพันปะปนหลายชั้น
ทันทีที่พลเอกเปรม
ติณสูลานนท์วางมือจากการเมือง กลุ่มทุนอิทธิพลทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นก็กลายมาเป็นกลุ่มที่มีอำนาจนำในสังคมไทย พวกเขารวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลที่มีพลเอกชาติชาย
ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรี
ด้านหนึ่งรัฐบาลชาติชายพยายามแสดงความก้าวหน้าทางนโยบายและบริหาร โดยนำนักวิชาการภายใต้การประสานของนายไกรศักดิ์
ชุณหะวัณมาเป็นที่ปรึกษานโยบาย
รู้จักกันในนาม ทีมงานบ้านพิษณุโลก
ทีมงานที่ปรึกษาชุดนี้มีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐบาลชาติชายหลายนโยบาย ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือ
นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า
จากเดิมที่ไทยเคยมีท่าทีเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลประเทศกัมพูชา
ก็หันไปผูกมิตรสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าขึ้นมาแทน
แต่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลชาติชาย
ซึ่งคณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนักการเมืองที่เป็นกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่
มีการใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่มิชอบและดำเนินการทุจริตกันอย่างขนานใหญ่
นักการเมืองหลายคนเริ่มคิดและทำโครงการขนาดใหญ่ซึ่งทำให้ได้รับค่าหัวคิวจากโครงการเป็นจำนวนมหาศาล
การทุจริตของนักการเมืองในยุคนี้กระทำกันอย่างเสรีโดยปราศจากการควบคุมจากนายกรัฐมนตรี
ซึ่งแตกต่างจากยุครัฐบาลพลเอกเปรม
ที่มีการควบคุมการทุจริตของบรรดารัฐมนตรีอย่างใกล้ชิด
การบริหารประเทศที่มีการทุจริตคอรัปชั่นอย่างแพร่หลายได้กัดกร่อนความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลชาติชายอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการมีรัฐมนตรีบางคนที่มีอุปนิสัยส่วนตัวก้าวร้าวและชอบระรานผู้อื่น
จึงทำให้รัฐบาลชาติชายกลายเป็นปรปักษ์กับทั้งฝ่ายประชาชนและทหาร ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับทหารที่ จปร.
พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ และพลเอกสุจินดา คราประยูรเป็นแกนนำ มีระดับความเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้น
เมื่อพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ พยายามจะแต่งตั้ง พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก อดีต ผบ.ทบ.
เป็นรัฐมนตรีกลาโหม เพื่อเข้าไปดำเนินการโยกย้ายและจัดระเบียบทหาร แต่การทำเช่นนั้นของพลเอกชาติชาย นำไปสู่จุดจบของรัฐบาลในที่สุด
ประเด็นที่รัฐบาลชาติชายถูกกระหน่ำมีสองด้านหลัก คือ ถูกประชาชนวิพากษ์และโจมตีในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น และ
ถูกทหารกระด้างกระเดื่องต่อการพยายามเข้าไปแทรกแซงและจัดระเบียบในกองทัพ
ในช่วงสองปีเศษที่ครองอำนาจ รัฐบาลชาติชาย
ได้เริ่มสร้างแบบแผนการบริหารที่เป็นการหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ของความแตกแยกทางสังคมและความขัดแย้งทางการเมืองที่สำคัญและมีผลสืบเนื่องต่อสังคมไทยในทศวรรษต่อมาสามประการคือ
1) การกำหนดนโยบายบางอย่าง
โดยมีทิศทางและเข็มมุ่งทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ชัดเจน
และมีการประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาชวนเชื่อถึงข้อดีของนโยบายเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ
เน้นการสร้างภาพลักษณ์จนเกินจริง
และละเลยไม่ใส่ใจกับผลกระทบเชิงลบของนโยบายที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมและประชาชน
ต่อมานโยบายในลักษณะนี้ได้รับการต่อยอดจากนักการเมืองรุ่นหลัง โดยแตกลูกหลานออกเป็นสองประเภท ประเภทแรก
กลายเป็นนโยบายก่อสร้างหรือลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ส่วนประเภทที่สองกลายเป็นนโยบายประชานิยม
2) การใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งเพื่อทุจริตคอรัปชั่นแพร่หลายขยายออกไปอย่างกว้างขวาง กล่าวในเชิงเศรษฐกิจ
นักการเมืองกลายเป็นอาชีพที่ลงทุนแล้วได้รับผลตอบแทนสูงกว่าอาชีพอื่นๆ เพราะเป็นการลงทุนเรื่องการได้มาของอำนาจ และเมื่อได้แล้วก็สามารถใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
3) การแทรกแซงระบบราชการ การควบคุมและทำให้ข้าราชการบางส่วนยอมจำนนต่ออำนาจและรับใช้นักการเมือง
การจำนนและยอมรับใช้นักการเมืองอย่างไร้สำนึกผิดชอบของข้าราชการบางคนเหตุผลหลักเกิดจากความคาดหวังที่จะได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง แต่สิ่งที่ตามคือการทำให้จริยธรรมของข้าราชการถูกบั่นทอน
และเสื่อมสลายอย่างต่อเนื่อง ความเป็นวิชาชีพและการทำเพื่อประชาชน เริ่มกลายเป็นความลื่นไหลเพื่อความก้าวหน้าของตนเองแทน
แนวทางการบริหารการเมืองที่รัฐบาลชาติชายได้วางเอาไว้ได้ถูกนักการเมืองในยุคหลังพัฒนาจนมีความซับซ้อน
อันนำไปสู่การสร้างความเสียหายต่อสังคมไทยอย่างเหลือคณานับ
นักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่งได้ออกมาเปิดโปงและรณรงค์ต่อการทุจริตของรัฐบาลชาติชายอย่างต่อเนื่อง
ชนชั้นกลางก็เกิดความเบื่อหน่ายและรังเกียจต่อพฤติกรรมการทุจริตของคณะรัฐมนตรี
และทหารก็เริ่มเห็นว่ารัฐบาลชาติชายเข้าไปแทรกแซงมากเกินไป
โดยพยายามจะปลดนายพลบางคนออกจากตำแหน่งคุมกำลัง
ในที่สุดก็เกิดการรัฐประหารขึ้นมาในเดือนกุมภาพันธ์
2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ความขัดแย้งหลักที่นำไปสู่การรัฐประหารในครั้งนั้นคือ
ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นที่ยึดกุมอำนาจบริหารประเทศ กับ
กลุ่มทหารที่คุมอำนาจการใช้อาวุธและความรุนแรง
เป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของคณะบุคคลมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ
เพราะว่าภายหลังคณะรัฐประหารชุดนี้ได้อาศัยกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นที่ตนเองโค่นล้มนั่นแหละเป็นฐานในการสืบทอดอำนาจให้ตนเอง
จนทำให้ประชาชนออกมาต่อต้านและนำไปสู่การปะทะกันครั้งใหญ่ระหว่างประชาชนกับทหารในช่วงเดือนพฤษภาคม
2535
การที่ประชาชนมีปฏิกิริยาทางลบต่อการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์
2534 มากกว่าทางบวกมีเหตุผลที่สำคัญสามประการคือ ประการแรกในเวลานั้น
แม้ว่าประชาชนจะรังเกียจพฤติกรรมของนักการเมืองกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่น แต่ประชาชนก็ยังมีความหวังอยู่ว่าจะสามารถจัดการกับนักการเมืองเหล่านั้นได้ผ่านกลไกการเลือกตั้งและการใช้กลยุทธทางการเมืองอื่นๆ
ประการที่สอง
ประชาชนเพิ่งจะลิ้มรสต่อสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ
เพราะก่อนหน้านั้นในยุครัฐบาลพลเอกเปรม
เป็นยุคที่ได้รับการเรียกขานว่า เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ
เมื่อประชาธิปไตยที่ดูเสมือนเต็มใบถูกทำลายลงไป ประชาชนจำนวนมากก็รู้สึกคับข้องใจขึ้นมาทันที
และนั่นเป็นความรู้สึกที่เป็นปรปักษ์ต่อ รสช.
ประการที่สาม เพียงหนึ่งปีให้หลังของการรัฐประหาร ประชาชนประจักษ์ต่อตนเองเองว่า รสช. ดำเนินการสร้างกลไกในการสืบทอดอำนาจต่อไป
โดยอาศัยนักการเมืองทุนอิทธิพลท้องถิ่นเป็นฐาน เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา ประชาชนจึงเกิดความรู้สึกว่าถูกหลอกลวง เพราะในการโค่นล้มรัฐบาลชาติชาย กลุ่มทหาร
ในนาม รสช. อ้างว่านักการเมืองทุนอิทธิพลท้องถิ่นเหล่านั้นมีการทุจริตประพฤติมิชอบ จึงต้องทำการรัฐประหาร แต่ในที่สุดกลายเป็นว่า
รสช.กลับถ่มน้ำลายรดฟ้า เอาคนที่ตนเองโค่นล้มมาเป็นบันไดเพื่อไต่สู่อำนาจ
ตกลงการอ้างว่าทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติจึงกกลายเป็นเรื่องโกหกครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ร่มสมัยของสังคมไทย
ประชาชนจึงลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาลสุจินดา อันเป็นรัฐบาลของกลุ่ม รสช. ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น สมุนของ รสช.
