การเลือกตั้งกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคม และผู้เล่นทางการเมือง
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
คอลัมน์ ปัญญาพลวัตร ในเอเอสทีวี สุดสัปดาห์
เผยแพร่: 20 ก.ค. 2561 1 โดย: MGR Online
(๑)
การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นใน พ.ศ.๒๕๖๒ เป็นการเลือกตั้งที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และกฎหมายหลายประการที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมการเลือกตั้ง นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้ว การรับรู้เกี่ยวกับผลงานของรัฐบาลปัจจุบัน ผู้แข่งขันหน้าใหม่ที่จะเข้าสู่สนามการเมือง ภาวะผู้นำของหัวหน้าพรรค นโยบายการหาเสียง และการประเมินอนาคตเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเป็นรัฐบาลของพรรคที่เลือก ก็มีผลไม่น้อยต่อความคิดและการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน
ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เห็นได้ชัดเจนคือ การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ซึ่งสังคมไทยมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความคิดทางการเมืองของผู้สูงอายุโดยทั่วไปมีแนวโน้มในเชิงอนุรักษ์นิยม ให้ความสำคัญกับคุณค่าดั้งเดิมของสังคม ความมีเสถียรภาพทางสังคม และความมั่นคงปลอดภัย ผู้สูงอายุมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมน้อยกว่ากลุ่มวัยอื่นๆ ดังนั้นหากพวกเขาเคยลงคะแนนในอดีตอย่างไร ก็จะมีแนวโน้มรักษาแบบแผนเดิมของการลงคะแนนเอาไว้
เราสามารถจำแนกกลุ่มผู้สูงอายุออกเป็นสองกลุ่มหลักคือ กลุ่มชนชั้นกลาง กับกลุ่มชาวบ้าน แม้ว่าทั้งสองกลุ่มมีหลักคิดอนุรักษ์นิยมคล้ายคลึงกัน แต่บริบททางสังคมและรสนิยมต่อตัวผู้สมัครพรรคการเมืองแตกต่างกัน ผู้สูงอายุชนชั้นกลางมีบริบททางสังคมที่มีความเป็นอิสระต่อระบบอำนาจแบบอุปถัมภ์มากกว่าผู้สูงอายุในชนบท สำหรับรสนิยมต่อพรรคการเมืองนั้นผู้สูงอายุชนชั้นกลางมีแนวโน้มชอบพรรคและผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีภาพลักษณ์เรื่องความซื่อสัตย์ หรือมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตน้อย ขณะที่ผู้สูงอายุที่เป็นชาวบ้านนั้นมีแนวโน้มที่จะตกอยู่ภายใต้บรรทัดฐานเชิงอำนาจทางสังคมของระบบอุปถัมภ์ และชอบผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่มีภาพลักษณ์เรื่อง การเป็นที่พึ่งพาได้ หรือ การช่วยเหลือเกื้อกูลเป็นหลัก
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นทำให้แบบแผนการเลือกตั้งดั้งเดิมสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองเก่ามีความได้เปรียบในสนามการแข่งขันระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ก็สามารถแสวงหาโอกาสได้อยู่เหมือนกันในการช่วงชิงคะแนนเสียงของคนกลุ่มนี้ หากนำเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรมและเน้นภาพลักษณ์ของผู้สมัครที่ดูซื่อสัตย์ แต่ประเด็นเหล่านี้อาจมีผลต่อการตัดสินใจของผู้สูงอายุชนชั้นกลางเท่านั้น ส่วนผู้สูงอายุที่เป็นชาวบ้าน นโยบายที่อาจมีประสิทธิผลมากกว่าคือ นโยบายเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการและสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม และผู้สมัครในระดับเขตเลือกตั้งที่มีภาพลักษณ์แบบวีรบุรษตามประเพณีดั้งเดิมของไทยคือ การเป็นคนชอบช่วยเหลือเกื้อกูล พึ่งได้ และเข้าถึงง่าย
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เห็นได้ชัดเจนอีกประการคือ การเกิดขึ้นของเครือข่ายเพื่อนเก่า ซึ่งเกิดและขยายอย่างมากในแวดวงชนชั้นกลางที่มีการศึกษา และเป็นไปในทุกระดับกลุ่มวัย ทั้งกลุ่มวัยทำงาน และวัยเกษียณ การเชื่อมประสานเริ่มจากการใช้เทคโนโลยีการสื่อสังคมออนไลน์รวบรวมบรรดาเพื่อนเก่า จากนั้นเครือข่ายการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกลุ่มเพื่อนเก่าในโลกเสมือนจริงก็เริ่มต้นขึ้น และนำไปสู่การพบปะพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกันในโลกแห่งความเป็นจริง
การรักษาสายสัมพันธ์ของกลุ่มเพื่อนเก่าดำเนินไปโดยการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร จากเรื่องใกล้ตัวและเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน บางกลุ่มก็อาจขยายขอบเขตไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความเป็นไปของสังคม เศรษฐกิจและการเมือง และหากกลุ่มเพื่อนเก่ากลุ่มใดมีปฏิสัมพันธ์ที่เปิดกว้างและพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทางความคิดของสมาชิกกลุ่มก็จะเกิดขึ้น มีโลกทัศน์กว้างขวางขึ้น และมีทิศทางเชิงบวกต่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม ที่สำคัญคือ มีความเป็นไปได้ว่าในช่วงใกล้การเลือกตั้ง บรรดาเครือข่ายกลุ่มเพื่อนเก่าจะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางการเมืองกันมากยิ่งขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
นอกจากเครือข่ายกลุ่มเพื่อนเก่าแล้ว เครือข่ายทางสังคมอื่นๆ ก็มีการขยายตัวอย่างมหาศาล ทั้งในโลกเสมือนจริงและโลกความเป็นจริง เครือข่ายเหล่านี้เป็นทั้งเครือข่ายในแวดวงผู้ประกอบอาชีพเดียวกัน เช่นเครือข่ายครู เครือข่ายทนายความ เครือข่ายแพทย์ เครือข่ายชาวนา เครือข่ายชาวสวนยาง เครือข่ายชาวสวนปาล์ม เครือข่ายประมง เป็นต้น เครือข่ายผู้สนใจกิจกรรมที่เหมือนกัน เช่น กิจกรรมกีฬา วัฒนธรรม ศาสนา สาธารณะประโยชน์ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น เครือข่ายกลุ่มพื้นที่หรือตามภูมิลำเนา เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ เครือข่ายของกลุ่มที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น เครือข่ายผู้พิการ เครือข่ายผู้ปกครอง เป้นต้น และยังมีเครือข่ายอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน
การปฏิสัมพันธ์หลักของเครือข่ายต่างๆ คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายของตนเองเอง ทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิก ความรู้หรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ จนไปถึงเรื่องทางสังคมและการเมือง มีหลายเครือข่ายที่ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นระยะ ซึ่งอาจเป็นกิจกรรมที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก หรือกิจกรรมเน้นสาธารณะประโยชน์ หรือกิจกรรมที่เน้นการผลักดันนโยบายเพื่อขยายผลประโยชน์ของสมาชิก หรือนโยบายทางสังคมและการเมืองอื่นๆ
ไม่ว่าในสภาวะปกติเครือข่ายทางสังคมต่างๆ จะเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารหรือกิจกรรมประเภทใดก็ตาม แต่ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ผมคิดว่า ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับนโยบายพรรคการเมือง ผู้สมัครพรรคการเมือง และการหาเสียงของพรรคการเมือง จะกลายเป็นข้อมูลข่าวสารหลักอย่างหนึ่งที่ไหลเวียนภายในกลุ่มเครือข่ายเหล่านั้น เครือข่ายใดที่มีการไหลเวียนและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางการเมืองมาก ย่อมมีอิทธิพลให้สมาชิกใช้เหตุผลในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง มากกว่าเครือข่ายที่มีการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารน้อย
มีบางประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ผมเองก็ยังมองไม่กระจ่างนักว่า ลักษณะแบบใดจะดำรงอยู่และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจกระทำของคนไทยมากกว่ากัน นั่นคือระหว่างความเป็น “กลุ่มนิยมแนวดิ่ง” กับความเป็น “กลุ่มนิยมแนวราบ” เพราะว่ามีปรากฎการณ์ที่ดูจะไม่ลงรอยกันเกิดขึ้นพร้อมๆกัน กล่าวคือในด้านหนึ่ง สังคมไทยดั้งเดิมมีแนวโน้มที่จะยึดถือความเป็น กลุ่มนิยมแนวดิ่งแบบอำนาจนิยม แต่เครือข่ายต่างๆที่เกิดขึ้นในยุคใหม่มีแนวโน้มจะทำให้เกิดลักษณะกลุ่มนิยมแนวราบ ที่มีความสมดุลของอำนาจเพิ่มขึ้นมา
ภายใต้กลุ่มนิยมแบบอำนาจแนวดิ่งนั้น สมาชิกกลุ่มมักจะตัดสินใจหรือกระทำโดยยึดบรรทัดฐานของกลุ่ม ชุมชนและสังคมที่พวกเขาสังกัดเป็นหลัก มีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการเป็นคนนอกคอก คนที่ไม่เข้าพวก หรือการเป็นคนที่แปลกประหลาดจากกลุ่ม ทำให้สมาชิกกลุ่มกระทำหรือแสดงพฤติกรรมไปในทิศทางตามบรรทัดฐานที่กลุ่ม ชุมชน หรือ องค์การที่พวกเขาสังกัดยึดถือ และที่สำคัญคือ สมาชิกมีแนวโน้มเชื่อฟังการชี้นำของบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีอำนาจภายในกลุ่ม
สำหรับกลุ่มนิยมแนวราบ สมาชิกภายในกลุ่มมีลักษณะความเป็นหุ้นส่วนทางสังคมที่ค่อนข้างมีความเท่าเทียมกัน สมาชิกมีอำนาจไม่แตกต่างกันมากนัก มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน การพูดคุยมีแนวโน้มเป็นแบบสองทิศทาง ไม่มีสมาชิกคนใดสามารถชี้นำหรือครอบงำสมาชิกคนอื่นได้อย่างเบ็ดเสร็จ แม้กลุ่มอาจมีบรรทัดฐานบางอย่าง แต่บรรทัดฐานนั้นมักเกิดจากความมีเหตุผลและการมีส่วนร่วมของสมาชิก และการตัดสินใจใดๆก็มีแนวโน้มเกิดจากการตัดสินร่วมกันมากกว่าการชี้นำของคนใดคนหนึ่ง
ประเด็นขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าคือ กลุ่มนิยมแนวราบแบบกระจายอำนาจเกิดขึ้นและพัฒนามาก และมีพลังทำให้กลุ่มนิยมแนวดิ่งแบบอำนาจนิยมลดลงมากน้อยเพียงใด เพราะหากกลุ่มนิยมแนวราบมีมากเพียงพอ ก็จะทำให้เส้นทางการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยดูมีความหวังมากขึ้น
นอกจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะภายในของกลุ่มนิยมแนวดิ่ง ไปสู่กลุ่มนิยมแนวราบมากขึ้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นจากการลดอิทธิพลของกลุ่มนิยมแนวดิ่งคือ “ความเป็นปัจเจกชนนิยม” บุคคลที่มีลักษณะเป็นปัจเจกชนนิยมนั้น จะตัดสินใจโดยยึดหลักคิดและเหตุผลที่พวกเขาคิดและเชื่อเป็นหลัก โดยพวกเขาอาจไม่สนใจกับบรรทัดฐานของกลุ่มหรือสังคมมากนัก กลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยเรียนระดับอุดมศึกษา วัยทำงานตอนต้นและตอนกลาง
ความคิดทางการเมืองของคนกลุ่มนี้มีสองลักษณะหลัก อย่างแรกคือ การต่อต้านการเมืองกระแสหลัก แต่ไม่ตระหนักรู้ว่าตนเองมีความต้องการทางการเมืองอย่างไร เมื่อมีการเลือกตั้ง คนกลุ่มนี้จะตัดสินเลือกผู้สมัครที่โดดเด่นและโด่งดัง ซึ่งแสดงตัวต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับบรรทัดฐานบางอย่างของสังคม โดยไม่สนใจว่าบุคคลดังกล่าวมีภูมิหลังอย่างไร หรือเมื่อเข้าไปเป็นตัวแทนแล้วจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองบ้าง
อย่างที่สองคือ ปัจเจกชนนิยมแบบรู้ทันการเมือง คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีความคิดแบบเสรีนิยมทางการเมือง บางส่วนก็มีแนวคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ปัจเจกนิยมกลุ่มนี้ตระหนักรู้ว่า ความคิดทางการเมืองของตนเองคืออะไร และต้องการอะไรจากพรรคการเมืองและนักการเมือง ในช่วงการเลือกตั้ง พวกเขาพยายามเลือกพรรคการเมืองและบุคคลที่พวกเขาคิดว่ามีอุดมการณ์และนโยบายที่สอดคล้องกับตนเอง บางส่วนก็อาจเลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งในขณะนั้นได้ แต่บางส่วนอาจตัดสินใจไม่ลงคะแนนให้พรรคการเมืองใดก็ได้
กล่าวโดยสรุป การเปลี่ยนแปลงสังคม ทั้งในเรื่องโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น การเกิดขึ้นของเครือข่ายเพื่อนเก่า และเครือข่ายสังคมอื่นๆจำนวนมาก และการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งความสัมพันธ์แบบกลุ่มนิยมแนวดิ่งเชิงอำนาจนิยมมีแนวโน้มลดลง ความสัมพันธ์แบบกลุ่มนิยมแนวราบเชิงกระจายอำนาจมีเพิ่มขึ้น และการมีปัจเจกชนนิยมมากขึ้น ทั้งแบบต่อต้านการเมืองกระแสหลักที่ไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงทางการเมืองของตนเอง กับแบบรู้ทันการเมืองที่ตระหนักรู้ถึงความต้องการทางการเมืองของตนเอง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมแต่ละอย่างที่กล่าวมาย่อมส่งผลกระทบและสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อพรรคการเมืองและนักการเมืองในหลายระดับ ซึ่งจะทำให้การเมืองในภาพรวมเปลี่ยนแปลงตามมา
(๒)
(เผยแพร่: 27 ก.ค. 2561)
พฤติกรรมการเลือกตั้งกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ประเทศที่มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม ส่วนใหญ่จะมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีสมรรถนะในการสร้างความเป็นธรรมของกระจายรายได้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ทำให้ประชาชนสามารถรับผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วหน้า มีรายได้เพียงพอ ไม่ถูกบีบคั้น และตกอยู่ภายใต้ภาวะจำยอมต่อผู้อื่น และมีอิสระในการตัดสินใจกำหนดชีวิตและทางเลือกของตนเอง ซึ่งรวมถึงทางเลือกทางการเมืองด้วย
หากประเทศใดที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจบิดเบี้ยว ไร้สมรรถนะในการสร้างการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม โดยคนส่วนน้อยได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในสัดส่วนที่สูง ขณะที่คนส่วนใหญ่ได้รับในสัดส่วนที่ต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็จะเป็นสิ่งที่ตามมา การยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ในสังคมจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า นอกจากจำนวนคนยากจนไม่ลดลงแล้ว ยังมีแนวโน้มคงที่ หรือหากร้ายกว่านั้นคือคนยากจนเพิ่มขึ้น
ความยากจนทำให้ทางเลือกในการดำรงชีวิตของผู้คนมีจำกัด ยากจะเป็นอิสระจากการพึ่งพาผู้อื่น และมีความอ่อนไหวต่อการถูกชี้นำและควบคุมจากผู้ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจแบบนี้ จึงมีโอกาสเบี่ยงเบนจากหลักการแห่งความสุจริตและเที่ยงธรรมได้โดยง่าย
ประเทศไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจบิดเบี้ยว เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นลำดับต้นๆของโลก มีประชาชนที่กล้ายอมรับว่าตนเองมีความยากจน เพื่อใช้สิทธิรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนับสิบล้านคน คนจนเหล่านี้ย่อมต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด และพยายามแสวงหาโอกาสที่จะทำให้มีรายได้เพียงพอในดำรงชีพ และเมื่อการเลือกตั้งเป็นโอกาสหนึ่งที่ทำให้พวกเขาสามารถใช้ “สิทธิการเลือกตั้งเป็นสินค้า” อันเป็นที่มาของการเพิ่มรายได้ พวกเขาบางคนก็ตัดสินใจ ขายสิทธิเลือกตั้งของตน เพื่อหารายได้ในการยังชีพ
การซื้อสิทธิขายเสียงในสังคมไทยจึงเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนานภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว หากถามว่าการซื้อสิทธิขายเสียงจะลดลงหรือหมดไปหรือไม่ในการเลือกตั้งที่จะถึงในปีหน้า คำตอบก็ปรากฎชัดว่า ยังไม่หมด และไม่มีแนวโน้มลดลง แม้จะมีกฎหมายกำหนดให้การกระทำเช่นนั้นผิดกฎหมายและมีบทลงโทษรุนแรง แต่กฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้งในสังคมไทย ก็ไม่ต่างอะไรกับการเขียนเสือให้วัวกลัว เพราะเป็นกฎหมายที่การบังคับใช้อ่อนแอเป็นลำดับต้นๆเมื่อเทียบกับบรรดากฎหมายทั้งหมดของประเทศไทย
หากพิจารณาตัวเลขผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี ๒๕๖๒ โดยเทียบเคียงไปยังตัวเลขผู้มีสิทธิลงประชามติรัฐธรรมนูญในพ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งมีจำนวนประมาณ ๕๐.๕๘ ล้านคน และจากสถิติเดิมที่จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเพิ่มขึ้นประมาณปีละ ๖ แสนคน ทำให้จำนวนผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งในปี ๒๕๖๒ จะเพิ่มขึ้นเป็น ๕๒.๓๘ ล้านคนโดยประมาณ และหากพิจารณาร้อยละของผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปในสองครั้งที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ ๗๕ ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ดังนั้นคาดการณ์ว่าผู้ที่จะมาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปในปี ๒๕๖๒ จะอยู่ที่ประมาณ ๓๙. ๒๙ ล้านคน
ทีนี้ลองมาพิจารณาภาวะการทำงานของประชากร ที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑ สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่ามีคนไทยที่อยู่ในกำลังแรงงานทั้งสิ้น ๓๘.๘๖ ล้านคน อยู่ในภาคเกษตรถึง ๑๓.๓๖ ล้านคน ภาคขายส่ง ๖.๓๔ ล้านคน ภาคการผลิต ๕.๘๗ ล้านคน ภาคที่พักแรม ๒.๖๘ ล้านคน ภาคก่อสร้าง ๒.๑๑ ล้านคน และที่เหลือเป็นภาคอื่นๆเช่น บริหารราชการ การขนส่ง การศึกษา และสุขภาพเป็นต้น รวมๆกันประมาณ ๕.๔ ล้านคน และประมาณการว่าจะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ ๑๒.๙๒ ล้านคนที่ไม่อยู่ในช่วงกำลังแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังเรียน และกลุ่มผู้สูงอายุ
กลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบทางลบจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยวมากคือ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งภาคการผลิตและก่อสร้าง รวมทั้งกลุ่มที่อยู่ในวัยเรียนและผู้สูงอายุที่เป็นเครือญาติของกลุ่มเกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน ยิ่งกว่านั้นการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งไม่สามารถปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้ความเป็นธรรมในการกระจายรายเกิดขึ้นได้ ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของครอบครัวกลุ่มเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานประสบความยากลำบากยิ่งขึ้น และทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นมีความโน้มเอียงที่จะใช้โอกาสของการเลือกตั้งเพื่อแสวงหารายได้มีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การตกเป็นเป้าหมายภายในตลาดของคะแนนเสียง ที่กำกับโดยนักการเมืองและพรรคการเมือง
อันที่จริงไม่ใช่เฉพาะชาวบ้านที่มีความโน้มเอียงในการใช้โอกาสทางการเลือกตั้งเพื่อสร้างประโยชน์แก่ตนเอง กลุ่มคนที่ใช้โอกาสนี้อย่างเข้มข้นยิ่งกว่าชาวบ้านคือกลุ่มนักการเมืองเก่าทั้งระดับชาติและท้องถิ่น เพราะว่าในตลาดการเมืองแห่งยุคนี้ เป็นตลาดที่มีการแข่งขันทางอำนาจสูง ระหว่างกลุ่มทุนของระบอบทักษิณ กับกลุ่มทุนผสมอำนาจรัฐของระบอบศาสตราธิปไตย กลุ่มทุนแรกเคยครองอำนาจเหนือตลาดการเมืองมานับสิบปี ส่วนกลุ่มหลังนั้นเคยครองอำนาจทางการเมืองในอดีตอย่างยาวนาน และหายหน้าจากตลาดการเมืองไประยะหนึ่ง และกลับมาอีกครั้งในยุคปัจจุบัน เมื่อมีการแข่งขันทางอำนาจสูง การช่วงชิงสินค้าที่กลุ่มทุนต่างๆเชื่อว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพจึงเกิดขึ้น
ในระบบการเมืองไทย นักการเมืองจำนวนมากได้แปรสภาพตัวเองจากการเป็นมนุษย์การเมือง และจากมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี กลายเป็นวัตถุและสินค้าอย่างหนึ่งในตลาดการเมือง การช่วงชิง การดูด และการประมูลเกิดขึ้นดุจประมูลสินค้า สินค้าที่ถูกเชื่อว่ามีคุณภาพดีคือ สินค้าที่เคยรับการเลือกตั้งต่อเนื่องกันมาหลายสมัย หรือ ส่วนสินค้าที่เคยได้รับเลือกตั้งมาบ้าง ไม่ได้รับบ้าง ก็มีคุณภาพในระดับรองๆลงไป ภาษาประเภท นักการเมืองเกรดเอ เกรดบี และเกรดซี จึงเกิดขึ้นและถูกใช้อย่างแพร่หลายในระบบการเมืองการเลือกตั้งไทย
กล่าวได้ว่านักการเมืองส่วนใหญ่ได้ถูกครอบงำและชี้นำด้วยตรรกะและแนวปฏิบัติของระบอบทุนนิยมที่ล้าหลัง ซึ่งมองสนามการเมืองเป็นสนามของการแข่งขันเพื่อแสวงหากำไรโดยไม่เลือกวิธีการที่ใช้ แม้กระทั่งการยอมลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตนเองให้กลายเป็นสินค้า และยังเป็นกลไกและเครื่องมือของระบบและกระบวนการที่ทำให้ประชาชนกลายเป็นสินค้าไปด้วย ปรากฎการณ์ “การกลายเป็นสินค้าของนักการเมือง” เกิดจากทั้งปัจจัยด้านกรอบทางจิตของปัจเจกบุคคลของนักการเมืองเอง และเป็นผลผลิตของโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว
นอกจากจะมีผลต่อประชาชนผู้เลือกตั้งและนักการเมืองแล้ว โครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยวของสังคมไทย ยังส่งผลให้วิธีคิดและการปฏิบัติในการการจัดตั้งพรรคการเมืองไทยถูกครอบงำและชี้นำด้วยตรรกะเศรษฐกิจแบบทุนนิยมล้าหลัง มากกว่าตรรกะทางการเมืองที่ก้าวหน้า โดยในการจัดตั้งพรรคการเมือง วิธีคิดแรกที่มักเกิดขึ้นคือ ต้องใช้เงินเท่าไรในการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งและได้รับชัยชนะ ต้องใช้เงินเท่าไรในการดูดอดีตนักการเมืองเข้ามาสังกัดพรรคที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะได้รับเลือกเป็นพรรคลำดับหนึ่ง และต้องใช้เงินเท่าไรในการหาคะแนนเสียงเลือกตั้งในแต่ละเขตที่จะทำให้ผู้สมัครของพรรคได้รับชัยชนะในเขตนั้น
ความแปลกประหลาดของการเมืองไทยยังมีมากกว่า การใช้เงินเพื่อทำให้พรรคได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ในบางช่วงเวลาที่กฎหมายมีมาตรการอุดหนุนงบประมาณแก่พรรคการเมือง การจัดตั้งพรรคการเมืองบางพรรค มิได้มีเป้าประสงค์ในการได้รับชนะหรือมีผู้สมัครได้รับเลือกเป็น ส.ส. แต่อย่างใด แต่เป็นการจัดตั้งเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์จากการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐ การจัดตั้งพรรคการเมืองจึงเปรียบประดุจเป็นการตั้งบริษัท โดยใช้จำนวนสมาชิกของพรรคเป็นสินค้า และนำไปขึ้นเงินจากรัฐ
การเลือกตั้งที่จะมาถึงใน พ.ศ. ๒๕๖๒ นี้ โครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว และความเหลื่อมล้ำยังคงดำรงอยู่อย่างแข็งแกร่ง ตรรกะ วิธีคิดและแนวปฏิบัติของประชาชนจำนวนมาก นักการมืองส่วนใหญ่ และกลุ่มทุนระบอบทักษิณกับระบอบศาสตราธิปไตยทั้งมวล ยังถูกครอบงำและชี้นำด้วยตรรกะของระบบทุนนิยมล้าหลัง ที่ต่างมุ่งแสวงหากำไร โดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่นำมาใช้
ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทยกว่าครึ่ง จึงมีแนวโน้มถูกกำหนดโดย “ราคา” ที่ถูกเสนอเข้ามาโดยนักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งในรูปแบบเงินสดหรือผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆทางวัตถุที่นับเป็นมูลค่าได้ ระบอบประชาธิปไตยจึงแปรสภาพเป็น “ประชาธิปไตยที่กินได้อย่างเป็นรูปธรรม” หรือ “สิทธิเลือกตั้งกลายเป็นสินค้าทางเศรษฐกิจ” อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดในช่วงการเสียงเลือกตั้ง
กระนั้นก็ตาม บางคนก็อาจบอกว่า ภาวะเช่นนั้นยังดีกว่าการตกอยู่ในบรรยากาศที่เป็น “เผด็จการที่ไม่มีอะไรกิน” หรือ “การที่ประชาชนไม่มีอะไรของตัวเองที่จะแปรสภาพเป็นสินค้าได้ นอกจากความอดอยากอย่างถาวร”
(๓)
เผยแพร่: 3 ส.ค. 2561 17:00
บทบาทและอิทธิพลของเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ต่อการเลือกตั้งปรากฎชัดเจนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อพ.ศ. ๒๕๕๙ ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ พลิกสถานการณ์จากการมีคะแนนเป็นรอง กลับเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างเหนือความคาดหมาย
ผู้คนเกือบทั้งหมดที่มีสิทธิเลือกตั้งในสังคมไทยมีโทรศัพท์มือถือ และมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก โดยเฉพาะเฟซบุ๊กและไลน์ ทำให้เครือข่ายการสื่อสารของบุคคลขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางและข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากกว่าอดีตหลายเท่าตัว ดังนั้นเมื่อข้อมูลข่าวสารถูกสร้างขึ้นมา ไม่ว่าเป็นข่าวสารที่มีรากฐานจากข้อเท็จจริงหรือข่าวสารปลอมก็ตาม ประชาชนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ก็มีโอกาสสูงที่ได้รับและเห็นข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น
ลักษณะของข้อมูลข่าวสารที่มักแพร่กระจายรวดเร็วและผู้คนนิยมเสพกันมากคือ เรื่องเชิงละคร และเรื่องราวที่อื้อฉาวของบุคคลต่างๆโดยเฉพาะบุคคลสาธารณะ ในการหาเสียงเลือกตั้งนั้นการสร้างข่าวสารที่มีแนวเชิงละคร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวที่มีองค์ประกอบเชิงพิธีกรรมและสัญลักษณ์ มีการใช้ภาษา คำพูด ภาพ เสียง สิ่งประดิษฐ์ และการกระทำในเชิงปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึก ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งและทีมงานคิดค้นขึ้นมาเพื่อดึงดูดความสนใจและความตื่นเต้นทางจิตแก่ผู้รับข้อมูลข่าวสาร มากกว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระของนโยบายที่ใช้ในการบริหารประเทศ
บทบาทหลักของเรื่องเชิงละครในการหาเสียงคือ คือการสร้างความนิยมต่อตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง ยิ่งสามารถเสกสรรผู้สมัครหรือพรรคการเมืองให้มีความเป็น “พระเอก” หรือ “นางเอก” มากเพียงไร ก็ยิ่งทำให้โอกาสที่พวกเขาเหล่านั้นได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่ความเป็นพระเอกหรือนางเอกในสังคมไทยนั้นมีความหลากหลายอยู่พอสมควรในยุคปัจจุบัน มีทั้งที่เป็นพระเอกหรือนางเอกแบบวีรบุรุษหรือวีรสตรีที่เข้ามาช่วยเหลือประชาชนให้หลุดพ้นปัญหาและความทุกข์ยาก หรือเป็นพระเอกแบบแนวนักเลง กล้าสู้ กล้าชนผู้มีอำนาจรัฐ หรือเป็นพระเอกที่ถูกผู้มีอำนาจรังแกเอาเปรียบ หรือเป็นนางเอกเจ้าน้ำตา เพื่อเรียกคะแนนสงสาร ซึ่งก็พอจะได้คะแนนอยู่บ้าง แต่สำหรับคนที่ทำตัวเป็นพระเอกเจ้าน้ำตา ผมคิดว่าคนในสังคมไทยไม่ค่อยนิยมครับ เพราะคนจำนวนมากยังคิดว่า สำหรับลูกผู้ชายนั้น “การยอมกลืนเลือดตนเอง ดีกว่าการยอมหลั่งน้ำตา”
เมื่อแนวละครและภาพลักษณ์แบบใดถูกสร้างขึ้นมาและเผยแพร่ออกไปแล้ว ผู้คนก็มีแนวโน้มยึดติดกับภาพลักษณ์เหล่านั้น และมีแนวโน้มที่จัดประเภทผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นๆอย่างใดอย่างหนึ่ง กระบวนการจัดประเภท (categorization) เกิดขึ้นโดย ผู้รับข้อมูลข่าวสารจะนำภาพลักษณ์และองค์ประกอบอื่นๆของผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองที่พวกเขารับรู้ มาเปรียบเทียบกับสภาวะชีวิตของตนเอง จากนั้นก็ตัดสินว่า นักการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้นเป็นประเภทเดียว หรือพวกเดียวกับเขาหรือไม่ โดยใช้กรอบความเชื่อเรื่องความสามารถในการตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ความรู้สึก และ/หรือผลประโยชน์ทางวัตถุแก่พวกเขาได้มากน้อยเพียงใด
หากผู้รับข้อมูลข่าวสารทางการเมืองเชื่อว่า นักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดมีความเป็น “ประเภทหรือพวกเดียว” กับเขาแล้ว ก็จะผูกติดตนเองเข้ากับนักการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้น และมีแนวโน้มสนับสนุนนักการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้นให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง โดยตีความว่าชัยชนะของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนคือชัยชนะของตนเอง
ในอีกด้านหนึ่ง เรื่องราวที่มักเกิดขึ้นในการหาเสียงเลือกตั้ง และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนของผู้เลือกตั้งคือเรื่องอื้อฉาว ด้วยความที่ผู้คนจำนวนมากสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมส่วนตัวของคนที่มีชื่อเสียงในสังคม ดังนั้นเมื่อมีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นแก่บุคคลที่มีชื่อเสียง การแพร่กระจายของข่าวสารก็เป็นไปอย่างเร็วดุจไฟลามทุ่ง เรื่องที่มักถูกมองว่าเป็นเรื่องอื้อฉาวคือ เรื่องที่มีการกระทำละเมิดศีลธรรม เรื่องที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมตามค่านิยมหรือบรรทัดฐานของสังคม และ/หรือเรื่องการละเมิดกฎหมาย เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น การเกี่ยวพันกับการค้าหรือเสพยาเสพติด การฉ้อโกง หรือการใช้อำนาจรังแก และเอารัดเอาเปรียบประชาชน
บทบาทของเรื่องอื้อฉาวคือ การสร้างความเสื่อมถอยต่อชื่อเสียงและคะแนนนิยมของบุคคลหรือพรรคการเมืองที่ตกอยู่ในกระแสความอื้อฉาว การหาเสียงในลักษณะนี้เป็นการหาเสียงในเชิงลบ โดยใช้ “สำนึกทางศีลธรรม” และ “ความหวาดกลัว” ของประชาชนเป็นเครื่องมือเพื่อทำลายคู่แข่ง เมื่อประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความอื้อฉาวของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดบ่อยครั้งเข้า ไม่ว่าจะมีรากฐานจากข้อเท็จจริงหรือเป็นการใส่ร้ายป้ายสีก็ตาม สำนึกเชิงศีลธรรม และ/หรือความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นภายในจิตของประชาชนก็จะแสดงอิทธิพลออกมา ซึ่งทำให้บุคคลเหล่านั้นเกิดความรู้สึกอยากแยกตัวออกห่างจากนักการเมืองและพรรคการเมืองที่มีความอื้อฉาว และกลุ่มคนบางส่วนอาจพัฒนาความรู้สึกของพวกเขาไปสู่ระดับความรังเกียจในที่สุด
ดังนั้นนักการเมืองคนใดหรือกลุ่มใดที่ตกอยู่ในกระแสของความอื้อฉาว โดยประชาชนสงสัยว่ามีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม หรือประชาชนเกิดความกลัวว่า หากบุคคลเหล่านั้นมีอำนาจรัฐแล้ว จะสร้างความเสียหายแก่สังคม ประชาชนที่มีความรู้สึกและความคิดเช่นนี้ก็ย่อมไม่ลงคะแนนแก่นักการเมืองเหล่านั้น หรือบางคนอาจจะเข้าร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อต่อต้านไม่ให้นักการเมืองเหล่านั้นมีโอกาสครอบครองอำนาจรัฐได้
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้เหมือนกันว่าในบางกรณี ที่ภายหลังประชาชนอาจรับรู้ว่า เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับนักการเมืองบางคนหรือพรรคการเมืองบางพรรคที่แพร่กระจายอยู่ในสังคมไม่เป็นความจริง แต่เมื่อความรู้สึกปริแยกออกแล้ว ก็ยากที่จะสมานสนิทดุจเดิมได้ ตะกอนแห่งความระแวงก็ยังคงตกค้างอยู่ภายในจิตใจ และมีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่น้อยทีเดียว
แม้ว่าในอดีตการหาเสียงแบบโจมตีโดยใช้เรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นอยู่เสมอ และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนของผู้เลือกตั้งบางระดับ ซึ่งมีขอบเขตไม่กว้างไกลเท่าไรนัก ทว่าในปัจจุบันและอนาคต ด้วยโครงสร้างการสื่อสารทางสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล จะทำให้เรื่องอื้อฉาวแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง จนยากที่ผู้ตกอยู่ในกระแสความอื้อฉาวสามารถตอบโต้และแก้ตัวได้ทันท่วงทีและครอบคลุมในทุกพื้นที่ ดังนั้นเรื่องอื้อฉาวจะกลายเป็นเรื่องที่สามารถสร้างอิทธิพลอย่างสูงต่อการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกและการตัดสินใจของผู้เลือกตั้ง
การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการหาเสียงเพื่อสร้างคะแนนนิยมให้แก่ตนเอง และบั่นทอนทำลายคะแนนเสียงของคู่แข่งจะกลายเป็นวิธีการหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเลือกตั้งไทยในอนาคต พื้นที่ในสื่อสังคมออนไลน์จะกลายเป็นพื้นหลัก ที่ต่างฝ่ายต่างพยายามช่วงชิงเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน นักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆในปัจจุบันจึงพยายามพัฒนาทักษะการสื่อสารสังคมออนไลน์อย่างขนานใหญ่ ส่วนใครจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไรนั้น นอกจากทักษะด้านเทคนิคของการสื่อสารแล้ว ความสามารถในการวิเคราะห์ความคิด ความเชื่อทางสังคมและการเมืองของผู้เลือกตั้ง รวมทั้งพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารและการแพร่กระจายข่าวสารทางการเมืองในสื่อสังคมออนไลน์ก็เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
ผมคิดว่า การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการสื่อสารของสังคมในโลกยุคใหม่ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยในอนาคต การเปลี่ยนแปลงที่เหนือความคาดหมายของคนจำนวนมากในสังคมอาจเกิดขึ้นมาก็ได้ กล่าวได้ว่า เมื่อประตูแห่งโอกาสได้เปิดกว้างขึ้นกว่าเดิม ความเป็นไปได้ทางการเมืองในหลากหลายรูปแบบก็จะเกิดตามมา
(๔)
เผยแพร่: 10 ส.ค. 2561
ประเทศไทยมีการใช้กฎหมายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนอย่างยาวนาน พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนที่กลุ่มผู้ร่างกฎหมายต้องการเปลี่ยนคือพฤติกรรมการซื้อขายเสียง แต่ทว่าหลังพยายามมานานหลายสิบปี พฤติกรรมการซื้อขายเสียงก็มิได้หมดไปแต่อย่างใด ยังคงดำรงอยู่อย่างหนาแน่นและมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก
การใช้กฎหมายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนมีอยู่ในกฎหมายหลักสี่ฉบับคือกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายรัฐธรรมนูญได้กำหนดโครงสร้างระบบการเลือกตั้งในภาพรวมที่เรียกว่าระบบสัดส่วนผสม ซึ่งทำให้มีการเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดระหว่างการเลือกตั้งส.ส.ในแบบระดับเขตเลือกตั้ง และการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง
สิ่งที่เป็นของใหม่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ คือ ผู้เลือกตั้ง ๑ คน สามารถเลือกผู้สมัคร ส.ส. ในระดับเขตได้ ๑ คน แต่ผลของคะแนนที่เลือกจะถูกนำไปนับรวมกับคะแนนของผู้เลือกตั้งในเขตอื่นๆทั่วประเทศด้วย เพื่อนำไปประมวลเป็นคะแนนรวมของพรรคการเมือง และนำมาคิดเป็นจำนวน ส.ส.ทั้งหมดที่พึงได้ของพรรคการเมืองนั้นๆ คะแนนเสียงของผู้เลือกตั้ง ๑ คน จึงมีสองนัย นัยแรกคือ “ต่อตัว ส.ส.” ที่ถูกเลือกในเขตเลือกตั้ง และ นัยที่สองคือ “ต่อพรรคการเมือง” ในแง่จำนวน ส.ส.ทั้งหมดที่พรรคได้รับ และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค
การคิดจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองพึงได้รับ คิดโดยการนำจำนวนประชาชนที่ไปลงคะแนนเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ หารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมดซึ่งคือ ๕๐๐ คน ผลลัพธ์คือตัวเลขจำนวนคะแนนเสียงต่อ ส.ส. หนึ่งคน ซึ่งคาดการณ์กันว่าในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้อยู่ที่ประมาณ ๗๕,๐๐๐ - ๘๐, ๐๐๐ คะแนนต่อ จำนวน ส.ส.ของพรรคหนึ่งคน ดังนั้นหากพรรคการเมืองใดได้คะแนนรวมกันทั่วประเทศ ๘๐๐, ๐๐๐ คะแนน ก็จะมี ส.ส. ได้ประมาณ ๑๐ คน
ระบบการเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้คะแนนเสียงของผู้เลือกตั้งมีน้ำหนักความสำคัญมากกว่าระบบการเลือกตั้งในอดีต หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “คะแนนเสียงมีมูลค่าเพิ่มขึ้น” และระบบการเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้คำขวัญประเภท “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” ที่ใช้กันในอดีตหมดความหมายลงไป
ระบบการเลือกตั้งในอดีตเป็นแบบแยกกันเด็ดขาดระหว่างคะแนนของผู้สมัครในระดับเขตเลือกตั้ง และคะแนนการเลือกพรรคการเมือง ทำให้ผู้เลือกตั้งสามารถใช้เหตุผลในการเลือกตั้งได้อย่างน้อย ๒ เหตุผล เช่น ในการเลือกผู้สมัครระดับเขตเลือกตั้ง อาจใช้เหตุผลในเรื่อง “ความเป็นผู้มีน้ำใจของผู้สมัคร” เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ ส่วนในการลงคะแนนเสียงเลือกพรรคการเมืองนั้นอาจใช้เหตุผลในเรื่อง “ความสอดคล้องระหว่างจุดยืนทางการเมืองของตนเองกับพรรคการเมืองนั้นๆ” เป็นเกณฑ์ตัดสินใจ เมื่อสามารถเลือกโดยใช้เหตุผลสองประการตามความต้องการ ความขัดแย้งในจิตใจของผู้เลือกตั้งจึงมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แม้ว่า ส.ส.ที่รัก จะไม่สังกัดพรรคที่ชอบก็ตาม
แต่ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ผู้เลือกตั้งสามารถลงคะแนนได้เพียงคะแนนเดียวนั้น หากเกิดกรณี ผู้สมัครที่รัก ไม่ได้สังกัดพรรคที่ชอบ ผู้เลือกตั้งจำนวนหนึ่งจะต้องตัดสินใจอย่างจริงจังว่าจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์หลักในการตัดสินใจระหว่าง “ความมีน้ำใจส่วนตัวของผู้สมัคร” กับ “จุดยืนทางการเมือง”
ความมีน้ำใจของผู้สมัครเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่ผู้เลือกตั้งสามารถสัมผัสได้ในชีวิตประจำวันของพวกเขา บางคนอาจไม่ได้สัมผัสโดยตรง แต่ด้วยความที่เขตเลือกตั้งแต่ละเขตมีพื้นที่ไม่กว้างขวางนัก โอกาสที่พวกเขาได้รับรู้และซึมซับเรื่องราวเกี่ยวกับความมีน้ำใจของผู้สมัครจากการบอกเล่าของเพื่อนบ้านหรือคนรู้จักในพื้นที่เดียวกันก็มีความเป็นไปได้สูง
นักการเมืองมีรูปแบบการแสดงออกของความมีน้ำใจที่หลายหลาก ในช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้งอาจแสดงออกมาในรูปแบบของการไปร่วมงานศพ งานแต่ง งานบวช โดยอาจไปด้วยตนเองหรืออาจส่งตัวแทนเข้าไปร่วม หรืออาจแสดงออกมาในรูปของการทำบุญ การบริจาคสิ่งของช่วยเหลือวัด โรงเรียน โรงพยาบาล และผู้เดือดร้อน หรือการออกค่าใช้จ่ายในการพาไปดูงาน อบรม สัมมนา ดูกีฬา และท่องเที่ยวในที่ต่างๆ และสำหรับในช่วงที่มีการเลือกตั้ง การแสดงน้ำใจอาจออกมาในรูปของการให้ค่ารถ ค่าเสียเวลาในการไปลงคะแนนเสียงเป็นจำนวนเงินหลักหลายร้อยหรือหลักพันบาทต่อคน หรือ อาจรับซื้อสินค้าเกษตรหรือสินค้าอื่นๆของผู้เลือกตั้งด้วยราคาสูงกว่าปกติเป็นพิเศษ และรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย
โดยที่วิถีวัฒนธรรมของสังคมไทยให้คุณค่ากับความมีน้ำใจสูง ดังนั้นเมื่อมีผู้แสดงความมีน้ำใจต่อเรา ก็ทำให้เรามีพันธะผูกพันทางใจที่จะต้องแสดงน้ำใจเป็นการตอบแทน ขณะที่จุดยืนทางการเมืองเป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล ที่เชื่อมโยงกับภาพรวมของทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับผู้เลือกตั้งจำนวนมากในสังคมไทย ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่หากจำเป็นต้องเลือกระหว่าง “ผู้สมัครที่มีน้ำใจ” กับ “จุดยืนทางการเมือง” ผมคิดว่าสัดส่วนของผู้เลือกตั้งที่เลือก “ผู้สมัครที่มีน้ำใจยังสูงกว่า การเลือกจุดยืนทางการเมือง” โดยเฉพาะผู้เลือกตั้งในที่เป็นชาวบ้านทั่วๆไป
ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่จึงเป็นปัจจัยในการผลักดันให้ความมีน้ำใจของผู้สมัครมีน้ำหนักมากขึ้น และด้วยเงื่อนไขที่คะแนนเสียงทุกคะแนนมีความหมายต่อจำนวน ส.ส.ของพรรคการเมือง สิ่งที่จะตามมาคือ ทั้งพรรคการเมืองและผู้สมัครก็จำเป็นจะต้องทุ่มเททรัพยากรในการหาเสียง เพื่อแสดงความมีน้ำใจให้ผู้เลือกตั้งเห็นและสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และนั่นหมายความว่า จะทำให้การแข่งขันกันซื้อเสียงในการเลือกตั้งที่จะมาถึงมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย เพราะแม้แต่พรรคการเมืองที่ไม่ได้คาดหวังว่าผู้สมัครของตนเองจะชนะในเขตเลือกตั้ง ก็ต้องพยายามอย่างเต็มกำลังในการทำให้ผู้สมัครของตนได้รับคะแนนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อพรรคจะได้มีคะแนนมากขึ้นในภาพรวม ซึ่งหมายถึงโอกาสทำให้การมีจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นด้วย
ในการป้องกันไม่ให้เกิดการซื้อขายเสียงนั้น กฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้งกำหนดโทษไว้อย่างรุนแรง โดยเฉพาะการใช้มาตรการยุบพรรคและการเพิ่มโทษทางอาญาแก่ผู้ที่ซื้อขายเสียงหรือทุจริตเลือกตั้งในรูปแบบอื่นๆ และในกฎหมายกกต.ก็ได้มีการออกแบบให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง ขึ้นมาแทนคณะกรรมการเลือกตั้งจังหวัด ด้วยหวังว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งจะทำหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพสูงกว่าคณะกรรมการเลือกตั้งจังหวัด
การออกแบบทางกฎหมายในลักษณะดังกล่าว ผมคิดว่าไม่มีผลให้นักการเมือง และพรรคการเมืองเกิดความเกรงกลัว และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อเสียงเลือกตั้งแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากในช่วงปัจจุบันซึ่งอยู่ระหว่างการจัดตั้งพรรคการเมือง ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ตีความได้ว่า การซื้อตัวอดีตส.ส. เพื่อให้มาสังกัดหรือสนับสนุนในพรรคที่กำลังจัดตั้งใหม่โดยผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย เหตุการณ์นี้สังคมรู้จักกันในนาม “การดูด” นั่นเอง
การดูดเป็นสัญลักษณ์ของการซื้อเสียงระดับบนหรือระดับอดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ที่เคยได้รับคะแนนเสียงจากผู้เลือกตั้ง ซึ่งทำให้เราสามารถอนุมานต่อไปได้ว่า การเลือกตั้งในปีหน้า การซื้อเสียงประชาชน หรือ “การดูดผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง” เพื่อให้เลือกผู้สมัคร ส.ส. ที่สังกัดพรรคของตนเอง มีโอกาสเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย
ขณะที่ผู้ดูแลการเลือกตั้งอย่าง คณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นบุคคลใหม่ทั้งชุด และกลไกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งยังมีความสับสนอลหม่าน จนถึงขนาดที่สมาชิก สนช. กลุ่มหนึ่งพยายามล้มล้างผลการคัดเลือก โดยเสนอให้แก้กฎหมาย กกต.เสียใหม่ ล้วนแล้วแต่เป็นปรากฎการณ์ที่ส่งสัญญาณให้เห็นว่า ความเป็นไปได้ที่ กกต.จะสามารถดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรมนั้น คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก
ระบบการเลือกตั้งทำให้มูลค่าของคะแนนเสียงผู้เลือกตั้งเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองแข่งขันกันรุนแรงยิ่งขึ้น ขณะที่กฎหมายพรรคการเมือง ก็ไม่ทำให้ผู้บริหารพรรคการเมืองคนใดหวั่นเกรงการถูกยุบพรรคแต่อย่างใด และกฎหมายเลือกตั้งก็ไม่ได้ทำนักการเมืองที่เขี้ยวลากดินคนใดกลัวเกรงโทษทางอาญา เพราะพวกเขาเชื่อมั่นในความเชี่ยวชาญของตนเองที่จะหลีกเลี่ยง หรือทำให้กฎหมายเลือกตั้งไร้สมรรถภาพในการบังคับใช้ ส่วนกฎหมายกกต. ที่พยายามทำให้ กกต.มีคุณภาพและประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ และกำลังจะเกิดต่อไป ดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับความคาดหวังอย่างสิ้นเชิง
ดังนั้นเราจึงสรุปได้ว่า “มีความเป็นไปได้น้อยมาก” ที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งร่างโดย กรธ. และรับรองโดย สนช. ภายใต้การกำกับและชี้นำของ คสช. จะไปสร้างอิทธิพลให้นักการเมือง กกต. เจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชน เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อขายเลือกตั้ง โดยนัยนี้จึงถือได้ว่า ความพยายามในการปฏิรูปการเมืองของกลุ่มผู้มีอำนาจในระยะสี่ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มประสบความล้มเหลว และอาจกลายเป็นการสะสมเชื้อเพลิงแห่งความขัดแย้งในอนาคตต่อไป
แต่หากในอนาคต ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นมา ผู้มีอำนาจทางการเมืองในปัจจุบันจะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อครองอำนาจต่อไปก็หาได้ไม่ เพราะว่าเป้าหมายของความขัดแย้งจะรวมศูนย์พุ่งตรงไปยังบรรดาบุคคลเหล่านั้น
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบันมีแนวโน้มจะกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนเสียเอง ดังนั้นความชอบธรรมที่อ้างว่า “เข้ามาเพื่อยุติความขัดแย้ง” จึงไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป
(๕)
เผยแพร่: 17 ส.ค. 2561
ผู้เล่นทางการเมืองในสนามเลือกตั้งโดยตรงมีทั้งผู้เล่นหน้าเก่าและผู้เล่นหน้าใหม่ ผู้เล่นหน้าเก่าคือพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา เป็นต้น ส่วนผู้เล่นหน้าใหม่คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคกรีน เป็นต้น ส่วนผู้เล่นที่มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งแต่ไม่ได้ลงสู่สนามการเลือกตั้งโดยตรงคือ กลุ่มคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้เล่นแต่ละกลุ่มมีความปรารถนาและบทบาทหน้าที่แตกต่างกันออกไป
ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองที่อยู่ภายใต้การกำกับของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นพรรคที่มีบทบาทเด่นทางการเมืองมาโดยตลอด ไม่ว่าพรรคนั้นจะใช้ชื่ออะไรก็ตาม ชื่อล่าสุดที่ยังคงใช้อยู่คือ พรรคเพื่อไทย และอาจเป็นชื่อที่ใช้ในการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ แต่ก็ใช่ว่าจะแน่นอนเสียทีเดียว เพราะอาจมีเรื่องที่เหนือความคาดหมายเกิดขึ้นกับพรรคนี้ก็ได้ในอนาคต
จนถึงเวลานี้ พรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถกำหนดได้ว่า ผู้ใดเป็นหัวหน้าพรรคและนำทัพในการเลือกตั้ง สำหรับชื่อของบุคคลที่ออกมาสู่สาธารณะในฐานะว่าที่หัวหน้าพรรคมีหลายชื่อ เช่น สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จาตุรนต์ ฉายแสง เป็นต้น แต่ใครจะเป็นหัวหน้าตามกฎหมายดูเหมือนไม่มีความสำคัญมากนักสำหรับพรรคนี้ เพราะเป็นเพียงแค่นามเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ส่วนผู้มีอิทธิพลและทรงอำนาจต่อพรรคตัวจริงดูเหมือนยังคงเป็นนายทักษิณ ชินวัตร เช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม การแสดงความคิดชี้นำและครอบงำพรรคเพื่อไทยอย่างเปิดเผยของนายทักษิณ ชินวัตรดังที่เคยทำในอดีตประเภท “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ไม่สามารถทำได้แล้วในปัจจุบัน เพราะว่ากฎหมายพรรคการเมืองพ.ศ. ๒๕๖๐ กำหนดห้ามบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคครอบงำและชี้นำพรรค หากฝ่าฝืน พรรคนั้นอาจถูกยุบได้
ข้อกำหนดนี้อาจส่งผลต่อการสร้างกระแสนิยมในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยอยู่ไม่น้อย เพราะว่าความนิยมที่ประชาชนมอบให้พรรคเพื่อไทยนั้นเชื่อมโยงอย่างเข้มข้นกับความนิยมต่อนายทักษิณ ชินวัตร ดังนั้นหากขาดการสนับสนุนอย่างเปิดเผยและแข็งขันของนายทักษิณ ชินวัตร ต่อพรรคในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง อาจทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เคยนิยมและเลือกพรรคเพื่อไทยเกิดความลังเลว่าจะสนับสนุนพรรคเพื่อไทยอีกต่อไปหรือไม่
แม้ว่านายทักษิณ ชินวัตรไม่สามารถชี้นำพรรคเพื่อไทยอย่างเปิดเผยได้ แต่ในทางลับและทางอ้อมก็ยังสามารถทำได้ เช่น การพบปะพูดคุยและชี้นำทางความคิดแก่กลุ่มอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยในต่างประเทศเป็นครั้งคราว โดยใช้เรื่องการไปอวยพรวันเกิด หรือการไปเยี่ยมเยียนเป็นข้ออ้าง หรือกระทำทางอ้อม โดยพูดและสื่อสารสู่สาธารณะว่า จะต่อสู้ในสงครามทางการเมืองต่อไป เพื่อส่งสัญญาณต่อผู้เลือกตั้งที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยให้รับรู้ว่า ตนเองยังไม่ได้วางมือทางการเมืองแต่อย่างใด
การที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยถูกล้มล้างโดย คสช. ในปี ๒๕๕๗ ทำให้แกนนำของพรรคจำนวนมากมีความรู้สึกเป็นปรปักษ์กับ คสช. และ ผมก็คิดว่า คสช.เองก็มีความปรารถนาไม่ให้พรรคนี้ได้รับชัยชนะและกลับมาเป็นรัฐบาลอีกหลังจากเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ ความปรารถนานี้เห็นได้ทั้งจากข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ เรื่องระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และในกฎหมายพรรคการเมืองเรื่อง การห้ามไม่ให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคครอบงำและชี้นำพรรคการเมือง รวมทั้งการที่กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลคสช. ที่จัดตั้งพรรคพลังประชารัฐใช้กลวิธี “การดูด” อดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย เข้าไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ และกลวิธีอื่นๆอีกหลายประการทั้งแบบเปิดเผยและแบบปิดลับเพื่อบั่นทอนความนิยมของผู้เลือกตั้งที่มีต่อพรรคเพื่อไทย
เป็นความจริงที่ประจักษ์ชัดว่า ในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา การที่พรรคเพื่อไทย รวมทั้งพรรคการเมือง อื่นๆที่อยู่ภายใต้การกำกับบงการของนายทักษิณ ชินวัตรนั้น เป็นรัฐบาล ได้ทำให้สังคมไทยเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งในระดับกว้างและระดับลึก นำไปสู่ความเสียหายแก่ประเทศอย่างไม่อาจประมาณได้ ดังนั้นหากพรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะและกลับมาเป็นรัฐบาลอีกภายหลังการเลือกตั้ง ปี ๒๕๖๒ โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นอีก ก็มีความเป็นไปได้สูง ภายใต้สมมติฐานนี้ จึงเป็นเหตุผลให้กลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบันพยายามหาหนทางในการระงับเหตุเสียแต่ต้นลม แต่แน่นอนว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยและผู้สนับสนุนย่อมคิดแตกต่างออกไป
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีเหตุการณ์บางอย่างที่อาจสร้างผลกระทบทางลบต่อนายทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยอย่างรุนแรง นั่นคือการที่มีนักร้องชื่อ เสก โลโซ ซึ่งเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทยมาอย่างยาวนาน ได้เผยแพร่คลิปวีดีโอการปราศรัยของตนเองที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์และด่าทอนายทักษิณ ชินวัตรและนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอย่างรุนแรง คลิปวีดีโอดังกล่าวได้เผยแพร่ออกเป็นวงกว้างมีผู้คนรับชมนับล้านคน ซึ่งย่อมส่งผลต่อความคิดและความรู้สึกต่อผู้ที่เคยสนับสนุนตระกูลชินวัตรอยู่ไม่น้อยทีเดียว
สิ่งหนึ่งที่เคยทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมมากในอดีตคือ นโยบายประชานิยม เช่น นโยบายจำนำข้าว นโยบายกองทุนหมู่บ้าน นโยบายให้บริการสาธารณสุขในราคาสามสิบบาท เป็นต้น แต่นโยบายเหล่านี้ได้ถูกเลียนแบบและต่อยอดโดยรัฐบาล คสช. โดยใช้ชื่อต่างกัน เช่น นโยบายประชารัฐ นโยบายแจกเงินค่าครองชีพโดยผ่านบัตรคนจน เป็นต้น และมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถผลักดันให้สำเร็จภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ภายใต้รัฐบาล คสช. กล่าวได้ว่าสิ่งที่รัฐบาลคสช.ดำเนินการคือ การสานต่อความคิดจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั่นเอง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า รัฐบาลทั้งสองต่างมีแก่นความคิดหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองจากนักการตลาดคนเดียวกัน ซึ่งคือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นั่นเอง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณ ปัจจุบันเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ ดังนั้นนโยบายจำนวนมากของทั้งรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลประยุทธ์จึงมีแก่นความคิดหลักไม่แตกต่างกัน สิ่งที่แตกต่างกันบ้างคือ ภาษาและรูปแบบบางอย่างเท่านั้นเอง
ประกอบกับมีข่าวที่น่าเชื่อว่าเป็นจริง ที่ว่านายสมคิด เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ นั่นหมายถึงว่า พรรคพลังประชารัฐจะกลายเป็นพรรคคู่แข่งสำคัญในสนามการใช้นโยบายประชานิยม เพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงจากผู้เลือกตั้งที่อยู่ในชนบทภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งเคยเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยมาก่อน
ยิ่งกว่านั้นในอีกมิติหนึ่งของการเมืองของพรรคเพื่อไทยคือ การพยายามสร้างภาพลักษณ์แห่งการเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อดึงดูดความนิยมจากชนชั้นกลางและผู้เลือกตั้งรุ่นเยาว์ การสร้างภาพลักษณ์ให้ผูกติดกับประชาธิปไตยก็ได้ผลระดับหนึ่ง เพราะทำให้ชนชั้นกลางและนักวิชาการบางส่วนหลงเชื่อตามนั้น ถึงกับมีนักวิชาการใหญ่บางคนที่เขียนบทความเสนอให้พรรคเพื่อไทยทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นั่นคือ การทำให้พรรคเป็นอิสระจากนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งหากแกนนำของพรรคเพื่อไทยทำตามข้อเสนอนี้จริง ผลสืบเนื่องที่ตามมาคือการล่มสลายของพรรคเพื่อไทยนั่นเอง ความเป็นจริงที่ว่า “ปราศจากทักษิณ ก็ไร้พรรคเพื่อไทย” ยังคงเป็นสิ่งยากปฏิเสธได้ ไม่ว่าใครจะพยายามหลอกตนเองอย่างไรก็ตาม
ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ยังมี “พรรคอนาคตใหม่” เกิดขึ้นซึ่งจะกลายเป็นคู่แข่งของพรรคเพื่อไทยในบางปริมณฑลของสนามการเลือกตั้ง พรรคนี้เกิดจากการรวมกลุ่มของนายทุนและชนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยมาก่อน กลุ่มนี้ได้สร้างภาพลักษณ์ความเป็นคนรุ่นใหม่ และใช้วาทกรรมประชาธิปไตยเป็นหลักในการหาเสียงและหาสมาชิก
กลุ่มเป้าหมายหลักพรรคอนาคตใหม่คือ กลุ่มชนชั้นกลางบางส่วนผู้เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยมาก่อน และกลุ่มผู้เลือกตั้งหน้าใหม่ แน่นอนว่าพรรคนี้ย่อมสร้างผลกระทบต่อคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยอยู่ไม่น้อย เพราะมีเป้าหมายกลุ่มเดียวกับที่เคยเป็นฐานคะแนนของพรรคเพื่อไทยมาก่อน ขณะเดียวกันก็เป็นอุปสรรคในการหาคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ของพรรคเพื่อไทยด้วย
นอกจากเรื่องที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องเผชิญอีกประการคือ กระแสทางการเมืองที่ว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีโอกาสที่จะเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ซึ่งแนวโน้มดูจะเป็นจริงตามนั้น การที่พรรคการเมืองใดพรรรคการเมืองหนึ่งไม่มีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ทำให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งตัดสินใจไม่เลือกพรรคนั้น เพราะว่าคนทั่วไปไม่น้อยทีเดียวต้องการอยู่ข้างเดียวกับผู้ชนะและเป็นรัฐบาล
เส้นทางของพรรคเพื่อไทยในสนามเลือกตั้งที่จะมาถึงในปี ๒๕๖๒ จึงเป็นเส้นทางที่ยากลำบาก และโอกาสที่จะผงาดขึ้นมาในสนามการเมืองดังที่เคยเป็นในอดีตมีความเป็นไปได้น้อยอย่างยิ่ง ภาพของตะวันยามคล้อยบ่าย ดูเหมือนจะเป็นภาพที่สอดคล้องกับความจริงในปัจจุบันและอนาคตของพรรคการเมืองนี้เป็นอย่างดี
(๖)
เผยแพร่: 24 ส.ค. 2561
ความเก่าแก่และความเป็นสถาบันของ “พรรคประชาธิปัตย์” เป็นได้ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวเอง จุดแข็งคือความมีเสถียรภาพ การเป็นที่รู้จัก และการมีฐานเสียงที่มั่นคงในระดับหนึ่ง ขณะที่จุดอ่อนคือการมีกรอบคิดที่แข็งตัว ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต และมีความเชื่องช้าในการรับรู้และปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคม
รากฐานทางอุดมการณ์ดั้งเดิมของพรรคประชาธิปัตย์คืออนุรักษนิยม ซึ่งยึดมั่นและเชิดชูคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีจุดยืนทางการเมืองต่อต้านอุดมการณ์สังคมนิยมของกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ และอำนาจนิยมเผด็จการทหารของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม พรรคประชาธิปัตย์แสดงบทบาทเป็นฝ่ายค้านอย่างแข็งขัน พรั่งพร้อมไปด้วยนักการเมืองที่มีฝีปากกล้าในการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล จนเป็นที่รับรู้ในสังคมว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านมืออาชีพ ภาพลักษณ์นี้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นต้นมา
อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์มีการปรับเปลี่ยนอยู่บ้างในช่วงหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ โดยนำแนวอุดมการณ์แบบเสรีนิยมเข้ามาผสมผสานกับอนุรักษ์นิยมเดิม พรรคประธิปัตย์เป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ช่วงสั้นๆ ก่อนเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ และมีโอกาสเข้าสู่การบริหารประเทศอย่างต่อเนื่องในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในช่วง ๒๕๒๓ ถึง ๒๕๓๑ ต่อมาหลังเหตุการณ์พฤษาทมิฬ ๒๕๓๕ จนถึงปี ๒๕๔๔ พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลสองครั้งและอยู่ในอำนาจอยู่หลายปี และมีช่วงสั้นๆที่สลับฉากด้วยการเป็นฝ่ายค้าน ต่อมาระหว่างปี ๒๕๕๑ ถึง ๒๕๕๔ พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง
สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์สองครั้งหลังสุดคือ พรรคไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลทันทีหลังการเลือกตั้ง เพราะว่าคะแนนเสียงที่ได้อยู่ในลำดับสอง แต่การเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์เกิดขึ้นภายหลังพรรคอื่นที่ได้รับคะแนนเสียงมากเป็นลำดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลแล้ว แต่ไม่สามารถนำรัฐนาวาได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะบริหารงานผิดพลาดจนสร้างวิกฤตทางการเมืองและนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลเหล่านั้น และ ณ เวลานั้นนั่นเองที่เป็นโอกาสของพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามาเป็นพรรครัฐบาลแทน ดังกรณีการขึ้นมาเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ปลายปี ๒๕๔๐ ซึ่งมาจากการล่มสลายของรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ์ แห่งพรรคความหวังใหม่ และ ปลายปี ๒๕๕๑ ซึ่งเกิดจากการล่มสลายของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช แห่งพรรคพลังประชาชน
ในสองทศวรรษที่ผ่านมา ฐานเสียงที่มั่นคงและแข็งแกร่งอย่างมากของพรรคประชาธิปัตย์คือ ภาคใต้ กล่าวได้ว่าประชาชนในภาคใต้นั้นไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลางหรือชาวบ้านทั่วไป ส่วนใหญ่ก็สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น รองลงมาคือกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นฐานเสียงที่มีความมั่นคงค่อนข้างมาก กลุ่มชาวกรุงเทพฯที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง มีการศึกษาค่อนข้างสูง และวัยผู้ใหญ่ขึ้นไป ขณะที่ชาวบ้าน ชาวชุมชน และชนชั้นกลางระดับล่าง ไม่ใช่ฐานเสียงที่มั่นคงของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย และนักการเมืองบางคน
สำหรับในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเสียงเหนือที่พรรคประชาธิปัตย์พอจะมีคะแนนอยู่บ้างมาจากสององค์ประกอบ ส่วนแรกคือคะแนนเสียงที่มาจากตัวผู้สมัคร ซึ่งเป็นคะแนนเสียงหลัก และส่วนที่สองคือคะแนนเสียงของพรรค ซึ่งเป็นด้านรอง สำหรับคะแนนที่เป็นฐานเสียงของพรรคในต่างจังหวัดนั้น ผมประเมินว่า เป็นกลุ่มชนชั้นกลาง ที่มีการศึกษาสูงเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร
การเลือกตั้งใน พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่จะมาถึง พรรคประชาธิปัตย์ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ ซึ่งมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ประการแรก ปมปัญหาเรื่องหัวหน้าพรรค ในเวลานี้ดูเหมือนจะไม่มีสมาชิกพรรคคนใดที่มากบารมีเพียงพอในการแข่งขันช่วงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ ทำให้นายอภิสิทธิ์ มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นผู้นำพรรคในการลงสนามเลือกตั้ง
