ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ว่าด้วย โลกแห่งการจำแนกและจัดลำดับ

โลกแห่งการจำแนกและจัดลำดับ
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
              เมื่อผู้คนสังเกตเห็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและสังคมอย่างใดอย่างหนึ่งหลายครั้งเข้า  ก็มีคนจำนวนไม่น้อยเริ่มเห็นว่าคุณลักษณะบางอย่างของปรากฏการณ์แตกต่างกัน บางอย่างก็เหมือนกัน  พวกเขาจึงนำสิ่งที่มีคุณลักษณะเหมือนกันมาจัดกลุ่มเอาไว้เป็นประเภทเดียวกัน   การจำแนกประเภทจึงเกิดขึ้นมา  
              ปรากฏการณ์เดียวกันอาจมีการจำแนกประเภทได้หลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าผู้จำแนกใช้กรอบคิด มุมมอง และเกณฑ์แบบใดเป็นหลักในการจำแนก   รวมทั้งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้จำแนกด้วยว่าจะใช้การจำแนกเพื่อประโยชน์ในเรื่องใด
              โดยทั่วไปมนุษย์ชอบจำแนกประเภทเพื่อให้เกิดความเข้าใจในสิ่งที่ตนเองเห็นและรับรู้มากขึ้น  มนุษย์จำแนกธรรมชาติเชิงกายภาพและชีวภาพที่ตนเองสังเกตและรับรู้ได้ทั้งด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าโดยตรงและผ่านเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์  เช่น จำแนกสภาพภูมิศาสตร์ จำแนกประเภทของเชื้อโรค และจำแนกประเภทของพลังงาน  เป็นต้น
              มนุษย์ยังจำแนกมนุษย์ด้วยกันเอง จำแนกสังคมและความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งมีทั้งในส่วนที่สังเกตได้กับส่วนที่ต้องใช้ความคิดเชื่อมโยงเชิงตรรกะ  เราจึงมีทั้งประเภทคนดีและคนชั่ว  สังคมเกษตรกรรมและ สังคมอุตสาหกรรม  และ ระบบอุปถัมภ์และระบบเครือญาติ เป็นต้น
            ยิ่งกว่านั้นมนุษย์ยังจำแนกสิ่งที่เหนือธรรมชาติด้วยการรับรู้ที่อยู่นอกเหนือประสาทสัมผัสและเหตุผลแบบธรรมดา เช่น การจำแนกระดับชั้นของสวรรค์ หรือ นรก และ การจำแนกประเภทของเทพเจ้าและภูตผีปีศาจ  เป็นต้น
               มนุษย์ใช้การจำแนกเป็นประโยชน์หลายอย่างตั้งแต่การดำเนินชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการแสวงหาความรู้ระดับสูง       บุคคลที่มีประสบการณ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากย่อมมีความสามารถในการจำแนกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเองมากกว่าบุคคลที่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นน้อย เช่น ชาวนาย่อมมีความสามารถในการจำแนกประเภทของข้าวมากกว่าชาวประมง  ขณะเดียวกันชาวประมงย่อมมีความสามารถในการจำแนกประเภทของปลามากกว่าชาวนา  เราจึงกล่าวได้ว่า แต่ละคนแต่ละกลุ่มย่อมมีความสามารถและความเชี่ยวชาญในการจำแนกสรรพสิ่งแตกต่างกัน
              การจำแนกประเภทของปรากฏการณ์ธรรมชาติหรือสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ดูไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมากนัก เพราะว่าไม่กระทบกับความรู้สึก คุณค่า และอัตลักษณ์แห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น  เช่น ประเทศไทยจำแนกฤดูกาลออกเป็น 3 ฤดู  ส่วนประเทศในแถบซีกโลกเหนือจำแนกเป็น 4  ฤดู เป็นต้น  การจำแนกประเภทของคนไทยและคนแถบซีกโลกเหนือเกี่ยวกับฤดูกาลย่อมไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันแต่อย่างใด   
              การจำแนกประเภทของธรรมชาติแบบใดหากสอดคล้องกับประสบการณ์และการรับรู้ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ผู้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนั้นก็ย่อมถูกต้องสำหรับที่แห่งนั้น  คนแต่ละภูมิภาคย่อมไม่ถกเถียงกันให้เปลืองเวลาว่าการจำแนกฤดูกาลของฉันถูก ของเธอผิด  เพราะว่าพวกเขาเข้าใจสภาพความแตกต่างของแต่ละภูมิภาคในโลกนั่นเอง