ได้ทำการปราบปรามและเข่นฆ่าประชาชนจำนวนมาก
จนในที่สุดความขัดแย้งก็ยุติลง
ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และ พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่งไป
บทเรียนที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลชาติชาย และคณะรัฐประหาร
เมื่อ พ.ศ. 2534 `ก็คือ เมื่อไรก็ตามที่ผู้ปกครองไม่รักษาสัญญา แต่กลับหลอกลวงประชาชน
เมื่อไรก็ตามที่ประชาชนเห็นและสัมผัสได้ว่าผู้ปกครองมิได้ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน แต่กลับทุจริตฉ้อฉลเพื่อตนเองและพวกพ้อง
เมื่อนั้นประชาชนก็จะลุกขึ้นต่อสู้และความขัดแย้งรุนแรงก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พลวัตความขัดแย้งทางการเมืองไทย: ขุนนาง ทหาร นายทุน และประชาชน (3)
ความคิดทางการเมืองที่สำคัญอันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม
2535 คือ นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง
การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
และการมีส่วนร่วมของประชาชน สำหรับกลุ่มที่มีบทบาทชี้นำความคิดทางการเมืองคือนักวิชาการและนักพัฒนาเอกชน ส่วนกลุ่มที่มีบทบาทหลักในการบริหารประเทศคือนักการเมืองอาชีพและนักการเมืองที่มีฐานจากผู้ทรงอิทธิพลในท้องถิ่น สำหรับกลุ่มทหารต้องวางมือจากอำนาจการเมืองลงไปชั่วคราวเพราะความเชื่อถือไว้วางใจจากสังคมลดลงจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
ในปี 2535
ประเด็นหลักอันเป็นข้อเรียกร้องของประชาชนในช่วงเดือนพฤษภาคม
2535คือ นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง
อาจมีคำถามว่าทำไมประชาชนต้องการแบบนั้น
ทั้งที่ประชาชนเองก็ทราบว่าการเลือกตั้งเต็มไปด้วยการทุจริตซื้อขายเสียง
แต่กลับต้องการนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง กลายเป็นว่าประชาชนมีความต้องการที่ขัดแย้งกันในตัวเอง
อันที่จริงภาคประชาชนไม่ได้ไว้วางใจกลุ่มทุนนักการเมืองแต่อย่างใด ในช่วงการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2535 ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ภาคประชาชนเรียกร้องให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระเข้าไปตรวจสอบและเฝ้าระวังการเลือกตั้ง รัฐบาลอานันท์
จึงให้การสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรกลางเลือกตั้งขึ้นมา
พร้อมกับจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งเป็นค่าดำเนินงาน แต่การทำงานขององค์กรกลางเลือกตั้งกลับไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญนัก
การซื้อขายเสียงก็ยังคงทำอย่างอย่างแพร่หลายและนักการเมืองทุนท้องถิ่นก็ยังคงได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นจำนวนมากเช่นเดิม
หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อพลเอกสุจินดา
คราประยูรลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กลุ่มพรรคการเมืองที่เคยสนับสนุนบุคคลผู้นี้เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว ได้เตรียมการเสนอชื่อพล อ. อ.สมบุญ ระหงส์
หัวหน้าพรรคชาติไทยเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ทว่า ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์
ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นกลับเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
เป็นที่น่าแปลกว่าการได้นายอานันท์
ปันยารชุนซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีกลับได้รับการตอบรับจากชนชั้นกลางอย่างท่วมท้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้สู้กันจนตกตายเป็นจำนวนมากเพื่อเรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง
เหตุผลอันซับซ้อนที่ประชาชนในยุคนั้นยอมรับนายอานันท์
ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มากกว่า
พลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และมากกว่า พล อ. อ.สมบุญ ระหงส์
ที่มาจากการเลือกตั้งมีอย่างน้อย 2 ประการ
ประการแรก แม้ว่าด้านหนึ่ง
ชนชั้นกลางอยากได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง
อันเป็นการสะท้อนถึงสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยและเป็นรากฐานความชอบธรรมในการบริหารประเทศ แต่พวกเขาก็มิได้ละเลยต่อภาพลักษณ์ที่สะท้อนถึงท่วงทำนองการใช้อำนาจหรือการบริหารประเทศของผู้มาดำรงตำแหน่งนี้ด้วย
กรณีนายอานันท์
นั้นประชาชนสัมผัสได้กับคุณลักษณะและท่วงทำนองการบริหารประเทศ โดยไม่มีข้อกังขาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ ทั้งยังบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
และโปร่งใส
ประชาชนจึงละเลยหรือมองข้ามที่มาหรือการเข้าสู่อำนาจไป
กรณี พลเอกสุจินดา คราประยูร
ประชาชนยังไม่ทราบว่ามีความสามารถในการบริหารประเทศหรือไม่ แต่ประชาชนมีความสงสัยในพฤติกรรม และไม่ไว้วางใจในความซื่อสัตย์
เพราะว่าเครือข่ายที่ห้อมล้อมสนับสนุนพลเอกสุจินดานั้น
ล้วนแล้วแต่เป็นนักการเมืองที่มีความอื้อฉาวเชิงการทุจริตเกือบทั้งสิ้น ประกอบกับพลเอกสุจินดา
เป็นเสมือนตัวแทนของกลุ่มทหาร ซึ่งในช่วงนั้นถูกมองว่าเป็นกลุ่มอำนาจนิยม
และสำหรับพล อ.
อ. สมบุญ ระหงส์ แม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้งก็จริง
แต่ก็เคยสนับสนุนให้พลเอกสุจินดา เป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อน
อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนนักการเมืองท้องถิ่นซึ่งมีความอื้อฉาวในเรื่องการทุจริต
กล่าวได้ว่า
การให้น้ำหนักต่อคุณสมบัติส่วนบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีของชนชั้นกลางในช่วงนั้น เน้นไปในเรื่องคุณธรรมความซื่อสัตย์และความสามารถในการบริหารประเทศ
มากกว่าที่มาของการดำรงตำแหน่ง
กล่าวง่ายๆก็คือ หากต้องเลือกระหว่างมิติความชอบธรรมในเรื่องที่มาของอำนาจ
กับ มิติความชอบธรรมในเรื่องการใช้และบริหารอำนาจ
ชนชั้นกลางส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะเลือกมิติหลังมากกว่ามิติแรก
ในระหว่างการเลือกตั้งเดือนกันยายน
2535
การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเกิดวาทกรรมที่สะท้อนชุดความคิดทางการเมืองในยุคนั้นขึ้นมาคือ “พรรคเทพ” และ “พรรคมาร” พรรคเทพมีความหมายเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองกลุ่มหนึ่งที่ร่วมชุมนุมคัดค้านพลเอกสุจินดา
คราประยูรในช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งประกอบด้วย พรรคพลังธรรม พรรคประชาธิปัตย์
และพรรคความหวังใหม่
ส่วนพรรคมารเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองที่เคยสนับสนุนพลเอกสุจินดา ซึ่งประกอบด้วยพรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา
และพรรคกิจสังคม เป็นต้น
อย่างไรก็ตามทั้งกลุ่มพรรคเทพและพรรคมารต่างก็มีผู้บริหารพรรคและ
ส.ส.เป็นกลุ่มทุนอิทธิพลการเมืองเกือบทั้งสิ้น การเกิดขึ้นของวาทกรรมชุดนี้เป็นรากฐานทางความคิดให้กับชุดวาทกรรมเหลืองแดง
และฟ้าในภายหลัง
ระหว่าง
พ.ศ. 2535 – 2540 เป็นช่วงที่กระแสความคิดปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุที่ว่านักวิชาการและชนชั้นกลางจำนวนมากมีบทบาทเสนอความคิดทางการเมืองในเวทีต่างๆมากขึ้น อีกทั้งข้อเท็จจริงทางการเมืองยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้ว่าได้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งคือนาย
ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี นักการเมืองส่วนใหญ่ที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็น
ส.ส. ก็ยังคงใช้การซื้อขายเสียงเป็นหลักในการเข้าสู่อำนาจ แม้ว่านายชวน
หลีกภัยมีจุดเด่นเรื่องภาพลักษณ์ความซื่อสัตย์
แต่รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลชวนไม่น้อยที่มีเรื่องอื้อฉาวของการทุจริตปรากฏขึ้นอยู่เนืองๆ
และประชาชนก็ยังมีข้อกังขาเรื่องประสิทธิภาพและความสามารถในการบริหารประเทศของรัฐบาลอีกด้วย
ความรู้สึกผิดหวังต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงแพร่กระจายออกไปในกลุ่มชนชั้นกลางโดยเฉพาะกลุ่มผู้นำทางความคิดของชนชั้นกลาง
สิ่งที่เป็นสาเหตุของความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ
นอกจากจะเป็นเรื่องคุณสมบัติส่วนตัวของผู้นำประเทศแล้ว ก็ยังมีสาเหตุเชิงโครงสร้างทางการเมือง ซึ่งทำให้รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นมาในยุคนี้เป็นรัฐบาลผสม ส่งผลให้รัฐบาลมีความไร้เสถียรภาพสูง และไม่สามารถผลักดันหรือขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงการปฏิรูปขึ้นมาได้เลย
ในที่สุดเมื่อรัฐบาลชวนพบจุดจบจากการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
จนต้องยุบสภาไปในเดือนพฤษภาคม 2538
และเลือกตั้งใหม่ช่วงเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน การเลือกตั้งเกิดขึ้นภายใต้กระแสการปฏิรูปการเมือง
ปรากฎว่านักการเมืองที่เป็นผู้นำกลุ่มทุนอิทธิพลจับกระแสความรู้สึกของสังคมได้และเสนอการปฏิรูปการเมืองเป็นนโยบายหาเสียง ในที่สุดพรรคชาติไทยที่มีนายบรรหาร
ศิลปะอาชาก็ประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง และทำให้เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
กล่าวได้ว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายบรรหาร
ผู้ทรงอิทธิพลในจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นการเถลิงอำนาจของกลุ่มทุนอิทธิพลอย่างแท้จริง แต่ความย้อนแย้งก็มักเกิดขึ้นเสมอในการเมืองไทย กล่าวคือ นายบรรหาร ศิลปะอาชา
กลับรักษาสัญญาประชาคมและจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง(คปก.)