เมื่อเทียบความนิยมของนายอภิสิทธิ์ ในฐานะตัวเลือกของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง จากการสำรวจของนิด้าโพล ปรากฎว่าอยู่ในลำดับสาม รองจากพลเอกประยุทธ์ จันท์โอชา นายกรัฐมนตรี (๓๑.๒๖%) ถัดมาคือว่าที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ตราบใดที่นายทักษิณ ชินวัตรให้การรับรอง (๒๑.๐๔ %) จากนั้นจึงเป็นนายอภิสิทธิ์ ซึ่งได้รับคะแนนนิยมเพียง ๑๐.๕๐ % แต่ที่น่าสนใจก็คือในเขตกรุงเทพมหานคร คะแนนนิยมของนายอภิสิทธิ์ เลื่อนไถลลงไปเป็นอันดับสี่ เป็นรองแม้กระทั่งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (คะแนนนิยมเฉพาะในกทม. ธนาธรได้ ๑๕.๑๓ % ส่วนอภิสิทธิ์ได้ ๘.๔๐ %)
เมื่อยี่สิบปีที่แล้วนายอภิสิทธิ์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีความโดดเด่น และเป็นความหวังของผู้เลือกตั้งจำนวนมาก ทว่าในปัจจุบันภาพนั้นได้เลือนหายไปแล้ว นายอภิสิทธิ์ ถูกรับรู้ในฐานะที่เป็นนักการเมืองที่มีความคิดและฝีมือการบริหารที่เป็นไปตามเกณฑ์ธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งไม่มีความคิด ค่านิยม หรือนโยบายใหม่ๆที่โดดเด่นและแสดงออกมาให้สาธารณะรับรู้หรือมองเห็นได้
ตามปกติเมื่อผู้นำพรรคไม่สามารถสร้างคะแนนนิยมเพิ่มเติมแก่พรรคได้ การแก้ไขคือการปรับเปลี่ยน ซึ่งทำได้อย่างน้อยสองแนวทางคือ แนวแรกคือ ยังใช้ผู้นำคนเดิม แต่มีการปรับเปลี่ยนบุคลิก กรอบคิดและลีลาการนำพรรค และแนวที่สองคือ การเปลี่ยนตัวผู้นำ โดยแสวงหาบุคคลใหม่ที่มีความโดดเด่นกว่าขึ้นมาแทน แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนแบบใดสิ่งที่สำคัญคือ ต้องสอดคล้องกับทัศนคติ ค่านิยมและความต้องการของผู้เลือกตั้งเป็นหลัก
ปมปัญหาประการที่สองคือ การปรากฎตัวของคู่แข่งหน้าใหม่ที่มีศักยภาพในการช่วงชิงคะแนนจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีพรรคหลักอย่างน้อย ๓ พรรค คือ พรรคแรกคือ พรรคพลังประชารัฐหรือจะเป็นชื่ออื่นก็ได้ แต่มีเงื่อนไขที่สำคัญคือต้องได้รับการสนับสนุนจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็นไปอย่างเปิดเผยหรือรู้กันโดยนัยก็ตาม และพรรคนี้จะต้องสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นพรรคที่มาช่วงชิงฐานเสียงบางส่วนในกรุงเทพมหานคร ภาคใต้ ภาคกลางของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางที่มีอายุตั้งแต่ ๕๐ ปีขึ้นไป
พรรคที่สองคือ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ องค์ประกอบหลักของพรรคนี้เป็นการผสมผสานระหว่างอดีตนักการเมืองเก่าจากพรรคประชาธิปัตย์ กับนักกิจกรรมทางการเมืองภาคประชาชนบางส่วนที่เคยร่วมกับ กปปส. เคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พรรคนี้จะช่วงชิงคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ไปอีกบางส่วนในภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พรรคที่สามคือ พรรคอนาคตใหม่ พรรคนี้ไม่ได้แย่งฐานเสียงที่มีอยู่แล้วของพรรคตประชาธิปัตย์ แต่จะแย่งคะแนนเสียงในกลุ่มคนที่เป็นผู้เลือกตั้งหน้าใหม่ หากไม่มีพรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์อาจมีโอกาสได้รับคะแนนเสียงจากผู้เลือกตั้งหน้าใหม่ที่เป็นลูกหลานของชนชั้นกลางมากพอสมควร แต่เมื่อมีพรรคอนาคตใหม่ที่สร้างภาพลักษณ์ของความเป็นคนรุ่นใหม่ได้อย่างโดดเด่นกว่าพรรคประชาธิปัตย์ จึงทำให้ผู้เลือกตั้งหน้าใหม่จำนวนมากมีแนวโน้มสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์
สำรับปมปัญหาที่สามคือ นโยบาย ยุทธศาสตร์การหาเสียงและจุดยืนทางการเมือง ในสังคมไทยนั้นบุคลิกและภาพลักษณ์ของผู้นำพรรคมีความสำคัญต่อคะแนนนิยมไม่น้อย พรรคการเมืองไทยจึงใช้ภาพลักษณ์ของหัวหน้าพรรคเป็นประเด็นหลักอย่างหนึ่งในการหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อพรรคการเมืองใดตัดสินใจเลือกสร้างและใช้ภาพลักษณ์ใดขึ้นมาหาเสียงแล้ว และหากภาพลักษณ์นั้นตกผลึกในจิตใจผู้เลือกตั้งแล้ว สิ่งนั้นก็จะดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่นยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย เพราะภาพลักษณ์ดังกล่าวอาจเป็นที่นิยมชื่นชอบของฐานคะแนนเดิม ดังนั้นหากเปลี่ยนแปลงเป็นภาพลักษณ์ใหม่ก็อาจกระทบกับฐานคะแนนเดิมได้ การสร้างภาพลักษณ์ที่ยังรักษาฐานคะแนนเดิม ขณะเดียวกันก็ดึงดูดผู้ลงคะแนนหน้าใหม่จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ซึ่งจะอาศัยการคิดและวิเคราะห์อย่างละเอียด ลึกซึ้ง และรอบด้าน
ในส่วนนโยบายนั้นมีสองประเภทหลักคือ นโยบายเชิงประเด็นการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ กับนโยบายเชิงค่านิยมและจุดยืนทางการเมือง นโยบายแบบแรกที่พรรคการเมืองไทยนิยมใช้คือนโยบายประชานิยม ซึ่งพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคแรกที่ใช้อย่างเป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จ ทำให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ เป็นต้นมา หลังจากนั้นพรรคการเมืองต่างๆก็เลียนแบบนโยบายประชานิยม เพียงแต่อาจใช้ชื่อเรียกที่แตกต่างกัน แต่แก่นของเนื้อหาสาระมีความใกล้เคียงกันมาก สำหรับนโยบายเชิงปฏิรูปและพัฒนาประเทศที่มีความเป็นนามธรรมสูง มักจะใช้ไม่ค่อยได้ผลในการดึงดูดใจของผู้เลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นนโยบายกระจายอำนาจ หรือ การปฏิรูปการศึกษาก็ตาม
สำหรับการคิดนโยบายเชิงประชานิยมนั้นดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นรองพรรคเพื่อไทยอยู่ไม่น้อย และในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอาจเป็นรองพรรคพลังประชารัฐอีกด้วย เพราะว่าทีมนักการตลาดทางการเมืองที่เคยคิดนโยบายประชานิยมให้กับพรรคไทยรักไทย ปัจจุบันมาเป็นแกนนำเงาให้กับพรรคนี้
สำหรับนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์เคยใช้ในอดีต ซึ่งสามารถดึงดูดผู้เลือกตั้งชนชั้นกลางได้คือ นโยบายเชิงค่านิยมและจุดยืนทางการเมือง แต่ทว่าค่านิยมแบบอนุรักษ์นิยมดั้งเดิมและจุดยืนต่อต้านเผด็จการที่เคยใช้ได้ผลในอดีตนั้น อาจไม่เพียงพอต่อการดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่มีค่านิยมแบบเสรีนิยมทางการเมืองมากขึ้น และอีกประการคือ การที่พรรคคู่แข่งอย่างพรรคเพื่อไทยก็ประกาศจุดยืนต่อต้านเผด็จการเหมือนกัน ซึ่งทำให้จุดยืนไม่เอาเผด็จการของพรรคประชาธิปัตย์ไม่โดดเด่นดังเช่นในอดีตอีกต่อไป
ดังนั้นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องทำการบ้านอย่างหนักหน่วง คือการวิเคราะห์และทำความเข้าใจกับค่านิยมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของผู้เลือกตั้ง และนำมาผลิตเป็นนโยบาย เพราะในบางประเทศซึ่งอาจรวมทั้งประเทศไทยด้วย นโยบายเชิงค่านิยมมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้เลือกตั้งพอๆกับนโยบายเชิงแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ หรือบางกรณีก็มากกว่าด้วยซ้ำไป นโยบายเชิงค่านิยมอยู่ในอาณาบริเวณของสิ่งที่เรียกว่า “การเมืองเชิงคุณธรรม” (moral politics) ซึ่งเป็นการเมืองที่มีความเชื่อมโยงกับคุณค่าหรือค่านิยมเชิงคุณธรรมของสังคม ประเด็นคือต้องค้นหาให้ได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีค่านิยมเชิงคุณธรรมทางการเมืองแบบใด และพรรคจะต้องเสนอนโยบายที่สะท้อนจุดยืนค่านิยมทางคุณธรรมของประชาชน เพื่อทำให้ประชาชนมีความรู้สึกเชื่อมโยงและผูกพันกับพรรค
ภายใต้เงื่อนไข ณ ปัจจุบัน หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นทั้งในส่วนการนำนโยบาย และยุทธศาสตร์ของพรรค ผมประเมินว่าตำแหน่งทางการเมืองในภาพรวมของพรรคจะอยู่ในลำดับสาม รองจาก พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคชื่ออื่นที่มีพลเอกประยุทธ์ เป็นตัวชูโรงและมีทีมของนายสมคิด และสหายเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์และดำเนินการ คะแนนเสียงที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับ เมื่อคิดเป็นจำนวน ส.ส. แล้ว น่าจะประมาณ ๑๐๐ - ๑๒๐ คน แต่สำหรับในกรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์อาจไถลเลื่อนลงไปถึงลำดับสี่ รองจากพรรคอนาคตใหม่ก็เป็นได้ ด้วยเหตุที่ว่า ฐานคะแนนเดิมถูกแย่งชิง ขณะที่ฐานคะแนนเสียงใหม่ก็ไม่อาจแสวงหาได้เพิ่มขึ้นนั่นเอง
(๗_จบ)
เผยแพร่: 31 ส.ค. 2561
ทุกครั้งที่คณะรัฐประหารจำเป็นต้องส่งมอบการเลือกตั้งแก่สังคม ความพยายามในการสืบทอดอำนาจของกลุ่มตนเองต่อไป โดยการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงสนามเลือกตั้งเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอ ทว่าประวัติศาสตร์บอกเราว่า พรรคการมืองของคณะรัฐประหารแทบทุกพรรคไม่ประสบความสำเร็จในสนามการเลือกตั้งแม้แต่น้อย ยิ่งกว่านั้นมักจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงของสังคมตามมา
ในบางยุคสมัย แม้พรรคการเมืองของคณะรัฐประหารประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ และได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ในไม่ช้าก็ประสบปัญหาชะงักงันในการบริหารประเทศ ทำให้คณะรัฐประหารต้องหวนกลับไปใช้วิธีการเข้าสู่อำนาจที่ตนเองชำนาญ นั่นคือการใช้กำลังอาวุธ และในท้ายที่สุดก็จบลงด้วยความรุนแรงทางการเมือง ดังกรณี พรรคสหประชาไทยของคณะรัฐประหารชุดจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นต้น
ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เป็นต้นมา ความล้มเหลวของพรรคการเมืองที่จัดตั้งโดยคณะรัฐประหารก็ยิ่งเด่นชัดขึ้น ดังกรณี “พรรคสามัคคีธรรม” ที่แม้จะได้รับคะแนนเสียงเป็นลำดับหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็จัดตั้งรัฐบาลได้เพียงไม่กี่วัน ความขัดแย้งอย่างรุนแรงทางการเมืองก็เกิดขึ้นตามมาทันที และนำไปสู่การล่มสลายของพรรค ส่วนเหตุการณ์ล่าสุดที่บ่งบอกถึงความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของพรรคการเมืองที่สนับสนุนคณะรัฐประหารคือ กรณี “พรรคมาตุภูมิ” ซึ่งจัดตั้งโดยกลุ่มผู้สนับสนุนพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารปี ๒๕๔๙
ในปัจจุบัน ภายหลังที่รัฐบาลของคณะรัฐประหารชุดพลเอกประยุทธ์ จันท์โอชา ครองอำนาจทางการเมืองมาสี่ปีเศษ วงล้อประวัติศาสตร์ก็หมุนมาถึงจุดที่ต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง ร่องรอยของแบบแผนเดิมก็ผุดขึ้นมาอีกครั้ง เริ่มจากความปรารถนาในการสืบทอดอำนาจ จากนั้นก็กำหนดโครงสร้างรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจ โดยให้อำนาจวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารเลือกบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้
แต่ด้วยการที่ความคิดทางการเมืองของสังคมมีพัฒนาการขึ้นอีกระดับหนึ่ง กลุ่มผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ อาจเกิดความกระดากใจ จึงไม่เขียนแบบมอบอำนาจโดยตรงแก่วุฒิสมาชิกในการเลือกนายกรัฐมนตรีดังในอดีต แต่ได้กำหนดขั้นตอนที่ซับซ้อนมากขึ้น และพยายามกำหนดเงื่อนไขให้เชื่อมโยงระหว่างเจตนารมณ์ของประชาชนกับความต้องการของคณะรัฐประหาร โดยในขั้นแรกกำหนดให้บุคคลที่มีสิทธิรับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมาจากรายชื่อบุคคลที่เสนอโดยพรรคการเมืองแต่ละพรรคก่อน อันเป็นการประนีประนอมระหว่างความปรารถนาในการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร กับบริบทสังคมไทยในยุคปัจจุบันที่ไม่อาจละเลยอำนาจของประชาชนได้
แม้ว่ามีโครงสร้างของรัฐธรรมนูญเอื้ออำนวยต่อการสืบทอดอำนาจ แต่กระบวนการสืบทอดอำนาจต่อไปก็ต้องอาศํยความชอบธรรมจากเสียงของประชาชน ดังนั้นการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงสนามเลือกตั้งจึงเป็นเงื่อนไขจำเป็น กลุ่มผู้สนับสนุนคณะรัฐประหารจึงพยายามจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ในเบื้องต้นอันเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะพรรคดังกล่าวชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นการนำชื่อของนโยบายประชารัฐของรัฐบาล ที่กันเชื่อว่าได้รับความนิยมจากประชาชนมาตั้งเป็นชื่อของพรรค
ทว่ากรอบความคิดในการจัดตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มผู้สนับสนุนคณะรัฐประหารยังคงเป็นกรอบความคิดที่ล้าหลัง นั่นคือ การจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อให้รับชัยชนะในการเลือกตั้งหรือได้คะแนนมากเป็นลำดับหนึ่งเพื่อจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไปเป็นหลัก โดยไม่ให้ความสำคัญกับอุดมการณ์ทางการเมือง แต่อย่างใด เมื่อมีกรอบความคิดแบบนี้ ความคิดที่ตามมาคือ ต้องรวบรวมอดีตส.ส.เก่าจากพรรคการเมืองอื่นๆให้เข้ามาอยู่ในพรรคนี้มากที่สุด วิธีการที่ทำให้บรรดาอดีต ส.ส.เก่าเข้ามาอยู่ในสังกัดคือ “การดูด” อันเป็นวิธีการเก่าแก่ที่ดำรงอยู่ในการเมืองไทยนั่นเอง
ตรรกะของการดูดคือ เมื่อนักการเมืองคนใด ได้รับการเสนอผลประโยชน์ในจำนวนที่พวกเขาพึงพอใจ พวกเขาก็มีแนวโน้มจะย้ายจากพรรคการเมืองเดิมมาสู่พรรคการเมืองใหม่ หรือในบางกรณี สำหรับนักการเมืองบางคนที่อาจมีคดีความบางอย่างอยู่ ก็จะมีการใช้เงื่อนไขการใช้อำนาจรัฐยับยั้งการดำเนินคดี หากนักการเมืองผู้นั้นกระทำในสิ่งที่ผู้ดูดต้องการ แต่หากไม่ทำตามก็จะเร่งรัดให้มีการดำเนินคดี ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ จึงทำให้นักการเมืองที่เป็นอดีต ส.ส. จำนวนไม่น้อยไหลทะลักเข้าสู่พรรคการเมืองที่เป็นแหล่งดูด
ทว่า ด้วยบริบทสังคมไทยในปัจจุบัน บรรดานักการเมืองที่มีพฤติกรรมล้าหลัง คล้อยไหลตามพลังดูด มักจะเป็นนักการเมืองที่ชนชั้นกลางรังเกียจ เพราะชนชั้นกลางมองนักการเมืองกลุ่มนี้ว่า เป็นนักการเมืองน้ำเน่าและสร้างปัญหาให้ประเทศและสังคมไทยอย่างลึกซึ้งและยาวนาน ดังนั้นหากพรรคการเมืองที่สนับสนุนคณะรัฐประหารดูดนักการเมืองเหล่านี้เข้าไป ก็เท่ากับว่า เป็นการดูดน้ำเน่าเข้าไปอยู่ในพรรคนั่นเอง ส่งผลให้ชนชั้นกลางจำนวนมากเกิดความอิลักอิเหลื่อที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีลักษณะเช่นนี้ของคณะรัฐประหาร แม้ว่าพวกเขาบางส่วนนิยมชมชอบบุคลิกและการทำงานของหัวหน้าคณะรัฐประหารคนปัจจุบันอยู่ไม่น้อยก็ตาม
สังคมไทยประกอบด้วยผู้เลือกตั้งที่มีลักษณะหลากหลาย มีทั้งชนชั้นกลาง ชาวบ้าน และชนรุ่นใหม่ กลุ่มคนเหล่านี้มีอัตลักษณ์และความคิดทางการเมืองแตกต่างกัน ส่งผลให้ทางเลือกของคณะรัฐประหารในการจัดตั้งพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว แล้วสามารถสร้างความนิยมให้ครอบครอบคลุมทุกกลุ่มชน เพื่อได้รับคะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปได้ยาก เพราะว่ามีความไม่ลงรอยกันของปัจจัยที่ส่งผลต่อคะแนนนิยมจากชนชั้นกลาง ชาวบ้าน และชนรุ่นใหม่
ครั้นจะตั้งพรรคขึ้นมาสองพรรคที่มีลักษณะตอบสนองอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชน ก็จะเกิดความเสี่ยงที่พรรคทั้งสองจะไม่มีพรรคใดเลยที่ประสบชัยชนะได้รับคะแนนเสียงมากเป็นลำดับหนึ่งในการเลือกตั้ง กรณีนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นหากพรรคที่สนับสนุนคณะรัฐประหารดันทุรังในการจัดตั้งรัฐบาลทั้งที่มีเสียงน้อยกว่าพรรคอื่นคือ ปัญหาความชอบธรรม
ที่นี้เราลองมาดูว่า คะแนนเสียงของพรรคการเมืองที่สนับสนุนคณะรัฐประหารมาจากแหล่งใดบ้าง ผมคิดว่าแหล่งที่สำคัญคือ ความนิยมต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานั่นเอง ซึ่งเกิดจาก บุคลิก การพูด และการแสดงออกของพลเอกประยุทธ์ที่ปรากฎต่อสาธารณะ ในสายตาของคนจำนวนมากเห็นว่า พลเอกประยุทธ์มีบุคลิกลักษณะที่ตรงไปตรงมา มีความตั้งใจทำงาน จริงใจ แสดงตัวตนในฐานะที่เป็นมนุษย์ปุถุชน ไม่เสริมแต่งเสแสร้ง หรือแสดงมายาดังนักการเมืองทั่วไป ประชาชนจำนวนไม่น้อยเชื่อมโยงบุคลิกของพลเอกประยุทธ์เข้ากับอัตลักษณ์และความเชื่อของตนเอง และเกิดความรู้สึกประดุจว่า พลเอกประยุทธ์พูดและแสดงออกแทนใจของพวกเขา
ชนชั้นกลางเหล่านี้เป็นใครบ้าง หลักๆ คือ เป็นกลุ่มคนที่ไม่เอานายทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทยและนักการเมืองน้ำเน่าทั้งหลาย บางส่วนอาจเคยนิยมพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน แต่อาจไม่ชมชอบบุคลิกแบบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงหันไปสนับสนุนคนที่มีบุคลิกแบบพลเอกประยุทธ์แทน ผมคิดว่าคนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยเคยเข้าร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มาก่อน และส่วนใหญ่มีวัยกลางคนเป็นต้นไป และยิ่งสูงวัยอัตราการสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ก็ยิ่งมีสัดส่วนสูงขึ้นตามไปด้วย
สำหรับกลุ่มชาวบ้านทั้งในเขตเมืองและชนบท ซึ่งในอดีตส่วนใหญ่นิยมนายทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย มีจำนวนหนึ่งจะเปลี่ยนใจและหันมาสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ และพรรคการเมืองที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์แทน เหตุผลหลักมีสามประการ
ประการแรกคือ บุคลิกของพลเอกประยุทธ์ มีบางส่วนที่คล้ายคลึงกับนายทักษิณ ซึ่งเป็นบุคลิกที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของชาวบ้าน ประการที่สองคือ ชาวบ้านอยากได้พรรคที่ตนเองเลือกเป็นรัฐบาล และพรรคที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ก็ถูกสร้างให้เกิดความเชื่อว่าจะได้เป็นรัฐบาลในอนาคต และประการที่สาม พรรคที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ก็จะใช้นโยบายของรัฐบาลประยุทธ์ในปัจจุบันหาเสียง และเกือบทั้งหมดของรัฐบาลเป็นนโยบายประชานิยม ซึ่งทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่แตกต่างกับพรรคเพื่อไทยในอดีตแต่อย่างใด
สำหรับคนรุ่นใหม่ หากเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อจุดยืน และอัตลักษณ์ทางการเมืองแตกต่างจากพลเอกประยุทธ์และคณะรัฐประหารอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นโอกาสที่คนกลุ่มนี้จะเลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์จึงมีน้อย อย่างไรก็ตามคนกลุ่มนี้บางส่วนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีอาจจะชมชอบบุคลิกแบบพลเอกประยุทธ์ ก็ได้ แต่ผมประเมินว่ามีสัดส่วนน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่นิยมค่อนข้างมาก
ด้วยเงื่อนไขเชิงโครงสร้างรัฐธรรมนูญ ความนิยมต่อตัวพลเอกประยุทธ์ การมีอำนาจรัฐ และการมีเงินทุนจำนวนมหาศาล โอกาสที่พรรคการเมืองที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมีสูงกว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ แต่สิ่งที่พึงระลึกเอาไว้คือ บทเรียนทางประวัติศาสตร์ ที่บอกให้เราทราบว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารนั้น นอกจากจะไร้สมรรถนะในการบริหารการเมืองภายในระบบรัฐสภาแล้ว ยังขาดความสามารถในการรับมือและจัดการกับการเมืองนอกสภาอีกด้วย
ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจึงมีโอกาสเกิดขึ้นสูง จากแรงกดดันทั้งภายในและภายนอกรัฐสภา ซึ่งก่อให้เกิดความเป็นไปได้ทางการเมืองอย่างน้อย ๓ อย่างเกิดขึ้นตาม อย่างแรกรัฐบาลของคณะรัฐประหารอาจลาออก และมีพรรคการเมืองอื่นเข้ามาเป็นรัฐบาลแทน อย่างที่สอง รัฐบาลอาจยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และอย่างที่สาม อาจมีคณะรัฐประชุมชุดใหม่เกิดขึ้น ล้มล้างรัฐบาล และนำประเทศสู่ระบอบเผด็จการอีกครั้งก็ได้
สิ่งที่คณะรัฐประหารและผู้สนับสนุนกระทำอยู่ในเวลานี้ เป็นการตอกย้ำความจริงที่ว่า ตราบใดที่กรอบความคิดทางการเมืองของกลุ่มอำนาจนำ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทหารหรือนักการเมืองยังไม่เปลี่ยนแปลง หรือถูกประชาชนกดดันให้เปลี่ยนแปลง ตราบนั้นวงจรน้ำเน่าของการเมืองไทยก็ยังคงทำงานของมันต่อไป
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
คอลัมน์ ปัญญาพลวัตร ในเอเอสทีวี สุดสัปดาห์
เผยแพร่: 20 ก.ค. 2561 1 โดย: MGR Online
(๑)
การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นใน พ.ศ.๒๕๖๒ เป็นการเลือกตั้งที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และกฎหมายหลายประการที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมการเลือกตั้ง นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้ว การรับรู้เกี่ยวกับผลงานของรัฐบาลปัจจุบัน ผู้แข่งขันหน้าใหม่ที่จะเข้าสู่สนามการเมือง ภาวะผู้นำของหัวหน้าพรรค นโยบายการหาเสียง และการประเมินอนาคตเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเป็นรัฐบาลของพรรคที่เลือก ก็มีผลไม่น้อยต่อความคิดและการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน
ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เห็นได้ชัดเจนคือ การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ซึ่งสังคมไทยมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความคิดทางการเมืองของผู้สูงอายุโดยทั่วไปมีแนวโน้มในเชิงอนุรักษ์นิยม ให้ความสำคัญกับคุณค่าดั้งเดิมของสังคม ความมีเสถียรภาพทางสังคม และความมั่นคงปลอดภัย ผู้สูงอายุมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมน้อยกว่ากลุ่มวัยอื่นๆ ดังนั้นหากพวกเขาเคยลงคะแนนในอดีตอย่างไร ก็จะมีแนวโน้มรักษาแบบแผนเดิมของการลงคะแนนเอาไว้
เราสามารถจำแนกกลุ่มผู้สูงอายุออกเป็นสองกลุ่มหลักคือ กลุ่มชนชั้นกลาง กับกลุ่มชาวบ้าน แม้ว่าทั้งสองกลุ่มมีหลักคิดอนุรักษ์นิยมคล้ายคลึงกัน แต่บริบททางสังคมและรสนิยมต่อตัวผู้สมัครพรรคการเมืองแตกต่างกัน ผู้สูงอายุชนชั้นกลางมีบริบททางสังคมที่มีความเป็นอิสระต่อระบบอำนาจแบบอุปถัมภ์มากกว่าผู้สูงอายุในชนบท สำหรับรสนิยมต่อพรรคการเมืองนั้นผู้สูงอายุชนชั้นกลางมีแนวโน้มชอบพรรคและผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีภาพลักษณ์เรื่องความซื่อสัตย์ หรือมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตน้อย ขณะที่ผู้สูงอายุที่เป็นชาวบ้านนั้นมีแนวโน้มที่จะตกอยู่ภายใต้บรรทัดฐานเชิงอำนาจทางสังคมของระบบอุปถัมภ์ และชอบผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่มีภาพลักษณ์เรื่อง การเป็นที่พึ่งพาได้ หรือ การช่วยเหลือเกื้อกูลเป็นหลัก
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นทำให้แบบแผนการเลือกตั้งดั้งเดิมสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองเก่ามีความได้เปรียบในสนามการแข่งขันระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ก็สามารถแสวงหาโอกาสได้อยู่เหมือนกันในการช่วงชิงคะแนนเสียงของคนกลุ่มนี้ หากนำเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรมและเน้นภาพลักษณ์ของผู้สมัครที่ดูซื่อสัตย์ แต่ประเด็นเหล่านี้อาจมีผลต่อการตัดสินใจของผู้สูงอายุชนชั้นกลางเท่านั้น ส่วนผู้สูงอายุที่เป็นชาวบ้าน นโยบายที่อาจมีประสิทธิผลมากกว่าคือ นโยบายเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการและสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม และผู้สมัครในระดับเขตเลือกตั้งที่มีภาพลักษณ์แบบวีรบุรษตามประเพณีดั้งเดิมของไทยคือ การเป็นคนชอบช่วยเหลือเกื้อกูล พึ่งได้ และเข้าถึงง่าย
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เห็นได้ชัดเจนอีกประการคือ การเกิดขึ้นของเครือข่ายเพื่อนเก่า ซึ่งเกิดและขยายอย่างมากในแวดวงชนชั้นกลางที่มีการศึกษา และเป็นไปในทุกระดับกลุ่มวัย ทั้งกลุ่มวัยทำงาน และวัยเกษียณ การเชื่อมประสานเริ่มจากการใช้เทคโนโลยีการสื่อสังคมออนไลน์รวบรวมบรรดาเพื่อนเก่า จากนั้นเครือข่ายการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกลุ่มเพื่อนเก่าในโลกเสมือนจริงก็เริ่มต้นขึ้น และนำไปสู่การพบปะพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกันในโลกแห่งความเป็นจริง
การรักษาสายสัมพันธ์ของกลุ่มเพื่อนเก่าดำเนินไปโดยการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร จากเรื่องใกล้ตัวและเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน บางกลุ่มก็อาจขยายขอบเขตไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความเป็นไปของสังคม เศรษฐกิจและการเมือง และหากกลุ่มเพื่อนเก่ากลุ่มใดมีปฏิสัมพันธ์ที่เปิดกว้างและพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทางความคิดของสมาชิกกลุ่มก็จะเกิดขึ้น มีโลกทัศน์กว้างขวางขึ้น และมีทิศทางเชิงบวกต่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม ที่สำคัญคือ มีความเป็นไปได้ว่าในช่วงใกล้การเลือกตั้ง บรรดาเครือข่ายกลุ่มเพื่อนเก่าจะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางการเมืองกันมากยิ่งขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
นอกจากเครือข่ายกลุ่มเพื่อนเก่าแล้ว เครือข่ายทางสังคมอื่นๆ ก็มีการขยายตัวอย่างมหาศาล ทั้งในโลกเสมือนจริงและโลกความเป็นจริง เครือข่ายเหล่านี้เป็นทั้งเครือข่ายในแวดวงผู้ประกอบอาชีพเดียวกัน เช่นเครือข่ายครู เครือข่ายทนายความ เครือข่ายแพทย์ เครือข่ายชาวนา เครือข่ายชาวสวนยาง เครือข่ายชาวสวนปาล์ม เครือข่ายประมง เป็นต้น เครือข่ายผู้สนใจกิจกรรมที่เหมือนกัน เช่น กิจกรรมกีฬา วัฒนธรรม ศาสนา สาธารณะประโยชน์ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น เครือข่ายกลุ่มพื้นที่หรือตามภูมิลำเนา เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ เครือข่ายของกลุ่มที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น เครือข่ายผู้พิการ เครือข่ายผู้ปกครอง เป้นต้น และยังมีเครือข่ายอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน
การปฏิสัมพันธ์หลักของเครือข่ายต่างๆ คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายของตนเองเอง ทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิก ความรู้หรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ จนไปถึงเรื่องทางสังคมและการเมือง มีหลายเครือข่ายที่ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นระยะ ซึ่งอาจเป็นกิจกรรมที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก หรือกิจกรรมเน้นสาธารณะประโยชน์ หรือกิจกรรมที่เน้นการผลักดันนโยบายเพื่อขยายผลประโยชน์ของสมาชิก หรือนโยบายทางสังคมและการเมืองอื่นๆ
ไม่ว่าในสภาวะปกติเครือข่ายทางสังคมต่างๆ จะเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารหรือกิจกรรมประเภทใดก็ตาม แต่ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ผมคิดว่า ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับนโยบายพรรคการเมือง ผู้สมัครพรรคการเมือง และการหาเสียงของพรรคการเมือง จะกลายเป็นข้อมูลข่าวสารหลักอย่างหนึ่งที่ไหลเวียนภายในกลุ่มเครือข่ายเหล่านั้น เครือข่ายใดที่มีการไหลเวียนและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางการเมืองมาก ย่อมมีอิทธิพลให้สมาชิกใช้เหตุผลในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง มากกว่าเครือข่ายที่มีการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารน้อย
มีบางประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ผมเองก็ยังมองไม่กระจ่างนักว่า ลักษณะแบบใดจะดำรงอยู่และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจกระทำของคนไทยมากกว่ากัน นั่นคือระหว่างความเป็น “กลุ่มนิยมแนวดิ่ง” กับความเป็น “กลุ่มนิยมแนวราบ” เพราะว่ามีปรากฎการณ์ที่ดูจะไม่ลงรอยกันเกิดขึ้นพร้อมๆกัน กล่าวคือในด้านหนึ่ง สังคมไทยดั้งเดิมมีแนวโน้มที่จะยึดถือความเป็น กลุ่มนิยมแนวดิ่งแบบอำนาจนิยม แต่เครือข่ายต่างๆที่เกิดขึ้นในยุคใหม่มีแนวโน้มจะทำให้เกิดลักษณะกลุ่มนิยมแนวราบ ที่มีความสมดุลของอำนาจเพิ่มขึ้นมา
ภายใต้กลุ่มนิยมแบบอำนาจแนวดิ่งนั้น สมาชิกกลุ่มมักจะตัดสินใจหรือกระทำโดยยึดบรรทัดฐานของกลุ่ม ชุมชนและสังคมที่พวกเขาสังกัดเป็นหลัก มีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการเป็นคนนอกคอก คนที่ไม่เข้าพวก หรือการเป็นคนที่แปลกประหลาดจากกลุ่ม ทำให้สมาชิกกลุ่มกระทำหรือแสดงพฤติกรรมไปในทิศทางตามบรรทัดฐานที่กลุ่ม ชุมชน หรือ องค์การที่พวกเขาสังกัดยึดถือ และที่สำคัญคือ สมาชิกมีแนวโน้มเชื่อฟังการชี้นำของบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีอำนาจภายในกลุ่ม
สำหรับกลุ่มนิยมแนวราบ สมาชิกภายในกลุ่มมีลักษณะความเป็นหุ้นส่วนทางสังคมที่ค่อนข้างมีความเท่าเทียมกัน สมาชิกมีอำนาจไม่แตกต่างกันมากนัก มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน การพูดคุยมีแนวโน้มเป็นแบบสองทิศทาง ไม่มีสมาชิกคนใดสามารถชี้นำหรือครอบงำสมาชิกคนอื่นได้อย่างเบ็ดเสร็จ แม้กลุ่มอาจมีบรรทัดฐานบางอย่าง แต่บรรทัดฐานนั้นมักเกิดจากความมีเหตุผลและการมีส่วนร่วมของสมาชิก และการตัดสินใจใดๆก็มีแนวโน้มเกิดจากการตัดสินร่วมกันมากกว่าการชี้นำของคนใดคนหนึ่ง
ประเด็นขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าคือ กลุ่มนิยมแนวราบแบบกระจายอำนาจเกิดขึ้นและพัฒนามาก และมีพลังทำให้กลุ่มนิยมแนวดิ่งแบบอำนาจนิยมลดลงมากน้อยเพียงใด เพราะหากกลุ่มนิยมแนวราบมีมากเพียงพอ ก็จะทำให้เส้นทางการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยดูมีความหวังมากขึ้น
นอกจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะภายในของกลุ่มนิยมแนวดิ่ง ไปสู่กลุ่มนิยมแนวราบมากขึ้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นจากการลดอิทธิพลของกลุ่มนิยมแนวดิ่งคือ “ความเป็นปัจเจกชนนิยม” บุคคลที่มีลักษณะเป็นปัจเจกชนนิยมนั้น จะตัดสินใจโดยยึดหลักคิดและเหตุผลที่พวกเขาคิดและเชื่อเป็นหลัก โดยพวกเขาอาจไม่สนใจกับบรรทัดฐานของกลุ่มหรือสังคมมากนัก กลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยเรียนระดับอุดมศึกษา วัยทำงานตอนต้นและตอนกลาง
ความคิดทางการเมืองของคนกลุ่มนี้มีสองลักษณะหลัก อย่างแรกคือ การต่อต้านการเมืองกระแสหลัก แต่ไม่ตระหนักรู้ว่าตนเองมีความต้องการทางการเมืองอย่างไร เมื่อมีการเลือกตั้ง คนกลุ่มนี้จะตัดสินเลือกผู้สมัครที่โดดเด่นและโด่งดัง ซึ่งแสดงตัวต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับบรรทัดฐานบางอย่างของสังคม โดยไม่สนใจว่าบุคคลดังกล่าวมีภูมิหลังอย่างไร หรือเมื่อเข้าไปเป็นตัวแทนแล้วจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองบ้าง
อย่างที่สองคือ ปัจเจกชนนิยมแบบรู้ทันการเมือง คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีความคิดแบบเสรีนิยมทางการเมือง บางส่วนก็มีแนวคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ปัจเจกนิยมกลุ่มนี้ตระหนักรู้ว่า ความคิดทางการเมืองของตนเองคืออะไร และต้องการอะไรจากพรรคการเมืองและนักการเมือง ในช่วงการเลือกตั้ง พวกเขาพยายามเลือกพรรคการเมืองและบุคคลที่พวกเขาคิดว่ามีอุดมการณ์และนโยบายที่สอดคล้องกับตนเอง บางส่วนก็อาจเลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งในขณะนั้นได้ แต่บางส่วนอาจตัดสินใจไม่ลงคะแนนให้พรรคการเมืองใดก็ได้
กล่าวโดยสรุป การเปลี่ยนแปลงสังคม ทั้งในเรื่องโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น การเกิดขึ้นของเครือข่ายเพื่อนเก่า และเครือข่ายสังคมอื่นๆจำนวนมาก และการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งความสัมพันธ์แบบกลุ่มนิยมแนวดิ่งเชิงอำนาจนิยมมีแนวโน้มลดลง ความสัมพันธ์แบบกลุ่มนิยมแนวราบเชิงกระจายอำนาจมีเพิ่มขึ้น และการมีปัจเจกชนนิยมมากขึ้น ทั้งแบบต่อต้านการเมืองกระแสหลักที่ไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงทางการเมืองของตนเอง กับแบบรู้ทันการเมืองที่ตระหนักรู้ถึงความต้องการทางการเมืองของตนเอง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมแต่ละอย่างที่กล่าวมาย่อมส่งผลกระทบและสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อพรรคการเมืองและนักการเมืองในหลายระดับ ซึ่งจะทำให้การเมืองในภาพรวมเปลี่ยนแปลงตามมา
(๒)
(เผยแพร่: 27 ก.ค. 2561)
พฤติกรรมการเลือกตั้งกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ประเทศที่มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม ส่วนใหญ่จะมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีสมรรถนะในการสร้างความเป็นธรรมของกระจายรายได้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ทำให้ประชาชนสามารถรับผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วหน้า มีรายได้เพียงพอ ไม่ถูกบีบคั้น และตกอยู่ภายใต้ภาวะจำยอมต่อผู้อื่น และมีอิสระในการตัดสินใจกำหนดชีวิตและทางเลือกของตนเอง ซึ่งรวมถึงทางเลือกทางการเมืองด้วย
หากประเทศใดที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจบิดเบี้ยว ไร้สมรรถนะในการสร้างการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม โดยคนส่วนน้อยได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในสัดส่วนที่สูง ขณะที่คนส่วนใหญ่ได้รับในสัดส่วนที่ต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็จะเป็นสิ่งที่ตามมา การยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ในสังคมจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า นอกจากจำนวนคนยากจนไม่ลดลงแล้ว ยังมีแนวโน้มคงที่ หรือหากร้ายกว่านั้นคือคนยากจนเพิ่มขึ้น
ความยากจนทำให้ทางเลือกในการดำรงชีวิตของผู้คนมีจำกัด ยากจะเป็นอิสระจากการพึ่งพาผู้อื่น และมีความอ่อนไหวต่อการถูกชี้นำและควบคุมจากผู้ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจแบบนี้ จึงมีโอกาสเบี่ยงเบนจากหลักการแห่งความสุจริตและเที่ยงธรรมได้โดยง่าย
ประเทศไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจบิดเบี้ยว เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นลำดับต้นๆของโลก มีประชาชนที่กล้ายอมรับว่าตนเองมีความยากจน เพื่อใช้สิทธิรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนับสิบล้านคน คนจนเหล่านี้ย่อมต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด และพยายามแสวงหาโอกาสที่จะทำให้มีรายได้เพียงพอในดำรงชีพ และเมื่อการเลือกตั้งเป็นโอกาสหนึ่งที่ทำให้พวกเขาสามารถใช้ “สิทธิการเลือกตั้งเป็นสินค้า” อันเป็นที่มาของการเพิ่มรายได้ พวกเขาบางคนก็ตัดสินใจ ขายสิทธิเลือกตั้งของตน เพื่อหารายได้ในการยังชีพ
การซื้อสิทธิขายเสียงในสังคมไทยจึงเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนานภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว หากถามว่าการซื้อสิทธิขายเสียงจะลดลงหรือหมดไปหรือไม่ในการเลือกตั้งที่จะถึงในปีหน้า คำตอบก็ปรากฎชัดว่า ยังไม่หมด และไม่มีแนวโน้มลดลง แม้จะมีกฎหมายกำหนดให้การกระทำเช่นนั้นผิดกฎหมายและมีบทลงโทษรุนแรง แต่กฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้งในสังคมไทย ก็ไม่ต่างอะไรกับการเขียนเสือให้วัวกลัว เพราะเป็นกฎหมายที่การบังคับใช้อ่อนแอเป็นลำดับต้นๆเมื่อเทียบกับบรรดากฎหมายทั้งหมดของประเทศไทย
หากพิจารณาตัวเลขผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี ๒๕๖๒ โดยเทียบเคียงไปยังตัวเลขผู้มีสิทธิลงประชามติรัฐธรรมนูญในพ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งมีจำนวนประมาณ ๕๐.๕๘ ล้านคน และจากสถิติเดิมที่จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเพิ่มขึ้นประมาณปีละ ๖ แสนคน ทำให้จำนวนผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งในปี ๒๕๖๒ จะเพิ่มขึ้นเป็น ๕๒.๓๘ ล้านคนโดยประมาณ และหากพิจารณาร้อยละของผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปในสองครั้งที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ ๗๕ ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ดังนั้นคาดการณ์ว่าผู้ที่จะมาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปในปี ๒๕๖๒ จะอยู่ที่ประมาณ ๓๙. ๒๙ ล้านคน
ทีนี้ลองมาพิจารณาภาวะการทำงานของประชากร ที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑ สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่ามีคนไทยที่อยู่ในกำลังแรงงานทั้งสิ้น ๓๘.๘๖ ล้านคน อยู่ในภาคเกษตรถึง ๑๓.๓๖ ล้านคน ภาคขายส่ง ๖.๓๔ ล้านคน ภาคการผลิต ๕.๘๗ ล้านคน ภาคที่พักแรม ๒.๖๘ ล้านคน ภาคก่อสร้าง ๒.๑๑ ล้านคน และที่เหลือเป็นภาคอื่นๆเช่น บริหารราชการ การขนส่ง การศึกษา และสุขภาพเป็นต้น รวมๆกันประมาณ ๕.๔ ล้านคน และประมาณการว่าจะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ ๑๒.๙๒ ล้านคนที่ไม่อยู่ในช่วงกำลังแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังเรียน และกลุ่มผู้สูงอายุ
กลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบทางลบจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยวมากคือ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งภาคการผลิตและก่อสร้าง รวมทั้งกลุ่มที่อยู่ในวัยเรียนและผู้สูงอายุที่เป็นเครือญาติของกลุ่มเกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน ยิ่งกว่านั้นการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งไม่สามารถปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้ความเป็นธรรมในการกระจายรายเกิดขึ้นได้ ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของครอบครัวกลุ่มเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานประสบความยากลำบากยิ่งขึ้น และทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นมีความโน้มเอียงที่จะใช้โอกาสของการเลือกตั้งเพื่อแสวงหารายได้มีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การตกเป็นเป้าหมายภายในตลาดของคะแนนเสียง ที่กำกับโดยนักการเมืองและพรรคการเมือง
อันที่จริงไม่ใช่เฉพาะชาวบ้านที่มีความโน้มเอียงในการใช้โอกาสทางการเลือกตั้งเพื่อสร้างประโยชน์แก่ตนเอง กลุ่มคนที่ใช้โอกาสนี้อย่างเข้มข้นยิ่งกว่าชาวบ้านคือกลุ่มนักการเมืองเก่าทั้งระดับชาติและท้องถิ่น เพราะว่าในตลาดการเมืองแห่งยุคนี้ เป็นตลาดที่มีการแข่งขันทางอำนาจสูง ระหว่างกลุ่มทุนของระบอบทักษิณ กับกลุ่มทุนผสมอำนาจรัฐของระบอบศาสตราธิปไตย กลุ่มทุนแรกเคยครองอำนาจเหนือตลาดการเมืองมานับสิบปี ส่วนกลุ่มหลังนั้นเคยครองอำนาจทางการเมืองในอดีตอย่างยาวนาน และหายหน้าจากตลาดการเมืองไประยะหนึ่ง และกลับมาอีกครั้งในยุคปัจจุบัน เมื่อมีการแข่งขันทางอำนาจสูง การช่วงชิงสินค้าที่กลุ่มทุนต่างๆเชื่อว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพจึงเกิดขึ้น
ในระบบการเมืองไทย นักการเมืองจำนวนมากได้แปรสภาพตัวเองจากการเป็นมนุษย์การเมือง และจากมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี กลายเป็นวัตถุและสินค้าอย่างหนึ่งในตลาดการเมือง การช่วงชิง การดูด และการประมูลเกิดขึ้นดุจประมูลสินค้า สินค้าที่ถูกเชื่อว่ามีคุณภาพดีคือ สินค้าที่เคยรับการเลือกตั้งต่อเนื่องกันมาหลายสมัย หรือ ส่วนสินค้าที่เคยได้รับเลือกตั้งมาบ้าง ไม่ได้รับบ้าง ก็มีคุณภาพในระดับรองๆลงไป ภาษาประเภท นักการเมืองเกรดเอ เกรดบี และเกรดซี จึงเกิดขึ้นและถูกใช้อย่างแพร่หลายในระบบการเมืองการเลือกตั้งไทย
กล่าวได้ว่านักการเมืองส่วนใหญ่ได้ถูกครอบงำและชี้นำด้วยตรรกะและแนวปฏิบัติของระบอบทุนนิยมที่ล้าหลัง ซึ่งมองสนามการเมืองเป็นสนามของการแข่งขันเพื่อแสวงหากำไรโดยไม่เลือกวิธีการที่ใช้ แม้กระทั่งการยอมลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตนเองให้กลายเป็นสินค้า และยังเป็นกลไกและเครื่องมือของระบบและกระบวนการที่ทำให้ประชาชนกลายเป็นสินค้าไปด้วย ปรากฎการณ์ “การกลายเป็นสินค้าของนักการเมือง” เกิดจากทั้งปัจจัยด้านกรอบทางจิตของปัจเจกบุคคลของนักการเมืองเอง และเป็นผลผลิตของโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว
นอกจากจะมีผลต่อประชาชนผู้เลือกตั้งและนักการเมืองแล้ว โครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยวของสังคมไทย ยังส่งผลให้วิธีคิดและการปฏิบัติในการการจัดตั้งพรรคการเมืองไทยถูกครอบงำและชี้นำด้วยตรรกะเศรษฐกิจแบบทุนนิยมล้าหลัง มากกว่าตรรกะทางการเมืองที่ก้าวหน้า โดยในการจัดตั้งพรรคการเมือง วิธีคิดแรกที่มักเกิดขึ้นคือ ต้องใช้เงินเท่าไรในการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งและได้รับชัยชนะ ต้องใช้เงินเท่าไรในการดูดอดีตนักการเมืองเข้ามาสังกัดพรรคที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะได้รับเลือกเป็นพรรคลำดับหนึ่ง และต้องใช้เงินเท่าไรในการหาคะแนนเสียงเลือกตั้งในแต่ละเขตที่จะทำให้ผู้สมัครของพรรคได้รับชัยชนะในเขตนั้น
ความแปลกประหลาดของการเมืองไทยยังมีมากกว่า การใช้เงินเพื่อทำให้พรรคได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ในบางช่วงเวลาที่กฎหมายมีมาตรการอุดหนุนงบประมาณแก่พรรคการเมือง การจัดตั้งพรรคการเมืองบางพรรค มิได้มีเป้าประสงค์ในการได้รับชนะหรือมีผู้สมัครได้รับเลือกเป็น ส.ส. แต่อย่างใด แต่เป็นการจัดตั้งเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์จากการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐ การจัดตั้งพรรคการเมืองจึงเปรียบประดุจเป็นการตั้งบริษัท โดยใช้จำนวนสมาชิกของพรรคเป็นสินค้า และนำไปขึ้นเงินจากรัฐ
การเลือกตั้งที่จะมาถึงใน พ.ศ. ๒๕๖๒ นี้ โครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว และความเหลื่อมล้ำยังคงดำรงอยู่อย่างแข็งแกร่ง ตรรกะ วิธีคิดและแนวปฏิบัติของประชาชนจำนวนมาก นักการมืองส่วนใหญ่ และกลุ่มทุนระบอบทักษิณกับระบอบศาสตราธิปไตยทั้งมวล ยังถูกครอบงำและชี้นำด้วยตรรกะของระบบทุนนิยมล้าหลัง ที่ต่างมุ่งแสวงหากำไร โดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่นำมาใช้
ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทยกว่าครึ่ง จึงมีแนวโน้มถูกกำหนดโดย “ราคา” ที่ถูกเสนอเข้ามาโดยนักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งในรูปแบบเงินสดหรือผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆทางวัตถุที่นับเป็นมูลค่าได้ ระบอบประชาธิปไตยจึงแปรสภาพเป็น “ประชาธิปไตยที่กินได้อย่างเป็นรูปธรรม” หรือ “สิทธิเลือกตั้งกลายเป็นสินค้าทางเศรษฐกิจ” อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดในช่วงการเสียงเลือกตั้ง
กระนั้นก็ตาม บางคนก็อาจบอกว่า ภาวะเช่นนั้นยังดีกว่าการตกอยู่ในบรรยากาศที่เป็น “เผด็จการที่ไม่มีอะไรกิน” หรือ “การที่ประชาชนไม่มีอะไรของตัวเองที่จะแปรสภาพเป็นสินค้าได้ นอกจากความอดอยากอย่างถาวร”
(๓)
เผยแพร่: 3 ส.ค. 2561 17:00
บทบาทและอิทธิพลของเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ต่อการเลือกตั้งปรากฎชัดเจนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อพ.ศ. ๒๕๕๙ ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ พลิกสถานการณ์จากการมีคะแนนเป็นรอง กลับเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างเหนือความคาดหมาย
ผู้คนเกือบทั้งหมดที่มีสิทธิเลือกตั้งในสังคมไทยมีโทรศัพท์มือถือ และมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก โดยเฉพาะเฟซบุ๊กและไลน์ ทำให้เครือข่ายการสื่อสารของบุคคลขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางและข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากกว่าอดีตหลายเท่าตัว ดังนั้นเมื่อข้อมูลข่าวสารถูกสร้างขึ้นมา ไม่ว่าเป็นข่าวสารที่มีรากฐานจากข้อเท็จจริงหรือข่าวสารปลอมก็ตาม ประชาชนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ก็มีโอกาสสูงที่ได้รับและเห็นข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น
ลักษณะของข้อมูลข่าวสารที่มักแพร่กระจายรวดเร็วและผู้คนนิยมเสพกันมากคือ เรื่องเชิงละคร และเรื่องราวที่อื้อฉาวของบุคคลต่างๆโดยเฉพาะบุคคลสาธารณะ ในการหาเสียงเลือกตั้งนั้นการสร้างข่าวสารที่มีแนวเชิงละคร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวที่มีองค์ประกอบเชิงพิธีกรรมและสัญลักษณ์ มีการใช้ภาษา คำพูด ภาพ เสียง สิ่งประดิษฐ์ และการกระทำในเชิงปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึก ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งและทีมงานคิดค้นขึ้นมาเพื่อดึงดูดความสนใจและความตื่นเต้นทางจิตแก่ผู้รับข้อมูลข่าวสาร มากกว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระของนโยบายที่ใช้ในการบริหารประเทศ
บทบาทหลักของเรื่องเชิงละครในการหาเสียงคือ คือการสร้างความนิยมต่อตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง ยิ่งสามารถเสกสรรผู้สมัครหรือพรรคการเมืองให้มีความเป็น “พระเอก” หรือ “นางเอก” มากเพียงไร ก็ยิ่งทำให้โอกาสที่พวกเขาเหล่านั้นได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่ความเป็นพระเอกหรือนางเอกในสังคมไทยนั้นมีความหลากหลายอยู่พอสมควรในยุคปัจจุบัน มีทั้งที่เป็นพระเอกหรือนางเอกแบบวีรบุรุษหรือวีรสตรีที่เข้ามาช่วยเหลือประชาชนให้หลุดพ้นปัญหาและความทุกข์ยาก หรือเป็นพระเอกแบบแนวนักเลง กล้าสู้ กล้าชนผู้มีอำนาจรัฐ หรือเป็นพระเอกที่ถูกผู้มีอำนาจรังแกเอาเปรียบ หรือเป็นนางเอกเจ้าน้ำตา เพื่อเรียกคะแนนสงสาร ซึ่งก็พอจะได้คะแนนอยู่บ้าง แต่สำหรับคนที่ทำตัวเป็นพระเอกเจ้าน้ำตา ผมคิดว่าคนในสังคมไทยไม่ค่อยนิยมครับ เพราะคนจำนวนมากยังคิดว่า สำหรับลูกผู้ชายนั้น “การยอมกลืนเลือดตนเอง ดีกว่าการยอมหลั่งน้ำตา”
เมื่อแนวละครและภาพลักษณ์แบบใดถูกสร้างขึ้นมาและเผยแพร่ออกไปแล้ว ผู้คนก็มีแนวโน้มยึดติดกับภาพลักษณ์เหล่านั้น และมีแนวโน้มที่จัดประเภทผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นๆอย่างใดอย่างหนึ่ง กระบวนการจัดประเภท (categorization) เกิดขึ้นโดย ผู้รับข้อมูลข่าวสารจะนำภาพลักษณ์และองค์ประกอบอื่นๆของผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองที่พวกเขารับรู้ มาเปรียบเทียบกับสภาวะชีวิตของตนเอง จากนั้นก็ตัดสินว่า นักการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้นเป็นประเภทเดียว หรือพวกเดียวกับเขาหรือไม่ โดยใช้กรอบความเชื่อเรื่องความสามารถในการตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ความรู้สึก และ/หรือผลประโยชน์ทางวัตถุแก่พวกเขาได้มากน้อยเพียงใด
หากผู้รับข้อมูลข่าวสารทางการเมืองเชื่อว่า นักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดมีความเป็น “ประเภทหรือพวกเดียว” กับเขาแล้ว ก็จะผูกติดตนเองเข้ากับนักการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้น และมีแนวโน้มสนับสนุนนักการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้นให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง โดยตีความว่าชัยชนะของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนคือชัยชนะของตนเอง
ในอีกด้านหนึ่ง เรื่องราวที่มักเกิดขึ้นในการหาเสียงเลือกตั้ง และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนของผู้เลือกตั้งคือเรื่องอื้อฉาว ด้วยความที่ผู้คนจำนวนมากสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมส่วนตัวของคนที่มีชื่อเสียงในสังคม ดังนั้นเมื่อมีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นแก่บุคคลที่มีชื่อเสียง การแพร่กระจายของข่าวสารก็เป็นไปอย่างเร็วดุจไฟลามทุ่ง เรื่องที่มักถูกมองว่าเป็นเรื่องอื้อฉาวคือ เรื่องที่มีการกระทำละเมิดศีลธรรม เรื่องที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมตามค่านิยมหรือบรรทัดฐานของสังคม และ/หรือเรื่องการละเมิดกฎหมาย เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น การเกี่ยวพันกับการค้าหรือเสพยาเสพติด การฉ้อโกง หรือการใช้อำนาจรังแก และเอารัดเอาเปรียบประชาชน
บทบาทของเรื่องอื้อฉาวคือ การสร้างความเสื่อมถอยต่อชื่อเสียงและคะแนนนิยมของบุคคลหรือพรรคการเมืองที่ตกอยู่ในกระแสความอื้อฉาว การหาเสียงในลักษณะนี้เป็นการหาเสียงในเชิงลบ โดยใช้ “สำนึกทางศีลธรรม” และ “ความหวาดกลัว” ของประชาชนเป็นเครื่องมือเพื่อทำลายคู่แข่ง เมื่อประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความอื้อฉาวของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดบ่อยครั้งเข้า ไม่ว่าจะมีรากฐานจากข้อเท็จจริงหรือเป็นการใส่ร้ายป้ายสีก็ตาม สำนึกเชิงศีลธรรม และ/หรือความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นภายในจิตของประชาชนก็จะแสดงอิทธิพลออกมา ซึ่งทำให้บุคคลเหล่านั้นเกิดความรู้สึกอยากแยกตัวออกห่างจากนักการเมืองและพรรคการเมืองที่มีความอื้อฉาว และกลุ่มคนบางส่วนอาจพัฒนาความรู้สึกของพวกเขาไปสู่ระดับความรังเกียจในที่สุด
ดังนั้นนักการเมืองคนใดหรือกลุ่มใดที่ตกอยู่ในกระแสของความอื้อฉาว โดยประชาชนสงสัยว่ามีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม หรือประชาชนเกิดความกลัวว่า หากบุคคลเหล่านั้นมีอำนาจรัฐแล้ว จะสร้างความเสียหายแก่สังคม ประชาชนที่มีความรู้สึกและความคิดเช่นนี้ก็ย่อมไม่ลงคะแนนแก่นักการเมืองเหล่านั้น หรือบางคนอาจจะเข้าร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อต่อต้านไม่ให้นักการเมืองเหล่านั้นมีโอกาสครอบครองอำนาจรัฐได้
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้เหมือนกันว่าในบางกรณี ที่ภายหลังประชาชนอาจรับรู้ว่า เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับนักการเมืองบางคนหรือพรรคการเมืองบางพรรคที่แพร่กระจายอยู่ในสังคมไม่เป็นความจริง แต่เมื่อความรู้สึกปริแยกออกแล้ว ก็ยากที่จะสมานสนิทดุจเดิมได้ ตะกอนแห่งความระแวงก็ยังคงตกค้างอยู่ภายในจิตใจ และมีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่น้อยทีเดียว
แม้ว่าในอดีตการหาเสียงแบบโจมตีโดยใช้เรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นอยู่เสมอ และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนของผู้เลือกตั้งบางระดับ ซึ่งมีขอบเขตไม่กว้างไกลเท่าไรนัก ทว่าในปัจจุบันและอนาคต ด้วยโครงสร้างการสื่อสารทางสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล จะทำให้เรื่องอื้อฉาวแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง จนยากที่ผู้ตกอยู่ในกระแสความอื้อฉาวสามารถตอบโต้และแก้ตัวได้ทันท่วงทีและครอบคลุมในทุกพื้นที่ ดังนั้นเรื่องอื้อฉาวจะกลายเป็นเรื่องที่สามารถสร้างอิทธิพลอย่างสูงต่อการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกและการตัดสินใจของผู้เลือกตั้ง
การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการหาเสียงเพื่อสร้างคะแนนนิยมให้แก่ตนเอง และบั่นทอนทำลายคะแนนเสียงของคู่แข่งจะกลายเป็นวิธีการหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเลือกตั้งไทยในอนาคต พื้นที่ในสื่อสังคมออนไลน์จะกลายเป็นพื้นหลัก ที่ต่างฝ่ายต่างพยายามช่วงชิงเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน นักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆในปัจจุบันจึงพยายามพัฒนาทักษะการสื่อสารสังคมออนไลน์อย่างขนานใหญ่ ส่วนใครจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไรนั้น นอกจากทักษะด้านเทคนิคของการสื่อสารแล้ว ความสามารถในการวิเคราะห์ความคิด ความเชื่อทางสังคมและการเมืองของผู้เลือกตั้ง รวมทั้งพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารและการแพร่กระจายข่าวสารทางการเมืองในสื่อสังคมออนไลน์ก็เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
ผมคิดว่า การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการสื่อสารของสังคมในโลกยุคใหม่ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยในอนาคต การเปลี่ยนแปลงที่เหนือความคาดหมายของคนจำนวนมากในสังคมอาจเกิดขึ้นมาก็ได้ กล่าวได้ว่า เมื่อประตูแห่งโอกาสได้เปิดกว้างขึ้นกว่าเดิม ความเป็นไปได้ทางการเมืองในหลากหลายรูปแบบก็จะเกิดตามมา
(๔)
เผยแพร่: 10 ส.ค. 2561
ประเทศไทยมีการใช้กฎหมายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนอย่างยาวนาน พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนที่กลุ่มผู้ร่างกฎหมายต้องการเปลี่ยนคือพฤติกรรมการซื้อขายเสียง แต่ทว่าหลังพยายามมานานหลายสิบปี พฤติกรรมการซื้อขายเสียงก็มิได้หมดไปแต่อย่างใด ยังคงดำรงอยู่อย่างหนาแน่นและมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก
การใช้กฎหมายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนมีอยู่ในกฎหมายหลักสี่ฉบับคือกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายรัฐธรรมนูญได้กำหนดโครงสร้างระบบการเลือกตั้งในภาพรวมที่เรียกว่าระบบสัดส่วนผสม ซึ่งทำให้มีการเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดระหว่างการเลือกตั้งส.ส.ในแบบระดับเขตเลือกตั้ง และการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง
สิ่งที่เป็นของใหม่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ คือ ผู้เลือกตั้ง ๑ คน สามารถเลือกผู้สมัคร ส.ส. ในระดับเขตได้ ๑ คน แต่ผลของคะแนนที่เลือกจะถูกนำไปนับรวมกับคะแนนของผู้เลือกตั้งในเขตอื่นๆทั่วประเทศด้วย เพื่อนำไปประมวลเป็นคะแนนรวมของพรรคการเมือง และนำมาคิดเป็นจำนวน ส.ส.ทั้งหมดที่พึงได้ของพรรคการเมืองนั้นๆ คะแนนเสียงของผู้เลือกตั้ง ๑ คน จึงมีสองนัย นัยแรกคือ “ต่อตัว ส.ส.” ที่ถูกเลือกในเขตเลือกตั้ง และ นัยที่สองคือ “ต่อพรรคการเมือง” ในแง่จำนวน ส.ส.ทั้งหมดที่พรรคได้รับ และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค
การคิดจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองพึงได้รับ คิดโดยการนำจำนวนประชาชนที่ไปลงคะแนนเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ หารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมดซึ่งคือ ๕๐๐ คน ผลลัพธ์คือตัวเลขจำนวนคะแนนเสียงต่อ ส.ส. หนึ่งคน ซึ่งคาดการณ์กันว่าในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้อยู่ที่ประมาณ ๗๕,๐๐๐ - ๘๐, ๐๐๐ คะแนนต่อ จำนวน ส.ส.ของพรรคหนึ่งคน ดังนั้นหากพรรคการเมืองใดได้คะแนนรวมกันทั่วประเทศ ๘๐๐, ๐๐๐ คะแนน ก็จะมี ส.ส. ได้ประมาณ ๑๐ คน
ระบบการเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้คะแนนเสียงของผู้เลือกตั้งมีน้ำหนักความสำคัญมากกว่าระบบการเลือกตั้งในอดีต หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “คะแนนเสียงมีมูลค่าเพิ่มขึ้น” และระบบการเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้คำขวัญประเภท “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” ที่ใช้กันในอดีตหมดความหมายลงไป
ระบบการเลือกตั้งในอดีตเป็นแบบแยกกันเด็ดขาดระหว่างคะแนนของผู้สมัครในระดับเขตเลือกตั้ง และคะแนนการเลือกพรรคการเมือง ทำให้ผู้เลือกตั้งสามารถใช้เหตุผลในการเลือกตั้งได้อย่างน้อย ๒ เหตุผล เช่น ในการเลือกผู้สมัครระดับเขตเลือกตั้ง อาจใช้เหตุผลในเรื่อง “ความเป็นผู้มีน้ำใจของผู้สมัคร” เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ ส่วนในการลงคะแนนเสียงเลือกพรรคการเมืองนั้นอาจใช้เหตุผลในเรื่อง “ความสอดคล้องระหว่างจุดยืนทางการเมืองของตนเองกับพรรคการเมืองนั้นๆ” เป็นเกณฑ์ตัดสินใจ เมื่อสามารถเลือกโดยใช้เหตุผลสองประการตามความต้องการ ความขัดแย้งในจิตใจของผู้เลือกตั้งจึงมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แม้ว่า ส.ส.ที่รัก จะไม่สังกัดพรรคที่ชอบก็ตาม
แต่ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ผู้เลือกตั้งสามารถลงคะแนนได้เพียงคะแนนเดียวนั้น หากเกิดกรณี ผู้สมัครที่รัก ไม่ได้สังกัดพรรคที่ชอบ ผู้เลือกตั้งจำนวนหนึ่งจะต้องตัดสินใจอย่างจริงจังว่าจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์หลักในการตัดสินใจระหว่าง “ความมีน้ำใจส่วนตัวของผู้สมัคร” กับ “จุดยืนทางการเมือง”
ความมีน้ำใจของผู้สมัครเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่ผู้เลือกตั้งสามารถสัมผัสได้ในชีวิตประจำวันของพวกเขา บางคนอาจไม่ได้สัมผัสโดยตรง แต่ด้วยความที่เขตเลือกตั้งแต่ละเขตมีพื้นที่ไม่กว้างขวางนัก โอกาสที่พวกเขาได้รับรู้และซึมซับเรื่องราวเกี่ยวกับความมีน้ำใจของผู้สมัครจากการบอกเล่าของเพื่อนบ้านหรือคนรู้จักในพื้นที่เดียวกันก็มีความเป็นไปได้สูง
นักการเมืองมีรูปแบบการแสดงออกของความมีน้ำใจที่หลายหลาก ในช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้งอาจแสดงออกมาในรูปแบบของการไปร่วมงานศพ งานแต่ง งานบวช โดยอาจไปด้วยตนเองหรืออาจส่งตัวแทนเข้าไปร่วม หรืออาจแสดงออกมาในรูปของการทำบุญ การบริจาคสิ่งของช่วยเหลือวัด โรงเรียน โรงพยาบาล และผู้เดือดร้อน หรือการออกค่าใช้จ่ายในการพาไปดูงาน อบรม สัมมนา ดูกีฬา และท่องเที่ยวในที่ต่างๆ และสำหรับในช่วงที่มีการเลือกตั้ง การแสดงน้ำใจอาจออกมาในรูปของการให้ค่ารถ ค่าเสียเวลาในการไปลงคะแนนเสียงเป็นจำนวนเงินหลักหลายร้อยหรือหลักพันบาทต่อคน หรือ อาจรับซื้อสินค้าเกษตรหรือสินค้าอื่นๆของผู้เลือกตั้งด้วยราคาสูงกว่าปกติเป็นพิเศษ และรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย
โดยที่วิถีวัฒนธรรมของสังคมไทยให้คุณค่ากับความมีน้ำใจสูง ดังนั้นเมื่อมีผู้แสดงความมีน้ำใจต่อเรา ก็ทำให้เรามีพันธะผูกพันทางใจที่จะต้องแสดงน้ำใจเป็นการตอบแทน ขณะที่จุดยืนทางการเมืองเป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล ที่เชื่อมโยงกับภาพรวมของทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับผู้เลือกตั้งจำนวนมากในสังคมไทย ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่หากจำเป็นต้องเลือกระหว่าง “ผู้สมัครที่มีน้ำใจ” กับ “จุดยืนทางการเมือง” ผมคิดว่าสัดส่วนของผู้เลือกตั้งที่เลือก “ผู้สมัครที่มีน้ำใจยังสูงกว่า การเลือกจุดยืนทางการเมือง” โดยเฉพาะผู้เลือกตั้งในที่เป็นชาวบ้านทั่วๆไป
ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่จึงเป็นปัจจัยในการผลักดันให้ความมีน้ำใจของผู้สมัครมีน้ำหนักมากขึ้น และด้วยเงื่อนไขที่คะแนนเสียงทุกคะแนนมีความหมายต่อจำนวน ส.ส.ของพรรคการเมือง สิ่งที่จะตามมาคือ ทั้งพรรคการเมืองและผู้สมัครก็จำเป็นจะต้องทุ่มเททรัพยากรในการหาเสียง เพื่อแสดงความมีน้ำใจให้ผู้เลือกตั้งเห็นและสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และนั่นหมายความว่า จะทำให้การแข่งขันกันซื้อเสียงในการเลือกตั้งที่จะมาถึงมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย เพราะแม้แต่พรรคการเมืองที่ไม่ได้คาดหวังว่าผู้สมัครของตนเองจะชนะในเขตเลือกตั้ง ก็ต้องพยายามอย่างเต็มกำลังในการทำให้ผู้สมัครของตนได้รับคะแนนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อพรรคจะได้มีคะแนนมากขึ้นในภาพรวม ซึ่งหมายถึงโอกาสทำให้การมีจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นด้วย
ในการป้องกันไม่ให้เกิดการซื้อขายเสียงนั้น กฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้งกำหนดโทษไว้อย่างรุนแรง โดยเฉพาะการใช้มาตรการยุบพรรคและการเพิ่มโทษทางอาญาแก่ผู้ที่ซื้อขายเสียงหรือทุจริตเลือกตั้งในรูปแบบอื่นๆ และในกฎหมายกกต.ก็ได้มีการออกแบบให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง ขึ้นมาแทนคณะกรรมการเลือกตั้งจังหวัด ด้วยหวังว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งจะทำหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพสูงกว่าคณะกรรมการเลือกตั้งจังหวัด
การออกแบบทางกฎหมายในลักษณะดังกล่าว ผมคิดว่าไม่มีผลให้นักการเมือง และพรรคการเมืองเกิดความเกรงกลัว และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อเสียงเลือกตั้งแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากในช่วงปัจจุบันซึ่งอยู่ระหว่างการจัดตั้งพรรคการเมือง ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ตีความได้ว่า การซื้อตัวอดีตส.ส. เพื่อให้มาสังกัดหรือสนับสนุนในพรรคที่กำลังจัดตั้งใหม่โดยผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย เหตุการณ์นี้สังคมรู้จักกันในนาม “การดูด” นั่นเอง
การดูดเป็นสัญลักษณ์ของการซื้อเสียงระดับบนหรือระดับอดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ที่เคยได้รับคะแนนเสียงจากผู้เลือกตั้ง ซึ่งทำให้เราสามารถอนุมานต่อไปได้ว่า การเลือกตั้งในปีหน้า การซื้อเสียงประชาชน หรือ “การดูดผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง” เพื่อให้เลือกผู้สมัคร ส.ส. ที่สังกัดพรรคของตนเอง มีโอกาสเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย
ขณะที่ผู้ดูแลการเลือกตั้งอย่าง คณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นบุคคลใหม่ทั้งชุด และกลไกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งยังมีความสับสนอลหม่าน จนถึงขนาดที่สมาชิก สนช. กลุ่มหนึ่งพยายามล้มล้างผลการคัดเลือก โดยเสนอให้แก้กฎหมาย กกต.เสียใหม่ ล้วนแล้วแต่เป็นปรากฎการณ์ที่ส่งสัญญาณให้เห็นว่า ความเป็นไปได้ที่ กกต.จะสามารถดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรมนั้น คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก
ระบบการเลือกตั้งทำให้มูลค่าของคะแนนเสียงผู้เลือกตั้งเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองแข่งขันกันรุนแรงยิ่งขึ้น ขณะที่กฎหมายพรรคการเมือง ก็ไม่ทำให้ผู้บริหารพรรคการเมืองคนใดหวั่นเกรงการถูกยุบพรรคแต่อย่างใด และกฎหมายเลือกตั้งก็ไม่ได้ทำนักการเมืองที่เขี้ยวลากดินคนใดกลัวเกรงโทษทางอาญา เพราะพวกเขาเชื่อมั่นในความเชี่ยวชาญของตนเองที่จะหลีกเลี่ยง หรือทำให้กฎหมายเลือกตั้งไร้สมรรถภาพในการบังคับใช้ ส่วนกฎหมายกกต. ที่พยายามทำให้ กกต.มีคุณภาพและประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ และกำลังจะเกิดต่อไป ดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับความคาดหวังอย่างสิ้นเชิง
ดังนั้นเราจึงสรุปได้ว่า “มีความเป็นไปได้น้อยมาก” ที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งร่างโดย กรธ. และรับรองโดย สนช. ภายใต้การกำกับและชี้นำของ คสช. จะไปสร้างอิทธิพลให้นักการเมือง กกต. เจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชน เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อขายเลือกตั้ง โดยนัยนี้จึงถือได้ว่า ความพยายามในการปฏิรูปการเมืองของกลุ่มผู้มีอำนาจในระยะสี่ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มประสบความล้มเหลว และอาจกลายเป็นการสะสมเชื้อเพลิงแห่งความขัดแย้งในอนาคตต่อไป
แต่หากในอนาคต ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นมา ผู้มีอำนาจทางการเมืองในปัจจุบันจะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อครองอำนาจต่อไปก็หาได้ไม่ เพราะว่าเป้าหมายของความขัดแย้งจะรวมศูนย์พุ่งตรงไปยังบรรดาบุคคลเหล่านั้น
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบันมีแนวโน้มจะกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนเสียเอง ดังนั้นความชอบธรรมที่อ้างว่า “เข้ามาเพื่อยุติความขัดแย้ง” จึงไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป
(๕)
เผยแพร่: 17 ส.ค. 2561
ผู้เล่นทางการเมืองในสนามเลือกตั้งโดยตรงมีทั้งผู้เล่นหน้าเก่าและผู้เล่นหน้าใหม่ ผู้เล่นหน้าเก่าคือพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา เป็นต้น ส่วนผู้เล่นหน้าใหม่คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคกรีน เป็นต้น ส่วนผู้เล่นที่มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งแต่ไม่ได้ลงสู่สนามการเลือกตั้งโดยตรงคือ กลุ่มคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้เล่นแต่ละกลุ่มมีความปรารถนาและบทบาทหน้าที่แตกต่างกันออกไป
ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองที่อยู่ภายใต้การกำกับของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นพรรคที่มีบทบาทเด่นทางการเมืองมาโดยตลอด ไม่ว่าพรรคนั้นจะใช้ชื่ออะไรก็ตาม ชื่อล่าสุดที่ยังคงใช้อยู่คือ พรรคเพื่อไทย และอาจเป็นชื่อที่ใช้ในการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ แต่ก็ใช่ว่าจะแน่นอนเสียทีเดียว เพราะอาจมีเรื่องที่เหนือความคาดหมายเกิดขึ้นกับพรรคนี้ก็ได้ในอนาคต
จนถึงเวลานี้ พรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถกำหนดได้ว่า ผู้ใดเป็นหัวหน้าพรรคและนำทัพในการเลือกตั้ง สำหรับชื่อของบุคคลที่ออกมาสู่สาธารณะในฐานะว่าที่หัวหน้าพรรคมีหลายชื่อ เช่น สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จาตุรนต์ ฉายแสง เป็นต้น แต่ใครจะเป็นหัวหน้าตามกฎหมายดูเหมือนไม่มีความสำคัญมากนักสำหรับพรรคนี้ เพราะเป็นเพียงแค่นามเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ส่วนผู้มีอิทธิพลและทรงอำนาจต่อพรรคตัวจริงดูเหมือนยังคงเป็นนายทักษิณ ชินวัตร เช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม การแสดงความคิดชี้นำและครอบงำพรรคเพื่อไทยอย่างเปิดเผยของนายทักษิณ ชินวัตรดังที่เคยทำในอดีตประเภท “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ไม่สามารถทำได้แล้วในปัจจุบัน เพราะว่ากฎหมายพรรคการเมืองพ.ศ. ๒๕๖๐ กำหนดห้ามบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคครอบงำและชี้นำพรรค หากฝ่าฝืน พรรคนั้นอาจถูกยุบได้
ข้อกำหนดนี้อาจส่งผลต่อการสร้างกระแสนิยมในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยอยู่ไม่น้อย เพราะว่าความนิยมที่ประชาชนมอบให้พรรคเพื่อไทยนั้นเชื่อมโยงอย่างเข้มข้นกับความนิยมต่อนายทักษิณ ชินวัตร ดังนั้นหากขาดการสนับสนุนอย่างเปิดเผยและแข็งขันของนายทักษิณ ชินวัตร ต่อพรรคในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง อาจทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เคยนิยมและเลือกพรรคเพื่อไทยเกิดความลังเลว่าจะสนับสนุนพรรคเพื่อไทยอีกต่อไปหรือไม่
แม้ว่านายทักษิณ ชินวัตรไม่สามารถชี้นำพรรคเพื่อไทยอย่างเปิดเผยได้ แต่ในทางลับและทางอ้อมก็ยังสามารถทำได้ เช่น การพบปะพูดคุยและชี้นำทางความคิดแก่กลุ่มอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยในต่างประเทศเป็นครั้งคราว โดยใช้เรื่องการไปอวยพรวันเกิด หรือการไปเยี่ยมเยียนเป็นข้ออ้าง หรือกระทำทางอ้อม โดยพูดและสื่อสารสู่สาธารณะว่า จะต่อสู้ในสงครามทางการเมืองต่อไป เพื่อส่งสัญญาณต่อผู้เลือกตั้งที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยให้รับรู้ว่า ตนเองยังไม่ได้วางมือทางการเมืองแต่อย่างใด
การที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยถูกล้มล้างโดย คสช. ในปี ๒๕๕๗ ทำให้แกนนำของพรรคจำนวนมากมีความรู้สึกเป็นปรปักษ์กับ คสช. และ ผมก็คิดว่า คสช.เองก็มีความปรารถนาไม่ให้พรรคนี้ได้รับชัยชนะและกลับมาเป็นรัฐบาลอีกหลังจากเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ ความปรารถนานี้เห็นได้ทั้งจากข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ เรื่องระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และในกฎหมายพรรคการเมืองเรื่อง การห้ามไม่ให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคครอบงำและชี้นำพรรคการเมือง รวมทั้งการที่กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลคสช. ที่จัดตั้งพรรคพลังประชารัฐใช้กลวิธี “การดูด” อดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย เข้าไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ และกลวิธีอื่นๆอีกหลายประการทั้งแบบเปิดเผยและแบบปิดลับเพื่อบั่นทอนความนิยมของผู้เลือกตั้งที่มีต่อพรรคเพื่อไทย
เป็นความจริงที่ประจักษ์ชัดว่า ในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา การที่พรรคเพื่อไทย รวมทั้งพรรคการเมือง อื่นๆที่อยู่ภายใต้การกำกับบงการของนายทักษิณ ชินวัตรนั้น เป็นรัฐบาล ได้ทำให้สังคมไทยเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งในระดับกว้างและระดับลึก นำไปสู่ความเสียหายแก่ประเทศอย่างไม่อาจประมาณได้ ดังนั้นหากพรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะและกลับมาเป็นรัฐบาลอีกภายหลังการเลือกตั้ง ปี ๒๕๖๒ โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นอีก ก็มีความเป็นไปได้สูง ภายใต้สมมติฐานนี้ จึงเป็นเหตุผลให้กลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบันพยายามหาหนทางในการระงับเหตุเสียแต่ต้นลม แต่แน่นอนว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยและผู้สนับสนุนย่อมคิดแตกต่างออกไป
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีเหตุการณ์บางอย่างที่อาจสร้างผลกระทบทางลบต่อนายทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยอย่างรุนแรง นั่นคือการที่มีนักร้องชื่อ เสก โลโซ ซึ่งเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทยมาอย่างยาวนาน ได้เผยแพร่คลิปวีดีโอการปราศรัยของตนเองที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์และด่าทอนายทักษิณ ชินวัตรและนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอย่างรุนแรง คลิปวีดีโอดังกล่าวได้เผยแพร่ออกเป็นวงกว้างมีผู้คนรับชมนับล้านคน ซึ่งย่อมส่งผลต่อความคิดและความรู้สึกต่อผู้ที่เคยสนับสนุนตระกูลชินวัตรอยู่ไม่น้อยทีเดียว
สิ่งหนึ่งที่เคยทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมมากในอดีตคือ นโยบายประชานิยม เช่น นโยบายจำนำข้าว นโยบายกองทุนหมู่บ้าน นโยบายให้บริการสาธารณสุขในราคาสามสิบบาท เป็นต้น แต่นโยบายเหล่านี้ได้ถูกเลียนแบบและต่อยอดโดยรัฐบาล คสช. โดยใช้ชื่อต่างกัน เช่น นโยบายประชารัฐ นโยบายแจกเงินค่าครองชีพโดยผ่านบัตรคนจน เป็นต้น และมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถผลักดันให้สำเร็จภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ภายใต้รัฐบาล คสช. กล่าวได้ว่าสิ่งที่รัฐบาลคสช.ดำเนินการคือ การสานต่อความคิดจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั่นเอง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า รัฐบาลทั้งสองต่างมีแก่นความคิดหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองจากนักการตลาดคนเดียวกัน ซึ่งคือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นั่นเอง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณ ปัจจุบันเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ ดังนั้นนโยบายจำนวนมากของทั้งรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลประยุทธ์จึงมีแก่นความคิดหลักไม่แตกต่างกัน สิ่งที่แตกต่างกันบ้างคือ ภาษาและรูปแบบบางอย่างเท่านั้นเอง
ประกอบกับมีข่าวที่น่าเชื่อว่าเป็นจริง ที่ว่านายสมคิด เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ นั่นหมายถึงว่า พรรคพลังประชารัฐจะกลายเป็นพรรคคู่แข่งสำคัญในสนามการใช้นโยบายประชานิยม เพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงจากผู้เลือกตั้งที่อยู่ในชนบทภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งเคยเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยมาก่อน
ยิ่งกว่านั้นในอีกมิติหนึ่งของการเมืองของพรรคเพื่อไทยคือ การพยายามสร้างภาพลักษณ์แห่งการเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อดึงดูดความนิยมจากชนชั้นกลางและผู้เลือกตั้งรุ่นเยาว์ การสร้างภาพลักษณ์ให้ผูกติดกับประชาธิปไตยก็ได้ผลระดับหนึ่ง เพราะทำให้ชนชั้นกลางและนักวิชาการบางส่วนหลงเชื่อตามนั้น ถึงกับมีนักวิชาการใหญ่บางคนที่เขียนบทความเสนอให้พรรคเพื่อไทยทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นั่นคือ การทำให้พรรคเป็นอิสระจากนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งหากแกนนำของพรรคเพื่อไทยทำตามข้อเสนอนี้จริง ผลสืบเนื่องที่ตามมาคือการล่มสลายของพรรคเพื่อไทยนั่นเอง ความเป็นจริงที่ว่า “ปราศจากทักษิณ ก็ไร้พรรคเพื่อไทย” ยังคงเป็นสิ่งยากปฏิเสธได้ ไม่ว่าใครจะพยายามหลอกตนเองอย่างไรก็ตาม
ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ยังมี “พรรคอนาคตใหม่” เกิดขึ้นซึ่งจะกลายเป็นคู่แข่งของพรรคเพื่อไทยในบางปริมณฑลของสนามการเลือกตั้ง พรรคนี้เกิดจากการรวมกลุ่มของนายทุนและชนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยมาก่อน กลุ่มนี้ได้สร้างภาพลักษณ์ความเป็นคนรุ่นใหม่ และใช้วาทกรรมประชาธิปไตยเป็นหลักในการหาเสียงและหาสมาชิก
กลุ่มเป้าหมายหลักพรรคอนาคตใหม่คือ กลุ่มชนชั้นกลางบางส่วนผู้เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยมาก่อน และกลุ่มผู้เลือกตั้งหน้าใหม่ แน่นอนว่าพรรคนี้ย่อมสร้างผลกระทบต่อคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยอยู่ไม่น้อย เพราะมีเป้าหมายกลุ่มเดียวกับที่เคยเป็นฐานคะแนนของพรรคเพื่อไทยมาก่อน ขณะเดียวกันก็เป็นอุปสรรคในการหาคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ของพรรคเพื่อไทยด้วย
นอกจากเรื่องที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องเผชิญอีกประการคือ กระแสทางการเมืองที่ว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีโอกาสที่จะเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ซึ่งแนวโน้มดูจะเป็นจริงตามนั้น การที่พรรคการเมืองใดพรรรคการเมืองหนึ่งไม่มีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ทำให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งตัดสินใจไม่เลือกพรรคนั้น เพราะว่าคนทั่วไปไม่น้อยทีเดียวต้องการอยู่ข้างเดียวกับผู้ชนะและเป็นรัฐบาล
เส้นทางของพรรคเพื่อไทยในสนามเลือกตั้งที่จะมาถึงในปี ๒๕๖๒ จึงเป็นเส้นทางที่ยากลำบาก และโอกาสที่จะผงาดขึ้นมาในสนามการเมืองดังที่เคยเป็นในอดีตมีความเป็นไปได้น้อยอย่างยิ่ง ภาพของตะวันยามคล้อยบ่าย ดูเหมือนจะเป็นภาพที่สอดคล้องกับความจริงในปัจจุบันและอนาคตของพรรคการเมืองนี้เป็นอย่างดี
(๖)
เผยแพร่: 24 ส.ค. 2561
ความเก่าแก่และความเป็นสถาบันของ “พรรคประชาธิปัตย์” เป็นได้ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวเอง จุดแข็งคือความมีเสถียรภาพ การเป็นที่รู้จัก และการมีฐานเสียงที่มั่นคงในระดับหนึ่ง ขณะที่จุดอ่อนคือการมีกรอบคิดที่แข็งตัว ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต และมีความเชื่องช้าในการรับรู้และปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคม
รากฐานทางอุดมการณ์ดั้งเดิมของพรรคประชาธิปัตย์คืออนุรักษนิยม ซึ่งยึดมั่นและเชิดชูคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีจุดยืนทางการเมืองต่อต้านอุดมการณ์สังคมนิยมของกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ และอำนาจนิยมเผด็จการทหารของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม พรรคประชาธิปัตย์แสดงบทบาทเป็นฝ่ายค้านอย่างแข็งขัน พรั่งพร้อมไปด้วยนักการเมืองที่มีฝีปากกล้าในการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล จนเป็นที่รับรู้ในสังคมว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านมืออาชีพ ภาพลักษณ์นี้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นต้นมา
อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์มีการปรับเปลี่ยนอยู่บ้างในช่วงหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ โดยนำแนวอุดมการณ์แบบเสรีนิยมเข้ามาผสมผสานกับอนุรักษ์นิยมเดิม พรรคประธิปัตย์เป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ช่วงสั้นๆ ก่อนเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ และมีโอกาสเข้าสู่การบริหารประเทศอย่างต่อเนื่องในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในช่วง ๒๕๒๓ ถึง ๒๕๓๑ ต่อมาหลังเหตุการณ์พฤษาทมิฬ ๒๕๓๕ จนถึงปี ๒๕๔๔ พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลสองครั้งและอยู่ในอำนาจอยู่หลายปี และมีช่วงสั้นๆที่สลับฉากด้วยการเป็นฝ่ายค้าน ต่อมาระหว่างปี ๒๕๕๑ ถึง ๒๕๕๔ พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง
สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์สองครั้งหลังสุดคือ พรรคไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลทันทีหลังการเลือกตั้ง เพราะว่าคะแนนเสียงที่ได้อยู่ในลำดับสอง แต่การเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์เกิดขึ้นภายหลังพรรคอื่นที่ได้รับคะแนนเสียงมากเป็นลำดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลแล้ว แต่ไม่สามารถนำรัฐนาวาได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะบริหารงานผิดพลาดจนสร้างวิกฤตทางการเมืองและนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลเหล่านั้น และ ณ เวลานั้นนั่นเองที่เป็นโอกาสของพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามาเป็นพรรครัฐบาลแทน ดังกรณีการขึ้นมาเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ปลายปี ๒๕๔๐ ซึ่งมาจากการล่มสลายของรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ์ แห่งพรรคความหวังใหม่ และ ปลายปี ๒๕๕๑ ซึ่งเกิดจากการล่มสลายของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช แห่งพรรคพลังประชาชน
ในสองทศวรรษที่ผ่านมา ฐานเสียงที่มั่นคงและแข็งแกร่งอย่างมากของพรรคประชาธิปัตย์คือ ภาคใต้ กล่าวได้ว่าประชาชนในภาคใต้นั้นไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลางหรือชาวบ้านทั่วไป ส่วนใหญ่ก็สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น รองลงมาคือกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นฐานเสียงที่มีความมั่นคงค่อนข้างมาก กลุ่มชาวกรุงเทพฯที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง มีการศึกษาค่อนข้างสูง และวัยผู้ใหญ่ขึ้นไป ขณะที่ชาวบ้าน ชาวชุมชน และชนชั้นกลางระดับล่าง ไม่ใช่ฐานเสียงที่มั่นคงของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย และนักการเมืองบางคน
สำหรับในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเสียงเหนือที่พรรคประชาธิปัตย์พอจะมีคะแนนอยู่บ้างมาจากสององค์ประกอบ ส่วนแรกคือคะแนนเสียงที่มาจากตัวผู้สมัคร ซึ่งเป็นคะแนนเสียงหลัก และส่วนที่สองคือคะแนนเสียงของพรรค ซึ่งเป็นด้านรอง สำหรับคะแนนที่เป็นฐานเสียงของพรรคในต่างจังหวัดนั้น ผมประเมินว่า เป็นกลุ่มชนชั้นกลาง ที่มีการศึกษาสูงเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร
การเลือกตั้งใน พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่จะมาถึง พรรคประชาธิปัตย์ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ ซึ่งมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ประการแรก ปมปัญหาเรื่องหัวหน้าพรรค ในเวลานี้ดูเหมือนจะไม่มีสมาชิกพรรคคนใดที่มากบารมีเพียงพอในการแข่งขันช่วงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ ทำให้นายอภิสิทธิ์ มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นผู้นำพรรคในการลงสนามเลือกตั้ง
เมื่อเทียบความนิยมของนายอภิสิทธิ์ ในฐานะตัวเลือกของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง จากการสำรวจของนิด้าโพล ปรากฎว่าอยู่ในลำดับสาม รองจากพลเอกประยุทธ์ จันท์โอชา นายกรัฐมนตรี (๓๑.๒๖%) ถัดมาคือว่าที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ตราบใดที่นายทักษิณ ชินวัตรให้การรับรอง (๒๑.๐๔ %) จากนั้นจึงเป็นนายอภิสิทธิ์ ซึ่งได้รับคะแนนนิยมเพียง ๑๐.๕๐ % แต่ที่น่าสนใจก็คือในเขตกรุงเทพมหานคร คะแนนนิยมของนายอภิสิทธิ์ เลื่อนไถลลงไปเป็นอันดับสี่ เป็นรองแม้กระทั่งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (คะแนนนิยมเฉพาะในกทม. ธนาธรได้ ๑๕.๑๓ % ส่วนอภิสิทธิ์ได้ ๘.๔๐ %)
เมื่อยี่สิบปีที่แล้วนายอภิสิทธิ์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีความโดดเด่น และเป็นความหวังของผู้เลือกตั้งจำนวนมาก ทว่าในปัจจุบันภาพนั้นได้เลือนหายไปแล้ว นายอภิสิทธิ์ ถูกรับรู้ในฐานะที่เป็นนักการเมืองที่มีความคิดและฝีมือการบริหารที่เป็นไปตามเกณฑ์ธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งไม่มีความคิด ค่านิยม หรือนโยบายใหม่ๆที่โดดเด่นและแสดงออกมาให้สาธารณะรับรู้หรือมองเห็นได้
ตามปกติเมื่อผู้นำพรรคไม่สามารถสร้างคะแนนนิยมเพิ่มเติมแก่พรรคได้ การแก้ไขคือการปรับเปลี่ยน ซึ่งทำได้อย่างน้อยสองแนวทางคือ แนวแรกคือ ยังใช้ผู้นำคนเดิม แต่มีการปรับเปลี่ยนบุคลิก กรอบคิดและลีลาการนำพรรค และแนวที่สองคือ การเปลี่ยนตัวผู้นำ โดยแสวงหาบุคคลใหม่ที่มีความโดดเด่นกว่าขึ้นมาแทน แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนแบบใดสิ่งที่สำคัญคือ ต้องสอดคล้องกับทัศนคติ ค่านิยมและความต้องการของผู้เลือกตั้งเป็นหลัก
ปมปัญหาประการที่สองคือ การปรากฎตัวของคู่แข่งหน้าใหม่ที่มีศักยภาพในการช่วงชิงคะแนนจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีพรรคหลักอย่างน้อย ๓ พรรค คือ พรรคแรกคือ พรรคพลังประชารัฐหรือจะเป็นชื่ออื่นก็ได้ แต่มีเงื่อนไขที่สำคัญคือต้องได้รับการสนับสนุนจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็นไปอย่างเปิดเผยหรือรู้กันโดยนัยก็ตาม และพรรคนี้จะต้องสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นพรรคที่มาช่วงชิงฐานเสียงบางส่วนในกรุงเทพมหานคร ภาคใต้ ภาคกลางของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางที่มีอายุตั้งแต่ ๕๐ ปีขึ้นไป
พรรคที่สองคือ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ องค์ประกอบหลักของพรรคนี้เป็นการผสมผสานระหว่างอดีตนักการเมืองเก่าจากพรรคประชาธิปัตย์ กับนักกิจกรรมทางการเมืองภาคประชาชนบางส่วนที่เคยร่วมกับ กปปส. เคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พรรคนี้จะช่วงชิงคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ไปอีกบางส่วนในภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พรรคที่สามคือ พรรคอนาคตใหม่ พรรคนี้ไม่ได้แย่งฐานเสียงที่มีอยู่แล้วของพรรคตประชาธิปัตย์ แต่จะแย่งคะแนนเสียงในกลุ่มคนที่เป็นผู้เลือกตั้งหน้าใหม่ หากไม่มีพรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์อาจมีโอกาสได้รับคะแนนเสียงจากผู้เลือกตั้งหน้าใหม่ที่เป็นลูกหลานของชนชั้นกลางมากพอสมควร แต่เมื่อมีพรรคอนาคตใหม่ที่สร้างภาพลักษณ์ของความเป็นคนรุ่นใหม่ได้อย่างโดดเด่นกว่าพรรคประชาธิปัตย์ จึงทำให้ผู้เลือกตั้งหน้าใหม่จำนวนมากมีแนวโน้มสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์
สำรับปมปัญหาที่สามคือ นโยบาย ยุทธศาสตร์การหาเสียงและจุดยืนทางการเมือง ในสังคมไทยนั้นบุคลิกและภาพลักษณ์ของผู้นำพรรคมีความสำคัญต่อคะแนนนิยมไม่น้อย พรรคการเมืองไทยจึงใช้ภาพลักษณ์ของหัวหน้าพรรคเป็นประเด็นหลักอย่างหนึ่งในการหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อพรรคการเมืองใดตัดสินใจเลือกสร้างและใช้ภาพลักษณ์ใดขึ้นมาหาเสียงแล้ว และหากภาพลักษณ์นั้นตกผลึกในจิตใจผู้เลือกตั้งแล้ว สิ่งนั้นก็จะดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่นยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย เพราะภาพลักษณ์ดังกล่าวอาจเป็นที่นิยมชื่นชอบของฐานคะแนนเดิม ดังนั้นหากเปลี่ยนแปลงเป็นภาพลักษณ์ใหม่ก็อาจกระทบกับฐานคะแนนเดิมได้ การสร้างภาพลักษณ์ที่ยังรักษาฐานคะแนนเดิม ขณะเดียวกันก็ดึงดูดผู้ลงคะแนนหน้าใหม่จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ซึ่งจะอาศัยการคิดและวิเคราะห์อย่างละเอียด ลึกซึ้ง และรอบด้าน
ในส่วนนโยบายนั้นมีสองประเภทหลักคือ นโยบายเชิงประเด็นการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ กับนโยบายเชิงค่านิยมและจุดยืนทางการเมือง นโยบายแบบแรกที่พรรคการเมืองไทยนิยมใช้คือนโยบายประชานิยม ซึ่งพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคแรกที่ใช้อย่างเป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จ ทำให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ เป็นต้นมา หลังจากนั้นพรรคการเมืองต่างๆก็เลียนแบบนโยบายประชานิยม เพียงแต่อาจใช้ชื่อเรียกที่แตกต่างกัน แต่แก่นของเนื้อหาสาระมีความใกล้เคียงกันมาก สำหรับนโยบายเชิงปฏิรูปและพัฒนาประเทศที่มีความเป็นนามธรรมสูง มักจะใช้ไม่ค่อยได้ผลในการดึงดูดใจของผู้เลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นนโยบายกระจายอำนาจ หรือ การปฏิรูปการศึกษาก็ตาม
สำหรับการคิดนโยบายเชิงประชานิยมนั้นดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นรองพรรคเพื่อไทยอยู่ไม่น้อย และในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอาจเป็นรองพรรคพลังประชารัฐอีกด้วย เพราะว่าทีมนักการตลาดทางการเมืองที่เคยคิดนโยบายประชานิยมให้กับพรรคไทยรักไทย ปัจจุบันมาเป็นแกนนำเงาให้กับพรรคนี้
สำหรับนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์เคยใช้ในอดีต ซึ่งสามารถดึงดูดผู้เลือกตั้งชนชั้นกลางได้คือ นโยบายเชิงค่านิยมและจุดยืนทางการเมือง แต่ทว่าค่านิยมแบบอนุรักษ์นิยมดั้งเดิมและจุดยืนต่อต้านเผด็จการที่เคยใช้ได้ผลในอดีตนั้น อาจไม่เพียงพอต่อการดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่มีค่านิยมแบบเสรีนิยมทางการเมืองมากขึ้น และอีกประการคือ การที่พรรคคู่แข่งอย่างพรรคเพื่อไทยก็ประกาศจุดยืนต่อต้านเผด็จการเหมือนกัน ซึ่งทำให้จุดยืนไม่เอาเผด็จการของพรรคประชาธิปัตย์ไม่โดดเด่นดังเช่นในอดีตอีกต่อไป
ดังนั้นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องทำการบ้านอย่างหนักหน่วง คือการวิเคราะห์และทำความเข้าใจกับค่านิยมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของผู้เลือกตั้ง และนำมาผลิตเป็นนโยบาย เพราะในบางประเทศซึ่งอาจรวมทั้งประเทศไทยด้วย นโยบายเชิงค่านิยมมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้เลือกตั้งพอๆกับนโยบายเชิงแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ หรือบางกรณีก็มากกว่าด้วยซ้ำไป นโยบายเชิงค่านิยมอยู่ในอาณาบริเวณของสิ่งที่เรียกว่า “การเมืองเชิงคุณธรรม” (moral politics) ซึ่งเป็นการเมืองที่มีความเชื่อมโยงกับคุณค่าหรือค่านิยมเชิงคุณธรรมของสังคม ประเด็นคือต้องค้นหาให้ได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีค่านิยมเชิงคุณธรรมทางการเมืองแบบใด และพรรคจะต้องเสนอนโยบายที่สะท้อนจุดยืนค่านิยมทางคุณธรรมของประชาชน เพื่อทำให้ประชาชนมีความรู้สึกเชื่อมโยงและผูกพันกับพรรค
ภายใต้เงื่อนไข ณ ปัจจุบัน หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นทั้งในส่วนการนำนโยบาย และยุทธศาสตร์ของพรรค ผมประเมินว่าตำแหน่งทางการเมืองในภาพรวมของพรรคจะอยู่ในลำดับสาม รองจาก พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคชื่ออื่นที่มีพลเอกประยุทธ์ เป็นตัวชูโรงและมีทีมของนายสมคิด และสหายเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์และดำเนินการ คะแนนเสียงที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับ เมื่อคิดเป็นจำนวน ส.ส. แล้ว น่าจะประมาณ ๑๐๐ - ๑๒๐ คน แต่สำหรับในกรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์อาจไถลเลื่อนลงไปถึงลำดับสี่ รองจากพรรคอนาคตใหม่ก็เป็นได้ ด้วยเหตุที่ว่า ฐานคะแนนเดิมถูกแย่งชิง ขณะที่ฐานคะแนนเสียงใหม่ก็ไม่อาจแสวงหาได้เพิ่มขึ้นนั่นเอง
(๗_จบ)
เผยแพร่: 31 ส.ค. 2561
ทุกครั้งที่คณะรัฐประหารจำเป็นต้องส่งมอบการเลือกตั้งแก่สังคม ความพยายามในการสืบทอดอำนาจของกลุ่มตนเองต่อไป โดยการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงสนามเลือกตั้งเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอ ทว่าประวัติศาสตร์บอกเราว่า พรรคการมืองของคณะรัฐประหารแทบทุกพรรคไม่ประสบความสำเร็จในสนามการเลือกตั้งแม้แต่น้อย ยิ่งกว่านั้นมักจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงของสังคมตามมา
ในบางยุคสมัย แม้พรรคการเมืองของคณะรัฐประหารประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ และได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ในไม่ช้าก็ประสบปัญหาชะงักงันในการบริหารประเทศ ทำให้คณะรัฐประหารต้องหวนกลับไปใช้วิธีการเข้าสู่อำนาจที่ตนเองชำนาญ นั่นคือการใช้กำลังอาวุธ และในท้ายที่สุดก็จบลงด้วยความรุนแรงทางการเมือง ดังกรณี พรรคสหประชาไทยของคณะรัฐประหารชุดจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นต้น
ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เป็นต้นมา ความล้มเหลวของพรรคการเมืองที่จัดตั้งโดยคณะรัฐประหารก็ยิ่งเด่นชัดขึ้น ดังกรณี “พรรคสามัคคีธรรม” ที่แม้จะได้รับคะแนนเสียงเป็นลำดับหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็จัดตั้งรัฐบาลได้เพียงไม่กี่วัน ความขัดแย้งอย่างรุนแรงทางการเมืองก็เกิดขึ้นตามมาทันที และนำไปสู่การล่มสลายของพรรค ส่วนเหตุการณ์ล่าสุดที่บ่งบอกถึงความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของพรรคการเมืองที่สนับสนุนคณะรัฐประหารคือ กรณี “พรรคมาตุภูมิ” ซึ่งจัดตั้งโดยกลุ่มผู้สนับสนุนพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารปี ๒๕๔๙
ในปัจจุบัน ภายหลังที่รัฐบาลของคณะรัฐประหารชุดพลเอกประยุทธ์ จันท์โอชา ครองอำนาจทางการเมืองมาสี่ปีเศษ วงล้อประวัติศาสตร์ก็หมุนมาถึงจุดที่ต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง ร่องรอยของแบบแผนเดิมก็ผุดขึ้นมาอีกครั้ง เริ่มจากความปรารถนาในการสืบทอดอำนาจ จากนั้นก็กำหนดโครงสร้างรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจ โดยให้อำนาจวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารเลือกบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้
แต่ด้วยการที่ความคิดทางการเมืองของสังคมมีพัฒนาการขึ้นอีกระดับหนึ่ง กลุ่มผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ อาจเกิดความกระดากใจ จึงไม่เขียนแบบมอบอำนาจโดยตรงแก่วุฒิสมาชิกในการเลือกนายกรัฐมนตรีดังในอดีต แต่ได้กำหนดขั้นตอนที่ซับซ้อนมากขึ้น และพยายามกำหนดเงื่อนไขให้เชื่อมโยงระหว่างเจตนารมณ์ของประชาชนกับความต้องการของคณะรัฐประหาร โดยในขั้นแรกกำหนดให้บุคคลที่มีสิทธิรับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมาจากรายชื่อบุคคลที่เสนอโดยพรรคการเมืองแต่ละพรรคก่อน อันเป็นการประนีประนอมระหว่างความปรารถนาในการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร กับบริบทสังคมไทยในยุคปัจจุบันที่ไม่อาจละเลยอำนาจของประชาชนได้
แม้ว่ามีโครงสร้างของรัฐธรรมนูญเอื้ออำนวยต่อการสืบทอดอำนาจ แต่กระบวนการสืบทอดอำนาจต่อไปก็ต้องอาศํยความชอบธรรมจากเสียงของประชาชน ดังนั้นการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงสนามเลือกตั้งจึงเป็นเงื่อนไขจำเป็น กลุ่มผู้สนับสนุนคณะรัฐประหารจึงพยายามจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ในเบื้องต้นอันเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะพรรคดังกล่าวชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นการนำชื่อของนโยบายประชารัฐของรัฐบาล ที่กันเชื่อว่าได้รับความนิยมจากประชาชนมาตั้งเป็นชื่อของพรรค
ทว่ากรอบความคิดในการจัดตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มผู้สนับสนุนคณะรัฐประหารยังคงเป็นกรอบความคิดที่ล้าหลัง นั่นคือ การจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อให้รับชัยชนะในการเลือกตั้งหรือได้คะแนนมากเป็นลำดับหนึ่งเพื่อจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไปเป็นหลัก โดยไม่ให้ความสำคัญกับอุดมการณ์ทางการเมือง แต่อย่างใด เมื่อมีกรอบความคิดแบบนี้ ความคิดที่ตามมาคือ ต้องรวบรวมอดีตส.ส.เก่าจากพรรคการเมืองอื่นๆให้เข้ามาอยู่ในพรรคนี้มากที่สุด วิธีการที่ทำให้บรรดาอดีต ส.ส.เก่าเข้ามาอยู่ในสังกัดคือ “การดูด” อันเป็นวิธีการเก่าแก่ที่ดำรงอยู่ในการเมืองไทยนั่นเอง
ตรรกะของการดูดคือ เมื่อนักการเมืองคนใด ได้รับการเสนอผลประโยชน์ในจำนวนที่พวกเขาพึงพอใจ พวกเขาก็มีแนวโน้มจะย้ายจากพรรคการเมืองเดิมมาสู่พรรคการเมืองใหม่ หรือในบางกรณี สำหรับนักการเมืองบางคนที่อาจมีคดีความบางอย่างอยู่ ก็จะมีการใช้เงื่อนไขการใช้อำนาจรัฐยับยั้งการดำเนินคดี หากนักการเมืองผู้นั้นกระทำในสิ่งที่ผู้ดูดต้องการ แต่หากไม่ทำตามก็จะเร่งรัดให้มีการดำเนินคดี ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ จึงทำให้นักการเมืองที่เป็นอดีต ส.ส. จำนวนไม่น้อยไหลทะลักเข้าสู่พรรคการเมืองที่เป็นแหล่งดูด
ทว่า ด้วยบริบทสังคมไทยในปัจจุบัน บรรดานักการเมืองที่มีพฤติกรรมล้าหลัง คล้อยไหลตามพลังดูด มักจะเป็นนักการเมืองที่ชนชั้นกลางรังเกียจ เพราะชนชั้นกลางมองนักการเมืองกลุ่มนี้ว่า เป็นนักการเมืองน้ำเน่าและสร้างปัญหาให้ประเทศและสังคมไทยอย่างลึกซึ้งและยาวนาน ดังนั้นหากพรรคการเมืองที่สนับสนุนคณะรัฐประหารดูดนักการเมืองเหล่านี้เข้าไป ก็เท่ากับว่า เป็นการดูดน้ำเน่าเข้าไปอยู่ในพรรคนั่นเอง ส่งผลให้ชนชั้นกลางจำนวนมากเกิดความอิลักอิเหลื่อที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีลักษณะเช่นนี้ของคณะรัฐประหาร แม้ว่าพวกเขาบางส่วนนิยมชมชอบบุคลิกและการทำงานของหัวหน้าคณะรัฐประหารคนปัจจุบันอยู่ไม่น้อยก็ตาม
สังคมไทยประกอบด้วยผู้เลือกตั้งที่มีลักษณะหลากหลาย มีทั้งชนชั้นกลาง ชาวบ้าน และชนรุ่นใหม่ กลุ่มคนเหล่านี้มีอัตลักษณ์และความคิดทางการเมืองแตกต่างกัน ส่งผลให้ทางเลือกของคณะรัฐประหารในการจัดตั้งพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว แล้วสามารถสร้างความนิยมให้ครอบครอบคลุมทุกกลุ่มชน เพื่อได้รับคะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปได้ยาก เพราะว่ามีความไม่ลงรอยกันของปัจจัยที่ส่งผลต่อคะแนนนิยมจากชนชั้นกลาง ชาวบ้าน และชนรุ่นใหม่
ครั้นจะตั้งพรรคขึ้นมาสองพรรคที่มีลักษณะตอบสนองอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชน ก็จะเกิดความเสี่ยงที่พรรคทั้งสองจะไม่มีพรรคใดเลยที่ประสบชัยชนะได้รับคะแนนเสียงมากเป็นลำดับหนึ่งในการเลือกตั้ง กรณีนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นหากพรรคที่สนับสนุนคณะรัฐประหารดันทุรังในการจัดตั้งรัฐบาลทั้งที่มีเสียงน้อยกว่าพรรคอื่นคือ ปัญหาความชอบธรรม
ที่นี้เราลองมาดูว่า คะแนนเสียงของพรรคการเมืองที่สนับสนุนคณะรัฐประหารมาจากแหล่งใดบ้าง ผมคิดว่าแหล่งที่สำคัญคือ ความนิยมต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานั่นเอง ซึ่งเกิดจาก บุคลิก การพูด และการแสดงออกของพลเอกประยุทธ์ที่ปรากฎต่อสาธารณะ ในสายตาของคนจำนวนมากเห็นว่า พลเอกประยุทธ์มีบุคลิกลักษณะที่ตรงไปตรงมา มีความตั้งใจทำงาน จริงใจ แสดงตัวตนในฐานะที่เป็นมนุษย์ปุถุชน ไม่เสริมแต่งเสแสร้ง หรือแสดงมายาดังนักการเมืองทั่วไป ประชาชนจำนวนไม่น้อยเชื่อมโยงบุคลิกของพลเอกประยุทธ์เข้ากับอัตลักษณ์และความเชื่อของตนเอง และเกิดความรู้สึกประดุจว่า พลเอกประยุทธ์พูดและแสดงออกแทนใจของพวกเขา
ชนชั้นกลางเหล่านี้เป็นใครบ้าง หลักๆ คือ เป็นกลุ่มคนที่ไม่เอานายทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทยและนักการเมืองน้ำเน่าทั้งหลาย บางส่วนอาจเคยนิยมพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน แต่อาจไม่ชมชอบบุคลิกแบบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงหันไปสนับสนุนคนที่มีบุคลิกแบบพลเอกประยุทธ์แทน ผมคิดว่าคนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยเคยเข้าร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มาก่อน และส่วนใหญ่มีวัยกลางคนเป็นต้นไป และยิ่งสูงวัยอัตราการสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ก็ยิ่งมีสัดส่วนสูงขึ้นตามไปด้วย
สำหรับกลุ่มชาวบ้านทั้งในเขตเมืองและชนบท ซึ่งในอดีตส่วนใหญ่นิยมนายทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย มีจำนวนหนึ่งจะเปลี่ยนใจและหันมาสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ และพรรคการเมืองที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์แทน เหตุผลหลักมีสามประการ
ประการแรกคือ บุคลิกของพลเอกประยุทธ์ มีบางส่วนที่คล้ายคลึงกับนายทักษิณ ซึ่งเป็นบุคลิกที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของชาวบ้าน ประการที่สองคือ ชาวบ้านอยากได้พรรคที่ตนเองเลือกเป็นรัฐบาล และพรรคที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ก็ถูกสร้างให้เกิดความเชื่อว่าจะได้เป็นรัฐบาลในอนาคต และประการที่สาม พรรคที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ก็จะใช้นโยบายของรัฐบาลประยุทธ์ในปัจจุบันหาเสียง และเกือบทั้งหมดของรัฐบาลเป็นนโยบายประชานิยม ซึ่งทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่แตกต่างกับพรรคเพื่อไทยในอดีตแต่อย่างใด
สำหรับคนรุ่นใหม่ หากเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อจุดยืน และอัตลักษณ์ทางการเมืองแตกต่างจากพลเอกประยุทธ์และคณะรัฐประหารอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นโอกาสที่คนกลุ่มนี้จะเลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์จึงมีน้อย อย่างไรก็ตามคนกลุ่มนี้บางส่วนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีอาจจะชมชอบบุคลิกแบบพลเอกประยุทธ์ ก็ได้ แต่ผมประเมินว่ามีสัดส่วนน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่นิยมค่อนข้างมาก
ด้วยเงื่อนไขเชิงโครงสร้างรัฐธรรมนูญ ความนิยมต่อตัวพลเอกประยุทธ์ การมีอำนาจรัฐ และการมีเงินทุนจำนวนมหาศาล โอกาสที่พรรคการเมืองที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมีสูงกว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ แต่สิ่งที่พึงระลึกเอาไว้คือ บทเรียนทางประวัติศาสตร์ ที่บอกให้เราทราบว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารนั้น นอกจากจะไร้สมรรถนะในการบริหารการเมืองภายในระบบรัฐสภาแล้ว ยังขาดความสามารถในการรับมือและจัดการกับการเมืองนอกสภาอีกด้วย
ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจึงมีโอกาสเกิดขึ้นสูง จากแรงกดดันทั้งภายในและภายนอกรัฐสภา ซึ่งก่อให้เกิดความเป็นไปได้ทางการเมืองอย่างน้อย ๓ อย่างเกิดขึ้นตาม อย่างแรกรัฐบาลของคณะรัฐประหารอาจลาออก และมีพรรคการเมืองอื่นเข้ามาเป็นรัฐบาลแทน อย่างที่สอง รัฐบาลอาจยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และอย่างที่สาม อาจมีคณะรัฐประชุมชุดใหม่เกิดขึ้น ล้มล้างรัฐบาล และนำประเทศสู่ระบอบเผด็จการอีกครั้งก็ได้
สิ่งที่คณะรัฐประหารและผู้สนับสนุนกระทำอยู่ในเวลานี้ เป็นการตอกย้ำความจริงที่ว่า ตราบใดที่กรอบความคิดทางการเมืองของกลุ่มอำนาจนำ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทหารหรือนักการเมืองยังไม่เปลี่ยนแปลง หรือถูกประชาชนกดดันให้เปลี่ยนแปลง ตราบนั้นวงจรน้ำเน่าของการเมืองไทยก็ยังคงทำงานของมันต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น