              การจำแนกประเภทเริ่มมีปัญหาและนำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้นเมื่อการจำแนกนั้นเกี่ยวข้องกับบุคคลและสังคม  และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นหากการจำแนกนั้นไปกระทบคุณค่าและอัตลักษณ์ของบุคคลอื่น  หรือนำไปสู่การเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือการที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งบีบบังคับกลุ่มอื่นๆให้ยอมรับการจำแนกประเภทของกลุ่มตนเองว่าเป็นความเป็นจริงหนึ่งเดียวในสากล
               จากพื้นฐานของการจำแนกประเภท  มนุษย์มีแนวโน้มที่จะนำการจำแนกไปสู่การจัดลำดับ  ด้านหนึ่งทำให้มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากสรรพสิ่งได้สอดคล้องกับความต้องการของตนเองมากขึ้น  แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจนำไปสู่การสร้างปัญหาความขัดแย้งมากขึ้นด้วย
              การจำแนกประเภทและการจัดลำดับบุคคลหรือสถาบันทางสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้นมานั้นนั้นดำรงอยู่ในทุกสังคมและแทบทุกวงการ  ที่เราคุ้นเคยกันดีคือการจัดลำดับความเก่งหรือความสามารถในการเรียนและการทำข้อสอบในวงการศึกษาด้วยคะแนน เกรด หรือชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา
              ในแวดวงการศึกษา  หลายประเทศใช้การสอบกลางเพื่อจำแนกประเภทและจัดลำดับผู้คน จากนั้นสถาบันการศึกษาก็จะใช้คะแนนที่นักเรียนทำได้เป็นหลักในการคัดเลือกเข้าศึกษา  แต่ละสถาบันใช้คะแนนไม่เท่ากัน  บางสถาบันก็ใช้คะแนนสูง บางสถาบันก็ใช้คะแนนต่ำ และแม้แต่ในสถาบันเดียวกันแต่ละคณะก็ใช้คะแนนไม่เท่ากันอีกในการคัดเลือกบุคคลเข้าไปศึกษา
                คณะและสถาบันใดจะใช้คะแนนเท่าไรนั้น ด้านหนึ่งขึ้นอยู่กับการประเมินของกลุ่มผู้มีอำนาจในคณะและสถาบันนั้นว่า ต้องการบุคคลประเภทและคุณลักษณะแบบใดที่พวกเขาคิดว่าเหมาะสมสอดคล้องกับวิชาการและวิชาชีพที่ต้องปฏิบัติหลังจากจบการศึกษา  และอีกด้านหนึ่งขึ้นอยู่กับค่านิยมและความต้องการสังคมต่อวิชาชีพต่างๆ  ยิ่งสังคมให้คุณค่ากับอาชีพใดมาก  ผู้คนก็แย่งกันเข้าสู่อาชีพนั้นมาก ก็ยิ่งทำให้คะแนนและคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าไปอยู่ในวงการวิชาชีพนั้นสูงตามไปด้วย
               คณะและสถาบันการศึกษาใดที่ได้รับการจำแนกว่าเป็นสถาบันชั้นนำมักเปิดสอนวิชาชีพที่สังคมให้คุณค่าสูง   มีคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับ  คัดเลือกบุคคลที่ได้รับคะแนนสูงเข้าไปศึกษา  และผู้คนในสังคมมีประสบการณ์หรือรับรู้ว่าบัณฑิตที่จบจากคณะและสถาบันนั้นมีความสามารถในการปฏิบัติงานและหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  
               ยิ่งคณะและสถาบันใดสามารถผลิตบัณฑิตที่ปฏิบัติงานสอดคล้องกับความคาดหวังของสังคมมากขึ้นและเป็นไปอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ก็ยิ่งทำให้คณะและสถาบันการศึกษานั้นได้รับการจัดประเภทและลำดับจากสังคมสูงยิ่งขึ้น  องค์การต่างๆในสังคมทั้งภาครัฐและเอกชนก็ย่อมมีความต้องการบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากคณะและสถาบันเหล่านั้นมากขึ้นตามไปด้วย
              องค์การแต่ละแห่งมีหลักเกณฑ์ในการรับบุคคลเข้าทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยหรือไม่ก็ตาม  บางองค์การเปิดสอบเป็นการทั่วไปโดยไม่คำนึงถึงประเภทและลำดับของคณะและสถาบันที่ผู้สมัครจบออกมา   แต่บางองค์การอาจกำหนดประเภทและลำดับของสถาบันการศึกษา และรับเฉพาะผู้สำเร็จการศึกษาที่มาจากสถาบันที่ตนเองกำหนด   หรือบางองค์การอาจรับสมัครโยไม่จำกัดสถาบันการศึกษา แต่ไปกำหนดระดับเกรดเฉลี่ยของผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากแต่ละสถาบันต่างกัน  เช่น ผู้สมัครที่จบจากสถาบันการศึกษาที่ถูกจัดประเภทว่าอยู่ในระดับ AA  รับผู้ได้เกรดเฉลี่ย 2.5 ขึ้นไป  ส่วนผู้สมัครที่สำเร็จจากสถาบันศึกษาถูกจัดประเภทระดับ BB ต้องได้เกรดเฉลี่ย 3.0 ขึ้นไป เป็นต้น  