ขึ้นมา ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 118/2538 เมื่อ 8 สิงหาคม พ.ศ.2538
โดยมี นายชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธาน
คณะกรรมการชุดทำงานจนได้เนื้อหาสาระสำคัญของการปฏิรูปและเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฯ
พ.ศ.2540
เมื่อกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นได้ครองอำนาจทางการเมืองระดับชาติอย่างเบ็ดเสร็จ
ภายในเวลาไม่นานนักความขัดแย้งเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจภายในกลุ่มก็เกิดขึ้น
จนทำให้นายบรรหาร
ต้องยุบสภาในเดือนกันยายน 2539
และเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2539
ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งคือสภาผู้แทนราษฎรไทยยังคงมีองค์ประกอบของกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นหนาแน่นเช่นเดิม และได้พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ซึ่งสามารถรวบรวมส.ส.ได้มากที่สุดขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ด้วยความไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ
จึงทำให้เขาต้องลดค่าเงินบาทในปี 2540 และเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่เรียกว่า
“โรคต้มยำกุ้ง”ขึ้นมา ชนชั้นกลางที่เป็นนักธุรกิจย่านสีลมจึงออกมาชุมนุมประท้วงและขับไล่รัฐบาลออกไป
และในที่สุดพลเอกชวลิต ถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างไม่เต็มใจ
กล่าวโดยสรุป ประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษนี้
(2531-2540)คือ การซื้อขายเสียงในการเลือกตั้ง
การทุจริตฉ้อฉลในการบริหารประเทศ
ความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ และการสืบทอดอำนาจเผด็จการ กลุ่มที่มีบทบาทหลักในความขัดแย้งคือ กลุ่มทหาร
(รสช.) นักการเมืองกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่น นักการเมืองอาชีพ และกลุ่มชนชั้นกลาง
อารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางในยุคนั้นคือ
ไม่ชอบการสืบทอดอำนาจของ รสช.
รังเกียจพฤติกรรมทุจริตของนักการเมืองกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่น และเบื่อหน่ายฝีมือการบริหารของนักการเมืองอาชีพ ส่วนความต้องการคือ
ต้องการการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรมต้องการประชาธิปไตยแบบตัวแทน ต้องการนักการเมืองที่มีคุณธรรม
ซื่อสัตย์และมีความสามารถในการบริหารประเทศ ต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ
และต้องการปฏิรูปการเมือง
ความไม่ชอบและความต้องการของชนชั้นกลาง ผนวกกับปัญหาที่รุมเร้าและความสามารถอันต่ำต้อยในการแก้ปัญหาและบริหารประเทศของนักการเมืองกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นและนักการเมืองอาชีพ
เป็นแรงผลักดันให้กระแสของการปฏิรูปการเมืองมีมากขึ้น จนกระทั่งนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540
ขึ้นมา
กลุ่มที่มีบทบาทในการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2540 คือ กลุ่มนักวิชาการที่เป็นชนชั้นนำและกลุ่มชนชั้นกลางที่มาจากภูมิภาคต่างๆ เนื้อหาหลักของรัฐธรรมนูญคือ
การสร้างกลไกเพื่อป้องกันการทุจริตเลือกตั้งให้เข้มข้นขึ้น
การให้อำนาจพรรคการเมืองควบคุมสมาชิกได้มากขึ้น การทำให้ฝ่ายบริหารมีเสถียรภาพและเข้มแข็งมากขึ้น
การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมีมากขึ้น การมีส่วนร่วมของประชาชนและการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น และการพยายามกำหนดมาตรการป้องกันการรัฐประหารขึ้นมา
รัฐธรรมนูญ
2540 ทำให้อำนาจทางการเมืองของกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นลดลงไปอย่างมาก แต่ผลสืบเนื่องอันเป็นสิ่งที่ผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญไม่ได้คาดคิดมาก่อน
คือการเปิดทางให้นายทุนชาติเข้ามาจัดการควบคุมการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จโดยอาศัยกลไกพรรคการเมือง
ปีศาจตนใหม่ที่ร้ายแรงกล่าเดิมถูกสร้างขึ้นมาอย่างไม่คาดฝัน และในที่สุดช่วงปลายทศวรรษถัดมา
(2540-2550) ได้เกิดเผด็จการรัฐสภาอย่างเต็มรูปแบบ
และเกิดระบอบการเมืองที่เรียกว่า
“ระบอบทักษิณ” ซึ่งสร้างความขัดแย้งแตกแยกอย่างรุนแรงระหว่างประชาชนไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ดังนั้นบทเรียนที่ต้องพึงระวังในการปฏิรูปการเมืองและการแก้ปัญหาสังคมคือ การแก้ปัญหาหนึ่ง
โดยอาศัยกลไกหรือเครื่องมือใหม่ที่ขาดการวิเคราะห์ธรรมชาติขององค์ประกอบและสถานการณ์อย่างลึกซึ้ง
รวมทั้งขาดการประเมินความเป็นไปได้ของปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว
อาจนำไปสู่การสร้างปัญหาใหม่ที่ร้ายแรงกว่าเดิม
ดังที่เกิดขึ้นในสังคมไทยช่วงสองทศวรรษนี้
พลวัตความขัดแย้งทางการเมืองไทย: ขุนนาง ทหาร นายทุน และประชาชน (4)
ทุนอิทธิพลท้องถิ่นที่เคยมีอำนาจนำในการเมืองไทยในช่วง
2531-2540
สูญเสียความชอบธรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องจากพฤติกรรมการที่เข้าสู่อำนาจโดยการซื้อขายเสียง
และการบริหารประเทศด้วยการทุจริตคอรัปชั่นและไร้ประสิทธิภาพ ขณะที่ทุนกลุ่มใหม่ซึ่งประกอบด้วยทุนต่างชาติและทุนชาติด้านการสื่อสารและพลังงานได้ขยายอำนาจการครอบงำการเมืองไทยแทน
กลุ่มทุนใหม่นี้ย่างเท้าเข้าสู่วงการการเมืองโดยใช้การสร้างภาพลักษณ์ที่ตรงกันข้ามกับกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่น ภาพของ “การรวยแล้วไม่โกง” และ “การมีประสิทธิภาพในการบริหาร”
จึงได้รับการผลิตและผลิตซ้ำ โฆษณาอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้คนไทยเชื่อว่ากลุ่มทุนใหม่เป็นเช่นนั้นจริงๆ
การวางรากฐานในการสร้างภาพลักษณ์ความซื่อสัตย์ของกลุ่มทุนใหม่เริ่มจาการนำตนเองเข้าไปผูกพันกับพรรคพลังธรรม
อันเป็นพรรคการเมืองทางเลือกที่ผุดขึ้นมาในช่วงทศวรรษก่อน
พรรคพลังธรรมเป็นเสมือนปฏิกิริยาของสังคมในการตอบโต้กับสภาพความเสื่อมทรามของจริยธรรมทางการเมืองของบรรดากลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่น
และความไร้ประสิทธิภาพของกลุ่มที่มีอาชีพเป็นนักการเมือง
แต่ทว่าวิถีคิดและการปฏิบัติทางการเมืองของพรรคพลังธรรมที่เน้นความซื่อสัตย์
สมถะ และไม่ซื้อสิทธิขายเสียงไม่อาจตอบสนองเป้าหมายในการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองของกลุ่มทุนใหม่ได้ ในที่สุดเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.
2540 กลุ่มทุนใหม่จึงจัดตั้งพรรคการเมืองของตนเองขึ้นมาและใช้ชื่อว่าพรรคไทยรักไทย
แต่ก่อนที่จะสาธยายบทบาททางการเมืองของกลุ่มทุนใหม่
ขอย้อนกลับไปพิจารณาบทบาทขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองของภาคประชาชนซึ่งมีกลุ่มนำทางความคิดคือนักวิชาการ
นักพัฒนาเอกชน และนักธุรกิจระดับกลาง และชนชั้นกลางอื่นๆเป็นพันธมิตรร่วมขบวนการก่อน
ความคิดทางการเมืองของภาคประชาชนในช่วงนั้นคือการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมคู่ขนานกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเป็นการขยายสิทธิและช่องทางการใช้อำนาจของประชาชน เช่น การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของตนเอง
การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และถอดถอนนักการเมือง เป็นต้น
ความคิดเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่ได้รับการขับเคลื่อนให้เป็นความคิดนำของการปฏิรูปการเมือง
โดยมีหลักการสำคัญคือ การรับผิดชอบต่อสาธารณะ
ความโปร่งใส การมีประสิทธิภาพ
และการมีส่วนร่วมในการบริหาร
ซึ่งหลักการนี้ทำให้หน่วยงานของรัฐจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากการทำงานผิดพลาดและมีผลกระทบต่อชีวิต
สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน
และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือการควบคุมการปฏิบัติงานของฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ
โดยเฉพาะในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น
มีการออกกฎหมายและจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมืองและข้าราชการประจำจำนวนมาก
เช่น คณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ศาลปกครอง เป็นต้น
ในส่วนของการเข้าสู่อำนาจหรือระบบการเลือกตั้งก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยมุ่งหวังในการขจัดการทุจริตเลือกตั้งและการขยายโอกาสของกลุ่มต่างๆในการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองให้มากขึ้น เช่น การเพิ่มระบบการเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
เข้ามาเสริมระบบการเลือกตั้งแบบเขตพื้นที่
และในระบบการเลือกแบบเขตพื้นที่เอง ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงจาก เขตเลือกตั้งเดียวเลือก
ส.ส.ได้หลายคน เป็นเขตเลือกตั้งเดียวเลือก
ส.ส.ได้คนเดียว
รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงที่นับคะแนน
จากเดิมที่นับในหน่วยเลือกตั้งพร้อมกันทั้งเขต
เป็นนับคะแนนรวมในที่เดียวกัน
พร้อมกันนั้นก็มีความคิดที่ต้องการทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้นด้วย
เพราะเชื่อกันว่ารัฐบาลที่มีเสถียรภาพจะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศ จึงมีการกำหนดให้พรรคการเมืองมีอำนาจในการควบคุมสมาชิกมากขึ้น
และฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบรัฐบาลได้ยากขึ้น
แต่ทว่าความคิด ระบบ และกฎหมายต่างๆที่ภาคประชาชนได้ผลักดันเพื่อหวังให้เกิดการเมืองที่ดี
กลับมิได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง
สิ่งที่ปรากฏเชิงประจักษ์เมื่อกาลเวลาผ่านไปคือ
การเมืองไทยในระบอบรัฐสภาและการบริหาราชการแผ่นดินกลับตกอยู่ในสภาพเลวร้ายยิ่งขึ้น
และสังคมก็เกิดความแตกแยกเป็นกลุ่มขั้วอย่างรุนแรง
ความสิ้นหวังต่อนักการเมืองและระบอบการเมืองเดิม
ได้สร้างทางเลือกที่จำกัดแก่ประชาชนขึ้นมา
อะไรที่ดูเหมือนจะดีกว่าเดิมก็คว้าเอาไว้ก่อน
โดยไม่ได้ไตร่ตรองและประเมินการตัดสินอย่างรอบคอบ
สิ่งนี้นับว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนตัดสินใจทางการเมืองอย่างที่เกิดขึ้นในระยะนั้น
ในช่วงสี่ปีแรกหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
พ.ศ. 2540 ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากกระแสความโลภอยากรวยที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่รัฐบาลชาติชายช่วง
2531 เป็นต้นมา อันนำไปสู่การเก็งกำไรและเกิดเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ขึ้นอย่างกว้างขวาง และไม่มีรัฐบาลใดในช่วงเวลาดังกล่าวมีความสามารถในการแก้ปัญหาเหล่าได้
อันที่จริงรัฐบาลกลายเป็นสาเหตุสำคัญในการสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น
เมื่อรัฐบาลชวนเข้ามาบริหารประเทศ
ช่วง พ.ย.2540
- ก.พ.2544 ก็ไม่อาจแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกันกับรัฐบาลก่อนหน้านั้น
มิหนำซ้ำกลับทำให้เกิดความล่มสลายของกลุ่มทุนขนาดเล็กและกลางจำนวนมาก ในทางกลับกันก็เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากวิกฤติเศรษฐกิจของไทยได้อย่างเสรี
ความล้มเหลวของรัฐบาลชวนในการแก้วิกฤติเศรษฐกิจทำให้ชนชั้นกลางจำนวนมากสิ้นหวังต่อกลุ่มคนที่มีอาชีพเป็นนักการเมืองซึ่งมีภาพลักษณ์ดูเหมือนซื่อสัตย์สุจริต
แต่ความสามารถในการบริหารสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศมีจำกัด อีกทั้งความสามารถแก้ปัญหาความยากจนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมก็ไม่ปรากฏให้เห็น
รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงนั้นจึงถูกมองว่าไม่เป็นมิตรและไม่ช่วยเหลือคนจน
จึงกล่าวได้ว่า กลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นเป็นตัวแทนของความฉ้อฉลทางการเมือง ส่วนกลุ่มอาชีพนักการเมืองก็เป็นตัวแทนของความไร้ประสิทธิภาพของการบริหารประเทศ
และไม่เป็นมิตรกับคนจน
เมื่อเป็นเช่นนั้นกลุ่มชนชั้นกลางจำนวนมากและคนจนจึงแสวงหาทางเลือกใหม่ ซึ่งเป็นทางเลือกที่พวกเขาคาดว่าจะมาพร้อมกับรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อการเลือกตั้ง 2544 เกิดขึ้น พรรคไทยรักไทย
ได้เสนอภาพลักษณ์ผู้บริหารพรรคที่ดูเหมือนมีความซื่อสัตย์และเปี่ยมไปด้วยความสามารถในการบริหารออกสู่สังคม จึงทำให้เกิดภาวการณ์สะกดจิตหมู่แก่คนค่อนประเทศ โดยหลงเชื่อไปกับภาพลักษณ์เหล่านั้น
อีกทั้งยังได้นำนวัตกรรมทางนโยบาย
คือการนำนโยบายประชานิยมเข้ามาในการหาเสียงเลือกตั้ง นโยบายประชานิยมเป็นการเสนอการแลกเปลี่ยนระหว่างผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม
สามารถเข้าใจได้ง่าย เพื่อแลกเปลี่ยนกับคะแนนเสียง เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น ในช่วงนี้นักวิชาการบางคนได้ส่งเสียงสรรเสริญนโยบายประเภทนี้กันยกใหญ่
โดยสร้างวาทกรรม “ประชาธิปไตยกินได้” ขึ้นมา
ปรากฏการณ์ในช่วงการเลือกตั้งตั้ง
2544 เป็นปรากฏการณ์ชาวบ้านทั่วไปละทิ้งทั้งกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นที่เคยมีสายสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ดั้งเดิมกับพวกเขา
และหันไปเลือกพรรคของกลุ่มทุนใหม่ด้วยแรงจูงใจจากนโนยายประชานิยมผสานกับเงินที่กลุ่มนี้ใช้ในการซื้อเสียง เรียกว่าชาวบ้านได้ทั้งเงินในช่วงซื้อเสียงและยังมีโอกาสได้ประโยชน์หลังการเลือกตั้งต่อเนื่องอีกด้วย
ผลประโยชน์สองชั้นเช่นนี้ย่อมมากกว่าผลประโยชน์ชั้นเดียวที่พวกเขาได้รับจากกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นแบบเดิม
สำหรับชนชั้นกลางจำนวนมากก็ได้ทอดทิ้งกลุ่มอาชีพนักการเมือง
หันไปเลือกกลุ่มทุนชาติเพราะพวกเขาหลงเชื่อในภาพลักษณ์ของความเป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพและความซื่อสัตย์รวมอยู่กันอยู่
อันเป็นคุณสมบัติที่ชนชั้นกลางคาดหวังจะให้นักการเมืองเป็น
ทางเลือกที่จำกัดจึงทำให้ทั้งชาวบ้านและชนชั้นกลางจึงเลือกกลุ่มทุนชาติซึ่งนักฉวยโอกาสทางการเมือง
และต่อมากลายสภาพเป็นกลุ่มทุนสามานย์ แทนกลุ่มนักการเมืองอาชีพที่พวกเขาเคยเลือก โดยขณะนั้นพวกเขายังไม่ทราบว่าอนาคตข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นคืออะไร
พลวัตความขัดแย้งทางการเมืองไทย: ขุนนาง ทหาร นายทุน และประชาชน (5)
กล่าวได้ว่าตั้งแต่ทศวรรษ
2540 กลุ่มทุนขนาดใหญ่ระดับชาติและทุนข้ามชาติสัญชาติไทยได้เข้ามามีอิทธิพลครอบงำการเมืองไทยโดยตรงซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือ
กลุ่มทุนสื่อสาร กลุ่มทุนอุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์
พลังงาน และ ปิโตรเคมี เมื่อกลุ่มทุนเหล่านี้ครองอำนาจเบ็ดเสร็จทางการเมืองพวกเขาใช้อำนาจในลักษณะสามานย์
ต่อมาจึงถูกเรียกว่า “กลุ่มทุนสามานย์” เพราะว่าการใช้อำนาจของกลุ่มนี้มุ่งเพียงแต่การสร้างความมั่งคั่งแก่กลุ่มตนเองและทำลายระบบคุณธรรมของสังคมอย่างเป็นระบบ
ความขัดแย้งหลักทางการเมืองที่เกิดขึ้นในยุคนี้จึงเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกลุ่มทุนสามานย์โดยประเด็นความขัดแย้งคือ
ธรรมาภิบาลและคุณธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจและการใช้อำนาจ และความพยายามในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง
กลุ่มทุนสามานย์ทำให้สนามการเมืองแปรสภาพเป็นสนามการค้าอย่างเต็มรูปแบบ
พวกเขาใช้กลยุทธ์การตลาดทางการเมืองในการรณรงค์หาเสียง
มองผู้มีสิทธิเลือกตั้งประหนึ่งเป็นผู้บริโภคสินค้า
มีการใช้โพลล์เพื่อสำรวจเชิงการตลาด และผลิตนโยบายที่มีลักษณะเหมือนสินค้าเพื่อเอาใจลูกค้าหรือที่เรียกว่า
“นโยบายประชานิยม” ขึ้นมา
ด้านหนึ่งนโยบายประชานิยม เช่น
นโยบายกองทุนหมู่บ้าน สามสิบบาทรักษาทุกโรค และนโยบายจำนำข้าว เป็นต้น เป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ทำให้กลุ่มสามานย์ได้ครองอำนาจทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เพราะว่านโยบายตอบสนองจิตวิทยาพื้นฐานของมนุษย์จำนวนมากที่อยากได้ของแจกหรือของฟรี นโยบายประชานิยมยังเป็นการต่อยอดการซื้อขายเสียงแบบเดิมซึ่งเป็นกลไกพื้นฐานของการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นในช่วงก่อนหน้านี้
นั่นคือกลุ่มทุนสามานย์ใช้ทั้งการซื้อขายเสียงแบบเดิมซึ่งปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ผนวกกับใช้การซื้อขายเสียงแบบใหม่ภายใต้ชื่อ “นโยบายประชานิยม” ด้วยการซื้อขายเสียงแบบ “ยกกำลังสอง” เช่นนี้
จึงทำให้กลุ่มทุนสามานย์ประสบชัยชนะในการเลือกตั้งติดต่อกันหลายครั้งนับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี
2544 เป็นต้นมา
เมื่อได้อำนาจทางการเมืองมาครอบครองอย่างเต็มรูปแบบกลุ่มทุนสามานย์ก็วางแผนในการสร้างอาณาจักรและความมั่งคั่งของตนเองอย่างต่อเนื่องโดยการใช้อำนาจรัฐผลิตนโยบายเพื่อประโยชน์ต่อกลุ่มตนเอง
ที่รู้จักกันในนาม “การคอรัปชั่นเชิงนโยบาย”
ในขณะเดียวกันก็คงไว้ซึ่งการคอรัปชั่นในรูปแบบเดิมอันได้แก่ “การกินหัวคิว”
ทั้งยังมีการนำ
“ตำแหน่งราชการ” ออกไปประมูลค้าขายอย่างแพร่หลายในแทบทุกกระทรวง
การคอรัปชั่นเชิงนโยบายเป็นการกำหนดนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มบุคคลหรือกลุ่มบริษัทที่มีกลุ่มทุนสามานย์เป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ถือหุ้น
การเอื้อประโยชน์อาจทำในรูปแบบของการให้สิทธิพิเศษบางอย่างหรือการได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษี เช่น การให้กลุ่มบริษัทปิโตรเคมีได้สิทธิประโยชน์ในการซื้อก๊าซ
LPG ราคาต่ำกว่าอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆและการใช้ในครัวเรือน หรือ
การให้ต่างชาติกู้เงินจากประเทศไทยไปดำเนินโครงการ
แต่มีเงื่อนไขว่าต้องซื้อสินค้าในบริษัทที่เป็นเครือข่ายของกลุ่มทุนสามานย์
เป็นต้น
นอกจากการคอรัปชั่นในการกำหนดเนื้อหานโยบายแล้ว การคอรัปชั่นในกระบวนการนำนโยบายไปปฏิบัติก็เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน นโยบาย SML และนโยบายจำนำข้าว กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการคอรัปชั่นในกระบวนการนำนโยบายไปปฏิบัติมีหลากหลายระดับ
ตั้งแต่กลุ่มนักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งระดับสูง
กลุ่มข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มนายทุนระดับจังหวัดที่เป็นบริวารของกลุ่มทุนสามานย์ กลุ่มเครือข่ายหัวคะแนน
และกลุ่มประชาชนที่เป็นเป้าหมายของนโยบายเอง
กลุ่มทุนสามานย์ยังได้พัฒนารูปแบบการทุจริตเพื่อให้ตนเองได้รับผลประโยชน์มากขึ้นและเร็วขึ้นนั่นคือการปรับปรุงวิธีการโกงแบบ
“ค่าหัวคิว” เป็นการโกงแบบ “เงินทอน”
ในอดีตนักการเมืองและข้าราชการได้รับ “ค่าหัวคิว.”
เมื่อผู้รับเหมาได้เงินงบประมาณจากโครงการของรัฐแล้ว แต่ในปัจจุบันผู้รับเหมาต้องจ่ายเงินแก่กลุ่มทุนสามานย์และข้าราชการที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะได้โครงการมาทำ ยิ่งกว่านั้นอัตราที่จ่ายให้จากเดิมที่เคยจ่าย
10-15 %
ก็ขึ้นเป็น 30- 50 %
ขึ้นอยู่กับประเภทของโครงการ
โครงการที่มีการเรียกรับเงินทอนสูงเช่น โครงการเกี่ยวกับการจัดการน้ำ
ประเภทขุดลอกคูคลอง เป็นต้น
ส่วนการซื้อขายตำแหน่งราชการก็มีการกระทำกันอย่างแพร่หลายและทวีจำนวนมากขึ้นเช่นเดียวกัน
ทั้งในระดับตำแหน่งสูงสุดของหน่วยงาน และระดับหัวหน้าส่วนราชการในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
หน่วยงานที่มีข่าวอื้อฉาวจนมีการร้องเรียนออกมาให้ปรากฏในที่สาธารณะเช่น
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย
กลุ่มทุนสามานย์ยังได้นำแนวคิดของจักรวรรดินิยมใหม่ที่เรียกว่า
“ฉันทามติวอชิงตัน” มาเป็นธงนำเพื่อแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทมหาชน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ภายใต้กระบวนการแปรรูปนี้กลุ่มทุนสามานย์ทำให้สมบัติของชาติไปอยู่ในสภาพหุ้นเพื่อนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ และนำไปขายให้เอกชนและกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นพรรคพวกตนเองในราคาถูก
ซึ่งทำให้พวกเขาได้กำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้นอย่างมหาศาล
ยิ่งกว่านั้นกลุ่มทุนสามานย์ได้แปรสภาพการบริหารราชการแผ่นดินให้กลายเป็นการบริหารแบบเอกชน
โดยนำแนวคิดการจัดการแบบใหม่ที่มีระบบตัวชี้วัดผลงาน และสร้างระบบการบริหารที่ให้อำนาจแก่ผู้นำองค์การอย่างเบ็ดเสร็จที่เรียกว่า
“CEO”
ขึ้นมา
กระบวนการนี้จึงเรียกว่า
“กระบวนการกลายเป็นบริษัทของหน่วยงานราชการ”
ทุนสามานย์ทำตัวเสมือนเป็นเถ้าแก่หรือเจ้าของบริษัท ส่วนหัวหน้าหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นปลัดกระทรวง อธิบดี และผู้ว่าราชการจังหวัดเปรียบเสมือนกรรมการผู้จัดการ
สำหรับข้าราชการในระดับล่างลงมาก็เปรียบเสมือนลูกจ้างบริษัท
การทำให้หน่วยงานราชการเป็นเสมือนบริษัทและข้าราชการเป็นเสมือนลูกจ้างเป็นการบ่อนทำลายจิตวิญญาณแห่งการรับใช้แผ่นดินและรับใช้สาธารณะของบรรดาข้าราชการ ผลสืบเนื่องที่ตามมาคือข้าราชการจำนวนมากทำงานเพียงเพื่อรับใช้และสนองผลประโยชน์ของบรรดาเหล่าทุนสามานย์แทนที่จะรับใช้ประชาชนและแผ่นดิน
คำเรียกที่ข้าราชจำนวนมากนิยมเรียกผู้บังคับบัญชาที่เป็นกลุ่มทุนสามานย์คือ
“นาย” หรือ “Boss”
ส่วนการสร้างระบบตัวชี้วัดได้ทำให้ข้าราชการกลายเป็น
“นักสร้างข้อมูล” หรือ “นักปั้นตัวเลข”
เพราะหากมีตัวเลขไม่ได้ตามที่กำหนดในตัวชี้วัด
ก็จะทำให้ไม่ได้รับรางวัลและอาจจะถูกลงโทษ
การทำงานงานของข้าราชการจำนวนมากจึงมุ่งไปที่กระบวนการสร้างตัวเลขเพื่อให้บรรลุตัวชี้วัดแทนคุณภาพของงานและการบริการแก่ประชาชน
เราจึงมีแต่หน่วยงานที่มีตัวเลขโชว์ความสำเร็จของตัวชี้วัด
แต่คุณภาพของงานกลับเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม
และในท้ายที่สุดข้าราชการก็ไก้กลายเป็น “ทาสของตัวชี้วัด” และมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความหลอกลวง จนกระทั่งตนเองก็เชื่อว่าตัวเลขที่ปั้นแต่งขึ้นมาเป็นความจริง
การกำหนดนโยบายและการบริหารประเทศของกลุ่มทุนสามานย์จึงเป็นการทำลายคุณธรรมขั้นพื้นฐานของสังคมยิ่งกว่าเดิม
หรือมากเสียยิ่งกว่าที่กลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นเคยกระทำในอดีต คุณธรรมที่ถูกทำลายล้างมากที่สุดคือ
ความซื่อสัตย์สุจริตและการพึ่งตนเอง
ตลอดระยะเวลาที่กลุ่มทุนสามานย์มีอำนาจในการเมืองไทยจึงเป็นเวลาที่สังคมไทยเต็มไปด้วยผู้คนที่มีสำนึกแห่งความเป็นทาส
การโกหกหลอกลวง การทุจริตฉ้อฉล และมีพฤติกรรมแบบขอทาน
กลุ่มทุนสามานย์ยังได้ทำลายล้างเนื้อหาสากลของประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
โดยปลุกกระแสสร้างวาทกรรมของ “ลัทธิคลั่งเลือกตั้ง” และ “ลัทธิเผด็จการเสียงข้างมาก”
ขึ้นมา อีกทั้งยังมีแนวคิดและความพยายามเคลื่อนไหวที่จะขยายอำนาจของกลุ่มตนเองไปกดทับและลดทอนบทบาททางสังคมของสถาบันดั้งเดิมตามประเพณีของไทย
และที่สำคัญคือมีบุคคลบางคนในกลุ่มทุนสามานย์ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากกลุ่มอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็มีความคิดไปไกลถึงขนาดจะสร้างระบอบสาธารณรัฐขึ้นมา
รวมทั้งในระยะหลังสมุนของกลุ่มทุนสามานย์จำนวนหนึ่งได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อแยกดินแดนออกไปเป็นประเทศอิสระและการก่อการร้ายเพื่อทำลายความสงบสุขของสังคม
ทั้งหมดที่กล่าวมาโดยย่อเป็นประเด็นความความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตลอดระยะเวลา
13 ปีที่ผ่านมา เป็นความขัดแย้งอันเกิดจากการขับเคลื่อนของกลุ่มทุนสามานย์
จนทำให้สังคมไทยแตกแยกเป็นขั้วขัดแย้งอย่างไม่เคยมีมาก่อน และตราบใดที่กลุ่มทุนสามานย์ยังคงรักษาอิทธิพลทางการเมืองเอาไว้ได้
ความขัดแย้งในลักษณะนี้ก็จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป
พลวัตความขัดแย้งทางการเมืองไทย: ขุนนาง ทหาร นายทุน และประชาชน (6)
ราวกับสังคมไทยตกอยู่ภายใต้การสะกดจิตหมู่
รับรู้มายาคติประดุจความเป็นความจริง
เสียงที่แตกต่างถูกสะกดข่มมิให้เปล่งออกมา
เสียงที่ท้วงติงถูกทำให้เงียบงัน เสียงวิพากษ์วิจารณ์จักถูกตอบโต้อย่างรุนแรง ผู้ใดรู้ความจริงและมีหลักฐานที่พร้อมออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะถูกทำให้หายตัวไปไม่เหลือร่องรอย บางคนก็สิ้นชีพอย่างน่าอนาถ กระบวนการสร้างความเป็นจริงดำเนินไปอย่างเข้มข้นและถูกตอกย้ำผ่านกลไกนานาชนิด
ระยะแรกของการครองอำนาจ
กลุ่มทุนสามานย์กุมสภาพสังคมไทยเอาไว้ได้ทุกด้าน มีการก่ออาชญากรรมและความรุนแรงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า
ผู้คนจำนวนมากที่ถูกบดบังด้วยภาพลวงตากลับให้การสนับสนุน
คนบางส่วนที่พอจะเห็นความไม่ชอบมาพากลอยู่บ้างก็นิ่งเฉยโดยสร้างเหตุผลมาปลอบใจตนเองว่ารัฐบาลทุนสามานย์ได้รับอาณัติจากประชาชนแล้ว
ย่อมมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจบริหารประเทศ ขณะที่คนบางส่วนที่รู้เท่าทันและเข้าใจธาตุแท้ของกลุ่มทุนสามานย์ก็ได้เริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์
แต่ดูเหมือนว่าเสียงวิพากวิจารณ์ถูกกลบด้วยเสียงโห่ร้องชื่นชมยินดีของบรรดาผู้สนับสนุนกลุ่มทุนสามานย์
สังคมไทยมักจะเป็นอย่างนี้ ยามหลงไหลชมชอบผู้ใดก็ไม่เหลือพื้นที่สำหรับการเปิดรับความคิดและข้อมูลที่แตกต่างแม้แต่น้อย ชื่นชมกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา
ความมีเหตุผลและข้อเท็จจริงถูกอารมณ์ความรู้สึกเบียดขับออกไปจากจิตสำนึก คนไทยจำนวนไม่น้อยมีแนวโน้มทำให้ตนเองกลายเป็นสาวกของบุคคลหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอยู่เสมอ
ด้วยแรงแห่งความปรารถนาของการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และเมื่อกลายเป็นสาวกแล้วก็มักออกมาปกป้องศาสดาของตนเองด้วยความมืดบอดและพร้อมที่จะตอบโต้ผู้ที่พวกเขาคิดว่าเป็นปรปักษ์อย่างรุนแรง
วุฒิภาวะทางอารมณ์ของคนในสังคมไทยจึงจัดอยู่ในระดับต่ำ
ดังจะเห็นได้ว่าคนจำนวนมากโกรธเคืองกันอย่างรุนแรงด้วยเรื่องเล็กๆน้อยๆ และมักจะเฉยเมยต่อเรื่องใหญ่ๆ ความแตกต่างขัดแย้งในเรื่องหลักการกลับถูกมองข้ามและไม่ค่อยมีใครเอามาเป็นอารมณ์อย่างจริงจังนัก แต่พอเรื่องเล็กๆกลับทำอย่างจริงจังจะเอาเป็นเอาตายกันให้ได้
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนในสังคมไทยไม่ใส่ใจปล่อยละเลยให้กลุ่มทุนสามานย์ประกอบอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ดังปรากฏในนโยบายปราบปรามยาเสพติด ซึ่งมีการใช้วลีอย่าง
“การประกาศสงครามกับยาเสพติด” เป็นประโยคหลักของการขับเคลื่อนนโยบาย นัยของการใช้คำว่า “สงคราม” ก็คือ “ความรุนแรง” ภายใต้นโยบายนี้กลุ่มทุนสามานย์ได้ประกาศในเชิงสัญญะต่อสังคมว่าจะใช้ความรุนแรงในการปราบปรามยาเสพติด
ปฏิบัติการเชิงวาทกรรมที่ตามมาคือ
ให้ตำรวจจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและใช้มาตรการเด็ดขาดในการปราบปราม
ดังประกาศิตที่สำทับลงไปว่า
“ผู้ที่มีรายชื่อในบัญชีว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หากไม่ติดคุกก็ต้องไปอยู่ที่วัด” ความหมายที่แฝงของการไปอยู่ที่วัดคือ “ความตาย”
ชีวิตของสามัญชนคนธรรมดาจึงถูกปลิดทิ้งคนแล้วคนเล่าร่วมสามพันคน
มีบ้างบางคนที่อาจเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
แต่ผู้ถูกสังหารจำนวนมากไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดแม้แต่น้อย ถึงกระนั้นภายใต้หลักการการแบ่งแยกอำนาจของระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจหน้าที่ใดพิพากษาผู้กระทำผิด
เพราะนั่นเป็นอำนาจของฝ่ายตุลาการ แต่ในช่วงที่พรรคไทยรักไทยครองอำนาจและมีทักษิณ
ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี
อำนาจตุลาการและกระบวนการยุติธรรมถูกทำลายลงไปอย่างสิ้นเชิง
เพราะว่าฝ่ายบริหารกำหนดแนวทางปฏิบัติโดยมีนัยให้ปฏิบัติการแบบศาลเตี้ยต่อผู้ที่ถูกเข้าใจว่าพัวพันกับยาเสพติด
ยิ่งใช้อำนาจนานวันเข้า
กลุ่มทุนสามานย์ก็ยิ่งเสพติดอำนาจ
พร้อมกับเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีความยิ่งใหญ่คับผืนฟ้าและแผ่นดิน ความยะโสโอหังถูกแสดงออกมามากขึ้นและมีการใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่แยแสสนใจระเบียบและกฎหมายใดทั้งสิ้น ผลที่ตามมาคือการหลุดลอกของฉากหน้าก็เกิดขึ้น ความสวยงามของหน้ากากที่สร้างในช่วงเริ่มต้นก็จางหายไป ความอัปลักษณ์อันเป็นธาตุแท้ได้ปรากฏตัวให้เห็นถี่ขึ้นบ่อยขึ้น
ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่มีสติปัญญาก็เริ่มตั้งคำถามและแสดงความสงสัยต่อพฤติกรรมของกลุ่มทุนสามานย์ แต่ความเป็นจริงอันน่ารันทดก็คือมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกันที่ยังคงลุ่มหลงงมงายกับมายาภาพที่กลุ่มทุนสามานย์สร้างเอาไว้
และกลายเป็นเครื่องมือให้กลุ่มทุนสามานย์ใช้เพื่อรักษาอำนาจของพวกเขา
ตั้งแต่ปี 2547 แม้ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางเริ่มมองเห็นความจริงและตระหนักถึงความเลวร้ายของกลุ่มทุนสามานย์หรือระบอบทักษิณ
แต่การต่อต้านคัดค้านยังไม่ปรากฏเป็นรูปขบวนที่ชัดเจนนัก จวบจนกระทั่งในปลายปี 2548 เมื่อนายสนธิ
ลิ้มทองกุล นักหนังสือพิมพ์และนักธุรกิจด้านการสื่อสารมวลชนได้จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสวนลุมพินีทุกวันศุกร์ต่อเนื่องกันหลายสัปดาห์ ตัวตนอันแท้จริงของกลุ่มทุนสามานย์ระบอบทักษิณจึงเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะมากขึ้นตามลำดับ
ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร มีการนำความเป็นจริงเกี่ยวกับระบอบทักษิณและพฤติกรรมของทักษิณ
ชินวัตรอย่างเข้มข้นตรงไปตรงมา ความชั่วร้าย การทุจริตฉ้อฉล และการลุแก่อำนาจของระบอบทักษิณได้ถูกเปิดเผยออกมา กระแสการต่อต้านระบอบทักษิณได้ขยายตัวออกไปในวงกว้าง
มีผู้คนมากมายหลากหลายอาชีพและชนชั้นได้แสดงตัวและร่วมขบวนการต่อต้านระบอบทักษิณ
ในที่สุดบรรดาภาคประชาชนก็ได้ประสานแลกเปลี่ยนความคิดจนเกิดการตกผลึก
และนำไปสู่การจัดตั้งขบวนการภาคประชาชนในนาม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม).”
ขึ้นมาในต้นปี 2549
เพื่อเป็นองค์กรนำในการต่อสู้และโค่นล้มระบอบทักษิณอันเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนสามานย์
พธม.เป็นองค์กรภาคประชาชนที่มีองค์ประกอบหลักจากห้าภาคส่วนคือ
ภาคสื่อมวลชน ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน
ภาคองค์กรชาวบ้าน ภาคกองทัพธรรม
และภาคแรงงาน อีกทั้งยังมีองค์กรวิชาชีพต่างๆในสังคมเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายอย่างมากมาย
เช่น ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ ภาควิชาชีพด้านสาธารณสุข ภาควิชาชีพด้านกฎหมาย เป็นต้น
แม้ว่ากลุ่มที่เข้าร่วมในการต่อสู้กับระบอบทักษิณในนาม
พธม. มีความแตกต่างทางอุดมการณ์และความเชื่ออยู่บ้าง แต่มีจุดร่วมอุดมการณ์แบบ
“คุณธรรมนิยม” และ “ชาตินิยมเชิงสร้างสรรค์”
ธงนำในการต่อสู้คือการใช้ธรรมนำหน้า
มุ่งขจัดกลุ่มทุนสามานย์ให้ออกจากอำนาจทางการเมือง ต่อสู้กับการทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบ การสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม การสร้างสำนึกแห่งความเป็นชาติ
และการรักษาคุณค่าและความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์
ในฐานะที่เป็นพลังทางวัฒนธรรมที่ยึดเหนี่ยวเชื่อมโยงผู้คนในสังคมไทยเข้าด้วยกัน
พธม.ได้จัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลทุนสามานย์อย่างต่อเนื่อง
จนทำให้ทักษิณ ชินวัตรไม่อาจใช้อำนาจได้อย่างสะดวกอีกต่อไป
แม้ว่าพรรคไทยรักไทยจะครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งใน
ปี 2548 ก็ตาม แม้แรงกดดันของประชาชนให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีมากขึ้น
แต่ทักษิณ ชินวัตรกลับไม่ยอมลาออก โดยเลือกใช้วิธีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลดแรงกดดัน และคาดหวังจะใช้สนามการเลือกตั้งฟอกความผิดและสร้างความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจใหม่อีกครั้ง
แต่ทว่าการดิ้นรนของทักษิณ
ชินวัตรประสบความล้มเหลว เมื่อการเลือกตั้งในเดือนเมษายน
2548
ถูกศาลสั่งให้เป็นโมฆะเพราะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
โดยที่การดำเนินการเลือกตั้งทำให้เกิดผลการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม
และไม่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
รัฐบาลทุนสามานย์จึงต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในเดือนตุลาคม
ปีเดียวกัน
การปรากฎตัวของภาคประชาชนในนาม พธม.
เป็นปฏิกิริยาของสังคมเพื่อตอบโต้การใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของกลุ่มทุนสามานย์
นับได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของสังคมไทยที่ประชาชนจำนวนมหาศาลได้ออกมาชุมนุมต่อต้านกลุ่มผู้บริหารประเทศที่มาจากการเลือกตั้งแต่ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล กล่าวได้ว่าปรากฎการณ์ทางการเมืองของภาคประชาชนในปี
2548
เป็นการพัฒนาการต่อสู้ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง กล่าวคือในอดีต ภาคประชาชนต่อสู้กับผู้ครองอำนาจรัฐที่เป็นทหาร
เช่น กรณีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2514 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
ในเดือนพฤาภาคม 2535
แต่ในปี 2549 ประชาชนได้ต่อสู้กับผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มทุนสามานย์
ในแง่นี้จึงได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า “ผู้ปกครองประเทศ
ไม่ว่าจะมาจากอำนาจปืนหรือมาจากอำนาจเงิน
หากใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ฉ้อฉล ขาดความยุติธรรม และขาดคุณธรรม ย่อมเป็นมูลเหตุให้ประชาชนไทยลุกขึ้นมาขับไล่ทั้งสิ้น”
บทเรียนนี้ควรที่ผู้มีอำนาจในยุคปัจจุบันได้ตระหนักเอาไว้
และควรใช้อำนาจอย่างมีครรลองคลองธรรมโดยมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง
พฤติกรรมอำพลางแอบแฝงซ่อนเร้นไม่มีทางที่จะปิดบังผู้คนเอาไว้ได้ ยิ่งในโลกปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีอันทรงประสิทธิภาพอย่างหลากหลาย หากผู้ใด
กลุ่มใดสร้างมายาภาพหลอกลวงประชาชน
พวกเขาจะสามารถทำได้แต่เพียงชั่วคราวและระยะสั้นเท่านั้น
ไม่ต้องใช้เวลานานนักความจริงก็จะถูกเปิดออกมา
และเมื่อนั้นก็เป็นวันเริ่มต้นของจุดจบของผู้ที่หลอกลวงประชาชน
พลวัตความขัดแย้งทางการเมืองไทย: ขุนนาง ทหาร นายทุน และประชาชน (จบ)
เราจะเริ่มจากข้อเขียนบางตอนของเพลโตเพื่อใช้เป็นเครื่องเตือนสติ“ความพินาศจะบังเกิดขึ้นเมื่อพ่อค้าซึ่งฝักใฝ่ความร่ำรวยกลายเป็นผู้ปกครอง หรือเมื่อนายพลใช้กองทัพเพื่อสร้างเผด็จการ บทบาทที่เหมาะสำหรับพ่อค้าคือการค้าขาย สำหรับนักรบคือการรบ ทั้งสองกลุ่มแสดงบทบาทได้เลวที่สุดเมื่ออยู่ในแวดวงของผู้บริหารประเทศ ผู้ที่เหมาะสมในการปกครองประเทศคือผู้มีพลังปัญญาแห่งความเป็นปราชญ์ ซึ่งใช้ปัญญาเชิงปฏิบัติทั้งศาสตร์และศิลป นำพาบ้านเมืองให้พ้นจากความเจ็บไข้ ไปสู่ความรุ่งเรือง”
เพลโตเขียนเรื่องราวเหล่านี้มาสองพันกว่าปีแล้ว แต่ประวัติศาสตร์การบริหารบ้านเมืองของมนุษย์ดูเหมือนจะเดินไปไม่ถึงไหน ภาพแห่งความพินาศหายนะของประเทศต่างๆที่เกิดจากน้ำมือของบรรดาเหล่าพ่อค้าและนายพลมีให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนในอนาคต ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในจำนวนหลายประเทศดังกล่าวด้วย
ต้นปี 2549 รัฐบาลทุนสามานย์ระบอบทักษิณตระหนักดีว่าความชอบธรรมของตนเองกำลังจะสูญสิ้น จึงหาหนทางสร้างความชอบธรรมขึ้นมาใหม่โดยคิดอาศัยการเลือกตั้งที่ตนเองควบคุมได้เป็นเครื่องมือ แต่ทว่ากระแสสังคมไม่ยอมรับ การชุมนุมของภาคประชาชนเพื่อต่อต้านก็ดำเนินต่อไป เมื่อสถานการณ์เดินหน้าเข้าสู่ภาวะตึงเครียดรัฐบาลจึงเกิดความระแวงว่าทหารจะรัฐประหาร ในเดือนกันยายน 2549 `รัฐบาลจึงสั่งปลด พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผบ. ทบ.ในยุคนั้นให้พ้นจากตำแหน่ง แต่ทว่าสายเกินไป เพราะรถถังออกสู่ท้องถนนเสียก่อนและนำไปสู่จุดจบของรัฐบาล
เหล่านายพลนำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจการปกครอง ส่งผลให้รัฐบาลพ่อค้าทุนสามานย์สูญสิ้นอำนาจลงชั่วคราว แต่เนื่องจากบรรดานายพลว่างเว้นจากแวดวงอำนาจทางการเมืองมาเป็นเวลานานสิบห้าปี นับจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ทำให้ขาดประสบการณ์ในการรัฐประหาร ทั้งในแง่การเตรียมการ การจัดการสถานการณ์วิกฤติ และแผนการบริหารประเทศหลังการรัฐประหาร การจัดการสถานการณ์ระหว่างการรัฐประหารจึงดูประดักประเดิดอยู่ไม่น้อย มีการใช้ประโยคที่สร้างความขบขันแก่ผู้คนในสังคมออกมาเป็นระยะ เช่น “ขออภัยในความไม่สะดวก” หรือ “โปรดฟังอีกครั้ง” เป็นต้น
หลังยึดอำนาจคณะทหารซึ่งเรียกตนเองว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้ใช้อำนาจในฐานะรัฐฎาธิปัตย์ช่วงสั้นๆ และส่งอำนาจต่อให้รัฐบาลใหม่ที่มีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ทว่าทั้งคมช.และรัฐบาลใหม่มิได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบเพื่อขจัดระบอบทักษิณ กลับทำอย่างผิวเผินและค่อนไปทางวางเฉยต่อการดำรงอยู่ของระบอบทักษิณ
การขาดวิสัยทัศน์ สำนึกแห่งพันธกิจ และความกล้าหาญทางจริยธรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทั้ง คมช.และรัฐบาลยุคนั้นไม่ลงมือปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง ไม่กล้าแม้แต่จะเปิดเผยความจริงของระบอบทักษิณให้สาธารณะทราบ องค์กรที่ถูกตั้งโดย คมช. ที่พอจะมีลงานเป็นรูปธรรมอยู่บ้างคือ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งสามารถตรวจสอบการกระทำผิดของระบอบทักษิณและนำไปสู่การฟ้องร้องหลายคดี แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลาและอำนาจที่ได้รับจาก คมช. จึงทำให้มีประสิทธิผลไม่มากนัก
การรัฐประหารครั้งนั้นจึงทำให้เครือข่ายของระบอบทักษิณได้ความความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และมีการจัดตั้งมวลชนขึ้นมาเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร กระแสต่อต้านการรัฐประหารกระจายตัวไปสู่การรับรู้ของมวลชนที่นิยมระบอบทักษิณ อันเป็นมวลชนที่นิยมลุ่มหลงในคำเยินยอ กระหายที่จะได้รับความหวานจากต่อถ้อยคำของนักการเมือง และเสพติดในนโยบายประชานิยม มวลชนเหล่านี้ได้รับการปลุกปั่นจากนักฉวยโอกาสทางการเมืองที่มีทักษะในการพูดเล้าโลมความรู้สึกสูง
นอกจากฝ่ายระบอบทักษิณมีการตอบโต้ คมช.และรัฐบาลสุรยุทธ์อย่างรุนแรงแล้ว ยังมีการปล่อยข่าวลือเพื่อบั่นทอนความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อสถาบันสูงสุดด้วย เรียกได้ว่าเครือข่ายระบอบทักษิณตอบโต้การที่ตนเองถูกช่วงชิงอำนาจทุกรูปแบบ ส่วนฝ่ายรัฐบาลสุรยุทธ์ก็บริหารประเทศไปวันๆรอให้ครบวาระไม่ดำเนินการใดๆที่จะหยุดยั้งการคุกคามจากการขยายตัวในเชิงลัทธิความเชื่อของระบอบทักษิณแม้แต่น้อย
การเฉื่อยชาวางเฉยของกลุ่มนายพลที่บริหารประเทศหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 ทำให้เกิดภาพในทำนองที่ว่า “ นายพลและพ่อค้าดุจราวเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน ต่างล้วนเสพผลประโยชน์ร่วมกัน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงละคร หากตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กันได้ทุกอย่างก็จบลง ส่วนบาดแผลและความเจ็บปวดจะตกอยู่ที่ประชาชน”
ผลจากการไม่เปิดเผยความจริง ปล่อยปละละเลยให้มีการกระจายของความเท็จ และการจัดตั้งเครือข่ายมวลชนอย่างเป็นอิสระ เมื่อมีเลือกตั้งใหม่ในปลายปี 2550 เครือข่ายของกลุ่มทุนสามานย์ระบอบทักษิณจึงสามารถกลับเข้ามามีอำนาจใหม่อีกครั้งหนึ่ง
สมัคร สุนทรเวช รับเป็นหุ่นเชิดในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับระบอบทักษิณในเดือนมกราคม 2551 หลังบริหารประเทศเพียงไม่กี่เดือนรัฐบาลสมัครก็ใช้อำนาจในการเอื้อประโยชน์แก่ระบอบทักษิณ มีการแทรกแซงสื่อมวลชนและกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดเจน และประกาศว่าจะแก้ไขมาตรา 237 ที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรค เพื่อให้พรรคการเมืองของกลุ่มทุนสามานย์ได้ประโยชน์ ทั้งยังคิดแก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ทั้งฉบับ เพื่อช่วยเหลือนายทุนสามานย์ให้พ้นจากความผิดทั้วมวล
เมื่อผู้ปกครองกระทำการไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งยังบ่อนทำลายนิติรัฐเสียเอง ภาคประชาชนในนามพันธมิตรประชาชนประชาธิปไตยซึ่งยุติบทบาทไปชั่วคราวหลังการรัฐประหาร จึงได้มีการรวมตัวกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อต่อสู้และขับไล่ผู้ปกครองทรราช
แต่ทว่าการต่อสู้ของภาคประชาชนกับรัฐบาลนายทุนที่อาศัยเสื้อคลุมของประชาธิปไตยมิใช่เรื่องง่ายนัก ภาคประชาชนอาศัยการชุมนุมอย่างสงบสันติเพื่อกดดันรัฐบาล แต่ไม่ว่าจะกดดันมากเพียงไรก็ดูเหมือนรัฐบาลทรราชจะไม่สะทกสะท้าน ทำตัวราวคนตาบอดและหูหนวกไม่รับรู้กระแสความต้องการของมหาชน ทั้งยังจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธคอยยิงทำร้ายผู้ชุมนุมจนเสียชีวิตไปหลายคน
อย่างไรก็ตามการในที่สุดรัฐบาลสมัครก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะนายสมัคร สุนทรเวชมีพฤติกรรมที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน อันเป็นขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ระบอบทักษิณก็ยังมีคนมาทดแทน คราวนี้เป็นนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้เป็นน้องเขยของทักษิณ ชินวัตร ที่ได้รับการกำหนดให้เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อสืบทอดอำนาจของระบอบทักษิณต่อไป
รัฐบาลสมชายได้เพิ่มความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนจนมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ขณะเดียวกันกองกำลังติดอาวุธนอกกฎหมายที่ได้รับการสนับสนุนจากระบอบทักษิณก็ยังคงกระทำตัวประดุจสุนัขลอบกัด ใช้อาวุธสงครามลอบยิงประชาชนอย่างต่อเนื่อง ผู้เสียชีวิตจึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็เหตุให้ประชาชนต้องเพิ่มมาตรการชุมนุมอย่างเข้ามข้นขึ้น โดยเคลื่อนตัวจากทำเนียบรัฐบาลไปชุมนุมบริเวณสนามบิน
พลังกดดันจากยุทธวิธีของภาคประชาชนได้ส่งอิทธิพลไปยังองค์กรต่างๆในสังคมเพิ่มขึ้น ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติยุบพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรคที่ระบอบทักษิณใช้เป็นเครื่องมือในการครองอำนาจ รัฐบาลหุ่นเชิดของระบอบทักษิณก็จบลงไปชั่วคราว เช่นเดียวกับภารกิจของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิไตยเมื่อเป้าหมายบรรลุได้ในระดับหนึ่ง การชุมนุมก็ยุติลงชั่วคราว แต่พันธกิจเพื่อบ้านเมืองยังไม่สิ้นสุด
การเปลี่ยนขั้วการเมืองเกิดขึ้น พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาลด้วยการสนับสนุนจากกลุ่มนายพลและกลุ่มนักการเมืองที่เคยอยู่พรรคพลังประชาชน แต่การเปลี่ยนขั้วการเมืองไม่ทำให้สถานการณ์ของประเทศไทยดีขึ้นแม้แต่น้อย กลับทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเข้าดำรงดำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางความคาดหวังของผู้คนจำนวนมาก แต่ในไม่ช้าความหวังค่อยๆเลือนหายไป เพราะว่าแบบแผนการตัดสินใจเชิงนโยบายก็ดี การควบคุมการบริหารก็ดี แทบไม่แตกต่างจากระบอบทักษิณ รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ลอกเลียนแนวคิดนโยบายประชานิยมของระบอบทักษิณเอามาใช้โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบบางส่วน แต่แก่นแท้เชิงความคิดเป็นสิ่งเดียวกัน
แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือการปล่อยปละละเลยให้นักการเมืองร่วมรัฐบาลประกอบการทุจริตอย่างมหาศาล เกิดการซื้อขายตำแหน่งอย่างแพร่หลายในแทบทุกกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย การซื้อขายตำแหน่งมีความรุนแรงมาก เกิดความระสำระสายในการบริหารแผ่นดิน ข้าราชการที่คิดจะก้าวหน้าต้องใช้เงินซื้อตำแหน่งกันอย่างทั่วหน้า สภาพของบ้านเมืองประดุจคนป่วยไข้อาการหนัก
ขณะเดียวกันรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มิได้ดำเนินการจัดการกับระบอบทักษิณและมิได้คิดปฏิรูปประเทศ กลับพยายามที่หาทางปรองดองกับระบอบทักษิณ จนเป็นทำให้ระบอบทักษิณเกิดการฟื้นตัวและเริ่มขยายยุทธศาสตร์ในการครองอำนาจ จากเดิมที่อาศัยเงินและนโยบายซื้อเสียงในสนามเลือกตั้ง ก็ขยายตัวไปจัดตั้งกองกำลังมวลชนทั้งมวลชนปกติและมวลชนติดอาวุธ ดังนั้นเพียงไม่กี่เดือนหลังจากบริหารประเทศ รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็เผชิญหน้ากับการท้าทายจากมวลชนเสื้อแดงของระบอบทักษิณอย่างรุนแรง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น