              หากองค์การไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะว่าใช้เกณฑ์อย่างไร แม้ว่ามีการใช้เกณฑ์เหล่านั้นในการปฏิบัติจริง ความขัดแย้งก็ยังอาจไม่เกิดขึ้น   แต่หากเกณฑ์เหล่านั้นถูกประกาศออกมาหรือถูกทำให้เป็นที่รับรู้ของสาธารณะ ความขัดแย้งก็ย่อมเกิดขึ้น เพราะบุคคลคลากรในสถาบันการศึกษาที่ถูกจัดประเภทและลำดับต่ำย่อมเกิดความรู้สึกอับอายที่ถูกสังคมให้คุณค่าต่ำ  และพวกเขายังเกิดความรู้สึกว่าถูกกีดกันอย่างไม่เป็นธรรมอีกด้วย
              การจัดประเภทและลำดับจึงนำมาสู่ความขัดแย้งทางสังคมขึ้นมา   แต่ทว่าก็ยากที่จะห้ามไม่ให้มนุษย์กระทำได้  เพราะแต่ละคน แต่ละองค์การย่อมปรารถนาในสิ่งที่พวกเขาคาดว่าจะทำให้ได้รับประโยชน์สูงสุดนั่นเอง
              ในการจัดลำดับระหว่างประเทศของภูมิภาคอาเชี่ยน การศึกษาไทยถูกจัดลำดับให้อยู่ท้ายสุด แน่นอนว่าผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการศึกษาไทยย่อมเกิดความรู้สึกอับอายและปกป้องตนเองโดยไม่ยอมรับในเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดลำดับ
               แง่มุมหนึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ผู้จัดประเภทและลำดับใช้เกณฑ์ที่พวกเขาคิดว่าจะสร้างประโยชน์แก่พวกเขามากที่สุด โดยไม่สนใจกับความแตกต่างของแต่ละประเทศ   แต่อีกแง่มุมหนึ่งก็คงจะต้องสำรวจตรวจตราตนเองอย่างใจเป็นกลางและยอมรับความเป็นจริงว่าเราเป็นอย่างไร เป็นอย่างที่เขาว่ามาหรือไม่ อย่างไร
              เช่นเดียวกันกับการจัดประเภทและลำดับสถาบันการศึกษาในสังคมไทย  ซึ่งมีการจัดลำดับกันอย่างไม่เป็นทางการและเป็นที่รับรู้กันในสังคมกันมาอย่างยาวนาน  มีการพูดคุยกันและรับรู้ในหลากหลายวงการว่าสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งเป็นอย่างไร  แม้ไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด  แต่ก็มีร่องรอยของความเป็นจริงอยู่บ้างไม่น้อย
              ผมคิดว่าสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งก็ย่อมรับรู้และประเมินตนเองอยู่บ้าง หากไม่หลอกตัวเองและปฏิเสธความเป็นจริง ก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าประเภทและลำดับของสถาบันตนเองที่สังคมจัดให้อย่างไม่เป็นทางการนั้นอยู่ตำแหน่งใด
              ดังนั้นแทนที่จะปกป้องตนเอง และตอบโต้ผู้อื่น ก็ควรหันมาสำรวจพินิจพิเคราะห์ตนเองอย่างจริงจัง ว่าเหตุใดสังคมจึงจัดประเภทและลำดับแบบนั้น   สังคมเข้าใจอะไรผิด หรือได้รับข้อมูลสารไม่ครบถ้วนและผิดพลาดไปหรือไม่    หรือว่าเป็นจริงอย่างที่สังคมรับรู้และเข้าใจ   หากเป็นอย่างแรกก็ชี้แจงและนำเสนอข้อมูลแก่สังคมให้มากขึ้นเกี่ยวกับคุณภาพของบัณฑิตของตนเองที่จบออกไป    แต่หากเป็นอย่างหลังก็คงต้องปรับปรุงและปฏิวัติการเรียนการสอนของสถาบันตนเองอย่างรอบด้าน
              การปฏิเสธความจริงหรือการปกป้องตนเองว่าไม่อาจเลือกคนเก่งเข้ามาศึกษาได้  นอกจากไม่ช่วยอะไรแล้ว ก็ยิ่งทำให้ตกอยู่ในวงจรที่เลวร้ายยิ่งขึ้น   เมื่อรู้ว่านักศึกษาซึ่งเป็นปัจจัยนำเข้ามีคุณภาพไม่สูงนัก บุคลากรในสถาบันการศึกษานั้นก็จะต้องทำงานให้หนักขึ้น พัฒนาและสร้างสรรค์กระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อหล่อหลอมให้บุคคลที่เข้ามา กลายเป็นคนที่มีคุณภาพสูงเมื่อจบออกไป
              หากสถาบันการศึกษาใดยอมรับความจริงและพัฒนาตนเอง  ในไม่ช้าไม่นานก็ย่อมทำให้การจัดประเภทและลำดับจากสังคมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันเหล่านั้นเกิดความภาคภูมิใจขึ้นมา

              ไม่มีใครที่สามารถห้ามไม่ให้ผู้คนในสังคมจัดประเภทและลำดับได้ เพราะสิ่งนี้เป็นธรรมชาติประการหนึ่งของสังคมมนุษย์  ดังนั้นการเลือกในการทำความเข้าใจและใช้การจัดประเภทและลำดับให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเองย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการจมอยู่ในความขมขื่น ความอับอาย และความโกรธเคือง         

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั